30.12.08

13 ปีฟิล์มไวรัส

งานฉลอง 13 ปี ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ระหว่างวันที่ 9 -28 มกราคม 2552 ที่หอศิลป์จามจุรี (ถัดจากห้างมาบุญครองเดินข้ามไฟแดงไปนิดเดียว)

ปีนี้เป็นปีแรกที่เรามีจัดฉลอง ตั้งแต่เกิดมาแม้แต่งานวันเกิดตัวเองยังไม่เคยจัด งานนี้คงเป็นครั้งแรกและครั้งเดียว ตัวงานคงไม่มีอะไรมากมาย คล้ายกับงานนิทรรศการกิจกรรมการฉายหนัง + การทำหนังสือหนัง Filmvirus ที่ผ่านมาตลอด 13 ปีเสียมากกว่า (ดูเหมือนงานของพวกหลงตัวเองยังไงก็ไม่ทราบ) แต่นอกจากพบปะสังสรรค์กับเพื่อน ๆ ผู้จัดทำทีมงาน แล้วถ้าได้พบปะคนอ่าน-คนดูหนังด้วยก็ยิ่งดี ว่าง ๆ ก็มาทักทายกันนะคร้าบ

รายละเอียดงานไม่มีอะไรเป็นทางการ ประมาณ 18. 00 น. วันที่ 9 มกราคม เปิดงาน แล้วหลังจากนั้นก็คงฉายหนังสั้น ๆ กันเล็กน้อย เอาเฉพาะที่หาดูยากเป็นพิเศษ อย่างหนังสั้นของ Ulrike Ottinger, Louise Bourque, Bill Viola VDO Art มิวสิควีดีโออะไรต่าง ๆ เอาเป็นว่ายังไม่ระบุตายตัวแล้วกัน เพราะฉายหนังกันมานาน 13 ปีแล้ว แทบไม่ค่อยได้คุยกับคนดู วันงานทั้งทีไม่อยากเน้นฉายหนังมาก

โปรแกรม อมตะหนังดังจากสหภาพโซเวียตแดนอดีต

โปรแกรม อมตะหนังดังจากสหภาพโซเวียตแดนอดีต
ของ ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส)
มกราคม-กุมภาพันธ์ 2552
ภายใต้การอำนวยวงโดย กัลปพฤกษ์ (ขอให้เดินทางโดยปลอดภัยและนำความรู้ความสามารถมากอบกู้ชาติ)

ตามไปพิสูจน์โปรแกรมหนังโซเวียตที่ นิมิตวิกาล http://twilightvirus.blogspot.com/2008/12/blog-post.html

12.12.08

Third Class Cinema Greatest Hit ที่หอศิลป์จามจุรี

THE GREATEST HIT! : THIRD CLASS CINEMA 2008-2008

เลือดใหม่ไฟแรงจากกลุ่ม Third Class Cinema เป็นหัวแรงแข็งขันช่วย FILMVIRUS จัดโปรแกรมพิเศษคอลเลคชั่นผู้กำกับน่าจับตากับการฉายหนังกลางแปลงที่งาน ART SQUARE VI ที่กำลังจะจัดขึ้นที่หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่วันที่ 17-19 ธันวาคม โดยในงานจะมีขายของจากนักศึกษาและงานดนตรี รวมถึงฉายหนังจากการบรรจงเลือกของกลุ่ม Third Class Cinema โดยตัวงานนั้นเริ่มตั้งแต่เวลา 16.00 น.-21.00 น.

โปรแกรมพิเศษปิดท้ายปีที่ว่านี้คือ THE GREATEST HIT! : THIRD CLASS CINEMA 2008-2008 อันเป็นการรวบรวมหนังบางเรื่องที่เคยฉายใน THIRD CLASS CINEMA (และแถมหนังใหม่เล็กๆอีก 2 เรื่อง) มารวมฮิตฉายใหม่กันอีกสักรอบ เผื่อคนเคยพลาดจะอยากมาดู หรือคนที่ไม่เคยดูจะอยากมาชม และต่อไปนี้คือรายชื่อหนังที่จะจัดฉาย


โปรเจคท์ 2008

New year again (03 นาที)

ไพสิฐ พันธุ์พฤกษชาติ

ห่านน้อยคอยรัก (10 นาที)

อาทิตย์ อัสสรัตน์

Boy Genius (12 นาที)

ทศพล บุญสินสุข

(04 นาที)

(04 นาที)


ตุลพบ แสนเจริญ

Vocal Instruction (01 นาที)

The Return (05 นาที)

Tales of Swimming Pool (13 นาที)


กลุ่ม MIT OUT SOUND FILMS

Parallel Journey (07 นาที)

อนุสาวรีย์แห่งความรัก (10 นาที)


วีระศักดิ์ สุยะลา

คืนเปลี่ยวในซอยตรวจ (15 นาที)


โปรเจคท์ REMAKE-ABLE

เวลาแห่งความสุข (11 นาที)

เวลาแห่งความทุกข์ (10 นาที)

รวม 105 นาที


THE GREATEST HIT! : THIRD CLASS CINEMA 2008-2008 จะฉายในวันพฤหัสที่ 18 ธันวาคม เวลา 18.00 น. วันเดียวรอบเดียว ที่ลานตรงหอศิลป์จามจุรี และเข้าชมฟรี

และยังมีหนังเรื่องอื่นๆของกลุ่มฟิล์มไวรัสให้ชมอีกด้วย (ทุกโปรแกรมเริ่ม 18.00 น.) อาทิ 17 ธันวาคม มี I-San Special (อีสาน สเปเชี่ยล คืนพระจันทร์เต็มดวง) กับThe One- Armed Machine Girl (อีสาวแขนปืนกล) // 18 ธันวาคม ก็ THE GREATEST HIT : THIRD CLASS CINEMA 2008-2008 ต่อด้วย Suspiria // 19 ธันวาคม ฉาย คืนหนึ่งที่ถนนตะแลงแกง และ Demons

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://dkfilmhouse.blogspot.com/2008/11/art-square-6.html

ดูทางไปหอศิลป์จามจุรี ที่ http://www.baankoolkids.com/images/mp2.jpg
ติดต่อสอบถาม 089-685-5253

26.11.08

แอบรักเธออยู่ในใจ

เรารู้ว่ามีคนอื่น ๆ ที่อ่านอยู่ แต่ไม่เคยแสดงตัว เราเบื่อจะพูดคนเดียวกับฝาผนังที่ไม่เคยมีเสียงตอบรับแล้ว เอ้า ขอเสียงฟีดแบ็คสักครั้งได้ไหม

อยากเชิญชวนให้คนที่เคยดูหนัง - หรืออ่านหนังสือของ ฟิล์มไวรัส / บุ๊คไวรัส เล่มไหนก็ตาม แสดงความเห็นมาสักนิด นี่ก็จะฉลอง 13 ปี ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ ฉายหนังมาหลายเคหาอาคาร จะใจจืดให้อวยตัวเองอีกนานเท่าไหน หากมีใครอ่านบล็อกนี้ หรือติดตามผลงานของ Filmvirus ก็เชิญแสดงตัวหน่อย ชอบ /ไม่ชอบหนังที่ฉาย ชอบ / เกลียดหนังสือที่อ่าน / หมั่นไส้คนจัด ก็ขอเชิญแสดงความเห็นมา หรือแค่พิมพ์สักคำให้รู้ว่าคนอ่าน ฟิล์มไวรัส มีตัวตนก็ยังดี

เขียนส่งความเห็น หรือประสบการณ์การดูหนังที่ ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ หรือการอ่าน Filmvirus หรือ Bookvirus (ทั้งดีและร้าย) มาได้โดยตรงที่บล็อกนี้ ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ หรือ นิมิตวิกาล หรือ บล็อก กลแสง หรือส่งไปที่ filmsick@gmail.com จะเป็นการขู่ขวัญ หรือให้กำลังใจ ตามแต่ความสมัครใจของคอหนังทุกท่าน เขียนมาได้ยาวสั้นไม่จำกัดจำนวนหน้า ไม่มีเซ็นเซอร์ นอกจากว่าทุกชิ้นจะรวบรวมลงในบล็อกต่าง ๆ แล้ว ก็จะนำมารวมกันที่เว็บไซต์ Onopen อีกด้วย

ในงาน ฉลอง 13 ปี ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ ระหว่าง 9-28 มกราคม 2552 ที่ หอศิลป์จามจุรี (ใกล้มาบุญครอง) มีจัดนิทรรศการเล็ก ๆ เกี่ยวกับผลงานของ ฟิล์มไวรัส (เช่นที่ประกาศไปแล้วเรื่องโปรแกรมหนังควบ) ตัวงานอาจจะจืด ๆ ไร้สีสัน เพราะแล้งทุน แล้งทีมงาน และแล้งคนเยี่ยมชม แต่หากใครว่างและรู้จักกิจกรรมของ ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ หรือ ฟิล์มไวรัส ก็อย่าลืมเข้ามาทักทายกัน (หรือช่วยออกไอเดียแสดงงานด้วยก็ยิ่งดี)

ขอบคุณทุกท่าน
ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส)

19.11.08

ฟิล์มไวรัส จัดฉายหนังงาน Art Square ปีที่ 6

ฟิล์มไวรัส ฉายหนังงาน Art Square ครั้งที่ 6 - ปี 2551

หมดเวลาบ่นหนังดูยาก บริการความบันเทิงให้ทะลุตกขอบไปเลย กับโปรแกรมหนังล่าสุดของ ฟิล์มไวรัส

ฉายกลางแปลงยามค่ำคืน ท่ามกลางบรรยากาศเดือนหนาวของงาน Art Square 6 ระหว่างวันที่ 17-19 ธันวาคม พร้อมชมตลาดงานศิลปะ ผลิตภัณฑ์ของใช้ ของฝากหลากหลายความคิด ดูหนัง + ฟังเพลง บริเวณรอบหอศิลป์จามจุรี ตั้งแต่เวลา 16.00 น.-21.00 . (หนังรอบแรกเริ่มประมาณ 18.00น.)

