13.11.07

อมตะหนังฮินดูของ 4 ผู้กำกับอินเดีย

ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ร่วมกับ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เสนอ . . .
โปรแกรมภาพยนตร์ ชุด
INDIAN MELODIE: THE BEST OF HINDI CINEMA
อมตะหนังฮินดูของสี่ผู้กำกับอินเดีย


ภูมิใจนำเสนอโดย “กัลปพฤกษ์”

ทุกวันอาทิตย์ ตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน - 16 ธันวาคม พ.ศ. 2550
ณ ห้องเรวัต พุทธินันท์ ชั้นใต้ดิน U2 หอสมุด ปรีดี พนมยงค์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ชมฟรี! (โปรดแจ้งเจ้าหน้าที่ห้องสมุดว่ามาชมภาพยนตร์)

อาทิตย์ที่ 18 พฤศจิกายน 2550
12.30 น. The Vagabond (1951) กำกับโดย Raj Kapoor

อาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน 2550
12.30 น. Two Acres of Land (1953) กำกับโดย Bimal Roy
15.00 น. Sujata (1959) กำกับโดย Bimal Roy

อาทิตย์ที่ 2 ธันวาคม 2550
12.30 น. Thirst (1957) กำกับโดย Guru Dutt
15.00 น. Paper Flowers (1959) กำกับโดย Guru Dutt

อาทิตย์ที่ 9 ธันวาคม 2550
12.30 น. The Seedling (1974) กำกับโดย Shyam Benegal
15.00 น. Night's End (1975) กำกับโดย Shyam Benegal

อาทิตย์ที่ 16 ธันวาคม 2550
12.30 น. Bhumika: the Role (1977) กำกับโดย Shyam Benegal
15.00 น. The Obsession (1975) กำกับโดย Shyam Benegal

หมายเหตุ 1) ภาพยนตร์ทุกเรื่องฉายด้วยเสียงต้นฉบับพร้อมคำบรรยายภาษาอังกฤษ
2) โปรแกรมอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่แจ้งล่วงหน้า

เรื่องย่อภาพยนตร์

The Vagabond (1951) / Raj Kapoor

อมตะหนังอินเดียครบรสชาติผลงานของ Raj Kapoor นักแสดงชื่อดังที่ภายหลังผันมาเป็นผู้กำกับ ในเรื่องนี้เขารับบทนำเป็น Raj ชายหนุ่มที่โดนโชคชะตาเล่นตลกเมื่อพ่อซึ่งเป็นผู้พิพากษาไล่เขาออกจากบ้าน ตามหลังแม่ของเขาซึ่งถูกเฉดหัวออกไปก่อนหน้านี้ฐานที่แอบไปมีสัมพันธ์นอกสมรส ขณะที่ Raj ใช้ชีวิตอยู่ข้างถนนเขาก็ได้รู้จักกับ Jagga ผู้เป็นต้นเหตุให้แม่ของเขาถูกไล่ตะเพิดไปก่อนหน้านี้ ด้วยความแค้น Raj จึงประกอบอาชญากรรมกับ Jagga จนสุดท้ายเขาต้องกลายเป็นจำเลยภายใต้การพิพากษาของพ่อของเขาเอง งานอภิมหาดราม่า ที่ถึงพร้อมด้วยเรื่องราวเข้มข้น ลีลาโรแมนติก ขบขัน สะเทือนอารมณ์ ผสมผสานด้วยความแฟนตาซี!

Two Acres of Land (1953) / Bimal Roy

ผลงานแนวสัจจนิยมใหม่ (Neo-Realism) แบบอินเดียที่อาจจะทรงพลังเสียยิ่งกว่าหนังต้นฉบับอย่าง Shoeshine หรือ The Bicycle Thief ของ Vittorio de Sica เสียด้วยซ้ำ เรื่องราวเรียบง่ายแต่กินใจของครอบครัวชาวนายากจนที่ต้องเดินทางจากท้องทุ่งไปหาเงินในตัวเมืองเพื่อไถ่หนี้สินจากการจำนองที่ดินทำกินจำนวนสองเอเคอร์ซึ่งกำลังจะถูกยึดจากผู้มีอำนาจในหมู่บ้าน เรี่ยวแรงจากลำแข้งและสองมือของพวกเขาจะสามารถรักษาผืนดินอันเป็นมรดกตกทอดของตระกูลนี้ได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่จะต้องติดตามจาก Two Acres of Land ภาพยนตร์แนว melodrama ซึ่งเรียกน้ำตาจากผู้ชมได้อย่างมีรสนิยม!

