22.12.13

โปรแกรมภาพยนตร์ ยุติธรรมอำมหิต

ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ร่วมกับสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เชิญชม โปรแกรมภาพยนตร์ ยุติธรรมอำมหิต

ทุกวันอาทิตย์ระหว่างวันที่ 15 ธันวาคม 2556 - 5 มกราคม 2557 ตั้งแต่เวลา 12:30 น. เป็นต้นไป

ณ ห้องเรวัต พุทธินันท์ ชั้นใต้ดิน U2 หอสมุด ปรีดี พนมยงค์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

โทรศัพท์ 0-2613-3529 หรือ 0-2613-3530

ชมฟรี!!! (โปรดแจ้งเจ้าหน้าที่ห้องสมุดว่ามาชมภาพยนตร์ และกรุณาแต่งกายสุภาพ)



ปิตุฆาต + นายพลซาดิสฆ์ + ทฤษฏีสมคบคิด + ปัญหาชนชั้น + การเมืองคนผิวสี และลูกนักการเมืองโฉด เกี่ยวพันกันได้อย่างไร?? ทำไมความยุติธรรมกับความอำมหิต จึงมาคู่กันในโปรแกรมนี้?

จากอิตาลียุคกลาง สู่สงครามโลกครั้งที่ 2 กระโดดมาถึงยุคสงครามเย็น ขยับมายุค 70 ที่เสรีภาพเบ่งบาน แล้วปัจจุบันเล่าเกิดอะไรขึ้นกับกระบวนการยุติธรรมทั่วโลกที่เริ่มถูกตั้งคำถาม? ไยความอำมหิตยังสยายปีกอยู่บนโลกใบนี้ได้ในรูปแบบต่างๆ?

15 ธันวาคม 2556

12.30 Beatrice Cenci (1969) / Director: Lucio Fulci / 99 min.
14.30 The Night of the Generals (1967) / Director: Anatole Litvak / 148 min.

22 ธันวาคม 2556
12.30 I... comme Icare (I for Icarus - 1979) / Director: Henri Verneuil / 120 min.
14.30 Graceland (2012) / Director: Ron Morales / 84 min.


5 มกราคม 2557
12.30 Friday Foster (1975) / Director: Arthur Marks / 89 min.
14.30 No One Killed Jessica (2011) / Director: Rajkumar Gupta / 136 min.


15 ธันวาคม 2556

Beatrice Cenci (1969) / Director: Lucio Fulci / 99 min.
จากตำนานอันอื้อฉาวของ เบียทริซ เซนซี่ สาวงามเมืองแห่งกรุงโรมผู้กระทำการสังหารบิดาตน โดยร่วมมือกับแม่, พี่ชายอีกสองคนและชู้รัก กลายเป็นคดีสะเทือนขวัญที่สั่นสะเทือนเหล่าขุนนางและผู้นำทางศาสนาอย่างยิ่ง การสอบสวนนำมาสู่การเปิดเผยความชั่วช้าของผู้ตาย ฟรานเซสโก เซนซี่ ขุนนางหนุ่มใหญ่ผู้กักขฬะ มากด้วยตัณหา ใช้อำนาจและอิทธิพลข่มขู่ข้าราชการเสมอมา รวมทั้งฉุดคร่าหญิงงามที่ตนหมายปองมาเชยชมโดยไม่เคยถูกกฎหมายลงโทษ และร้ายสุด ฟรานเซสโกยังข่มขืนเบียทริซทั้งที่เธอเป็นลูกสาวในไส้เขาเอง พร้อมทั้งประกาศความสัมพันธ์สุดฉาวนี้ให้ทั่วเมืองเพื่อกีดกันไม่ให้มีชายใดก้าวเข้ามาในชีวิตเธอ นี่คือหนังสุดอื้อฉาวที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงเมื่อออกฉาย เกิดกระแสต่อต้านมากมาย แต่ในสายตาประชาชน วีรกรรมของเบียทริซกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้ของชั้นชั้นล่าง ในการขัดขืนอำนาจมืดของเหล่าขุนนางชั่วช้า


The Night of the Generals (1967) / Director: Anatole Litvak / 148 min.
โสเภณีสาวถูกฆ่ากลางกรุงโปแลนด์ ในคืนหนึ่งที่กองทัพนาซีเข้ายึดเมืองได้เบ็ดเสร็จ เบาะแสเดียวที่ชี้ตัวฆาตกรได้คือเครื่องแต่งกายยศนายพลจากปากพยานรายหนึ่ง แต่ไม่เห็นใบหน้า และในคืนดังกล่าวนั้นมีนายเพียง 3 คนในกรุงโปแลนด์ที่เข้าข่ายน่าสงสัย หนึ่ง-นายพลวัยทองจอมบงการ หนึ่ง-นายพลหัวล้านผู้น่าสงสัย และหนึ่ง-นายพลหนุ่มไฟแรงผู้คลั่งไคล้ความรุนแรง คนเดียวที่เข้ามาไขคดีนี้คือสารวัตรทหารผู้เป็นดั่ง ‘เชอร์ลอคโฮล์มส์แห่งกองทัพนาซี’ แต่ก่อนจะสำเร็จเขากลับถูกย้ายไปยังฝรั่งเศส 3ปีต่อมาเหตุการณ์เดิมกลับเกิดขึ้นที่นี่อีก โสเภณีถูกฆ่าในวันที่ทั้ง 3 นายพลอยู่พร้อมหน้ากันในปารีส ฆาตกรยังลอยนวลอยู่แต่มันผู้นั้นเป็นใครกัน? หนังสืบสวน-ฆาตกรในภาวะสงครามที่สุดมืดหม่น ตึงเครียด



22 ธันวาคม 2556

I... comme Icare (1979) / Director: Henri Verneuil / 120 min.
หนังทริลเลอร์ซับซ้อนซ่อนเงื่อน ไม่เดินเรื่องด้วยแอคชั่นฉูดฉาด แต่กลับเจาะลึกถึงความรุนแรงลึกๆ ในจิตใจมนุษย์ ที่อาจก่อให้เกิดความรุนแรงใดๆ ก็ตามขึ้นมาได้ทุกเมื่อ หนังสร้างโดยอิงจากเหตุการณ์ลอบสังหารประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคเนดี้ โดยเปลี่ยนให้เรื่องเกิดในฝรั่งเศส และมีตัวเอกคืออัยการหนุ่มใหญ่ ที่ต้องการรื้อคดีนี้ขึ้นมาสอบสวนใหม่อีกครั้ง ก่อนจะพบว่าเบื้องหลังการสังหารประธานาธิบดี กลับมีการสมคบคิดกันระหว่างฝ่ายอำนาจต่างๆ อันแสนซับซ้อนที่ไม่ใช่แค่ “ใครฆ่า” แต่เป็นเพราะ “ฆ่าทำไม-ได้ประโยชน์อะไร” ยิ่งสาวไส้ใกล้ตัวผู้บงการมากเท่าไหร่ อันตรายก็ยิ่งใกล้ตัวอัยการหนุ่มใหญ่รายนี้มากเท่านั้น 

อ่านเพิ่มเติมที่ http://twilightvirus.blogspot.com/2009/12/i-comme-icare-i-for-icarus-dvd-apex.html

