24.3.08

THE BIZARRE WORLD OF SHUJI TERAYAMA :โลกพิกลของ ชูจิ เทรายามา

ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ร่วมกับ DUB SOCIAL ด้วยการสนับสนุนของ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ภูมิใจเสนอ . . .

THE BIZARRE WORLD OF Shuji Terayama













THE BIZARRE WORLD OF SHUJI TERAYAMA
โลกพิกลของ ชูจิ เทรายามา

วันเสาร์-อาทิตย์ ที่ 26-27 เมษายน 2551
BANGKOK CODE ถนนสาทรใต้ ใกล้สถานีรถไฟฟ้า สุรศักดิ์

เชิญชมโปรแกรมภาพยนตร์ชุดของผู้กำกับที่ทำหนังได้แปลกเพี้ยนพิลึกพิลั่นมากที่สุดในเกาะญี่ปุ่น เจ้าของผลงานสุดอื้อฉาวหาชมได้ยากอย่าง Emperor Tomoto Ketchup และ Throw Away Your Books, Rally in the Streets เต็มอิ่มไปกับจินตนาการสุดพิสดารพันลึกของเขาจากผลงานหนังและวิดีโอยาวและสั้นตลอดทั้งสองวัน พร้อมเสวนากับ ‘กัลปพฤกษ์’ และ ‘filmsick’ สองนักเขียนรุ่นใหม่จากกลุ่ม Filmvirus และที่สำคัญคือ โปรแกรมนี้ฟรีตลอดรายการ!




แนะนำผู้กำกับ ชูจิ เทรายามา
ชูจิ เทรายามา เป็นศิลปินหัวก้าวหน้าชาวญี่ปุ่นที่มีผลงานโดดเด่นในช่วงคริสตศตวรรษ 1960’s – 1980’s แต่น่าเสียดายที่เขากลับไม่เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติเท่ากับผู้กำกับแหวกกระแสร่วมชาติอย่าง Shohei Imamura, Nagisa Oshima, Yasuzo Masumura หรือแม้แต่ Seijun Suzuki เขาเกิดเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1935 ณ จังหวัดเอโอโมริ ทางตอนเหนือของประเทศญี่ปุ่นและสูญเสียบิดาไปจากการเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่สองเมื่ออายุได้เพียง 9 ขวบ ชูจิ เทรายามา ต้องอาศัยอยู่กับญาติที่เมืองมิซาวา ในขณะที่มารดาของเขาต้องไปรับจ้างทำงานให้กับฐานทัพสหรัฐ ณ ต่างเมือง ที่เมืองมิซาวานี้เองที่ชูจิ เทรายามา ต้องอาศัยพื้นที่ว่างหลังจอภาพยนตร์เป็นที่หลับนอน เปิดโอกาสให้เขาได้สัมผัสใกล้ชิดกับสื่อชนิดนี้มาตั้งแต่เด็กโดยปริยาย


เมื่ออายุได้ 19 ปี ชูจิ เทรายามา ก็สามารถสอบเข้าเรียนด้านภาษาและวรรณคดีญี่ปุ่นที่มหาวิทยาลัยวาเซดะอันเลื่องชื่อได้ แต่น่าเสียดายที่เขาเกิดล้มป่วยด้วยโรคไตจึงไม่สามารถเรียนต่อให้จบ เขาจึงหันมาประกอบอาชีพเป็นนักเขียนมีผลงานบทกวี นิยาย บทความ บทวิจารณ์ตีพิมพ์ในสื่อต่าง ๆ มากมาย ปี ค.ศ. 1967 เขาได้ก่อตั้งคณะละครชื่อ Tenjou Sajiki ซึ่งเป็นคำแปลภาษาญี่ปุ่นของชื่อหนัง Les enfants du paradis (1945) กำกับโดยผู้กำกับฝรั่งเศส Marcel Carne ที่ชูจิ เทรายามาชื่นชอบ เขาและคณะได้เปิดการแสดงละครแนว avant-garde ชิ้นสำคัญหลาย ๆ เรื่องในช่วงปลายยุค 1960’s อาทิ ‘Bluebeard’, ‘Yes’ และ ‘The Crime of Fatso Oyama’


ในช่วงนี้เองที่ ชูจิ เทรายามา เริ่มมีผลงานหนังสั้นเรื่องแรกคือ Catology (ปัจจุบันหนังเรื่องนี้ได้หายสาบสูญไปแล้ว) ก่อนที่จะมีโอกาสกำกับหนังขนาดยาวสองเรื่องในปี 1971 นั่นคือ Emperor Tomato Ketchup และ Throw Away Your Books, Rally in the Streets ซึ่งทำให้ชื่อของเขาเป็นที่รู้จักกันในวงการหนังทดลองพันธุ์ระห่ำแห่งยุค 1970’s ในทันที หลังจากนั้น ชูจิ เทรายามา ก็มีผลงานทั้งละครเวทีและภาพยนตร์ทดลองทั้งยาวและสั้นต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ กระทั่งโรคไตของเขากำเริบขึ้นมาอีกครั้งและถึงแก่ชีวิตไปเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1983