บล็อกของหอศิลป์จามจุรี www.jamjureeartgallery.blogspot.com/

บรรยากาศงาน และโปรแกรมหนังของปีที่แล้ว http://dkfilmhouse.blogspot.com/2007/12/blog-post_13.html

งานจัตุรัสศิลป์ ธันวาคม 2551
ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ร่วมกับ หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอ

17 ธันวาคม I-San Special (อีสาน สเปเชี่ยล - คืนพระจันทร์เต็มดวง)
(มล. มิ่งมงคล โสณกุล กำกับ / ต้นเรื่องโดย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล)


+ The One- Armed Machine Girl (อีสาวแขนปืนกล)
(Noboru Iguchi กำกับ / เขียนบท)

18 ธันวาคม Third Class Citizen Special (Thai Short Films)
(หนังสั้นโดยกลุ่ม Third Class Citizen)

+ Suspiria (Dario Argento กำกับ)


19 ธันวาคม International Experimental Films
(หนังทดลองนานาชาติ)

+ คืนหนึ่งที่ถนนตะแลงแกง
(ไพสิฐ พันธุ์พฤกษชาติ กำกับ / เขียนบท จากเรื่องสั้นของ มนัส จรรยงค์
เสียงบรรยายโดย ศรัณยู วงศ์กระจ่าง)

+ Demons (Lamberto Bava กำกับ)

รายละเอียดกลุ่ม Third Class Citizen และหนังของพวกเขา : http://thirdclasscitizen.exteen.com/

โปสการ์ดประชาสัมพันธ์พิมพ์เสร็จแล้ว หยิบหาได้ตามแหล่งที่มีการ์ด Take-it free card

13.11.08

ความคืบหน้างานฉลอง 13 ปี ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์

ฉลอง 13 ปี ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส)

ขอแจ้งให้ทราบว่า

ผลงานการจัดโปรแกรมหนังควบที่ทุกท่านส่งมา จะได้รับการจัดแสดงในงาน ครบรอบ 13 ปี ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ ระหว่างวันที่ 9-28 มกราคม 2552 ที่ หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หลังจากจัดแสดงเสร็จสิ้นที่หอศิลป์จามจุรี ผลงานทุกชิ้นจะนำมาลงคอลัมน์ Artvirus ที่เว็บไซต์ open online และ บล็อก ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ และ นิมิตวิกาล

3.11.08

Nippon Madness - A Film Program

ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ร่วมกับ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เชิญชม

^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^

PAGES OF MADNESS
The Crazy Japanese Underground and Counter-Culture Cinema
ปลุกตำนานหนังใต้ดินสุดขบถจากญี่ปุ่น

^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^
ทุกวันอาทิตย์ ระหว่างวันที่ 9 พฤศจิกายน – 21 ธันวาคม 2551 ตั้งแต่เวลา 12.30 น. เป็นต้นไป
ณ ห้องเรวัต พุทธินันท์ ชั้นใต้ดิน U2 หอสมุด ปรีดี พนมยงค์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
โทรศัพท์ 0-2613-3529 หรือ 0-2613-3530
ชมฟรี!!! (โปรดแจ้งเจ้าหน้าที่ห้องสมุดว่ามาชมภาพยนตร์ และกรุณาแต่งกายสุภาพ)

อาทิตย์ที่ 9 พฤศจิกายน 2551

12.30 น. A Page of Madness (1926) กำกับโดย Teinosuke Kinugasa
14.00 น. Donald Richie’s Shorts (1962-1967) กำกับโดย Donald Richie
15.00 น. Five Filosophical Fables (1967) กำกับโดย Donald Richie

อาทิตย์ที่ 16 พฤศจิกายน 2551
12.30 น. The Desert Archipelago (1969) กำกับโดย Katsu Kanai
13.30 น. Good-Bye (1971) กำกับโดย Katsu Kanai
15.00 น. Funeral Parade of Roses (1969) กำกับโดย Toshio Matsumoto

อาทิตย์ที่ 23 พฤศจิกายน 2551

12.30 น. Coup d’etat (1973) กำกับโดย Yoshishige Yoshida
14.30 น. Eros+Massacre (1969) กำกับโดย Yoshishige Yoshida

อาทิตย์ที่ 30 พฤศจิกายน 2551

12.30 น. Death Powder (1986) กำกับโดย Shigeru Izumiya
14.00 น. While the Right Hand Is Sleeping (2002) กำกับโดย Shirakawa Koji

อาทิตย์ที่ 7 ธันวาคม 2551
โปรแกรมพิเศษ ‘หนังคู่ผวน’
12.30 น. Moju (1969) กำกับโดย Yasuzo Masumura
14.30 น. Mujo (1970) กำกับโดย Akio Jissoji

อาทิตย์ที่ 14 ธันวาคม 2551

12.30 น. Diary of a Shinjuku Thief (1968) กำกับโดย Nagisa Oshima
14.30 น. Death by Hanging (1968) กำกับโดย Nagisa Oshima

อาทิตย์ที่ 21 ธันวาคม 2551
12.30 น. The Man Who Put His Will on Film (1970) กำกับโดย Nagisa Oshima
14.30 น. The Ceremony (1971) กำกับโดย Nagisa Oshima

เรื่องย่อภาพยนตร์
A Page of Madness (1926)

หนังเงียบระดับตำนานที่ได้ชื่อว่าเป็น The Man With a Movie Camera หรือ The Cabinet of Dr. Caligari ของวงการหนังญี่ปุ่น ผลงานการกำกับของ Teinosuke Kinugasa จากบทภาพยนตร์โดย Yasunari Kawabata นักเขียนรางวัลโนเบลปี 1968 เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชายชาวประมงที่พยายามสมัครเข้าทำงานเป็นภารโรงประจำโรงพยาบาลประสาทแห่งหนึ่งเพียงเพื่อลักลอบนำตัวภรรยาของเขาซึ่งเป็นหนึ่งในคนไข้ออกมา ผู้กำกับ Teinosuke Kinugasa นำเสนอเรื่องราวด้วยเทคนิคการถ่ายภาพขาวดำอันหนักแน่นหวือหวาผนวกกับการตัดสลับเหตุการณ์ไปมาด้วยลีลาใกล้เคียงงาน Expressionist ของเยอรมันนี สร้างภาพหลอนของผู้มีอาการป่วยทางจิตออกมาได้อย่างน่าตื่นตะลึงถึงกับเคยถูกนำไปใช้เป็นกรณีศึกษาของบรรดาจิตแพทย์และนักจิตวิทยากันมาแล้ว! หนังเรื่องนี้เคยหายสาบสูญไปเกือบ 50 ปี ก่อนที่ผู้กำกับจะค้นพบฟิล์มหนังอีกครั้งในปี 1971

Donald Richie’s Shorts (1962-1967)

หนังสั้นชุดสี่เรื่องของ Donald Richie นักวิจารณ์อเมริกันที่หันไปสนใจวัฒนธรรมภาพยนตร์ในญี่ปุ่นอย่างจริงจังจนได้รับการยกย่องให้เป็นกุนซือผู้แตกฉานและเชี่ยวชาญวงการหนังญี่ปุ่นทุกยุคสมัย นอกจากจะเขียนบทความและบทวิจารณ์หลากหลายเกี่ยวกับหนังญี่ปุ่นแล้ว Donald Richie ยังเคยกำกับหนังไว้จำนวนหนึ่งด้วย สำหรับหนังสั้นที่ทางดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์จะนำมาฉายในโปรแกรมนี้ประกอบไปด้วย Wargames (1962) Atami Blues (1962) Boy with Cat (1966) และ Death Youth (1967) ขึ้นชื่อว่าเป็นนักวิจารณ์ตัวเอ้ที่หันมาทำหนังแล้วผลลัพธ์ที่ได้ย่อมไม่เหลือความเป็นปรกติธรรมดา ขอเชิญผู้ชมทุกท่านมาร่วมสัมผัสกันว่าหนังสั้นของนักวิจารณ์ที่ผ่านการดูหนังมาแบบนับไม่ถ้วนนั้นมันจะวิจิตรพิสดารพันลึกได้ถึงขนาดไหน

Five Filosophical Fables (1967)
นอกจากจะทำหนังสั้นแล้ว Donald Richie ยังเคยทำหนังขนาดย่อม (47 นาที) เอาไว้อีกเรื่องหนึ่งด้วยนั่นก็คือ Five Filosophical Fables นิทานชุดสะท้อนปรัชญาความเป็นมนุษย์จำนวนห้าเรื่องที่บอกเล่าได้อย่างคมคายและขบขันในเวลาเดียวกัน เชิญร่วมกันหาคำตอบว่าทำไมคนเราจะต้องเดินด้วยเท้า เสื้อผ้าอาภรณ์เป็นสิ่งสำคัญจำเป็นจริงหรือไม่ และมนุษย์ไม่ควรหันมากลืนกินพวกเดียวกันเองจริงหรือ!

The Desert Archipelago (1969)

ผลงานชิ้นเยี่ยมของผู้กำกับญี่ปุ่นที่ตกสำรวจไปได้อย่างไม่ควรให้อภัย Katsu Kanai ซึ่งต่อให้เขามีโอกาสได้ทำหนังเรื่องนี้เพียงเรื่องเดียวก็นับเป็นคุณูปการเพียงพอที่จะยกให้เขาเป็นคนทำหนังใต้ดินนอกคอกที่บ้าดีเดือดมากที่สุดรายหนึ่งของเกาะญี่ปุ่น The Desert Archipelago เล่าเรื่องราวของสำนักนางชีนอกรีตแห่งหนึ่งที่พฤติกรรมของผู้ครองพรหมจรรย์เหล่านั้นมันช่างห่างไกลความสำรวมเสียเหลือเกิน เมื่อเด็กชายที่ถูกชุบเลี้ยงในคอนแวนต์เริ่มโตเป็นหนุ่มใหญ่ เขาจึงหนีไม่พ้นที่จะถูกรุมสกรัมปู้ยี้ปู้ยำด้วยวิธีการต่าง ๆ นานา หนังถ่ายทอดด้วยภาพขาวดำที่จัดองค์ประกอบทับซ้อนไปมาได้อย่างสุดหลอกหลอน คลอประกอบด้วยเสียงหัวเราะคิกคักของเหล่านางชีอันสุดแสนจะกวนประสาท นับเป็นประสบการณ์การชมภาพยนตร์สุดประหลาดพิสดารที่คงจะลืมเลือนกันไม่ได้ง่าย ๆ เลยทีเดียว


Good-Bye (1971)
ผลงานเรื่องที่สองที่ตอกย้ำความบ้าระห่ำแบบไม่เกรงใจใครของผู้กำกับ Katsu Kanai ได้เป็นอย่างดี หนังเริ่มต้นเรื่องราวด้วยชายหนุ่มที่มีปัญหาในการออกเสียงพูด เขาต้องใช้เวลาและความพยายามอยู่นานกว่าจะสามารถเปล่งเสียงเพียงเพื่อสั่งบะหมี่ในร้านจากพ่อครัวได้ หลังจากนั้นหนังก็เริ่มพลิกผันเรื่องราวไปสู่ประเด็นใหม่กันแบบไม่อาจจะคาดเดา เมื่อเราจะได้เห็นตัวละครสำคัญกระโดดเข้ามาร่วมวงศ์ไพบูลย์กับพ่อหนุ่มหน้าตี๋รายนี้กันแบบไม่ต้องมีตรรกะเหตุผลอะไรใด ๆ อีกต่อไป คงเหลือไว้แต่การบิดมิติหนังกันอย่างบ้าคลั่งตามอำเภอใจ ก่อนจะ Good-Bye ลาจากไปทิ้งคนดูไว้ให้จมอยู่กับอาการอ้ำอึ้ง!