Graceland (2012) / Director: Ron Morales / 84 min.
หนังชั้นดีจากฟิลิปปินส์ ที่ตีแผ่ความมืดหม่นในสังคมความซับซ้อนของมนุษย์ที่ยากแท้หยั่งถึง เมื่อพลขับรถประจำบ้านเศรษฐีถูกโจรลักพาตัวจี้รถระหว่างทาง และฆ่าลูกสาวเศรษฐีไปต่อน้อยพร้อมกับจับตัวลูกสาวเขาไป ทางแก้เดียวคือเขาต้องหาเงินแสนมาไถ่ตัวลูกสาวคืนมา ถ้าฟังแค่เรื่องย่ออาจรู้สึกว่ามันช่างจำแจเหลือเกิน หากนี่คือหนังที่เดินเรื่องด้วยสถานการณ์ลักพาตัวที่สมจริงที่สุด ไม่มีแอคชั่นชวนตื่นเต้น ไม่มีตัวละครดีสุดขีดเลวสุดขั้ว ทุกคนล้วนมีทั้งสองด้านเสมอ ซ้อนทับด้วยปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ชนชั้น บีบคั้นตัวละครจนไม่มีทางออกอื่น หนังยังพาเราไปสู่จุดอับสุดในสังคมอินโดนีเซียที่สะท้านสะเทือนมาถึงสังคมไทยอย่างแยบคาย



5 มกราคม 2557

Friday Foster (1975) / Director: Arthur Marks / 89 min.
หนังของคนผิวสีในอดีตที่เรียกรวมๆ กันว่ากลุ่มหนัง Blaxploitation มักพูดถึงประเด็นสังคม-การเมืองแรงๆ อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิพลเมืองขั้นพื้นฐาน การเหยียดผิว แต่ใน Friday Foster กลับมุ่งไปยังประเด็นเครือข่ายอำนาจภายในกลุ่มคนผิวสีเองที่แบ่งฝักฝ่าย รวมทั้งการ ‘ฮั้ว’ กับกลุ่มคนผิวขาวเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง นำมาสู่การฆ่าตัดตอนผู้นำทางการเมือง-สังคมคนสำคัญของฝั่งคนผิวสี เพื่อสกัดกั้นมิให้อำนาจของฝ่ายประชาชนลุกขึ้นต้านอำนาจมืดที่ชักใยอยู่หลังฉากการเมืองได้ จะมีก็เพียงนักข่าวสาวหัวเห็ดกับนักสืบหนุ่มสองคนนี้เท่านั้น ที่จะพาเราไปไขเงื่อนงำอันซับซ้อนดังกล่าว โดยพวกเขาต้องเผชิญทั้งนักฆ่าปริศนา, เหล่าผู้มีอำนาจคอยขัดขา จนถึงภัยมืดที่เป็นกลุ่มองค์กรใต้ดินนามว่า “Black Widow” ที่จ้องตามเก็บคนทั้งคู่อย่างไม่ลดละ


No One Killed Jessica (2011) / Director: Rajkumar Gupta / 136 min.
นางแบบสาวสวยถูกยิงตายคางานปาร์ตี้ส่วนตัวของลูกชายนักการเมืองโฉดอย่างโหดเหี้ยม แต่แขกเหรื่อกว่า 300 คนที่เป็นพยานในที่เกิดเหตุนั้นกลับไม่มีใครยอมให้การเลย เมื่ออีกฝ่ายใช้ทั้งอำนาจทางการเมืองและเงินมหาศาลพยายามยุติคดีนี้โดยเร็ว กลับมีผู้หญิงสองคนคือ พี่สาวของนางแบบ และนักข่าวสาว ร่วมมือกันตะลุยหาความจริงในคดีนี้ ท่ามกลางอันตรายจากอิทธิพลมืดที่พร้อมจัดการพวกเธอทุกขณะ เพราะสิ่งที่พวกเธอค้นพบไม่ใช่แค่ความจริงในคดีฆาตกรรมแต่ยังโยงใยไปถึงการคอรัปชั่น เส้นสายอำนาจทางการเมือง และเงินสกปรกที่หมุนเวียนอยู่เบื้องหลังฉาก “คนดี” ในสังคมทั้งหลาย

25.10.13

I KNOW YOU WANT ME TO SCARE YOU TO DEAD! แกล้งให้ตาย ! ภาค 2


I KNOW YOU WANT ME TO SCARE YOU TO DEAD!
แกล้งให้ตาย ! ภาค 2





ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ร่วมกับสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เชิญชม โปรแกรมภาพยนตร์ แกล้งให้ตาย ภาค 2

ทุกวันอาทิตย์ระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม 2556 - 24 พฤศจิกายน 2556 ตั้งแต่เวลา 12:30 น. เป็นต้นไป

ณ ห้องเรวัต พุทธินันท์ ชั้นใต้ดิน U2 หอสมุด ปรีดี พนมยงค์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

โทรศัพท์ 0-2613-3529 หรือ 0-2613-3530

ชมฟรี!!! (โปรดแจ้งเจ้าหน้าที่ห้องสมุดว่ามาชมภาพยนตร์ และกรุณาแต่งกายสุภาพ)





สองปีที่แล้วดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ เคยชวนคุณชมโปรแกรม แกล้งให้ตาย ภาคแรกว่าด้วยหนังสยองขวัญสั่นโลก มาปีนี้เรากลับมาพร้อมภาคต่อที่สยองยิ่งขึ้น บ้ายิ่งขึ้นพิลึกพิลั่นยิ่งขึ้น! เพราะนี่คือโปรแกรมพิเศษ ‘แกล้งให้(แม่ง)ตายภาค 2 ’ รวมมิตรหนังสยองขวัญตกสำรวจ หลากหลายยุคสมัย นี่คือหนังสยองขวัญชั้นต่ำที่ เล่นจริงเจ็บจริง จากแวมไพร์ไร้รักจนถึงซอมบีขี้เหงา จากบ้านสยองเท่ารูหนู ไปจนถึงคฤหาสน์ซับซ้อนผีสิง จากเกาะที่กำลังพินาศ ไปจนถึงเมืองที่เต็มไปด้วยการฆ่า และจากถนนแดนสนธยาไปจนถึงปีศาจใต้เตียง นี่คือบรรดาหนังสยองขวัญที่จะพาคุณไปสุดเขตแดนสนธยาที่ไทวไลท์ยิ่งกว่าไทว์ไลท์ ไม่มีสาวสวยหนุ่มหล่อ ไม่มีภัยคุกคาม มีแต่ภูตผี ปีศาจ และเลือด เลือด เลือด!

ฉายจริงหวีดจริงตลอดเดือนพฤศจิกายนนี้ !


3/11/13

12.30 MARTIN (GEORGE ROMERO/1976/US)
14.30 DRACULA IN PAKISTAN(KHWAJA SARFRAZ/1967 /PAKISTAN)

10/11/13

12.30 I,ZOMBIE THE CHRONICLE OF PAIN (ANDREW PARKINSON/1998/UK)
14.30 WISCONSIN DEATH TRIP (JAMES MRACH /1999/US)

17/11/13

12.30 SHAME (INGMAR BERGMAN/1968/SWEDEN)
14.50 CARNIVAL OF SOULS (HERK HURVEY/1962/US)

24/11/13

12.30 THE ROAD (YAM LARANAS /2011/PHILIPPINES)
14.30 THE PACT (NICHOLAS McCARTHY/2012/US)

1/12/13

12.30 THE UNINVITED GUEST (GUILLEM MORALES/2004/SPAIN)
14.30 RABIES(AHARON KESHALES+NAVOT PAPUSHADO/2010/ISRAEL)





MARTIN (GEORGE ROMERO/1976/US)