ผลงานภาพยนตร์ของชูจิ เทรายามา
ผลงานภาพยนตร์ของชูจิ เทรายามานั้นโดดเด่นไปด้วยงานการกำกับศิลป์ที่มีสีสันฉูดฉาดจัดจ้าน ทั้งในส่วนของการออกแบบฉาก อุปกรณ์ประกอบ รวมทั้งเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของนักแสดง หนังของชูจิ เทรายามา มักจะเน้นการสะท้อนถึงความเสื่อมของวัฒนธรรมญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมที่ถูกทำลายด้วยการไหล่บ่าของวัฒนธรรมตะวันตกโดยเฉพาะในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 18 ตัวละครในหนังของชูจิ เทรายามา จึงมีทั้งที่สวมกิโมโน และชุดสูทสากล และมักจะพอกหน้าพอกตากันด้วยแป้งขาวตามขนบของนาฏศิลป์ญี่ปุ่นและละครใบ้แบบตะวันตก นอกจากนี้หนังของชูจิ เทรายามา ยังมักจะมีการเล่นกับมิติหนังในหลาย ๆ รูปแบบ ทำให้ผู้ชมรู้สึกมีส่วนร่วมในการชมภาพยนตร์ของเขาได้อย่างแปลกใหม่น่าตื่นเต้น

โปรแกรมฉายภาพยนตร์



วันเสาร์ที่ 26 เมษายน 2551
10.00 – 11.15 น. จดหมายวิดีทัศน์ (Video Letters) ชูจิ เทรายามา - ชุนทาโร ทานิกาวา
12.00 – 13.30 น. ภาพยนตร์เรื่อง Emperor Tomato Ketchup
13.30 – 14.30 น. ร่วมเสวนากับ ‘กัลปพฤกษ์’ นักวิจารณ์รางวัลกองทุนหม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ ในหัวข้อ ”ความอนาจารในงานศิลปะ กรณีศึกษาจาก Emperor Tomato Ketchup ของชูจิ เทรายามา”
14.30 – 16.30 น. ภาพยนตร์สั้นของชูจิ เทรายามา ชุดที่ 1
17.30 – 20.00 น. ภาพยนตร์เรื่อง Throw Away Your Books, Rally in the Streets

วันอาทิตย์ที่ 27 เมษายน 2551
10.00 – 12.00 น. ภาพยนตร์สั้นของชูจิ เทรายามา ชุดที่ 2
13.00 – 15.00 น. ภาพยนตร์เรื่อง Pastoral: To Die in the Country
15.00 – 16.00 น. ร่วมเสวนากับ ‘filmsick’ นักเขียนจากกลุ่มฟิล์มไวรัสในหัวข้อ “ลีลาประพันธกรของ ชูจิ เทรายามา”
16.00 – 17.00 น. ภาพยนตร์เรื่อง Grass Labyrinth
18.00 - 20.00 น. ภาพยนตร์เรื่อง Farewell to the Ark

หมายเหตุ
1) ขอขอบคุณคุณ Oleg Evnin (Helge 79) เป็นอย่างสูงสำหรับภาพยนตร์อนุเคราะห์ในโปรแกรมนี้
2) เรื่องย่อและโปรแกรมหนังสั้นของชูจิ เทรายามา สามารถติดตามได้ที่ http://dkfilmhouse.blogspot.com/
3) อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับชีวิตและงานของ ชูจิ เทรายามา ได้ในบทแนะนำภาพยนตร์ฉบับร่ายยาว “โลกพิลั่น ฝันพิลึก ของ ชูจิ เทรายามา” โดย ‘กัลปพฤกษ์’ ในหนังสือ “The 8 Masters แปดผู้กำกับภาพยนตร์ระดับครู” ของ Filmvirus สำนักพิมพ์ openbooks