Funeral Parade of Roses (1969)

หนังที่หยิบเอาตำนาน Oedipus Rex มาแต่งหน้าทาปากเสียใหม่จนกลายเป็นหนังเกย์ใต้ดินเรื่องสำคัญแห่งยุค 60’s Eddie กะเทยสาวหน้าหวานผู้มั่นอกมั่นใจในความงดงามของตัวเอง เธอทำงานให้กับบาร์เกย์แห่งหนึ่งและมีตำแหน่งเป็นนางพญาบาร์เรียกลูกค้าหนุ่ม ๆ ให้แวะเวียนมาอุดหนุนได้โดยไม่ขาดสาย แต่ความเริ่ด เชิด หยิ่ง ของเธอก็ทำให้ Eddie มักจะมีปากเสียงกับนังกะเทยแก่เมียเจ้าของบาร์อยู่เสมอ วันหนึ่งเมื่อเธอได้พบกับพ่อแท้ ๆ ของตัวเองที่เคยทิ้งไปตั้งแต่เธอยังเป็นเด็ก เรื่องราวหนหลังจึงนำไปสู่โศกนาฏกรรมอันเป็นที่มาของเรื่องราวในตำนานอย่างชวนสลด เชื่อหรือไม่ว่า Stanley Kubrick เคยให้การว่าเขาได้ยืมเอาสไตล์แปลกเปรี้ยวสุดจี๊ดในหนังเรื่องนี้ไปใช้ในผลงานดังอย่าง A Clockwork Orange ของเขาด้วย

Coup d’etat (1973)
ผลงานเด่นอีกเรื่องของ Yoshishige Yoshida หรือ Kiju Yoshida ผู้กำกับ Japanese New Wave รุ่นบุกเบิกที่อาจจะไม่โด่งดังเท่า Shohei Imamura, Nagisa Oshima, Hiroshi Teshigahara หรือ Seijun Suzuki แม้ว่าฝีไม้ลายมือจะไม่ได้ด้อยไปกว่ากันสักเท่าไร Coup d’etat เป็นหนังกึ่งชีวประวัติของ Ikki Kita นักคิดหัวสังคมนิยมผู้ผลักดันให้เกิดการรัฐประหารในญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ปี 1936 แม้ว่าหนังจะอ้างอิงจากเหตุการณ์จริง แต่ผู้กำกับ Yoshishige Yoshida กลับใช้จริตลีลาเชิงหนังอันอาบเอิบไปด้วยอารมณ์กวีมาสร้างบรรยากาศแปลกใหม่กึ่งจริงกึ่งฝันได้อย่างน่าประหลาด นับเป็นงานลายเซ็นที่สะท้อนความเป็นผู้กำกับหัวขบถของ Yoshishige Yoshida ได้เป็นอย่างดี

Eros+Massacre (1969)

ผลงานระดับ Masterpiece ของหนึ่งในผู้กำกับหัวหอกของกลุ่ม Japanese New Wave เล่าเรื่องราวทับซ้อนของนักศึกษาหนุ่มสาวที่กำลังสืบสาวหาข้อมูลเกี่ยวกับความคิดอ่านทางการเมืองของจอมกบฏ Sakae Osugi และความสัมพันธ์กับหญิงสาวทั้งสามคนของเขาคือศรีภรรยาและชู้รักคนที่หนึ่งและที่สอง หนังสลับเล่าเรื่องราวของตัวละครจากสองช่วงยุคสมัยแล้วค่อย ๆ ทลายมิติเวลานำพาพวกเขามาเผชิญหน้ากันในช่วงท้าย ผ่านการถ่ายทอดด้วยบทสนทนาของตัวละครที่ประกอบไปด้วยคำกวีแบบมีปรัชญาในแทบจะทุกประโยคและงานด้านการกำกับภาพที่สุดประณีตอลังการเล่นกับฉากพื้นที่และความว่างได้อย่างสุดสร้างสรรค์ หนังที่จะฉายในโปรแกรมนี้เป็นฉบับฉายโรงความยาว 165 นาที เนื่องจากยังไม่สามารถหาฉบับความยาวดั้งเดิม 202 นาทีซึ่งใช้ตระเวนฉายตามเทศกาลพร้อมคำบรรยายภาษาอังกฤษได้

Death Powder (1986)

หนัง Sci-Fi Cyber-Punk สุดขำที่ใครดูแล้วคงต้องร้องอุทานดัง ๆ ว่า ‘ช่างคิดช่างทำออกมาได้!’ เชิญพบกับความเปิ่นเป๋อของ Special Effect และมุกตลกเด๋อด๋าแต่ยังฮาได้อย่างหน้าตายชนิดที่คงไม่มีใครคิดได้นอกจากผู้กำกับ Shigeru Izumiya รายนี้ หนังเล่าเรื่องราวในอนาคตเมื่อสามนักวิทยาศาสตร์อันประกอบไปด้วยหนึ่งหญิงสองชายต้องร่วมกันประมือกับหุ่นมนุษย์แอนดรอยด์สาวนาม Guernica ซึ่งถูกล่ามขังไว้ในโกดังร้าง เมื่อหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์เกิดพลั้งพลาดโดนพ่นผงพิฆาตจากปากของนางแอนดรอยด์สาว ผิวหนังของเขาก็เริ่มมีอาการติดเชื้อจนเหลวยุ่ยเยิ้มเฟะจนแทบไม่เหลือเค้าความเป็นมนุษย์อีกต่อไป แล้วนักวิทยาศาสตร์อีกสองคนที่เหลือจะแก้สถานการณ์นี้ได้อย่างไรคงเป็นอะไรที่ต้องติดตามกัน น่าเสียดายเหลือเกินที่หลังจาก Death Powder แล้ว Shigeru Izumiya ก็ยังไม่มีโอกาสได้ทำหนังเรื่องไหนอีกเลยกระทั่งในปัจจุบัน

While the Right Hand Is Sleeping (2002)
หนังทดลองใต้ดินระดับมหากาพย์ของผู้กำกับหนุ่มไฟแรง Shirakawa Koji ถ่ายทอดฝันร้ายของครอบครัวครอบครัวหนึ่งเมื่อจิตรกรผู้เป็นพ่อเกิดอาการติดเชื้อจนไม่สามารถขยับเขยื้อนมือขวาได้อีก ภรรยาของเขาซึ่งทำงานเป็นผู้ให้คำปรึกษาก็เริ่มหมดอาลัยตายอยากกับชีวิตของตัวเอง ส่วนลูกชายเพียงคนเดียวของทั้งสองก็เริ่มยุติการสื่อสารทางคำพูดเมื่อเขาสามารถอ่านใจคนอื่นได้ และขณะที่ครอบครัวนี้กำลังดำดิ่งไปสู่ความพลังทลาย เกย์หนุ่มนายหนึ่งก็เข้ามามีบทบาทในชีวิตพวกเขาและทำให้ชะตากรรมของครอบครัวต้องเปลี่ยนแปลงไปอีกครั้ง หนังทดลองแนวกวีความยาว 208 นาทีที่ใช้ภาษาภาพได้อย่างทรงพลังและน่าทึ่ง!

Moju (1969)
ผลงานสุดแปร่งของผู้กำกับ Yasuzo Masumura ที่ดัดแปลงมาจากเรื่องสั้นของ Edogawa Rampo ถ่ายทอดเรื่องราวความลุ่มหลงในความงามของเรือนร่างอิสตรีของนักประติมากรรมตาบอดจิตป่วยที่ต้องลักพาตัวหญิงสาวมาเป็นนางแบบให้กับผลงานแห่งความงามอันสมบูรณ์พร้อมของเขาเองภายในห้องโกดังที่ประดับประดาไปด้วยชิ้นส่วนของร่างกายมนุษย์อันชวนขนหัวลุก! นับเป็นหนังใต้ดินสุดเพี้ยนที่กำกับศิลป์ได้อย่างชวนผวาและน่าซูฮกเสียจริง ๆ

Mujo (1970)
ผลงานเด่นหาชมยากในยุคแรกของผู้กำกับ Akio Jissoji ที่บอกเล่าเรื่องราวความวุ่นวายอันเกิดจากความสัมพันธ์ต้องห้ามระหว่างสองพี่น้องชายหญิงคู่หนึ่งในเมืองเล็ก ๆ ริมทะเลสาบ โดยฝ่ายพี่ชายนั้นเป็นศิลปินผู้หลงใหลในศิลปะการประติมากรรมพระพุทธรูป ในขณะฝ่ายน้องสาวก็ปฏิเสธที่จะมอบหัวใจให้ใครนอกจากพี่ชายของเธอคนเดียว หนังใช้เรื่องราวหมิ่นเหม่ศีลธรรมมาถ่ายทอดสัจธรรมแห่งความ ‘อนิจจัง’ ไม่เที่ยงแท้ของมนุษย์ตามปรัชญาพุทธผ่านงานการกำกับภาพสุดขรึมขลังอลังการไม่แพ้งานของผู้กำกับระดับบรมครูอย่าง Carl Theodor Dreyer, Andrei Tarkovsky หรือแม้แต่ Miklos Jancso เลยทีเดียว

Diary of a Shinjuku Thief (1968)

เรื่องราวชีวิตคนนอกของ Birdie โจรขโมยหนังสือหนุ่มที่ถูกพนักงานสาวประจำร้านคนหนึ่งจับได้ แต่เมื่อทั้งสองได้กลับกลายมาเป็นคนรักกันฝ่ายหญิงจึงร่วมมือกับฝ่ายชายรวมหัวกันขโมยหนังสือจากย่านชินจุกุกันแบบไม่เกรงใจใคร นับเป็นหนังที่เล่นกับมิติสีจากช่วงแรกที่เป็นขาวดำกลายเป็นการเล่นกับความแปร๋นแปร๋นด้วยสีสันและความบ้าคลั่งในช่วงหลังได้อย่างแปลกใหม่และน่าสนใจ
**********************************************************************************
Death by Hanging (1968)

หนังตลกเสียดสีสุดแสบร้ายเมื่อนักโทษหนุ่มเกาหลีรายหนึ่งเกิดรอดชีวิตจากการประหารด้วยการแขวนคออย่างน่ามหัศจรรย์แต่กลับสูญเสียความทรงจำต่าง ๆ ไปหมดสิ้น พัสดีและผู้คุมชาวญี่ปุ่นจึงต้องตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไรกับนักโทษเกาหลีรายนี้ เพราะเมื่อไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับคดีที่เขาลงมือทำพวกเขาก็ไม่สามารถจะเอาชีวิตนักโทษได้อย่างถูกกฎหมาย หนังใช้เทคนิคเล่นกับคนดูของ Bertolt Brecht มาขยายมิติหนังได้อย่างสร้างสรรค์จนกลายเป็นงานที่ซับซ้อนและท้าทายมากที่สุดของผู้กำกับ Nagisa Oshima เลยทีเดียว

The Man Who Put His Will on Film (1970)
เมื่อนักศึกษาหนุ่มได้ใช้กล้องถ่ายหนังถ่ายการประท้วงครั้งหนึ่งไว้ กล้องและฟิล์มของเขาก็ถูกขโมยไป เมื่อเขาพยายามแกะรอยตามหาคนขโมยเขาก็พบว่าตัวการรายนั้นได้ฆ่าตัวตายไปเสียแล้ว เรื่องราวเริ่มทวีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้นเมื่อฟิล์มชุดนี้ดันไปถึงมือตำรวจและพวกเขาอิดออดที่จะคืนให้กับเจ้าของ จากการบันทึกภาพการประท้วงธรรมดา ๆ มันอาจจะมีอะไรมากกว่าสิ่งที่เห็นก็เป็นได้

The Ceremony (1971)
ผลงานเด่นอีกเรื่องหนึ่งของ Nagisa Oshima ที่ถ่ายทอดวิถีวัฒนธรรมและประเพณีแบบญี่ปุ่นด้วยภาพการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเฉลิมฉลองครบครอบ การแต่งงาน งานศพ ผ่านสายตาของเด็กชายผู้เป็นทายาทของครอบครัวใหญ่ครอบครัวหนึ่ง นับเป็นหนังที่วิพากษ์วิจารณ์ความเป็นญี่ปุ่นได้อย่างแสบลึกและคมคายชวนให้ได้ใช้วิจารณญาณในการชมยิ่งนัก