หนังแวมไพร์ที่เหงาที่สุดในโลกเรื่องนี้เล่าเรื่องขอมาร์ติน ชื่อจริงของมาร์ติน คือ นอสเฟอราตู ถูกต้องแล้วเขาคือแวมไพร์นอสเฟอราตูที่แม้หน้าตาจะดูเป็นเด็กวัยรุ่นสิบเจ็ดสิบแปดหัวขบถแต่จริงๆเขามีอายุ แปดสิบปีกว่าหรือมากกว่า เข้เพิ่งย้ายมาอยู่กับญาติวัยชราเคร่งศาสนา คนที่รู้ว่ามาร์ตินเป็นใครและสาบานว่าจะฆ่าเขาถ้าเขาฆ่าใครในเมืองนี้ มาร์ตินมาทำงานเป็นลูกจ้างร้านชำ อาศัยอยู่กับชายชรา และหลานสาวที่มักจะมีปากเสียงกับชายคนรัก เขาติดตามดูคนทั้งเมือง วางแผนจัดการกับเหยื่อรายใหม่ ขณะเดียวกันผูกสัมพันธ์ลักลอบเป็นชู้กับคุณนายรายหนึ่ง ซึ่ทำให้ความอยากดื่มเลือดของเขาจางลง เขาโทรศัพท์ไปออกรายการวิทยุ อ้างตัวเป็นเคานท์แดรกคูล่า เขาโดดเดี่ยวถูกกักขังในเมืองแปลกหน้าที่เงียบเชียบ ดิ้นรนอย่างเศร้าๆเพียงลำพังเพื่อที่จะสร้างสมดุลระหว่างการเป็นคนธรรมดาและเป็นผีดูดเลือด หนึ่งในหนังยุค 70’s ของ GEORGE A. ROMERO หนังเรื่องที่เขาทำก่อนจะไปทำ DAWN OF THE DEAD เจ้าพ่อหนังซอมบี้ทั้งหนังแวมไพร์ร่วมสมัยที่เวิ้งว้างว่างโหวง เจาะลึกเข้าไปในจิตใจของตัวละครมากกว่าจะเล่นพลอตแดรกคูล่าล่าเหยื่อ


DRACULA IN PAKISTAN (KHWAJA SARFRAZ/1967 /PAKISTAN)


เรื่องของหนังมีอยู่ว่า เออ นั่นล่ะ กลับไปอ่าน Dracula ของ Bram Stoker เพราะนี่คือหนังที่สร้างจากDracula อันนั้น โดยมี Dracula ฉบับ ของ เบลาลูโกซี่อันลือลั่นมาเป็นต้นแบบ

แล้วทำไมเราต้องดูหนังรีเมคของรีเมคเรื่องนี้ ็เพราะว่านี่คือหนังเรทXเรื่องแรกของปากสถานน่ะสิ ไม่เลย ไม่ใช่ความรุนแรงหรือฉากโป๊เปลือย แต่หนังโดนแบนเพราะว่านางระบำในเรื่องนั้นเต้นรำเซกซี่เกินไป! ชัวร์อยุ่แล้ว หนังจากชมพูทวีปทั้งทีจะไม่มีร้องเต้นเล่นระบำน่ะรึ เป็นไปไม่ได้ อะไรนะ หนังแดรกคูล่าร้องเพลง แถมไม่ใช่หนังตลกแต่เป้นหนังสยองขวัญอีกต่างหาก! ถ้ายังขายกันไม่พอ ว่ากันว่าว่ากันว่ามีสตรีหัวใจวายตายคาโรงเพราะหนังเรื่องนี้

ว่ากันว่า(ปิดท้าย) นี่คือหนังที่แสดงให้เห็นร่องรอยของLollywood กล่าวคือหนังปากีสถานยุคทองก่อนที่ประเทศจะเกิดการปฏิวัติไปสู่การเป็นประเทศมุสลิมเคร่งศาสนา นี่คือยุคที่หนังปากีสถานยังต่อกรกับหนังBollywood ได้อย่าสบายๆ!


3/11/13

I, ZOMBIE THE CHRONICLEOF PAIN (ANDREW PARKINSON/1998/UK)





หนังซอมบี้แสนหว่องเรื่องนี้จะนำพาอารมณืพิพักพิพ่วนยวนใจมาสู่คุณ นี่คือหนึ่งในหนังซอมบี้ดีที่สุดที่ถูกลืมไป หนังว่าด้วยชายคนหนึ่งซึ่งในวันหนึ่งโดนซอมบี้ขย้ำ แล้วหลังจากนั้นหนังติดตามชีวิตของเขา ซึ่งต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวที่จะไม่กินเนื้อคน ที่จะไปให้ไกลจากคนรัก จากสังคมที่ตัวเองเคยสังกัด ใช้เวลาสองสามวันสุดท้ายในห้องปิดตายค่อยๆจ้องมองร่างกายของตนเองเปื่อยเน่า และต่อสู้กับความรู้สึกอยากกินสมองคน

ถ้ามันถูกนับเป็นหนังซอมบี้ มันก็เป็นหนังซอมบี้ที่เศร้าสร้อยที่สุดในจักรวาลหนังโฟกัสอยู่กับมนุษย์ที่ร่างกายตายลงและจิติญญาณยังคงสลัวราง ค้นหาหนทางต่อสู้อย่างเจ็บปวดโดดเดี่ยว มันอาจเป็นหนังทุนต่ำ ที่ต่ำเสียจนฉากซอมยี้มันดูโสโครกเกินกว่าจะสะพรึง แต่นี่คือหนังที่พูดถึงสภาวะเบื้องลึกของมนุษย์ได้อย่างรุนแรงที่สุดเรื่องหนึ่ง

WISCONSIN DEATH TRIP (JAMES MRACH /1999/US)





หนังประหลาดที่อาจจะไม่ใช่หนังสยองขวัญที่สุดในโปรแกรม แต่มันอาจจะเล่าเรื่องที่สยองขวัญที่สุด เพราะนี่คือหนังที่ไม่มีเส้นเรื่องอะไรมากไปกว่าเล่าเรื่องจากข่าวมโนสาเร่ในหนังสือพิมพ์ช่วงเริ่มต้นก่อตั้งอาณานิคมอเมริกาบนแผ่นดินแร้นแค้น หนังทั้งเรื่องโฟกัสอยู่ในหนึ่งปีอันทุกข์เข็ญปีที่เต็มไปด้วยดินฟ้าอากาศอันเลวร้าย ในเมืองเล็กกันดารห่างไกล ผู้คนซึมเศร้าทุกข์ระทม และใครบางคนฆ่าตัวตาย ฆ่าผู้อื่น วิธีการประหลาดยากคาดเดา หนังง่วนอยู่กับเสียงเล่าของบรรณาธิการหนังสือพิมพ์และร้อยแปดดีสะเทือนขวัญข่าวสารของคนบ้า ที่ถูกถ่ายทอดความตายออกมาอย่างดงงามราวกับนาฏลีลาสยองขวัญ โดยทั้งหมดคลอคู่ไปกับเรื่องเล่าของสาวเสียสติคนหนึ่งที่ทนไม่ได้ที่จะมองเห็นหน้าต่างกระจก นางเป็นต้องเขวี้ยงหน้าต่างห้างร้านบ้านช่องจนพังพินาศไปทั้งรัฐ หากบางทีนางอาจเป็นคนที่บ้าน้อยมที่สุดในหนังเรื่องนี้

10/11/13



SHAME (INGMAR BERGMAN/1968/SWEDEN)



