17.1.10

หวานฝัน วันวานร - Lopburi, Mon Amour

ขณะที่มีคนอ่านข้อความนี้ ข้าน้อยก็คงจะลาจรไปปักหลักเก็บข้อมูลทำบทหนังอยู่ลพบุรีเป็นที่แน่นอนแล้ว อย่างน้อยประมาณ 3 เดือนจากนี้คงไม่มีการอัพเดทอะไรเพิ่ม งดดูหนัง - งดการฉายหนัง - งดการจัดทำหนังสือ ทั้ง filmvirus และ bookvirus แต่จะเป็นชั่วคราวหรือตลอดไป ตัวเองยังสงสัย ก็โปรเจ็คท์หนังสือที่ดองเองและถูกสนพ. ดองก็ยังมีอยู่น่ะ หวังว่าทางโอเพ่นคงจัดพิมพ์ออกมาในเร็ววัน แอบหวังด้วยว่าคงจะมีคนรีวิวหนังสือบ้างสักนิดหนึ่ง

กำแพงวังนารายณ์ที่ลพบุรีกำลังทาสีใหม่ เป็นเรื่องที่แย่ที่สุดของคนที่อยากจะถ่ายกำแพงเก่า เท่าที่ทราบจากคุณ โดม สุขวงศ์ ผู้เป็นที่เคารพรักแห่งหอภาพยนตร์แห่งชาติ ยังไม่เคยมีใครถ่ายหนัง fiction ความยาวปกติที่ถ่ายในลพบุรีเลยสักที หลายครั้งมันแค่มีคุณค่าเป็นเพียงเมืองผ่านทาง มันเป็นความฝันสูงสุดในชีวิตของข้าน้อยเลยทีเดียวที่จะทำหนังสักเรื่องที่ถ่ายหนังที่นั่น ให้เป็นลพบุรีในความรักความศรัทธาแบบที่ฝัน ถึงจะเป็นจินตนาการส่วนตัวที่ยัดเยียดบ้างก็เถอะ แต่ก็จะพยายามคงความเป็นเมือง ความเป็นท้องถิ่น ไม่ให้เสียวิญญาณผู้คนที่นั่นมากนัก เพราะในชีวิตบูดเบี้ยวนี้มีโครงการหนังเพียง 2 เรื่องเท่านั้น ที่มีความหมายส่วนตัวอย่างมากจริง ๆ และเรื่องนี้ก็คืออันหนึ่งในสองเรื่องที่ว่า ที่หากไม่ได้ทำออกมาคงรู้สึกชีวิตที่ผ่านมาไร้ค่าสิ้นดี โอเค ถ้าหาสตางค์ถ่ายไม่ได้ ก็เอาแค่ได้บทหนัง หรือทำเป็นหนังสือการ์ตูนน่ะ

ในฐานะของคนที่โตมาในยุคที่หนังไทยคุณภาพแทบทุกเรื่องมักจะได้ชื่อว่าสร้างจากนวนิยาย แต่ ฟิล์มไวรัส ก็ยังย้ำเน้นถึงการทำหนังแบบหนังบริสุทธิ์ที่ปฏิเสธอิทธิพลของวรรณกรรม และโปรหนังแบบ pure cinema อยู่บ่อยครั้ง ไอเดียหนังเรื่องนี้ ‘หวานฝันวันวานร’ หรือ Dream of the Red Monkeys อาจเชย ตกยุค คบชู้กับพล็อตเรื่องมากมาย และอาจจะฟังดูขัดแย้งกับสิ่งที่ ฟิล์มไวรัส มักเทศนา แต่ก็นั่นล่ะ จะเป็นหนังเล่าเรื่อง หรือหนังไร้เรื่อง จะมีกระบวนท่า หรือไร้กระบวนท่า กระบี่บิน คุมกระบี่ เหนือกระบี่ หรือไร้กระบี่ อันนั้นเอาไว้ให้นักวิจารณ์ตัดสิน

ใครตัดต่อหนังเป็นบอกที อยากได้คนช่วยตัด MV ในระบบภาพ AVCHD

คนลักหลับ

My photo
Filmvirus เป็นนามปากกาเดิมของสนธยา ทรัพย์เย็น จากคอลัมน์ “นิมิตวิกาล” ที่ใช้ในนิตยสาร Filmview ปี 2537 ต่อมาในปี 2538 สนธยาได้ก่อตั้ง “ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์” หรือ DK.Filmhouse (Filmvirus) จัดฉายหนังด้อยโอกาสให้ผู้สนใจชมฟรี พร้อมจัดพิมพ์หนังสือด้านหนัง และวรรณกรรม ชุด Filmvirus / Bookvirus (ส่วนหนังสือ “คนของหนัง” ปี 2533 นั้นเป็นผลงานก่อนตั้งฟิล์มไวรัส) ส่วนผลงานอื่นๆ ปี 2548 เป็นกรรมการเทศกาลหนัง World Film Festival of Bangkok , ปี 2552 กรรมการ Sydney Underground Film Festival, งาน Thai Short Film and Video Festival ของมูลนิธิหนังไทยครั้งที่ 1 และปี 2548-2549 เป็นเจ้าภาพร่วมจัดเทศกาลประกวดหนังนานาชาติ 15/15 Film Festival, Australia