หมายเหตุ ขอขอบคุณคุณ Oleg Evnin เป็นอย่างสูงสำหรับภาพยนตร์บางเรื่องที่ฉายในโปรแกรมนี้

5.10.08

ฉลอง 13 ปี หนังควบดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส)

ฉลอง 13 ปี หนังควบดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส)

ขอเชิญเพื่อนพ้องน้องพี่ช่วยจัดโปรแกรมหนังควบในจินตนาการให้ ฟิล์มไวรัส เนื่องในโอกาสที่ ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ ได้ตระเวนฉายหนังฟรีตามสถานที่ต่าง ๆ มาเป็นเวลานานจนขึ้นปีที่ 13 โดยที่ผ่านมาทางเราได้พยายามจัดหนังเป็นชุดหัวข้อต่าง ๆ นำเสนอแก่สาธารณะมาเป็นจำนวนมากมายนับไม่ถ้วน มาบัดนี้ถึงเวลาแล้วที่เราอยากเชื้อเชิญให้คอหนังเดินดินทั่วไปมาร่วมสนุกจัดโปรแกรมหนังสมมติให้เราได้ทำหน้าที่คนดูบ้าง

ผลงานที่ได้รับการรวบรวมจะนำลงคอลัมน์ Artvirus ที่เว็บไซต์ open online และบางชิ้นจะนำไปจัดแสดงในงาน ครบรอบ 13 ปี ฟิล์มเฮ้าส์ ระหว่างวันที่ 9-23 มกราคม 2552 ที่ หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ขอย้ำว่างานนี้เปิดรับไอเดียจากทุกคนรวมทั้งบุคคลทั่วไป)

ส่งมาได้ที่ filmsick@gmail.com หรือ dkfilmhouse@yahoo.com

แนวทาง
1. จัดโปรแกรมหนังควบที่เป็น คู่คล้าย คือ จับหนัง 2-3 เรื่องที่มีแนวทางคล้ายกันมาบอกเล่า อธิบายความชอบ ความสัมพันธ์ที่น่าสนใจระหว่างหนังกลุ่มที่ยกตัวอย่างมา

2. จัดโปรแกรมหนังควบที่เป็น คู่ต่าง คือ พูดถึงหนัง 2-3 เรื่องที่มีแนวเรื่อง หรือลักษณะร่วมบางอย่างใกล้เคียงกัน (แต่ผลลัพธ์อาจนำไปสู่บทสรุปที่แตกต่างเหมือนด้านตรงข้าม) อธิบายความชอบ ความสัมพันธ์ที่น่าสนใจระหว่างหนังกลุ่มที่ยกตัวอย่างมา

3. ขอให้พยายามจับคู่หนังโดยหลีกเลี่ยงหัวข้อพื้นฐาน เช่น จับคู่ผลงานของผู้กำกับคนเดียวกัน ดาราคนเดียวกัน นิยายเรื่องเดิมนำมาสร้างใหม่ หนังรีเมคจากฉบับต้นฉบับ หรือหนังล้อเลียน

4. การจับคู่หนังแนวอาร์ตเฮ้าส์ กับแนวตลาด (หรือหยิบหนังมาฉายควบกับมิวสิควีดีโอ) ยิ่งน่าสนใจมาก! ยิ่งเป็นหนังที่คนรู้จักน้อยและถูกมองข้ามก็ยิ่งดี (ไม่จำกัดเชื้อชาติไทย / หรั่ง / แขก /ญวน / ลาว)

5. คุณสามารถเสนอไอเดียแนะนำหนังควบมากี่คู่ก็ได้ ไม่จำกัด

6. ขอเป็นความยาวระหว่าง ½ หน้า – 1 หน้ากระดาษ อย่าลืมระบุชื่อหนัง บอกปีสร้าง ใครกำกับ ใครแสดง อธิบายโดยย่อว่าหนังแต่ละเรื่องเกี่ยวกับอะไร เนื้อเรื่องประมาณไหน ทำไมคุณถึงชอบและอยากให้คนอื่นได้มีโอกาสดู เหตุใดจึงจับคู่หนังชุดนี้ หนังคู่นั้นมันมีความสัมพันธ์ หรือข้อแตกต่างให้เปรียบเทียบกันอย่างไร

7. กรุณาส่งก่อน 15 ตุลาคม 2551 ผลงานส่วนใหญ่ที่ส่งมาจะนำเผยแพร่ในคอลัมน์ ARTVIRUS ที่เว็บไซต์ open online หรือ บล็อก นิมิตวิกาล (และบางชิ้นจะนำไปใส่กรอบแสดงในหอศิลป์จามจุรีต้นปีหน้า) งานนี้ไม่มีของรางวัลตอบแทนแต่อย่างใด มีแต่คำขอบคุณที่อุตส่าห์ส่งผลงานมาร่วมสนุกกัน

ตัวอย่างหนังควบประเภท “คู่คล้าย

หัวข้อ วัยสัปดน (ควบสามเรื่อง)
American Pie
Private School
Porky’s

หัวข้อ หนุ่มสาวห่างความเจริญค้นพบเซ็กส์ (ควบสามเรื่อง)
Paradise
The Blue Lagoon
An Imprudent Couple

หัวข้อ ซินเดอเรลล่าพาไป
Pretty Woman
Maid in Manhattan
Embrasse-moi Bandino!


หัวข้อ ครูเหรอวะ (ควบสามเรื่อง)
สวัสดีคุณครู
แด่คุณครูด้วยคมแฝก
Up the Down Staircase

หัวข้อ คนรักหนัง (ควบสามเรื่อง)
Cinema Paradiso
Splendor
Boat out of Watermelon Rinds

หัวข้อ สัตว์เดือด (ควบ 5 เรื่อง)
Jaws
Alligators
Piranha
Anaconda
The Host

หัวข้อ ล่องลำน้ำเลือด
Apocalypse Now
Aguirre, Wrath of God

***************************************
ตัวอย่างหนังควบ “คู่ต่าง”

หัวข้อ ชีวิตแขวนคู่
ตู้ซ่อนผี (Tales of Two Sisters)
The Double Life of Veronique

หัวข้อ ส่งต่อความดี / ส่งต่อความชั่ว
Pay it Forward
L’ Argent

หัวข้อ ขึ้นครูกับรุ่นใหญ่ (ควบสามเรื่อง)
Class (1983)
Private Lessons
Murmur of the Heart

หัวข้อ หญิงรุมชาย
What Women Wants
Dr. T and His Women

หัวข้อ แรกรักสาววัยกระเตาะ (ควบสามเรื่อง)
L’ Adolescente (1979)
36 Fillette
The Holy Girl (La Nina Santa)

หัวข้อ วิวาห์อลวน
My Big Fat Greek Wedding
Monsoon Wedding

30.9.08

ยกเลิกงาน “3 ทศวรรษศิลปะภาพยนตร์ผ่านงานวิจารณ์หนัง”

ประกาศ ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส)

ตามที่ได้เคยประกาศไว้ว่า ฟิล์มไวรัส จะจัดแสดงงาน “3 ทศวรรษศิลปะภาพยนตร์ผ่านงานวิจารณ์หนัง ระหว่างวันที่ 9 – 28 มกราคม 2552หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นั้น

ปัจจุบันขอยกเลิกงานเป็นการถาวร ขอขอบคุณนักวิจารณ์ทุกท่านที่ไม่มีความภูมิใจและไม่ศรัทธาในวิชาชีพของตัวเอง อีกทั้งยังไม่สนใจให้ความร่วมมือมา ณ ที่นี้

งวดนี้ไม่มีคำว่า รอ หรือคำว่า ทวง

17.9.08

โปรแกรมหนังเกย์และเลสเบี้ยน (สำหรับคนดูหนังทุกเพศ) สัปดาห์สุดท้าย

โปรแกรมหนังเกย์และเลสเบี้ยน (สำหรับคนดูหนังทุกเพศ) ของ ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์


คลิ้กตามโปรแกรมข้างล่างนี้ ที่ นิมิตวิกาล
http://twilightvirus.blogspot.com/2008/08/openbooks-queer-cinema-for-all-7-14-21.html

These Three และ The Children’s Hour
หนังเนื้อเรื่องเดียวกัน แต่สร้างสองครั้ง (โดยผู้กำกับคนเดียวกัน)

ฉายวันอาทิตย์ที่ 21 กันยายน 2551

ทำไม William Wyler ถึงรอสร้างหนังฉบับใหม่ที่มี ออเดรย์ แฮปเบิร์น (Audrey Hepburn) และ เชอร์ลี่ แม็คเลน (Shirley Maclaine) นำแสดงถึง 25 ปี (คลิ้กขยายภาพประกอบ)

9.9.08

โปรแกรมหนังเกย์และเลสเบี้ยน ยังไม่จบ

โปรแกรมหนังเกย์และเลสเบี้ยน ของ ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ยังมีต่ออีก 2 สัปดาห์



อ่านใน นิมิตวิกาล / TwilightVirus



http://twilightvirus.blogspot.com/2008/08/openbooks-queer-cinema-for-all-7-14-21.html

2.9.08

เฉลยหนังคู่สุด SURPRISE ในโปรแกรมดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ + ผู้ได้รับรางวัล

เฉลยหนังคู่สุด SURPRISE ในโปรแกรมดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ + ผู้ได้รับรางวัล

ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับการจัดฉายหนังคู่สุด SURPRISE เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2551 ที่ ห้องเรวัต พุทธินันท์ หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งคำตอบของคำถามชิงรางวัลทั้งหกข้อนั้นก็มีดังต่อไปนี้

ภาพยนตร์ SURPRISE เรื่องที่ 1
1) ภาพยนตร์เรื่องนี้มีชื่อภาษาอังกฤษว่า A Railway Station for Two (1982)
2) ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้คือ Eldar Ryazanov
3) ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์จากประเทศ สหภาพโซเวียต

A Railway Station for Two เป็นผลงานขึ้นชื่อของผู้กำกับโซเวียต Eldar Ryazanov ผู้ถนัดทำหนังแนวทางตลกเอาใจตลาดที่มักจะแอบพาดพิงถึงประเด็นการเมืองเอาไว้อย่างแยบคาย
ใน A Railway Station for Two นี้ ผู้กำกับ Eldar Ryazanov ได้เขียนบทร่วมกับ Emil Braginsky และได้นักแสดงยอดฝีมืออย่าง Lyudmila Gurchenko และ Oleg Basilashvili มารับบทนำเป็นสาวเสิร์ฟและนักเปียโนหนุ่มใหญ่ที่ดันมาพบรักกันในร้านอาหารริมชานชาลารถไฟในช่วงเวลาที่อายุอานามของทั้งคู่ก็ล่วงเข้าสู่วัยกลางคนแล้ว จากสถานะของบริกรและลูกค้าที่ไม่ลงรอยกัน สุดท้ายทั้งคู่ก็ต้องเผลอไผลแอบมีใจให้กันได้อย่างไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ
นับเป็นหนัง Romantic Comedy แนวแปลกที่สามารถเรียกหาความรู้สึกอ่อนไหวในวัยเยาว์กลับมาสู่ชายและหญิงวัยกลางคนได้อย่างแสนน่ารัก ชนิดที่แฟน ๆ ของหนังอย่าง Before Sunrise, Before Sunset หรือแม้แต่ In the City of Sylvia คงจะตกหลุมรักหนังเรื่องนี้ได้โดยไม่ยากเย็น!