เรื่องย่อภาพยนตร์

EMPEROR TOMATO KETCHUP (1971)
หนังใต้ดินสุดวินาศสันตะโรที่สมมติสถานการณ์ให้เด็ก ๆ ทั้งหลายยึดอำนาจอธิปไตยผู้ใหญ่ แล้วตั้งกฎหมายใหม่ที่ทุก ๆ อย่างจะต้องเป็นไปตามอำเภอใจของเหล่าเด็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็นการประหัตประหารบุคลากรทางการศึกษาที่เคยมอมเมาเยาวชนกันด้วยหลักสูตรปัญญาอ่อนที่มีแต่จะบั่นทอนความคิดอันบริสุทธิ์ของพวกเขา การใช้อาวุธยุโธปกรณ์มาบังคับให้พวกผู้ใหญ่ต้องเชื่อฟังในทุก ๆ คำสั่ง ไปจนถึงการทดลองทำกิจกรรมต้องห้ามต่าง ๆ ที่เคยถูกห้ามปรามโดยพวกผู้ใหญ่อยู่เสมอ ผู้กำกับชูจิ เทรายามา ถ่ายทอดจินตนการสุดพิลึกพิลั่นเหล่านี้ด้วยลีลาในการกำกับศิลป์อันแปลกประหลาดพิสดารและจัดจ้านในเวลาเดียวกัน ชวนให้สะเทือนขวัญไปกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างน่าสะพรึง!


THROW AWAY YOUR BOOKS, RALLY IN THE STREETS (1971)
หนังวัยรุ่นปฏิวัติเรื่องเยี่ยมแห่งยุคสมัยของการแสวงหา ที่จะนำพาทุกท่านไปสัมผัสกับเรื่องราวชีวิตสุดเส็งเคร็งของวาตาชิหนุ่มญี่ปุ่นที่ต้องใช้ชีวิตร่วมกับสมาชิกในครอบครัวที่ไม่สมประกอบ ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อจอมถ้ำมอง คุณย่ามือกาว และน้องสาวที่ชอบมีอะไรกับกระต่าย ท่ามกลางเสียงตวาดกราดเกรี้ยวโวยวายด้วยทำนองเพลงร็อคแอนด์โรลอันหนักหน่วงของเหล่าวัยรุ่นในยุค 1970’s ผู้ไม่เคยพอใจต่อสังคมอันจอมปลอม ผู้กำกับชูจิ เทรายามา เล่าเรื่องราวใน Throw Away Your Books, Rally in the Streets ด้วยการละเลงสีสันต่าง ๆ อย่างจัดจ้าน แถมยังมีการเล่นมิติเชิงหนังให้ได้งงงันกันในหลาย ๆ ฉากด้วย ผลงานเด่นหาดูยากเรื่องสำคัญแห่งวงการหนังยุค 70’s ที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง!


PASTORAL: TO DIE IN THE COUNTRY (1974)
หนังแฟนตาซีสุดพิสดารที่จะมาเล่าขานตำนานในชนบทของเด็กชายวัยแตกเนื้อหนุ่มที่คิดจะลักพาตัวสาวใหญ่ข้างบ้านหนีไปจากสามีของเธอ หนังขัดจังหวะเรื่องราวของหนุ่มละอ่อนรายนี้ด้วยการมาเยือนของคณะละครสัตว์ซึ่งคลาคล่ำไปด้วยชาวคณะผู้มีลักษณะพิลึกพิลั่น ไม่ว่าจะเป็น คนร่างแคระ นางพญางูเขียว กะเทยทรามในชุดนักเรียนคอซอง หญิงสาวในชุดพองลม รวมถึงลูกคณะสติไม่เต็มเต็งรายอื่น ๆ ก่อนที่หนังจะหักมุมครั้งสำคัญที่คงจะต้องดูกันเองจึงจะรู้ว่าน่าตกตะลึงถึงขนาดไหน ชูจิ เทรายามาถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ ใน Pastoral: To Die in the Country ด้วยลีลาการกำกับศิลป์ที่เอิบอิ่มไปด้วยสีสันสุดพิลาศพิไลแถมยังจัดองค์ประกอบต่าง ๆ ได้อย่างแปลกหูแปลกตาชนิดที่จะหาดูไม่ได้จากหนังเรื่องไหน ๆ หนังเรื่องนี้ได้รับคัดเลือกให้เข้า ร่วมประกวดในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ประจำปี 1975


GRASS LABYRINTH (1983)
เรื่องราวการตามหาเนื้อร้องเพลงพื้นบ้านบทหนึ่งของหนุ่มอากิราที่มารดาของเขาเคยร้องให้ฟัง เขาต้องกลับมายังบ้านเกิดเพื่อสอบถามครูใหญ่ พระประจำอาวาส และบรรดาโสเภณี เพื่อสืบสาวเรื่องราวที่ค้างไว้ในเนื้อเพลงเพลงนั้น สลับกับการย้อนอดีตไปเล่าเรื่องราวการผจญภัยต่อกรกับนางผีร้ายของเขาในวัยละอ่อน ซึ่งจะมาสร้างบรรยากาศทั้งอ่อนหวานและสยองขวัญไปได้พร้อม ๆ กัน หนังขนาดย่อมของ ชูจิ เทรายามา ที่เคยเป็นหนึ่งในสามภาพยนตร์ชุด Private Collections ร่วมกับผลงานของ Just Jaeckin และ Walerian Borowczyk หนังเรื่องนี้มียอดผู้กำกับญี่ปุ่น Juzo Itami ผู้ล่วงลับร่วมแสดง