สองศิลปินผัวเมียที่หลบหนีสงครามมาอยู่บนเกาะห่างไกล แรกทีเดียวทุกอย่างก็ดูดี จนกระทั่งหนังค่อยๆคลี่ให้เห็นความเปราะบางอ่อนไหวภายใต้ความสัมพันธ์อันราบเรียบของผัวเมีย และทุกอย่างรุนแรงมากขึ้นเมื่อกองทหารฝั่งตรงข้ามบุกมายังเกาะ สังารผู้คนเผาบ้านเรือน จับสองผัวเมียไปสอบสวนอย่างนักหน่วง ต่างคนต่างสติแตกกันไปคนละทาง โลกข้างนอกเกาะอาจแตกดับไปแล้วก็เป็นได้ แต่โลกภายในของสองผัวเมียกำลังปะทุแตกด้วยความริษยา ความดกรธ ความเคียดแค้นชิงชังและเหนืออื่นใด ความกลัว ทั้งหมดนำไปสู่โศกนาฏกรรมอันน่าละอายในรูปรอยของการสิ้นโลก

หนึ่งในหนังยุคอยู่เกาะสุดสะพรึงของ อภิมหาผู้กำกับ อิงมาร์ เบิร์กแมน ช่วงเวลาที่เขาทำหนังออกมาได้รุนแรงที่สุด ดิ่งลึกลงในความมืดดำอย่างถึงที่สุด ด้วยพลังมืดของดาราคู่ขวัญ แมกซ์ ฟอน ซีโดว์ และ ลิฟ อุลมานน์ เราไม่แน่ใจว่านี่จะเป็นหนังสยองขวัญหรือไม่ แต่หากคุณดูแล้วไม่สะพรึงก็นับว่ากำลังขวัญกล้าแข็งเกินไปแล้ว


CARNIVAL OF SOULS (HERK HURVEY/1962/US)





นี่คือเรื่องของแมรี่สาวนักเล่นออร์แกนที่รับจ้างตามโบสถ์ สำหรับเธอนี่ไม่ใช่งานอุทิศตัวเพื่อศาสนาแต่เป็นงานรับจ้างทั่วไป วันหนึ่งสาวชืดชานางนี้นั่งรถไปกับเพื่อนสาว เจอแกีงค์เด็กหนุ่มขอท้าแข่งรถ พวกเธอก็เอาด้วย ซวยตรงรถเธอเสียหลักตกสะพานจมหายไปในแม่น้ำ หลังออกหาหลายชั่วโมง สาวแมรี่ก็เป็นผู้รอดตายคนเดียวที่เดินขึ้นมา หลังจากอุบัติเหตุเธอรีบออกจากเมืองไปทีอื่น ระหว่างทางถูกดึงดูดด้วยสวนสนุกร้างก่าแก่ข้างทาง และผีของผู้ชายคนหนึ่งที่ตามหลอกหลอนเธอ ไม่ใช่การล้างแค้นแต่เป็นการฉุดลากเธอออกจากโลกสามัญไปสู่ประตูผีอย่างเชื่องช้าและแนบเนียน

หนังทุนต่ำจากปี 1962 ของ Herk Hurvey ที่ถูกทำมาฉายแก้เซ็งในโรงหนังdrive in แต่ไปๆมาๆกลายเป็นว่านี่คือหนังสยองขวัญที่ค่อยๆคลาสสิคขึ้นตามเวลาโดยไม่ต้องพึ่งสเปเชียบ เอฟเฟคต์ หรือทำตัวปัญญาชน เป้นหนังสยองขวัญยุคเก่าที่สะพรึงขวัญผู้คน จนกลายเป้นหนังcultขึ้นหิ้งที่ถูฏนำมาอ้างถึงอย่างไม่ขาดสายในหมู่คนทำหนังสยองขวัญรุ่นต่อมาไม่เว้นแม้แต่ James Wan ที่เอาหนังมาใส่ไว้ใน Insidioud ภาคสองด้วยเสียเลย!


(อ่านเบื้องหลังหนังและชีวิตคนทำหนังได้จากหนังสือ FILMVIRUS 05  ปฏิบัติการหนังทุนน้อย)


17/11/13

THE ROAD (YAM LARANAS /2011/PHILIPPINES)



เรื่องเริ่มต้นจากวัยรุ่นสามคนหนีออกจากบ้านตอนกลางคืน ขโมยรถของพ่อแม่ไปหัดขับกันเอง แรกทีเดียวพวกเขาก็ขับไปบนถนนหลวง แต่พอเห็นตำรวจตั้งด่าน ใครบางคนก็เสนอให้เลี้ยวไปทางถนนลูกรังเล็กๆ ถนนมืดทึบไร้แสงไฟ วัยรุ่นสามคนขับเท่าไรก็หาทางออกไม่เจอ หนักหนากว่านั้น ถนนยืดยาวออกไปไม่รู้จบ แล้วนั้นอะไร ผีปีศาจไร้หน้าวิ่งไล่มาในความมืด รถผีสิงขับสวนทาง พวกเขาประสบอุบัติเหตุ ติดอยุ่ในแดนสนธยาที่ไร้ทางออก แต่นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์สยองขวัญที่มีทั้งการฆ่า การทารุณกรรม ผีที่ไม่ยอมตาย และวิญญาณที่ร้องขอความช่วยเหลือ

หนังสยองขวัญเรื่องฮิตจากฟิลิปปินส์ที่สพรึงข้ามโลกไปถึงอเมริกามาแล้ว จากผู้กำกับ The Echo ที่เคยถูกเรียกตัวไปรีเมคมาแล้ว เรารู้ว่าThe Echoไม่ค่อยสยองเท่าไหร่ แต่เชื่อเถอะ The Road จะทำให้คุณเลิกมองเขาในแง่ร้ายและจับตาเขาใหม่ในฐานะคนทำหนังสยองขวัญที่น่าจับตาที่สุดคนหนึ่งในเซาธิ์อีสต์เอเซีย

THE PACT (NICHOLAS McCARTHY/2012/US)





หลังแม่ตาย จู่ๆน้องสาวก็หายตัวไปในบ้าน หญิงสาวต้องกลับมาที่นี่อีกครั้งกลับมาในบ้านชั้นเดียวชานเมืองที่เต็มไปด้วยเรื่องลึกลับสยองขวัญ ยิ่งสืบยิ่งสะพรึง ในบ้านหลังที่ดูสามัญนี้ อาจจะมีภูติผีซ่อนอยู่ในทุกที และเธอเริ่มถูกหลอกหลอนไม่ยั้ง ในบ้านของตัวเอง


สิ่งที่สุดขีดสามอย่างในหนังเรื่องนี้คือ1.บ้านในหนังมันเป็นบ้านแบบบ้านชาวบ้านชั้นเดียวแคบๆ บ้านพวกคนอเมริกันอยู่กัน บ้านมันแคบนิดเดียว แต่กลับทำออกมาให้สยองขวัญยิ่งกว่าราสาทเก่าแก่กว้างใหญ่มากมาย 2.หนังแทบไม่มีดนตรีประกอบเลย มันมีแต่ความงียบ แล้วมันทรงประสิทธิภาพมาก แต่พอถึงเวลามันมันก็พร้อมจะระเบิดความตุ้งแช่มาทำลายล้างผู้ชม! 3. หากสิ่งที่น่ากลัวที่สุดในเรื่องนอาจจะคือประวัติศาสตร์ของเราเอง มันจะเป็นยังไงถ้าพ่อแม่ตายแล้วความชั่วร้ายก็เปิดเผยตัว ความชั่วร้ายที่พ่อแม่ซ่อนไว้จากเรา พวกเขาอาจจะรับมือได้แต่พวกเขาก็ไม่อยู่แล้ว แล้วมันจะเป็นยังไงถ้าบ้านของเรา บ้านที่เราโตมาคือสถานที่ที่ชั่วร้ายอย่างสุดขีด

นี่คือโปรแกรมหนังสยองขวัญรุ่นใหม่ สำหรับผู้ชมประสาทแข็งเท่านั้น!