ภาพยนตร์ SURPRISE เรื่องที่ 2
1) ภาพยนตร์เรื่องนี้มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Siege, Blockade หรือ Matzor (1969)
2) ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้คือ Gilberto Tofano
3) ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์จากประเทศ อิสราเอล

Matzor เป็นหนังจากอิสราเอล แต่กำกับโดยผู้กำกับสัญชาติอิตาเลียนที่แทบจะไม่มีใครรู้จัก (เพราะเขามีโอกาสได้กำกับหนังขนาดยาวเพียงเรื่องเดียว) ภาพยนตร์เรื่องนี้เคยเข้าร่วมประกวดในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์อย่างเงียบ ๆ เมื่อปี 1969 และแทบจะไม่ได้รับการกล่าวขวัญถึงอีกเลยหลังจากนั้น เนื้อหาของ Matzor เล่าถึงช่วงชีวิตแห่งความลังเลใจของ Tamar ม่ายสาวพราวเสน่ห์ที่เพิ่งสูญเสียสามีซึ่งเป็นทหารไปจากสงครามหกวัน เธอจะต้องตัดสินใจว่าจะครองสภาพเป็นวีรสตรีหญิงม่ายตามธรรมเนียมปฏิบัติของอิสราเอลหรือจะมอบหัวใจให้กับชายหนุ่มรายใหม่ซึ่งกำลังเข้ามาติดพันเธอ
จากเนื้อเรื่องแสนธรรมดา ๆ และออกจะเชย ๆ แต่ผู้กำกับ Gilberto Tofano กลับสามารถใช้เทคนิคเชิงหนังถ่ายทอดสภาพจิตใจของ Tamar ออกมาได้อย่างแจ่มชัดจนน่าตื่นตะลึง หนังถ่ายด้วยฟิล์มขาวดำตลอดทั้งเรื่อง จัดองค์ประกอบภาพในแต่ละฉากได้อย่างแปลกตา แถมยังตัดลำดับภาพกระโดดสลับไปมาได้อย่างน่าตื่นเต้น ชวนให้นึกไปถึงลีลาแหวกขนบของหนังกลุ่ม French New Wave อย่างไรอย่างนั้นเลยทีเดียว Matzor จึงนับเป็นหนังตะวันออกกลางจากปลายยุค 60’s ที่ยังคงความแปลกใหม่และเก๋ไก๋ได้แม้ในปัจจุบัน โดยเฉพาะฉากสุดท้ายนั้นคงจะทำให้หลาย ๆ คนต้อง surprise จนหงายหลังตึง!

ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ ขอขอบคุณทุก ๆ ท่านที่ร่วมสนุกในการตอบคำถาม และขอแสดงความยินดีกับ คุณ เอกสิทธิ์ ยี่สาน ที่ตอบคำถามได้ถูกต้องจำนวน 1 ข้อว่าภาพยนตร์ SURPRISE เรื่องที่สอง เป็นภาพยนตร์จากประเทศอิสราเอล โดยจะได้รับหนังสือ “Queer Cinema for All: 30 หนังเกย์และเลสเบี้ยนที่ชายจริงหญิงแท้ควรได้ดู” จำนวน 1 เล่มเป็นของรางวัล

25.8.08

เชิญร่วมสนุกทายคำตอบหนังคู่สุด SURPRISE

ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ขอเชิญร่วมสนุกทายคำตอบหนังคู่สุด SURPRISE ภายในวันอาทิตย์ที่ 31 สิงหาคม นี้

ตามที่ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ ได้แจ้งโปรแกรมภาพยนตร์ SURPRISE สุดพิเศษซึ่งจะจัดฉายให้ได้ชมกันใน วันอาทิตย์ที่ 31 สิงหาคม นี้ ณ ห้องเรวัต พุทธินันท์ ชั้นใต้ดิน U2 หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ตั้งแต่เวลา 12.30 น. เป็นต้นไป ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ขอเชิญทุก ๆ ท่าน ร่วมสนุกด้วยการตอบคำถามเกี่ยวกับหนัง SURPRISE ทั้งสองเรื่องนี้จากคำใบ้ โดยผู้ที่ตอบคำถามได้ถูกต้องมากที่สุดจะได้รับหนังสือ “QUEER CINEMA FOR ALL: 30 หนังเกย์และเลสเบี้ยนที่ชายจริงหญิงแท้ควรได้ดู” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ openbooks จำนวน 1 เล่มเป็นของรางวัล

สำหรับคำใบ้ของโปรแกรมภาพยนตร์ในวันนั้นมีดังนี้

อาทิตย์ที่ 31 สิงหาคม 2551
12.30 น. ภาพยนตร์ SURPRISE # 1
ใบ้ด้วยเรื่องย่อ: เรื่องราวความรักที่ไม่น่าเป็นไปได้ของนักเปียโนหนุ่มใหญ่กับสาวเสิร์ฟวัยกลางคน กับผลงานชวนฝันที่ทำออกมาได้โรแมนติกอย่างเหลือเชื่อ!

15.00 น. ภาพยนตร์ SURPRISE # 2
ใบ้ด้วยภาพปกหนัง: (ดูภาพข้างบน)

ฉาย ณ ห้องเรวัต พุทธินันท์ ชั้นใต้ดิน U2 หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
โทร 0-2613-3529 หรือ 0-2613-3530
ชมฟรีทั้งรายการ (โปรดแจ้งเจ้าหน้าที่ห้องสมุดว่ามาชมภาพยนตร์ และกรุณาแต่งกายสุภาพ)
คำถามสำหรับภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องนี้ก็คือ . . .

ภาพยนตร์ SURPRISE เรื่องที่ 1
1) ภาพยนตร์เรื่องนี้มีชื่อภาษาอังกฤษว่า _________________________________________________
2) ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้คือ _________________________________________________________
3) ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์จากประเทศ ____________________________________________

ภาพยนตร์ SURPRISE เรื่องที่ 2
1) ภาพยนตร์เรื่องนี้มีชื่อภาษาอังกฤษว่า _________________________________________________
2) ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้คือ _________________________________________________________
3) ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์จากประเทศ ____________________________________________

ร่วมสนุกด้วยการส่งคำตอบทาง e-mail ถึง dkfilmhouse@yahoo.com พร้อมชื่อ-นามสกุล และที่อยู่สำหรับรับรางวัลภายในวันอาทิตย์ที่ 31 สิงหาคม 2551 เวลา 9.00 น. โดยขอจำกัด 1 ท่านต่อคำตอบ 1 ชุดเท่านั้น ขอย้ำว่าท่านไม่จำเป็นต้องตอบคำถามได้ทั้งหมด เพราะเราจะมอบรางวัลให้แก่ผู้ที่ตอบถูกต้องมากที่สุด โอกาสจึงยังเป็นของคุณ!

(ใบ้ให้เพิ่มเติมว่าภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องนี้ไม่ใช่ภาพยนตร์พูดภาษาอังกฤษ)

ติดตามรายชื่อผู้ได้รับรางวัลพร้อมคำเฉลยได้ที่นี่ หลังวันฉายภาพยนตร์

ภาพปกหนังสือของรางวัล
และติดตามโปรแกรมภาพยนตร์ Queer Cinema for All หนังเกย์และเลสเบี้ยนที่ชายจริงหญิงแท้ควรได้ดู ต่อได้ที่ http://twilightvirus.blogspot.com/2008/08/openbooks-queer-cinema-for-all-7-14-21.html

4.8.08

เปิดตัวหนังสือ Queer Cinema และ Outsider in Cinema

ภาพงานเปิดตัวหนังสือ Outsider in Cinema ของ อุทิศ เหมะมูล และ Queer Cinema ของ กัลปพฤกษ์

วันที่ 2 สิงหาคม 2551 พร้อมฉายหนังประกอบ

สถานที่คือ People Space Gallery ย่านแพร่งภูธร ใกล้สี่แยกคอกวัว http://www.people-space.blogspot.com/บริหารแกลเลอรี่ โดย คุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา บรรณาธิการบริหารของสำนักพิมพ์ openbooks บ้านของหนังสือหลายเล่มในชุด filmvirus นี่เอง
(ภาพปก Outsider in Cinema ของ อุทิศ เหมะมูล)

“QUEER CINEMA FOR ALL: 30 หนังเกย์และเลสเบี้ยนที่ชายจริงหญิงแท้ควรได้ดู”

วางตลาดใกล้บ้านท่าน!

แนะนำหนังสือ
QUEER CINEMA FOR ALL: 30 หนังเกย์และเลสเบี้ยนที่ชายจริงหญิงแท้ควรได้ดู

แต่งโดย กัลปพฤกษ์

“QUEER CINEMA FOR ALL: 30 หนังเกย์และเลสเบี้ยนที่ชายจริงหญิงแท้ควรได้ดู” เป็นหนังสือรวมบทความแนะนำภาพยนตร์ที่ว่าด้วยเรื่องราวหลากหลายของกลุ่มคนรักร่วมเพศจำนวน 30 เรื่องที่ชายจริงหญิงแท้ควรจะต้องเปิดโอกาส หนังที่เลือกมาแนะนำในหนังสือเล่มนี้จะนำพาผู้อ่านชายจริงหญิงแท้ไปสัมผัสกับโลกของผู้ที่มีรสนิยมรักร่วมเพศผ่านตัวละครต่าง ๆ อย่างละเอียดลึกซึ้ง ด้วยแง่มุมลึกเร้นซึ่งหลาย ๆ คนอาจจะนึกไปไม่ถึง

หนังทั้ง 30 เรื่องในหนังสือเล่มนี้เป็นหนังนานาชาติจากหลากยุคหลายสมัย ซึ่งสามารถให้คำตอบต่อคำถามที่ชายจริงหญิงแท้มักจะมีต่อบุคคลรักร่วมเพศว่า ทำไมจึงต้องมีรักร่วมเพศ? รักร่วมเพศสามารถรักษาให้หายได้หรือไม่? มีปัจจัยใดบ้างที่ทำให้ใครบางคนหันมารักชอบเพศเดียวกัน? จะบอกได้อย่างไรว่าใครคนไหนเป็นรักร่วมเพศ? และควรทำอย่างไรเมื่อลูกเริ่มมีอาการเบี่ยงเบน?