FAREWELL TO THE ARK (1984)
สร้างจากนิยายเรื่องดัง One Hundred Years of Solitude ของ Gabriel Garcia Marquez ซึ่ง ชูจิ เทรายามา ก็นำมาดัดแปลงเสียจนไม่เหลือเค้า หนังเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านในจินตนาการแห่งหนึ่ง ซึ่งอุดมไปด้วยเรื่องราวประหลาดพิสดาร ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวที่ลักขโมยนาฬิกาชาวบ้านไปฝังทิ้งเพื่อพวกเขาจะได้เป็นผู้ควบคุมเวลาในหมู่บ้านแต่เพียงผู้เดียว คู่สามีภรรยาที่ต้องหากระดาษมาเขียนชื่อสิ่งของต่าง ๆ แล้วนำไปติดไว้จนทั่วบ้าน หญิงสาวที่ไม่สามารถมีอะไรกับชายหนุ่มได้เพราะเธอไม่มีกุญแจไขตะปิ้งเหล็ก และหลุมลึกลับกลางหมู่บ้านที่ชวนให้สงสัยว่ามีอะไรอยู่ในนั้น Farewell to the Ark เล่าเรื่องราวเหนือจริงต่าง ๆ เหล่านี้ด้วยท่าทีอ่อนโยนละมุนละไม ชวนให้เคลิบเคลิ้มไปกับการเฝ้าฝันถึงคืนวันในอดีตที่ยังจะตราตรึงอยู่ในใจเราไปได้ชั่วกาลนาน ผลงานภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายที่ออกฉายหลัง ชูจิ เทรายามาเสียชีวิตลงแล้ว


ภาพยนตร์สั้นของชูจิ เทรายามา ชุดที่ 1
The Cage (1964, 11 นาที) เมื่อเวลากลายเป็นเครื่องจองจำอิสรภาพมนุษย์
Butterfly Dress Pledge (1974, 12 นาที) จินตนาการวิปลาสของคนที่อยากจะมีปีกงามอย่างผีเสื้อ!
Rolla (1974, 9 นาที) สามสาวร่านกับการระรานคนดู!
Young Person’s Guide to the Cinema (1974, 3 นาที) บทแนะนำการชมภาพยนตร์ภาคพิสดาร
Labyrinth Tale (1975, 15 นาที) ยินดีต้อนรับสู่ . . . บานประตูวิเศษ
Hoso-tan (1975, 34 นาที) ลำนำแห่งการห้ำหั่นทำลาย
Der Prozess (1975, 34 นาที) เรื่องราวไม่ธรรมดาระหว่างคนกับตะปู


ภาพยนตร์สั้นของชูจิ เทรายามา ชุดที่ 2
Eraser (1977, 20 นาที) เมื่อยางลบลบถูได้ทุกสรรพสิ่ง
Les chants de Maldoror (1977, 30 นาที) หนังสั้นจากงานประพันธ์ “บทขับขานของคนเกลียดมนุษย์”
An Attempt to Describe the Measure of a Man (1977, 19 นาที) งุ่นง่านสะท้านสรีระ
Shadow Film – A Woman With Two Heads (1977, 15 นาที) เงาดื้อ!
Reading Machine (1977, 22 นาที) มาอ่านหนังสือกันเถอะ!
Father (1977, 3 นาที) ชายคนนี้ . . . ผู้เป็นสามีของแม่

คนลักหลับ

My photo
Filmvirus เป็นนามปากกาเดิมของสนธยา ทรัพย์เย็น จากคอลัมน์ “นิมิตวิกาล” ที่ใช้ในนิตยสาร Filmview ปี 2537 ต่อมาในปี 2538 สนธยาได้ก่อตั้ง “ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์” หรือ DK.Filmhouse (Filmvirus) จัดฉายหนังด้อยโอกาสให้ผู้สนใจชมฟรี พร้อมจัดพิมพ์หนังสือด้านหนัง และวรรณกรรม ชุด Filmvirus / Bookvirus (ส่วนหนังสือ “คนของหนัง” ปี 2533 นั้นเป็นผลงานก่อนตั้งฟิล์มไวรัส) ส่วนผลงานอื่นๆ ปี 2548 เป็นกรรมการเทศกาลหนัง World Film Festival of Bangkok , ปี 2552 กรรมการ Sydney Underground Film Festival, งาน Thai Short Film and Video Festival ของมูลนิธิหนังไทยครั้งที่ 1 และปี 2548-2549 เป็นเจ้าภาพร่วมจัดเทศกาลประกวดหนังนานาชาติ 15/15 Film Festival, Australia