24/11/13

THE UNINVITED GUEST (GUILLEM MORALES/2004/SPAIN)





หนังว่าด้วยชายหนุ่มเป็นพวกชอบอยู่บ้านใหญ่ๆห้องเยอะๆ เมียเลยทิ้ง คืนฝนตกคือหนึ่ง มีคนมาขอใช้โทรศัพท์ในบ้านเพียงชั่วครู่คนก็หายตัวไป อาจจะออกไปแล้ว ไม่ก็ซ่อนอยู่ในบ้าน โทรศัพท์สาธารณะหน้าบ้านที่บอกว่าเสียก็ใช้ได้เป็นปกติ หาในบ้าน หาเท่าไหร่ก็ไม่พบ จากนั้นก็ได้ยินเสียงกึงกังตลอดเวลา บ้านก็ใหญ่และลึกลับซับซ้อนเกินกว่าจะค้นได้ในคราวเดียว ตามตำรวจมาตำรวจก็หาไม่พบ แต่ชายหนุ่มคิดว่ามันต้องมีคนแอบอยู่ในบ้าน ! และดูเหมือนคนคนนั้นจะพยายามก่อสงครามประสาทกับเขามากขึ้นทุกที และราวกับจะมีแต่เขาคนเดียวถูกทิ้งไว้ในบ้านลึกลับนี้ ก่อนที่ทุกสิ่งทุกอย่างจะพุ่งไปยังทิศทางที่คาดไม่ได้ คิดไม่ถึง!

หนังสยองขวัญจากสเปน เจ้าของเดียวกับหนังคนเห็นผีชื่อดังอย่าง Julia’s Eyes แต่ไม่ต้องกังวล นี่ไม่ใช่ฟนังผีแอบซึ่งแบบ Julia หรือ The Orphanage แต่มันคือหนังที่ผลักความสะพรึงไปสุดทาง ด้วยพลอตหักเกสุดคาดเดา และนที๋โดนเอาเถิดเจ้าล่อมากที่สุดก็ไม่ใช่ใครแต่คือผู้ชมนั่นเอง

RABIES (AHARON KESHALES+NAVOT PAPUSHADO/2010/ISRAEL)





พล็อตก็ในทำนองว่า วัยรุ่นสี่คนไปเที่ยวแล้วเลี้ยวผิด อยู่ดีๆก้มีผู้ชายวิ่งตัดหน้ารถ เขาบอกว่าน้องสาวเขาติดกัยดักโดนขังอยู่ในป่า ขอแรงหนุ่มๆไปช่วยน้องสาวเขาหน่อย ความฉิบหายเริ่มต้นขึ้นตรงนี้
และอาจเล่ามากไม่ได เอาเป็นว่า มีตำรวจระยำตำรวจดี มีอีสาวเชียร์ลีดเดอรืสองนางสุดสะบึม มีฆาตกรโรคจิต มีคู่รักไปเที่ยวป่าพาหมาไปด้วย และมีซีรีส์ของความวิปลาสเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากจนอธิบายไม่ได้

เฟรเดอริค เจมสัน พูดว่าในหนังทุกเรื่องของประเทศโลกที่สามมันจะเป็นอะไรไปไม่ได้มากกว่าallegory ของประเทศนั้นเอง และบางทีหนังเรื่องนี้อาจจะเป็นเช่นนั้นเพราะนี่คือหนังที่บอกให้เห็นถึงความโกลาหล ความเข้าใจผิิด ความไว้ใจไม่ได้ ความกลัว ความกร่าง ในประเทศที่เป็นเมืองร้างซึ่งเต็มไปด้วยกับระเบิด วิธีการที่หนังใช้ในการผูกเงื่ิอนปมชวนให้คิดถึงความบ้าคลั่งภายในของประเทศ และตอนจบที่แสบสันต์ที่สุดครั้งหนึ่งในหนังสยองขวัญก็ตอกย้ำประเด็นนี้ได้ยังเมามันส์ อ้อ เตรียมผ้าไว้ซับเลือดที่เปรอะจอกันเป็นลิตรๆด้วย!
 

19.9.13

โปรแกรมภาพยนตร์ Po-co Cine Postcolonial Cinema





ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ร่วมกับสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เชิญชม โปรแกรมภาพยนตร์ Po-Co Cine

ทุกวันอาทิตย์ระหว่างวันที่ 29 กันยายน 2556 - 20 ตุลาคม 2556 ตั้งแต่เวลา 12:30 น. เป็นต้นไป

ณ ห้องเรวัต พุทธินันท์ ชั้นใต้ดิน U2 หอสมุด ปรีดี พนมยงค์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

โทรศัพท์ 0-2613-3529 หรือ 0-2613-3530

ชมฟรี!!! (โปรดแจ้งเจ้าหน้าที่ห้องสมุดว่ามาชมภาพยนตร์ และกรุณาแต่งกายสุภาพ)


Po-co Cine

Postcolonial Cinema 

นำทีมถางพงอดีตแดนอาณานิคม โดย New Programmer รัชฏ์ภูมิ บุญบัญชาโชค (คนละคนกับในรูปข้างล่าง)




ฟรานซ์ ฟานอน (1925 - 1961) นักจิตวิเคราะห์ผิวดำชาวมาร์ตีนิก (มาร์ตีนิกเป็นเกาะในทะเลแคริบเบียนที่ปัจจุบันมีสถานะเป็น ‘จังหวัดโพ้นทะเลของฝรั่งเศส’) เล่าว่าตอนเขาอยู่ที่บ้านเกิด เขาไปดูหนังฮอลลีวู้ดเรื่องทาร์ซานในโรงหนัง ในหมู่คนดูผิวสีทั้งโรงทุกคนหัวเราะชอบใจเมื่อเห็นทาร์ซานปราบเหล่าร้ายที่เป็นคนป่าผิวดำได้ ต่อมาเมื่อฟานอนเดินทางไปปารีสเพื่อศึกษาต่อ เขาได้ดูหนังเรื่องนี้ในโรงอีกครั้ง แต่คราวนี้แทนที่เขาจะสนุกกับหนังเหมือนเคย เขากลับรู้สึกตะขิดตะขวงใจ พอคนดูสว่นใหญ่ในโรงเป็นคนขาวพวกเขาก็พากันเอาใจช่วยทาร์ซานพระเอกผิวขาวกำจัดคนป่าผิวดำ ฟานอนในฐานะคนดำไม่กี่คนในโรงจึงรู้สึกอดไม่ได้ที่เขาจะรู้สึก ‘เห็นใจ’ คนผิวสีบนจอภาพยนตร์ เขานึกกลับมาถึงตัวเองว่าทำไมในการดูหนังครั้งแรกเขาไม่รู้สึกอะไรเลย ทำไมเขาไม่รู้สึกว่าคนดำบนจอเป็นคนร่วมเชื้อชาติสีผิวกับเขา ทำไมเขาสามารถเข้าข้างคนขาวได้ง่ายดาย 