หนังสือเล่มนี้มุ่งกระตุ้นให้ผู้อ่านชายจริงหญิงแท้ทั้งหลาย ได้หันมาสนใจและทำความเข้าใจกลุ่มคนรักร่วมเพศที่อยู่ร่วมในสังคม ด้วยการทำความรู้จักพวกเขาในสิ่งที่พวกเขาเป็นโดยปราศจากอคติ ซึ่งน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการเชื่อมสะพานแห่งความเข้าใจบุคคลที่มีบางด้านบางมุมต่างไปจากเรา อันจะนำไปสู่หนทางของการอยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์และสงบสุขโดยปราศจากการแบ่งแยก

แม้ว่าเนื้อหาหลักในหนังสือเล่มนี้จะเน้นถึงการทำความรู้จักกับกลุ่มคนรักร่วมเพศ แต่การวิเคราะห์ตัวละครในหนังหลายเรื่องก็ยังมีการเทียบเคียงอารมณ์ภายในของกลุ่มคนรักร่วมเพศกับอารมณ์ความรู้สึกของกลุ่มคนรักต่างเพศทั้งชายและหญิงประกอบไปด้วยอย่างคู่ขนาน “QUEER CINEMA FOR ALL: 30 หนังเกย์และเลสเบี้ยนที่ชายจริงหญิงแท้ควรได้ดู” จึงมิได้เป็นเพียงหนังสือที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มคนรักร่วมเพศเท่านั้น หากยังมีมุมมองที่สะท้อนถึงความรู้สึกอันแตกต่างหลากหลายระหว่างชายและหญิงรักต่างเพศทั่วไปกับกลุ่มผู้ที่มีจิตใจรักชอบเพศเดียวกันได้อย่างน่าขบคิด ชนิดที่ไม่ควรจะมองข้ามไปได้ง่าย ๆ ไม่ว่าคุณจะสังกัดอยู่ในทะเบียนเพศไหนก็ตาม!

สารบัญ
01 เควียร์อมตะ
02 ทำไมต้องเป็น?
03 รุ่นบุกเบิก เมื่อคุณลุง ‘นะยะ’ พบคุณป้า ‘นะฮะ’
04 ความสัมพันธ์อันตราย
05 งามสรีระ
06 ยอดผู้กำกับเกย์ RAINER WERNER FASSBINDER
07 กว่าจะเป็นเกย์
08 กว่าจะเป็นเลสเบี้ยน
09 ภูมิใจที่ได้เป็น
10 สุดอายเมื่อกลายเป็น
11 เพศแท้แพ้ใกล้ชิด
12 สัตว์ประหลาด!!
13 ยอดผู้กำกับเลสเบี้ยน ULRIKE OTTINGER
14 เกย์สะเทือนทัพ
15 เรื่องจริงปวดใจ

อ่านแล้วอยากดูหนัง
ขอเชิญชมโปรแกรมฉายหนังได้ที่นี่ *
http://twilightvirus.blogspot.com/2008/08/openbooks-queer-cinema-for-all-7-14-21.html

31.7.08

TOOTSIE ชื่อนี้มีที่มา

โดย . . . ‘กัลปพฤกษ์’ kalapapruek@hotmail.com

TOOTSIE เป็นชื่อของภาพยนตร์ตลกโรแมนติกระดับเข้าชิงรางวัลออสการ์ของผู้กำกับ Sydney Pollack ซึ่งเพิ่งจะลาจากโลกนี้ไปด้วยโรคมะเร็งเมื่อกลางปี 2008 ภาพยนตร์ที่ออกฉายเมื่อปี 1982 เรื่องนี้นับเป็นการรับบทบาทการแสดงที่โดดเด่นและน่าประทับใจมากที่สุดบทหนึ่งของนักแสดงชายระดับแถวหน้าของวงการอย่าง Dustin Hoffman เลยทีเดียว

Dustin Hoffman รับบทบาทเป็น Michael Dorsey นักแสดงหนุ่มผู้ตกอับที่ไม่มีผู้กำกับละครรายไหนยอมให้เขาได้รับเล่นบทใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นบทเล็กบทน้อยเพียงไหนก็ตาม เมื่อเริ่มหมดสิ้นหนทาง Michael จึงตัดสินใจลุกขึ้นปลอมตัวเองเป็นผู้หญิงแล้วไปสมัครคัดเลือกนักแสดงโดยใช้ชื่อ Dorothy Michaels เพื่อรับบทบาทเป็นเจ้าหน้าที่อาวุโสของโรงพยาบาลในละครโทรทัศน์ที่ออกอากาศตอนกลางวันเรื่อง Southwest General Hospital จนกระทั่งได้บท! Michael ในร่างของ Dorothy จึงต้องใช้ความสามารถทางการแสดงในการ ‘เล่นละคร’ ตบตาทั้งคนดูและทีมงานในกองถ่ายโดยไม่มีใครระแคะระคายเลยว่า Dorothy มิใช่หญิงแท้! เหตุการณ์เริ่มวุ่นวายมากขึ้นเมื่อละครเรื่องนี้เกิดดังเป็นพลุแตกจากบทหญิงเหล็กผู้ไม่ยอมก้มหัวให้ชายหน้าไหนของ Dorothy ที่ Michael แสดงออกมาได้อย่างเยี่ยมยอดนั่นเอง ซึ่งก็ทำให้ Dorothy กลายเป็นวีรสตรีผู้มีชื่อเสียงโด่งดังทั้งในสื่อโทรทัศน์และตามหน้านิตยสารต่าง ๆ ในชั่วเวลาข้ามคืน


ด้วยฐานะของหญิงเก่งยุคใหม่ท่ามกลางกาลสมัยแห่งการลุกขึ้นเรียกร้องความเท่าเทียมของอิสตรี Michael เริ่มรู้สึกหนักใจเมื่อความดังของละครทำให้เขาได้รับข้อเสนอให้ต่อสัญญาเพื่อรับบทบาทนี้ไปอีกหนึ่งปี แถมเขายังไปแอบมีใจให้กับ Julie Nichols (แสดงโดย Jessica Lange) แม่ลูกอ่อนที่รับบทบาทเป็นนางพยาบาลในละครเรื่องเดียวกัน อีกทั้งยังถูกนักแสดงชายวัยทองผู้บ้ากามและบิดาบังเกิดเกล้าของ Julie มายื่นแหวนขอแต่งงานกับเขาอีกด้วย! Michael จะหาทางออกต่อสถานการณ์นี้อย่างไร คงต้องขอเชิญชวนให้ได้หาโอกาสติดตามกันจากหนังตลกชั้นดีมากมีรสนิยมเรื่องนี้

ความสนุกของหนังนอกจากจะอยู่ที่มุกโปกฮาของการรับมือกับสถานการณ์วุ่นวายรอบด้านของ Michael ในขณะที่ต้องปลอมตัวเป็น Dorothy แล้ว หนังยังมีน้ำเสียงของการเสียดสีที่ให้สาระด้านการยกชูการเรียกร้องสิทธิสตรีได้อย่างน่ารักน่าชังอีกด้วย ด้วยสถานการณ์ที่ผูกรัดให้ Michael จะต้องรับบทบาททั้งนอกจอและในจออย่างแนบเนียน ผู้ชายแท้ทั้งแท่งอย่างเขาจึงต้องหันมาสนใจเรื่องราวสวย ๆ งาม ๆ ต่าง ๆ นานา เป็นต้นว่า จะใช้ mascara หรือ eye-shadow สีใดดี หากสวมเสื้อลายนี้กับกะโปรงตัวนี้แล้วมันจะเข้ากันไหม ไปจนถึงการแสดงกิริยารักนวลสงวนตัวเยี่ยงกุลสตรีที่จะไม่ยอมตกเป็นวัตถุทางอารมณ์จากบรรดาหนุ่มใหญ่จอมตัณหาอย่างหยิ่งทะนง! ไม่น่าแปลกใจที่ภาพยนตร์เรื่องนี้จะได้รับเสียงชื่นชมจากกลุ่ม Feminist ทั้งหลายในช่วงเวลานั้นอย่างท่วมท้น เพราะการที่หนังได้แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์จำเป็นที่ผู้ชายธรรมดา ๆ คนหนึ่งจะมีโอกาสได้รับรู้รสชาติของการเป็น ‘ผู้หญิง’ ดูบ้างนั้น มันช่างเป็นเรื่องชวนสะใจที่จะทำให้ฝ่าย ‘ผู้ชาย’ ได้สำเหนียกและเรียนรู้กันเสียบ้างว่า การเป็นผู้หญิงนั้นมันลำบากขนาดไหน!

ภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างสูงบนเวทีออสการ์เมื่อหนังได้รับการเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัลต่าง ๆ ถึง 9 สาขารวมทั้งสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมและภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี โดยมี Jessica Lange เป็นผู้คว้ารางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมมาครองได้สำเร็จ นอกจากนี้เพลงประกอบหนังอย่าง It Might Be You ซึ่งแต่งและร้องโดย Stephen Bishop ก็ยังกลายเป็นเพลงฮิตติดหูเป็นที่นิยมฟังกันจนถึงทุกวันนี้

สำหรับชื่อหนัง TOOTSIE นั้น คือชื่อเรียกล้อที่ผู้จัดละครชายใช้เรียกขาน Dorothy ขณะสั่ง take ในการถ่ายทำฉากหนึ่ง ซึ่งก็ทำให้ Dorothy เกิดอาการวีนแตกขึ้นมาทันทีเมื่อเธอถูกเรียกขานอย่างไม่ให้เกียรติ พร้อมสำทับกลับไปอย่างทันควันว่า ชื่อของเธอนั้นคือ Dorothy, D-O-R-O-T-H-Y ไม่ใช่ TOOTSIE โปรดเรียกขานใหม่ให้ถูกต้องด้วย! คำว่า TOOTSIE นี้ เป็นคำแสลงภาษาอังกฤษที่ใช้เรียกเด็กผู้หญิง เทียบกับคำไทยแล้วน่าจะแปลได้ว่า ‘อีหนู!’ หรือ ‘น้องสาว!’ ซึ่งคำนี้ Dustin Hoffman เป็นผู้เสนอให้ใส่ไว้ในบทภาพยนตร์ด้วยตนเอง โดยเขายืมมาจากชื่อเล่นของสุนัขที่มารดาของเขาเลี้ยงไว้ในเวลานั้น

เมื่อภาพยนตร์เรื่องนี้มีโอกาสได้เข้าฉายในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2526 คำว่า ‘ตุ๊ดซี่’ จึงได้กลายเป็นคำฮิตติดปากในหมู่คนไทยใช้เรียกชายกะเทยที่นิยมการแต่งเนื้อแต่งตัวและแสดงจริตกิริยาเยี่ยงมาจนถึงปัจจุบัน โดยส่วนใหญ่จะเรียกกันสั้น ๆ ว่า ‘ตุ๊ด’ แต่ก็มีผู้สันทัดกรณีหลายรายยืนยันว่า มีการใช้คำว่า ‘ตุ๊ด’ เรียกชายกะเทยกันในเมืองไทยมาก่อนหน้าที่ภาพยนตร์เรื่องนี้จะเข้าฉายในอเมริกาเสียด้วยซ้ำ โดยสันนิษฐานกันว่ามันน่าจะมาจากคำภาษาอังกฤษว่า toots ซึ่งมีความหมายเดียวกับ tootsie แต่มีการแผลงความหมายใช้เรียกชายที่มีบุคลิกตุ้งติ้งนุ่มนวลเพิ่มเติมจากนิยามความหมายเดิมของคำศัพท์ที่จำกัดเฉพาะผู้หญิงแต่เพียงอย่างเดียว