Sujata (1959) / Bimal Roy

Sujata หรือ "เธอคือจัณฑาล" [The Untouchable Girl] ผลงานเด่นอีกหนึ่งเรื่องของยอดผู้กำกับ Bimal Roy เล่าเรื่องราวชีวิตสุดระทมของ Sujata เด็กหญิงกำพร้าไร้วรรณะที่ได้รับการอุปถัมภ์จากคู่สามีภรรยาใจประเสริฐคู่หนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อ Adhir หนุ่มวรรณะพราห์ม เกิดมาตกหลุมรักเธอจนถึงขั้นอยากขอแต่งงาน ความดีงามของ Sujata จะสามารถเอาชนะวรรณะอันต่ำต้อยของเธอได้หรือไม่ . . . สุดยอดภาพยนตร์แนวมนุษยนิยมแสนสะเทือนอารมณ์ที่อุดมไปด้วยฝีมือ หนึ่งในหนังที่ได้เข้าร่วมชิงรางวัลปาล์มทองคำในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ประจำปี 1959

Thirst (1957) / Guru Dutt


ผลงานเด่นของผู้กำกับฮินดูผู้นิยมทำหนังแหวกตลาด Guru Dutt และมักจะควบตำแหน่งนักแสดงนำอีกด้วย Thirst เป็นงานที่ถ่ายทอดชีวประวัติของ Vijay กวีไส้แห้ง ที่ไม่คิดจะทำงานการอื่นใด นอกจากจะพยายามหาหนทางให้บทกวีที่สะท้อนสังคมของเขานั้นได้รับการตีพิมพ์ เมื่อไม่มีวี่แววว่าจะประสบความสำเร็จ Vijay จึงต้องกลายเป็นชายขี้เมา ใช้ชีวิตหยำเปอยู่กับร้านเหล้าและซ่องโสเภณี กระทั่งเมื่อเขาได้รู้จัก Gulabo หญิงคณิกาใจงามที่ชื่นชมในผลงานบทกวีของ Vijay ความหวังที่จะได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่จึงเริ่มจุดประกายขึ้นอีกครั้ง ภาพยนตร์ที่เสียดเย้ยการมาถึงของชื่อเสียงอันผิดเวล่ำเวลาได้อย่างน่าอดสูนัก

Paper Flowers (1959) / Guru Dutt

ภาพยนตร์ที่เยาะเย้ยโลกแห่งความจริงและความฝันของผู้ที่ยึดอาชีพเป็นผู้กำกับหนังที่เจ็บแสบมากที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ Guru Dutt รับบทบาทใกล้เคียงตนเองเป็น Suresh Sinha ผู้กำกับหนังที่เคยประสบความสำเร็จระดับร้อยล้าน ซึ่งกำลังถูกวัฏจักรแห่งวงการมายาเล่นงานเอาอย่างหนักหน่วง เมื่อนักแสดงสาวที่เขาปั้นมากับมือเลือกที่จะหันหลังให้กับวงการ นี่คือผลงานที่สะท้อนความน่าขบขันของอุดมการณ์ทางศิลปะอย่างแสนจะขมขื่น คนทำหนังรุ่นใหญ่หรือรุ่นใหม่ทั้งหลายไม่ควรพลาดโอกาสชม!

The Seedling (1974) / Shyam Benegal


Surya บุตรชายเจ้าของที่ดินผู้มั่งคั่งเดินทางกลับบ้านเกิดหลังสำเร็จการศึกษาจากตัวเมือง เขาได้รับหน้าที่สืบทอดกิจการของครอบครัว และได้รู้จักกับ Laxmi หญิงอาภัพที่แต่งงานอยู่กินกับชายปั้นหม้อที่ทั้งหูหนวกและเป็นใบ้ เมื่อสามีของเธอหลบหนีคดีไป Laxmi จึงต้องใช้ชีวิตโดยลำพัง จน Surya รู้สึกสงสารและรับเธอมาเป็นภรรยาน้อยจนเธอตั้งครรภ์ เมื่อครอบครัวของ Surya ทราบเรื่อง Laxmi จึงต้องถูกขับไล่ออกจากบ้านหลังนั้น สุดท้ายเธอจึงต้องฝ่าฟันกับชะตาชีวิตทั้งหลายด้วยตัวของเธอเอง งานภาพยนตร์สร้างชื่อของ Shyam Benegal ที่ได้เข้า ร่วมประกวดในเทศกาลภาพยนตร์เมือง Berlin เมื่อปี 1974

Night's End (1975) / Shyam Benegal


สร้างจากเรื่องราวจริงของครูใหญ่ที่เพิ่งย้ายเข้ามาในหมู่บ้านห่างไกลแห่งหนึ่งพร้อมด้วย Sushilla ภรรยาสาวและลูกชาย หลังจากที่พวกเขาใช้ชีวิตอย่างปรกติได้ไม่ทันไร หนึ่งหนุ่มในตระกูล Zamindar ผู้ยิ่งใหญ่ก็เกิดติดใจในความงามของภรรยาสาว Sushilla คนนี้อย่างถอนตัวไม่ขึ้น ด้วยอำนาจมืดที่ปกคลุมไปทุกศอกคืบของมู่บ้าน พี่น้องอันธพาลแห่งตระกูล Zamindar จึงลงมือลักพาตัว Sushilla ไปอย่างอุกอาจ ท่ามกลางความนิ่งดายของเพื่อนบ้านที่ยืนดูเหตุการณ์อยู่อย่างทองไม่รู้ร้อน ครูใหญ่จะช่วยภรรยาได้อย่างไรในเมื่อตำรวจที่เขาคิดว่าจะหวังพึ่งได้ กลับกลายเป็นสมุนของตระกูล Zamindar กันยกกอง! ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมประกวดในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ปี 1975