เรายังดูทาร์ซานแบบเดิมอย่างใสซื่อได้อีกไหม เรายังสนุกกับปรากฏการณ์บนจอโดยไม่อินังต่อกระบวนการกดขี่ภายในภาพได้หรือไม่ 




postcolonial studies คือการศึกษาอิทธิพลที่ตกค้างมาจากลัทธิอาณานิคมตามพื้นที่ต่าง ๆ ของโลก อาณานิคมได้เปลี่ยนแปลงระบบความสัมพันธ์ สังคม ภาษา ลักษณะประชากรของโลกสมัยใหม่ไปอย่างถอนรากกระชากโคน และแม้เราจะไม่ได้อยู่ในยุคอาณานิคมแล้ว แต่สิ่งที่ตกค้างจากยุคสมัยนั้นยังทิ้งค้างไว้ให้เราได้เห็นอยู่จนถึงทุกวันนี้ postcolonial cinema ไม่จำกัดแต่หนังที่พูดถึงแต่อาณานิคมโดยตรง (แต่โดยแท้จริงแล้ว postcolonial cinema ก็ไม่ใช่สิ่งที่มีนิยามแน่ชัดตายตัว) แต่ยังรวมไปถึงหนังที่สำรวจประเด็นอันหลากหลายตั้งแต่ผลกระทบของการอพยพประชากรโลกหนังของคนทำหนังโพ้นทะเล หนังพร็อบพาแกนด้าชาตินิยม หนังตลกภาษาถิ่น ฯลฯ หนังในโปรแกรมนี้เป็นการรวบรวมหนังที่หลากหลายทั้งในแง่เนื้อหาและประเทศที่มา เพื่อลองสำรวจความสลับซับซ้อนในโลกของเราทั้งในด้านวัฒนธรรม สังคม การเมือง ศิลปะ เพศสภาพ อัตลักษณ์ และอื่น ๆ ถ้าทาร์ซานที่ฟานอนได้ดูคือ colonial cinema ที่กดขี่ประชากรส่วนใหญ่ของโลกไว้ในคราบของความป่าเถื่อน postcolonial cinema คือหนังที่ท้วงถามและชี้แย้งกลับไปที่ทาร์ซาน โลกได้เปลี่ยนไปแล้ว


Week 1
Colonial (Re)Encounter

And Then There Was Light (1989, Otar Iosseliani, Italy, France, West Germany)




ผลงานรางวัลสิงโตเงินเรื่องเยี่ยมของ Otar Iosseliani ผู้กำกับฝีมือเอกอุชาวจอร์เจียที่ปัจจุบันทำหนังอยู่ในฝรั่งเศส ในงานชิ้นนี้เขาได้พาคนดูไปยังสังคมชาวแอฟริกันในป่าที่ความเป็นสมัยใหม่ยังเข้าไม่ถึง หนังถ่ายทอดชีวิตประจำวันของชาวบ้านประดุจสารคดีที่เหนือจริง นั่นคือภาพกิจวัตรของชาวบ้านแม้จะอยู่ในไวยากรณ์แบบสารคดีแต่กิจกรรมของพวกเขาก็ชวนเหวอตกเก้าอี้มาก ๆ เช่นชายหนุ่มจะจีบผู้หญิงอีกหมู่บ้านหนึ่ง ต้องนั่งจระเข้ข้ามแม่น้ำไปหา หรือคนหัวขาดก็สามารถเอาสมุนไพรมาบดทาที่รอยขาดแล้วติดหัวใหม่ได้ ฯลฯ ลีลาแบบ magical realism ของหนังสร้างรสที่แปร่งปร่าชวนตื่นตาตื่นใจกับความสัมพันธ์ทางสังคมแบบที่เราไม่เคยพบเห็นมาก่อน

Even the Rain (2010, Icíar Bollaín , Spain, Mexico, France)




Iciar Bollain เป็นผู้กำกับหญิงชาวสเปนที่สร้างชื่อจากหนังน้ำดีหลายเรื่อง ใน Even the Rain เธอร่วมทัพกับ Paul Laverty มือเขียนบทประจำตัวเคน โลช (และจริง ๆ ก็เป็นสามีเธอเอง) รังสรรค์หนังวิพากษ์จักรวรรดิตะวันตกอันแสนคมคายจนได้เป็นตัวแทนสเปนเข้าชิงออสการ์ หนังเรื่องนี้ กาเอล การ์เซีย เบอร์นัลรับบท เซบาสเตียน ผู้กำกับหนังจากเม็กซิโกที่เดินทางกับทีมงานมาโบลิเวียเพื่อทำหนังว่าด้วยการค้นพบทวีปอเมริกาของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส โดยตัวเซบาสเตียนหมายมั่นจะให้หนังเรื่องนี้เป็นบทโจมตีอาณานิคมของสเปนที่เข้ามาปล้นและกดขี่ชาวพื้นเมือง แต่โชคร้ายเสียหน่อยที่ตอนกองถ่ายเข้ามาในโบลิเวียมีการประท้วงเรื่องการขายสิทธิ์การจัดการน้ำในประเทศให้กับบริษัทเอกชนต่างชาติ ทำให้ประชาชนโบลิเวียไม่มีสิทธิ์จะดื่มน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำใต้ดิน ลำธาร "หรือแม้แต่น้ำฝน" แล้วเส้นแบ่งระหว่างเหตุการณ์ในหนังที่กำลังสร้างกับเรื่องจริงทางสังคมภายนอกก็ยิ่งพร่าเลือน นักแสดงอินเดียนที่มาแสดงเป็นคนพื้นเมืองในหนังก็ออกไปต่อสู้เพื่อสิทธิในการดื่มน้ำบนถนนจริง ๆ อีกด้วย บทหนังของลาเวอร์ตี้แหลมคมมาก ๆ ในการเชื่อมโยงการปล้นทองจากชนพื้นเมืองจากจักรวรรดิสเปนเข้ากับการปล้นน้ำของบรรษัทนานาชาติ

Week 2
Problem of Identities

Surname Viet Given Name Nam (1989, Trinh T. Minh-ha, Viet Nam-America)




สารคดีทดลองของผู้กำกับ-นักทฤษฎีชาวเวียดนามที่ไปโตในอเมริกา Trinh T. Minh-ha ในงานชิ้นนี้เธอตั้งโจทย์ที่ทั้งซับซ้อนและทะเยอทะยานมาก ๆ เธอพาเราไปรู้จักกับชีวิตผู้หญิงเวียดนามที่ใช้ชีวิตในช่วงสงครามเวียดนามผ่านบทสัมภาษณ์ของแต่ละนาง แม้จะฟังดูธรรมดา แต่แท้จริงแล้วตัวหนังเล่นกับการรับรู้ของคนดูหลายระดับมาก ๆ ตั้งแต่การที่ผู้หญิงกลุ่มนี้พูดอังกฤษได้ไม่ชัดนักทำให้คนดูทั่วไปมีปัญหาในการติดตามเรื่องราวที่พวกเธอเล่า แต่พอหนังผ่านไปเกือบ 1 ชั่วโมงเหมือนหนังจะรู้ตัวก็เลยใส่ซับไตเติ้ลภาษาอังกฤษข้างใต้ไว้ให้เราอ่านได้ง่าย ๆ แต่จู่ ๆ เสียงของผู้กำกับก็ดังขึ้นมาถามว่า ‘คุณรับรู้บทสัมภาษณ์ของผู้หญิงพวกนี้ผ่านหู (ฟังเสียงของพวกเธอโดยตรง) หรือคุณใช้ตา (ต้องพึ่งพาตัวหนังสือที่หนังเขียนให้)’ ถ้าคุณต้องใช้ตาอ่านซับ ฯ แสดงว่าคุณเชื่อใจซับ ฯ ใช่ไหม แปลว่าคุณไว้ใจความจริงในตัวหนังสือที่คุณคุ้นเคย มากกว่าเสียงที่แปลกแปร่งติดสำเนียงของผู้หญิงประเทศโลกที่สามเหล่านี้ใช่ไหม สารคดีเรื่องนี้เลยเป็นมากกว่าแค่บทบันทึกชีวิตของผู้หญิงเวียดนามแต่เป็นบทบันทึกที่ย้อนถามการบันทึกของตัวมันเองด้วย