สำหรับคุณผู้อ่านที่สนใจเรื่องราวชีวิตอันหลากหลายของ ‘ตุ๊ดซี่’ ‘เกย์’ ‘กะเทย’ ‘เก้ง’ ‘กวาง’ ‘ทอม’ ‘ไบ’ ‘ดี้’ ‘เบี้ยน’ รวมทั้งกลุ่ม ‘คนข้ามเพศ’ ทั้งหลาย สามารถติดตามอ่านได้จากหนังสือ “QUEER CINEMA FOR ALL: 30 หนังเกย์และเลสเบี้ยนที่ชายจริงหญิงแท้ควรได้ดู” พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ openbooks ซึ่งจะมีงานเปิดตัว เริ่มวางจำหน่าย พร้อมทั้งฉายหนังบางเรื่องให้ได้ดูกันในวันที่ 2-3 สิงหาคม 2551 ณ People Space Gallery

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.onopen.com/2008/editor-spaces/3101

12.7.08

จาก Cronos ถึง Hellboy

Hellboy
Hellboy
Hellboy
Hellboy
Hellboy

Guillermo del Toro
Guillermo del Toro
Guillermo del Toro
Guillermo del Toro
Guillermo del Toro

Guillermo del Toro

หน้านี้มอบให้ กิญแญร์โม่ เดล โตโร่ ผู้กำกับ Mimic, Hellboy, Cronos, The Devil’s Blackbone และ Pan’s Labyrinth

ต้อนกับการมาเยือนของ Hellboy 2 (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ กิญแญร์โม่ เดล โตโร่ ได้ใน ฟิล์มไวรัส เล่ม 5 : ฉบับปฏิบัติการหนังทุนน้อย)
(ภาพจากปกวีซีไทย Cronos)

5.7.08

เกียรติยศสูงสุดอีกครั้งของของคนไทย

เครื่องอิสริยาภรณ์สำหรับคนทำหนังไทยระดับโลก

อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล กำลังจะเข้ารับเหรียญตราเกียรติยศ Chevalier des Arts et des letters ซึ่งนับเป็นของสูงในแวดวงวัฒนธรรมฝรั่งเศส ถือเป็นเกียรติระดับเกือบสูงสุดเท่าที่คนฝรั่งเศสเองภูมิใจและคนต่างชาติมากมาย (ได้แต่) ฝันใฝ่

คนดังวงการศิลปะ ดนตรี วรรณกรรม ภาพยนตร์ที่เคยรับเกียรติได้มาก่อนหน้านี้ก็เช่น

Michael Haneke
กงลี่
Paul Auster (อ่านที่ http://www.onopen.com/2006/02/1247)
David Bowie
Anthony Burgess
Ray Bradbury (คนนี้เจ้ยตัวจริงมาแล้วพร้อมสอยลายเซ็นต์)
William Faulkner
Nan Goldin
Bob Dylan
Celine Dion
Nadine Gordimer
Hal Hartley (อ่านใน filmvirus เล่ม 5)
Patricia Highsmith
กิมย้ง
Kazuo Ishiguro
Emir Kusturica
Jude Law
Jackson Pollock
Merlyn Streep
Patti Smith
Salman Rushdie
Mrinal Sen
Robert Redford
Toni Morrison
Rudolf Nureyev
Hayao Miyazaki
Ella Fitzgerald


ขนาดชาวต่างประเทศอย่างป๋า Clint Eastwood ยังมาได้ไอ้เครื่องอิสริยาภรณ์นี่ตอนแก่
แล้ว อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เป็นใคร

เจ้ย อภิชาติพงศ์ - เขาคือคนที่ชาติไทย และรัฐบาลไทยไม่ต้องการให้ลงสมัครพรรคไหน
เฮ้ มีพรรคของตัวเองดีกว่า พรรค Kick the Machine ไง มีคอหนังตัวจริงเป็นแนวร่วมดีกว่าที่ต้องซื้อเสียงจ่ายเงินกินต้มยำกุ้งกับฮะเก๋า

กำลังจะมีพิธีงานเลี้ยงรับรองที่สมาคมฝรั่งเศส กรุงเทพฯ
วันพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 เวลา 18.00 น.
จบรายงานข่าว-สำนักข่าวฟิล์มไวรัส
(ภาพประกอบโดย Filmvirus)

เอ้า ใครยังไม่มีหนังสือ สัตว์วิกาล: ภาพเรืองแสงของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล (Unknown Forces: The Illuminated Art of Apichatpong Weerasethakul) ของ ฟิล์มไวรัส / openbooks ก็เชิญหาซื้อเถิด ก่อนจะกลายเป็นของสะสมหายาก

รายละเอียดตามนี้เลย : http://dkfilmhouse.blogspot.com/2007/10/blog-post.html

ใช่! นี่มันโฆษณากันชัด ๆ
ประกาศโฆษณาติดต่อ : ฟิล์มไวรัส

17.6.08

เทศกาลศิลปะเมดเล่ย์ ดอน กิโฆเต้ แห่งลามันช่า

หลังจากที่ ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ได้เคยนำเสนอ ภาพยนตร์ ดอน กีโฆเต้ ไปชุดหนึ่งเมื่อเดือน มิถุนายน 2550 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ http://library.tu.ac.th/staff/user4/movies/Don%20Quixote.html

ในคราวนี้เพื่อสานต่อการ "สู่ฝันอันยิ่งใหญ่" ฟิล์มไวรัส จึงขอเพิ่มเติมหนัง Don Quixote และศิลปะแขนงอื่น ๆ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากอมตะวรรณคดีเรื่องดัง

ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ร่วมกับ สำนักพิมพ์ผีเสื้อ และ สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เสนอ . . .

เทศกาลศิลปะเมดเล่ย์ ดอน กิโฆเต้ แห่งลามันช่า
รวมมิตรภาพยนตร์ ดนตรีและนาฏลีลา แห่งแรงบันดาลใจ
จากบทประพันธ์เรื่องสำคัญของ มิเกล เด เซร์บันเตส

วันเสาร์ที่ 5 และ 12 กรกฎาคม 2551
ณ ห้องเรวัต พุทธินันท์ ชั้นใต้ดิน U2 หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
โทร 0-2613-3529 หรือ 0-2613-3530
ชมฟรีตลอดรายการ!!!

(โปรดแจ้งเจ้าหน้าที่ห้องสมุดว่ามาร่วมชมเทศกาล และกรุณาแต่งกายสุภาพ)

ร่วมชมผลงานภาพยนตร์ ดอน กิโฆเต้ ฉบับที่ยังไม่เคยจัดฉายมาก่อน พร้อมด้วยการแสดงนาฏลีลาและการบรรเลงดนตรีที่ได้รับแรงบันดาลใจจากบทประพันธ์อมตะชิ้นนี้ และร่วมเสวนากับวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี เจ้าของนามปากกา 'สิงห์ สนามหลวง' กับคุณมกุฏ อรฤดี บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ในหัวข้อ "โลกศิลปะของดอน กิโฆเต้ แห่งลามันชา" ดำเนินรายการโดย 'กัลปพฤกษ์'

5 กรกฎาคม 2551

13.00 – 14.00 น.
ฉายภาพยนตร์เรื่อง Adventures of Don Quixote (1933) กำกับโดย G.W. Pabst
14.00 – 15.45 น.
ฉายภาพยนตร์เรื่อง Don Kikhot (1957) ฉบับรัสเซีย กำกับโดย Grigory Kozintsev
16.00 – 18.00 น.
ร่วมเสวนาในหัวข้อ “โลกศิลปะของดอน กิโฆเต้ แห่งลามันชา” กับคุณ สุชาติ สวัสดิ์ศรี หรือ ‘สิงห์ สนามหลวง’ บรรณาธิการนิตยสารช่อการะเกด และคุณ มกุฏ อรฤดี บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ดำเนินรายการโดย ‘กัลปพฤกษ์’

12 กรกฎาคม 2551

12.30 – 14.45 น.
ฉายการแสดงบัลเลต์เรื่อง Don Quixote กำกับโดย Rudolf Nureyev
15.00 – 16.45 น.
ฉายภาพยนตร์สเปนเรื่อง Honor de Cavalleria (2006) กำกับโดย Albert Serra
17.00 – 17.45 น.
ฉายการบรรเลงบทคีตนิพนธ์ Don Quixote ประพันธ์โดย Richard Strauss อำนวยวงโดย Herbert von Karajan

เรื่องย่อของบทประพันธ์ ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน

เรื่องราวใน "ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน" ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นวรรณกรรมรูปแบบ 'นวนิยาย' เรื่องแรกของโลกนั้น จะเป็นการล้อเลียนขนบงานวรรณคดีวีรคติที่มุ่งเชิดชูอุดมคติและความมุ่งมั่นในการพิชิตหมู่มารอภิบาลคนดีของเหล่าอัศวินวีรบุรุษผู้กล้า โดยจะเล่าเรื่องราวผ่านตัวละคร อล็อนโซ กิฆาน่า ชายวัยเกษียณอายุที่มีอาการคลั่งไคล้วรรณคดีแนวอัศวินเหล่านี้อย่างถอนตัวไม่ขึ้น เขาไม่ลังเลเลยที่จะตัดสินใจขายที่ดินเพื่อนำเงินมาซื้องานวรรณกรรมที่เขาหลงรักแล้วก้มหน้าก้มตาตะบี้ตะบันอ่านมันอย่างหิวกระหายโดยไม่สนใจเดือนตะวัน จนเป็นที่หวั่นใจของหลานสาวและแม่บ้านซึ่งอาศัยร่วมชายคาเดียวกับเขา ถึงขั้นต้องพยายามหาวิธีปรามความคลุ้มคลั่งในโลกจินตนาการของชายผู้เป็นเจ้าของบ้านก่อนที่เขาจะเสียจริต

แต่ดูเหมือนทุกอย่างจะสายเกินไป เมื่อ อล็อนโซ กิฆาน่า เกิดแรงบันดาลใจจากการอ่านวรรณกรรมเหล่านี้อย่างจริงจัง จนต้องอุปโลกน์ตนเองเป็นขุนนางผู้กล้านามว่า ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า (Don Quixote de La Mancha) ควบม้าคู่ใจออกจากบ้านพร้อม ซันโช่ ปันซ่า ชายชาวบ้านผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไร เพื่อไปปฏิบัติภารกิจอันยิ่งใหญ่ของเหล่าอัศวินผู้ผดุงความยุติธรรม โดยมี ดุลซิน่า หญิงงามในจินตนาการซึ่ง ดอนกิโฆเต้ สร้างตัวตนขึ้นมาเพื่อเป็นแรงใจให้เขาสามารถฟันฝ่าอุปสรรคทั้งหลายได้ตลอดการเดินทาง

Adventures of Don Quixote (1933) กำกับโดย G. W. Pabst

ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ชุดที่ กีออร์ก วิลเฮล์ม พาบส์ (Georg Wilhelm Pabst) ได้ถ่ายทำพร้อม ๆ กันถึงสามภาษา คือ ฝรั่งเศส อังกฤษ และเยอรมัน และออกฉายเมื่อปี ค.ศ. 1933 กีออร์ก วิลเฮล์ม พาบส์ เคยมีผลงานภาพยนตร์เรื่องดังอย่าง Pandora's Box (1929) ซึ่งดัดแปลงจากบทละครของ ฟรังค์ เวเดคินด์ (Frank Wedekind) สำหรับ Adventures of Don Quixote ชุดสามภาษานี้ ก็ได้นักร้องนักแสดงชื่อดังชาวรัสเซียผู้เรืองนาม เฟโอดอร์ ชาลีอาปิน (Feodor Chaliapin) มาสวมบทบาทเป็นดอนกิโฆเต้ โดยผู้กำกับ กีออร์ก วิลเฮล์ม พาบส์ ได้ใช้บทภาพยนตร์ และฉากหลังเดียวกันถ่ายทำไปทีละภาษาแถมยังสามารถทำออกมาได้เสร็จพร้อมกันในปีเดียวเป็นหนังความยาวเรื่องละ 1 ชั่วโมง