Bhumika: the Role (1977) / Shyam Benegal


เรื่องราวชีวิตที่ยิ่งกว่าละครของ Urvashi เด็กหญิงยากจนที่ไต่เต้าเข้าสู่วงการจนได้เป็นนักร้องนักแสดงชื่อดังแห่งวงการบันเทิง ด้วยความดื้อรั้นเธอจึงตัดสินใจแต่งงานกับ Keshav ชายผู้ชักนำเธอสู่วังวนแห่งมายาจนมีลูกสาวด้วยกันหนึ่งคน แต่ชีวิตสมรสของเธอต้องประสบความล้มเหลว ภายหลังเธอจึงตัดสินใจไปอยู่กินกับ Vinayak ชายผู้มั่งคั่งโดยไม่รู้ว่าเขามีภรรยาอยู่แล้ว สุดท้ายเธอจึงได้รับรู้ว่า 'นรก' เป็นเช่นไร เมื่อได้เข้าไปเป็นสะใภ้ของเศรษฐีหนุ่มรายนั้น ผลงานในเด่นในยุคที่ Parallel Cinema เฟื่องฟูในอินเดียของ Shyam Benegal

The Obsession (1978) / Shyam Benegal




หนังอิงประวัติศาสตร์ที่ย้อนยุคไปเมื่อปี 1857-1858 เมื่อทหารของ East India Company เกิดแข็งข้อ และต้องการเรียกร้องดินแดนคืนจากประเทศอังกฤษ โดยเล่าเรื่องราวผ่าน Javed Khan (นำแสดงโดย Shashi Kapoor) ผู้นำการต่อสู้ในครั้งนั้น ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ที่พิสูจน์ทั้งฝีไม้ลายมือในการทำหนังได้ทั้งงานแนวตลาดและแนวศิลปะของผู้กำกับ Shyam Benegal อันควรค่าแก่การศึกษา

6.11.07

Fred Kelemen: The Prince of Darkness

The Nocturnal World of Fred Kelemen

Overrated or underrated, you need only your eyes and your ears to prove it.

The Fred Kelemen Masterclass in Bangkok, November 2007 continues.

ของจริงหรือของปลอม ขอเชิญติดตามพิสูจน์ผลงานของเจ้าชายแห่งรัตติกาลอันตราย : เฟรด เคเลเม็น ต่อไปได้ในงาน

ราตรีวิเวกของ เฟรด เคเลเม็น
Fred Kelemen Master Class

5-8 November 2007, 1-6 pm
จัดโดย ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส), สถาบันเกอเธ่ กรุงเทพฯ, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์, พระจันทร์เสี้ยวการละคร และ The World Film Festival of Bangkok ครั้งที่ 5
พบและพูดคุยกับตัวจริงของ เฟรด เคเลเม็น ผู้กำกับหนังเรื่อง Fallen, Kalyi, Fate, Frost และ Nightfall (Abendland) อีกทั้งยังเป็นผู้กำกับภาพ The Man from London (งานกำกับของ เบล่า ทาร์) โอกาสสุดท้ายที่จะชมหนังที่หาดูยากที่สุดในโลก (หลายเรื่องไม่เคยได้ฉายตามโรงภาพยนตร์ทั่วไปในอเมริกาและยุโรป) มีจนถึงวันที่ 8 พฤศจิกายนเท่านั้น รายละเอียดอ่านเพิ่มเติมใน blog นี้หรือที่ นิมิตวิกาลhttp://www.twilghtvirus.blogspot.com/

คนลักหลับ

My photo
Filmvirus เป็นนามปากกาเดิมของสนธยา ทรัพย์เย็น จากคอลัมน์ “นิมิตวิกาล” ที่ใช้ในนิตยสาร Filmview ปี 2537 ต่อมาในปี 2538 สนธยาได้ก่อตั้ง “ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์” หรือ DK.Filmhouse (Filmvirus) จัดฉายหนังด้อยโอกาสให้ผู้สนใจชมฟรี พร้อมจัดพิมพ์หนังสือด้านหนัง และวรรณกรรม ชุด Filmvirus / Bookvirus (ส่วนหนังสือ “คนของหนัง” ปี 2533 นั้นเป็นผลงานก่อนตั้งฟิล์มไวรัส) ส่วนผลงานอื่นๆ ปี 2548 เป็นกรรมการเทศกาลหนัง World Film Festival of Bangkok , ปี 2552 กรรมการ Sydney Underground Film Festival, งาน Thai Short Film and Video Festival ของมูลนิธิหนังไทยครั้งที่ 1 และปี 2548-2549 เป็นเจ้าภาพร่วมจัดเทศกาลประกวดหนังนานาชาติ 15/15 Film Festival, Australia