Lamerica (1994, Gianni Amelio, Italy, France, Switzerland)




Gianni Amelio เป็นผู้กำกับอิตาลีมือดีที่โด่งดังในยุค 90 Lamerica หนังเจ้าของรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเวนิสได้รับการกล่าวขานจากนักวิจารณ์หลาย ๆ คนว่านี่อาจเป็นงานที่ดีที่สุดของเขา Lamerica ไปสำรวจผลตกค้างของจักรวรรดิตะวันตกที่คนไม่ค่อยพูดถึงเท่าไหร่ นั่นคือจักรวรรดิของอิตาลี อิตาลีเป็นชาติยุโรปที่เริ่มล่าอาณานิคมช้ากว่าชาติอื่น ๆ มาก และอัลบาเนียก็เป็นพื้นที่ไม่กี่ที่ที่เคยตกเป็นของอิตาลี หนังเกิดขึ้นในยุคร่วมสมัย 2 กระทาชายแก๊งค์ต้มตุ๋นชาวอิตาเลี่ยนที่ต้องการจะเข้าไปเปิดบริษัทปลอมในอัลบาเนียเพื่อรับเงินช่วยเหลือจากรัฐแล้วค่อยเชิดเงินหายไป แต่เงื่อนไขที่เขาจะได้เงินนั้นบริษัทจะต้องมีคนอัลบาเนียมาเป็นเจ้าของด้วย ทั้งสองคนเลยไป ‘แคสต์’ เจ้าของบริษัทจากในคุก จนได้เจอกับ ‘สไปโร’ ตาแก่ชราภาพนายหนึ่งที่สติไม่ค่อยเหลือความจำหลง ๆ ลืม ๆ น่าจะง่ายต่อการใช้เป็นหุ่นเชิดได้ แต่เมื่อเรื่องดำเนินไปเรื่อย ๆ ความทรงจำของสไปโรค่อยผลุบโผล่เข้ามา อันเป็นความทรงจำในสมัยสงครามโลกและยุคอาณานิคมอิตาลีในอัลบาเนีย ความทรงจำที่ว่าสร้างแรงสั่นสะเทือนไปถึงตัวตนของนักต้มตุ๋น ทำให้เขาต้องมาถามตัวเองว่าฉันเป็นใคร?

Week 3
Other Aesthetics: Nollywood and Brazilian Garbage

The Figurine - Araromire (2009, Kunle Afolayan, Nigeria)




ปัจจุบันไนจีเรียติด 3 อันดับแรกของประเทศที่มีการผลิตหนังเยอะที่สุดในโลกไปแล้ว (เป็นรองแค่อเมริกาและอินเดีย) วงการหนังวิดีโอหรือที่เรียกกันว่า Nollywood เป็นเหมือนต้นธารใหญ่ของวงการหนังประเทศแอฟริกาที่ใช้ภาษาอังกฤษ (โดยมี Ghallywood จากกาน่ากำลังเข้ามาแชร์พื้นที่) หนัง Nollywood แตกต่างจากหนังประเทศแอฟริกาที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสที่เริ่มทำหนังตั้งแต่ยุค 60 ในขณะที่คนทำหนังจากประเทศพูดฝรั่งเศสมักหยิบยกปัญหาสังคม ความยากจน การเหยียดผิว ฯลฯ ที่เกิดขึ้นมาทำเป็นประเด็นหลักด้วยความเชื่อประหนึ่งหนังคือเครื่องมืออาวุธทางวัฒนธรรมและสังคม หนัง Nollywood กลับเพลิดเพลินไปกับชีวิตประจำวันของตัวละครในลากอส มีความเพ้อเจ้อแฟนตาซีไปบ้างตามประสา หนังกลายเป็นมหรสพหรรษาที่ทำให้คนดูหัวเราะ ร้องไห้ ไปพร้อมกัน

The Figurine ได้รับรางวัลจาก African Movie Academy Awards ไป 5 รางวัล รวมทั้งภาพยนตร์ยอดเยี่ยมด้วย เนื้อเรื่องของหนังว่าด้วยเพื่อนซี 2 คนที่เดินทางไปในป่าเจอกับรูปปั้นเทพธิดา Araromire ที่จะมอบ 7 ปีแห่งความสุขโชคลาภให้กับทุกคนที่ได้สัมผัส แต่พอหมด 7 ปีแห่งโชคลาภ คนจับก็ต้องเจอกับ 7 ปีแห่งทุกข์ที่จะพรากความดีทุกอย่างจากชีวิตไป พอเพื่อนทั้ง 2 คนกลับเมืองต่างฝ่ายต่างก็ร่ำรวย มีงานการที่ดี ได้แต่งงาน พอ 7 ปีผ่านไปพวกเขามาเจอกันจู่ ๆ ชีวิตก็เหมือนหักเลี้ยวเปลี่ยนทิศ ชีวิตเริ่มแย่ขึ้น ๆ นี่มันเพราะคำสาปใช่ไหม หรืออะไร? ก่อนที่หนังจะจบอย่างหักมุมที่สุด!!!!!!!

Bang Bang (1971, Andrea Tonacci, Brazil)




ที่บราซิลสมัยยุค 60 Glauber Rocha ได้เป็นหัวหอกของกลุ่มภาพยนตร์คลื่นลูกใหม่ Cinema Novo ที่ต้องการใช้สื่อภาพยนตรเป็นพื้นที่ในการเรียกร้องความยุติธรรมของสังคม ได้บัญญัติสิ่งที่เรียกว่า ‘สุนทรียะแห่งความหิวโหย’ ด้วยเชื่อว่าหนังที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงสังคมต้องไม่เพียงแปลกใหม่ทางเนื้อหาเท่านั้น แต่ต้องค้นหาภาษาไวยากรณ์หนังแบบใหม่ ๆ โดยไม่ต้องไปอินังว่าหนังที่ได้จะมีคุณภาพดีงามได้ตามมาตรฐานหนังทั่วไปไหม (อันหมายถึงหนังฮอลลีวู้ด) แต่พอเวลาผ่านไปถึงยุค 70 Esthetics of Hunger กลายเป็นของล้าสมัยที่เสื่อมความนิยม คนทำหนังบราซิลอีกกลุ่มนำทีมโดยคนทำหนังอย่าง Rogerio Sganzerla และ Julio Bressane ได้เสนอ ‘สนุทรียะแห่งขยะ’ ออกมา หนังในกลุ่มนี้ไม่ได้แคร์ปัญหาสังคมอีกต่อไป แต่เล่นสนุกกับการทดลองความตื่นตาตื่นใจทางภาพยนตร์เพื่อให้คนดู enjoy ก็พอ


Bang, Bang งานสำคัญชิ้นหนึ่งของกลุ่มที่ผู้ชมไม่ต้องแคร์เนื้อเรื่องอะไรอีกต่อไปแล้ว หนังเด็ดดวงด้วยความแพรวพราวของภาษาหนัง ทั้งลูกเล่นงานถ่ายภาพที่วิจิตรพิศวงพงไพร การตัดต่อที่พิสดารล้านลึก และดนตรีที่สร้างจังหวะชวนขยับหรรษา หนังมีฉากโจร ฉากขับรถไล่ล่าแสนพิสดาร แต่ดูอย่างไรก็ไม่รู้เรื่องจนตัวละครในหนังเองก็ทนไม่ได้ที่หนังไม่รู้เรื่องถึงกับขอ pause แล้วมานั่งเล่าเรื่องซ้ำใหม่ให้คนดูฟัง แต่ก็ถูกตัวละครอีกตัวขัดจังหวะไม่ให้เล่าด้วยการปาพายใส่หน้า!?