ฉบับแรกที่สำเร็จออกมาคือฉบับภาษาฝรั่งเศสซึ่งดูจะเป็นฉบับที่สมบูรณ์พร้อมมากที่สุดทั้งทางด้านรายละเอียดเหตุการณ์และการแสดง จากนั้นจึงมีฉบับภาษาอังกฤษและเยอรมันตามมา ซึ่งปัจจุบันนี้ก็หาชมกันได้เพียงฉบับฝรั่งเศสและอังกฤษเท่านั้นเนื่องจากต้นฉบับหนังฉบับเยอรมันนั้นได้สูญหายไปเสียแล้ว สำหรับ Adventures of Don Quixote ฉบับที่จะฉายในงานนี้จะเป็นฉบับภาษาฝรั่งเศสพร้อมคำบรรยายภาษาอังกฤษ

Don Kikhot (1957) กำกับโดย Grigori Kozintsev

ผลงานภาพยนตร์ดอนกิโฆเต้ฉบับรัสเซียฝีมือการกำกับโดย กริกอรี โคซินท์เซฟ (Grigori Kozintsev) ผู้กำกับชาวรัสเซียที่ถนัดถนี่ในการดัดแปลงวรรณกรรมอมตะลงสู่แผ่นฟิล์ม ผลงานเด่นเรื่องอื่น ๆ ของเขาก็ประกอบด้วย Shinel (1926) จากบทประพันธ์เรื่อง The Overcoat ของนิโคไล โกโกล (Nikolai Gogol) The Young Fritz (1943) จากบทกวีของ ซามูอิล มาร์ชัค (Samuil Marshak) และ Gamlet (1964) กับ Korol Lir (1971) ซึ่งดัดแปลงจากบทละครเรื่อง Hamlet และ King Lear ของวิลเลียม เชคสเปียร์ (William Shakespeare)

สิ่งที่น่าสนใจในภาพยนตร์ดอนกิโฆเต้ฉบับนี้ก็คือความแปลกใหม่ของการให้น้ำหนักของตัวละครรอบข้างมากกว่าตัวละครเอกอย่างดอนกิโฆเต้อย่างเห็นได้ชัด ด้วยจุดประสงค์หลักของตัวภาพยนตร์เองที่ต้องการชูประเด็นการเย้ยหยันอุดมคติแห่งคุณค่าดีงามว่าเป็นเพียงความเพ้อเจ้อใหลหลงของผู้โง่เขลาเบาปัญญาซึ่งควรจะตกเป็นเหยื่อแห่งความสำราญของผู้ที่เฉลียวฉลาดกว่า Don Kikhot ฉบับของผู้กำกับ กริกอรี โคซินท์เซฟ จึงให้ความสำคัญต่อทรรศนะที่ตัวละครรายล้อมมีต่อดอนกิโฆเต้เสียมากกว่าการพัฒนาแง่มุมเชิงลึกของตัวละครหลัก

Don Quixote (1973) กำกับโดย Rudolf Nureyev

บัลเลต์ชุดนี้ ประพันธ์ดนตรีโดยคีตกวี เลอ็อง มิงคุส (Leon Minkus) และออกแบบท่าเต้นโดยนักบัลเลต์ชื่อดังชาวรัสเซีย รูดอล์ฟ นูเรเยฟ (Rudolf Nureyev) โดยอ้างอิงจากท่าเต้นฉบับดั้งเดิมของ มาริอุส เปติปา (Marius Petipa) การแสดงบัลเลต์ฉบับนี้ รูดอล์ฟ นูเรเยฟ ได้บันทึกเป็นภาพยนตร์เอาไว้เมื่อปี ค.ศ.1972 และมีโอกาสออกฉายตามโรงภาพยนตร์ทั้งในออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกา

โดยเนื้อหานั้นมีการดัดแปลงเรื่องราวด้วยการสลับบทบาทให้ตัวละครรองอย่าง บาซิลิโอ (นำแสดงโดยรูดอล์ฟ นูเรเยฟเอง) คนรักหนุ่มของ คิทรี สาวชาวบ้านที่ดอนกิโฆเต้สำคัญผิดคิดว่าเป็นแม่หญิงดุลซิเนียมาเล่นเป็นตัวเอก ในขณะที่ตัวละครดอนกิโฆเต้ กลับทำหน้าที่เป็นเสมือนตัวร้ายคอยสร้างความวุ่นวายก่อกวนความสงบของชาวบ้านและรวมทั้งระรานความสัมพันธ์ของพระเอกและนางเอก

Honor de cavalleria (2006) กำกับโดย Albert Serra

ภาพยนตร์ร่วมสมัยจากสเปนที่ได้นำเอาตัวละครดอนกิโฆเต้ และ ซันโช ปันซา มาตีความใหม่ได้อย่างแปลกประหลาดพิสดาร เมื่อผู้กำกับ Albert Serra นำเสนอบุคลิกภาพของตัวละครทั้งสองอย่างสมจริงโดยการตัดเอาลีลาตลกโปกฮาทั้งหมดทั้งมวลออกไป คงเหลือไว้แต่เนื้อแท้ทางอารมณ์ของตัวละครที่อุดมไปด้วยความเป็นปุถุชน! กลายงานภาพยนตร์ Don Quixote ฉบับ minimalist ที่ทำออกมาได้ไม่เหมือนใคร และคงไม่มีใครจะหาญกล้าทำได้เสมอเหมือน ภาพยนตร์เรื่องนี้ติดอันดับหนึ่งในสิบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี 2007 โดยนิตยสารหนังชื่อดัง Cahiers du Cinema

คีตนิพนธ์ Don Quixote โดย Richard Strauss

บทคีตนิพนธ์ชิ้นนี้ ริคคาร์ด สเตร้าส์ ได้ประพันธ์ขึ้นในแบบฉบับของ Tone Poem หรือดนตรีออเคสตร้าเล่าเรื่องราว โดยใช้โครงสร้างการประพันธ์ที่ผสานระหว่างรูปแบบอิสระอย่างงานแนว Fantasy กับการแปลงทำนองแบบ Theme and Variations เข้าด้วยกัน ริคคาร์ด สเตร้าส์กำหนดให้เครื่องดนตรีเชลโลเป็นเครื่องดนตรีเอก แทนน้ำเสียงอันหนักแน่นจริงจังของตัวละครดอนกิโฆเต้ ประชันกับเครื่องดนตรีวิโอลา ทูบา และคลาริเน็ต ซึ่งจะมาแทนน้ำเสียงชวนขบขันของ ซันโช่ ปันซ่า

ดนตรีจะเสนอแนวทำนองหลักด้วยการแนะนำตัวละครสำคัญ หลังจากรุกเร้ากันด้วยจังหวะมาร์ชอันฮึกเหิมแล้ว ริคคาร์ด สเตร้าส์ก็เริ่มนำผู้ฟังเข้าสู่ภวังค์ของดอนกิโฆเต้ขณะกำลังอ่านนิยายวีรกรรมอัศวินด้วยท่วงทำนองอันเชื่องช้าสง่างามกันในทันที ก่อนที่จะเปิดโอกาสให้เครื่องดนตรีโอโบขับขานท่วงทำนองอันอ่อนหวานของ ดุลซิเนีย แม่หญิงในจินตนาการของดอนกิโฆเต้ ปิดท้ายของเสียงทูบาในจังหวะลีลาน่าขบขัน ซึ่งก็มิใช่ใครที่ไหนกัน เพราะเขาคือพ่อ ซันโช่ ปันซ่า ผู้ตะกละตะกรามนั่นเอง

หมายเหตุ: เรื่องย่อของบทประพันธ์ดอนกิโฆเต้และข้อมูลเกี่ยวกับงานศิลปะต่าง ๆ ในโปรแกรมนี้ ดัดแปลงจากบางส่วนของบทความฉบับเต็มชื่อ "บันทึกรอยเท้า ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ในอาณาศิลปะ" โดย 'กัลปพฤกษ์' ซึ่งจะตีพิมพ์ในนิตยสารช่อการะเกด ฉบับที่ 45 กรกฎาคม - กันยายน 2551

จบจากละครเพลง สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ (Man of La Mancha) ของ คณะละคร 28 และรัชดาลัยเธียเตอร์ แล้วก็อย่าลืมมาดูหนังชุด ดอนกีโฆเต้ ต่อกันได้เลย

13.6.08

ฟิล์มไวรัส ฉายหนังที่ร้าน Hemlock

ฟิล์มไวรัส ฉายหนังที่ร้าน Hemlock
DK Filmhouse ’s Special Program
ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ฉายหนัง Malina ของ Werner Schroeter ที่ร้านอาหาร Hemlock ถ. พระอาทิตย์ ด้วยเครื่องฉายภาพยนตร์ฟิล์มขนาด 16 มม.

พร้อมพูดคุยกับ ‘กัลปพฤกษ์’ จาก Filmvirus และ ไกรวุฒิ จุลพงศธร จากนิตยสาร Bioscope วันที่ 11 ธันวาคม 2547

อ่านเกี่ยวกับหนังของ Werner Schroeter ได้ที่
http://twilightvirus.blogspot.com/2007/12/werner-schroeter-1-filmvirus-special.html

12.6.08

ฟิล์มไวรัส ฉายหนังที่มหาวิทยาลัยศิลปากร (ตอน 2)

ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ร่วมกับ อุทิศ เหมะมูล และ ธเนศน์ นุ่นมัน จัดฉายภาพยนตร์ ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร (เคี้ยง-ไพสิฐ อยู่ในรูปซ้าย)





Blog Archive

คนลักหลับ

My photo
Filmvirus เป็นนามปากกาเดิมของสนธยา ทรัพย์เย็น จากคอลัมน์ “นิมิตวิกาล” ที่ใช้ในนิตยสาร Filmview ปี 2537 ต่อมาในปี 2538 สนธยาได้ก่อตั้ง “ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์” หรือ DK.Filmhouse (Filmvirus) จัดฉายหนังด้อยโอกาสให้ผู้สนใจชมฟรี พร้อมจัดพิมพ์หนังสือด้านหนัง และวรรณกรรม ชุด Filmvirus / Bookvirus (ส่วนหนังสือ “คนของหนัง” ปี 2533 นั้นเป็นผลงานก่อนตั้งฟิล์มไวรัส) ส่วนผลงานอื่นๆ ปี 2548 เป็นกรรมการเทศกาลหนัง World Film Festival of Bangkok , ปี 2552 กรรมการ Sydney Underground Film Festival, งาน Thai Short Film and Video Festival ของมูลนิธิหนังไทยครั้งที่ 1 และปี 2548-2549 เป็นเจ้าภาพร่วมจัดเทศกาลประกวดหนังนานาชาติ 15/15 Film Festival, Australia