Week 4
My Father and His Fatherland

Congorama (2006, Philippe Falardeau, Canada-Belgium)





แคว้นควิเบกในแคนาดาเป็นแคว้นที่ประชากรใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นหลัก แม้ว่าแคนาดาจะมีภาษาราชการ 2 ภาษาทั้งอังกฤษและฝรั่งเศส แต่ชาวควิเบกก็มีความรู้สึกแปลกแยกจากส่วนอื่นของประเทศอยู่ดี Philippe Falardeau ผู้กำกับชาวควิเบกรุ่นใหม่มาแรงนิยมทำหนังที่สำรวจสังคมควิเบกมาอย่างต่อเนื่อง Congorama หนังชนะรางวัล Jutra สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เข้าไปสำรวจความสัมพันธ์อีรุงตุงนังยุ่งขิงของชีวิตตัวละครหลายตัว หลายชาติ ทั้งแคนาดา เบลเยี่ยม และคองโก! 

หนังเปิดเรื่องที่เบลเยี่ยม มิเชล นักประดิษฐ์ชาวเบลเยี่ยมที่ล้มเหลวในการคิดสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ เขามีพ่อเป็นนักต่อต้านอาณานิคมคองโกเก่าที่ปัจจุบันเป็นนักเขียนชื่อดังของเบลเยี่ยมในแคว้นเวโลเนีย (แคว้นที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส) ตัวมิเชลเองมีเมียเป็นคนคองโก และทั้งคู่มีลูกชายที่ดูจากกายภาพแล้วดูจะรับมาแต่แม่ เพราะดูไม่มีเชื้อคนขาวเลย วันนึงลูกชายมิเชลถามมิเชลว่า 'พ่อ ผมได้อะไรมาจากพ่อบ้าง' มิเชลก็ไม่รู้ว่าตัวเองมีอะไรเหมือนกับลูกบ้าง เขาก็บอกว่าลูกวาดรูปเก่งเหมือนพ่อ อีกอย่างพ่อกับปู่หน้าตาก็ไม่เหมือนกัน แต่เราก็เป็นพ่อลูกกันได้ แต่แล้วคืนนั้นพ่อของมิเชลก็เรียกมิเชลไปเซอร์ไพรส์ว่า 'มิเชลเอย ลูกเป็นลูกบุญธรรมนะ พ่อกับแม่แอบรับลูกอย่างผิดกฎหมายมาจากโบสถ์ในควิเบก' มิเชลเลยยิ่งงงไปใหญ่ว่าอ้าว จริง ๆ ฉันเป็นใครมาจากไหน วันนึงเขาต้องไปแคนาดาเพื่อขายงานลูกค้า เขาเลยใช้เวลาที่เหลือตามหาว่ารากเหง้าเขามาจากไหน?

A Borrowed Life (1994, Wu Nien-jen, Taiwan)


หนังเรื่องเยี่ยมในกลุ่มไต้หวันนิวเวฟ Wu Nien-jen ผู้กำกับที่แม้จะทำหนังเองไม่เยอะ แต่เขาเป็นมือเขียนบทที่พิสูจน์ฝีมือไว้ในหนังของโหวเสี่ยวเสี่ยน เอ็ดเวิร์ด หยาง แอนน์ ฮุย A Borrowed Life เป็นงานกำกับเองเรื่องแรกของเขาเป็นเหมือนงานกึ่งอัตชีวประวัติว่าด้วยสัมพันธ์ของเขาและพ่อ ตั้งแต่สมัยเขายังเป็นเด็ก ๆ พ่อยังเป็นคนหนุ่ม จนกระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่แต่งงานมีครอบครัวแล้วพ่อของเขาก็ป่วยชรา 

หนังสำรวจความต่างกันของวัย ตัวเอกของเรื่องเป็นเด็กที่เกิดในยุคก๊กมิ๋นตั้งปกครองไต้หวันอยู่ ส่วนพ่อของเขาเป็นคนที่โตมาในรุ่นที่ไต้หวันเป็นอาณานิคมญี่ปุ่น พ่อและผู้ใหญ่หลาย ๆ คนในรุ่นเดียวกัน ต่างเป็นคนที่ชื่นชมชื่นชอบวัฒนธรรมญี่ปุ่นมากมาย พวกเขาพูดภาษาญี่ปุ่น ดูหนังญี่ปุ่น นิยมสินค้าญี่ปุ่น แม้พวกเขาจะไม่เคยได้ไปเห็น‘แผ่นดินพ่อ’ เองจริง ๆ เลย และอาการนิยมญี่ปุ่นนี่เองนำมาซึ่งความขัดแย้งกับคนรุ่นลูกที่โตมากับการศึกษาด้วยภาษาจีนกลาง (ที่คนรุ่นก่อนไม่เข้าใจ) และการเรียนประวัติศาสตร์ว่าญี่ปุ่นเป็นตัวร้าย หนังสำรวจอัตลักษณ์ความเป็นไต้หวันอันเปราะบาง เมื่อพิจารณาว่าไต้หวันเป็นเกาะที่เหมือนถูกเปลี่ยนมือผู้ปกครองไปตามยุคสมัย (ตั้งแต่สมัยมีชนพื้นเมือง จนคนจีนฮั่นเข้ามาอาศัย ก่อนโดนโปรตุเกส สเปน ดัทช์เข้ามาปกครอง และเปลี่ยนมือไปเป็นราชวงศ์ฉิงในแผ่นดินใหญ่ ก่อนมาเป็นญี่ปุ่น และไปเป็นของก๊กมิ่นตั้ง) แล้วอะไรคือสิ่งที่เหลืออยู่ คนไต้หวันจริง ๆ คือใครกัน

คนลักหลับ

My photo
Filmvirus เป็นนามปากกาเดิมของสนธยา ทรัพย์เย็น จากคอลัมน์ “นิมิตวิกาล” ที่ใช้ในนิตยสาร Filmview ปี 2537 ต่อมาในปี 2538 สนธยาได้ก่อตั้ง “ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์” หรือ DK.Filmhouse (Filmvirus) จัดฉายหนังด้อยโอกาสให้ผู้สนใจชมฟรี พร้อมจัดพิมพ์หนังสือด้านหนัง และวรรณกรรม ชุด Filmvirus / Bookvirus (ส่วนหนังสือ “คนของหนัง” ปี 2533 นั้นเป็นผลงานก่อนตั้งฟิล์มไวรัส) ส่วนผลงานอื่นๆ ปี 2548 เป็นกรรมการเทศกาลหนัง World Film Festival of Bangkok , ปี 2552 กรรมการ Sydney Underground Film Festival, งาน Thai Short Film and Video Festival ของมูลนิธิหนังไทยครั้งที่ 1 และปี 2548-2549 เป็นเจ้าภาพร่วมจัดเทศกาลประกวดหนังนานาชาติ 15/15 Film Festival, Australia