22.12.13

โปรแกรมภาพยนตร์ ยุติธรรมอำมหิต

ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ร่วมกับสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เชิญชม โปรแกรมภาพยนตร์ ยุติธรรมอำมหิต

ทุกวันอาทิตย์ระหว่างวันที่ 15 ธันวาคม 2556 - 5 มกราคม 2557 ตั้งแต่เวลา 12:30 น. เป็นต้นไป

ณ ห้องเรวัต พุทธินันท์ ชั้นใต้ดิน U2 หอสมุด ปรีดี พนมยงค์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

โทรศัพท์ 0-2613-3529 หรือ 0-2613-3530

ชมฟรี!!! (โปรดแจ้งเจ้าหน้าที่ห้องสมุดว่ามาชมภาพยนตร์ และกรุณาแต่งกายสุภาพ)



ปิตุฆาต + นายพลซาดิสฆ์ + ทฤษฏีสมคบคิด + ปัญหาชนชั้น + การเมืองคนผิวสี และลูกนักการเมืองโฉด เกี่ยวพันกันได้อย่างไร?? ทำไมความยุติธรรมกับความอำมหิต จึงมาคู่กันในโปรแกรมนี้?

จากอิตาลียุคกลาง สู่สงครามโลกครั้งที่ 2 กระโดดมาถึงยุคสงครามเย็น ขยับมายุค 70 ที่เสรีภาพเบ่งบาน แล้วปัจจุบันเล่าเกิดอะไรขึ้นกับกระบวนการยุติธรรมทั่วโลกที่เริ่มถูกตั้งคำถาม? ไยความอำมหิตยังสยายปีกอยู่บนโลกใบนี้ได้ในรูปแบบต่างๆ?

15 ธันวาคม 2556

12.30 Beatrice Cenci (1969) / Director: Lucio Fulci / 99 min.
14.30 The Night of the Generals (1967) / Director: Anatole Litvak / 148 min.

22 ธันวาคม 2556
12.30 I... comme Icare (I for Icarus - 1979) / Director: Henri Verneuil / 120 min.
14.30 Graceland (2012) / Director: Ron Morales / 84 min.


5 มกราคม 2557
12.30 Friday Foster (1975) / Director: Arthur Marks / 89 min.
14.30 No One Killed Jessica (2011) / Director: Rajkumar Gupta / 136 min.


15 ธันวาคม 2556

Beatrice Cenci (1969) / Director: Lucio Fulci / 99 min.
จากตำนานอันอื้อฉาวของ เบียทริซ เซนซี่ สาวงามเมืองแห่งกรุงโรมผู้กระทำการสังหารบิดาตน โดยร่วมมือกับแม่, พี่ชายอีกสองคนและชู้รัก กลายเป็นคดีสะเทือนขวัญที่สั่นสะเทือนเหล่าขุนนางและผู้นำทางศาสนาอย่างยิ่ง การสอบสวนนำมาสู่การเปิดเผยความชั่วช้าของผู้ตาย ฟรานเซสโก เซนซี่ ขุนนางหนุ่มใหญ่ผู้กักขฬะ มากด้วยตัณหา ใช้อำนาจและอิทธิพลข่มขู่ข้าราชการเสมอมา รวมทั้งฉุดคร่าหญิงงามที่ตนหมายปองมาเชยชมโดยไม่เคยถูกกฎหมายลงโทษ และร้ายสุด ฟรานเซสโกยังข่มขืนเบียทริซทั้งที่เธอเป็นลูกสาวในไส้เขาเอง พร้อมทั้งประกาศความสัมพันธ์สุดฉาวนี้ให้ทั่วเมืองเพื่อกีดกันไม่ให้มีชายใดก้าวเข้ามาในชีวิตเธอ นี่คือหนังสุดอื้อฉาวที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงเมื่อออกฉาย เกิดกระแสต่อต้านมากมาย แต่ในสายตาประชาชน วีรกรรมของเบียทริซกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้ของชั้นชั้นล่าง ในการขัดขืนอำนาจมืดของเหล่าขุนนางชั่วช้า


The Night of the Generals (1967) / Director: Anatole Litvak / 148 min.
โสเภณีสาวถูกฆ่ากลางกรุงโปแลนด์ ในคืนหนึ่งที่กองทัพนาซีเข้ายึดเมืองได้เบ็ดเสร็จ เบาะแสเดียวที่ชี้ตัวฆาตกรได้คือเครื่องแต่งกายยศนายพลจากปากพยานรายหนึ่ง แต่ไม่เห็นใบหน้า และในคืนดังกล่าวนั้นมีนายเพียง 3 คนในกรุงโปแลนด์ที่เข้าข่ายน่าสงสัย หนึ่ง-นายพลวัยทองจอมบงการ หนึ่ง-นายพลหัวล้านผู้น่าสงสัย และหนึ่ง-นายพลหนุ่มไฟแรงผู้คลั่งไคล้ความรุนแรง คนเดียวที่เข้ามาไขคดีนี้คือสารวัตรทหารผู้เป็นดั่ง ‘เชอร์ลอคโฮล์มส์แห่งกองทัพนาซี’ แต่ก่อนจะสำเร็จเขากลับถูกย้ายไปยังฝรั่งเศส 3ปีต่อมาเหตุการณ์เดิมกลับเกิดขึ้นที่นี่อีก โสเภณีถูกฆ่าในวันที่ทั้ง 3 นายพลอยู่พร้อมหน้ากันในปารีส ฆาตกรยังลอยนวลอยู่แต่มันผู้นั้นเป็นใครกัน? หนังสืบสวน-ฆาตกรในภาวะสงครามที่สุดมืดหม่น ตึงเครียด



22 ธันวาคม 2556

I... comme Icare (1979) / Director: Henri Verneuil / 120 min.
หนังทริลเลอร์ซับซ้อนซ่อนเงื่อน ไม่เดินเรื่องด้วยแอคชั่นฉูดฉาด แต่กลับเจาะลึกถึงความรุนแรงลึกๆ ในจิตใจมนุษย์ ที่อาจก่อให้เกิดความรุนแรงใดๆ ก็ตามขึ้นมาได้ทุกเมื่อ หนังสร้างโดยอิงจากเหตุการณ์ลอบสังหารประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคเนดี้ โดยเปลี่ยนให้เรื่องเกิดในฝรั่งเศส และมีตัวเอกคืออัยการหนุ่มใหญ่ ที่ต้องการรื้อคดีนี้ขึ้นมาสอบสวนใหม่อีกครั้ง ก่อนจะพบว่าเบื้องหลังการสังหารประธานาธิบดี กลับมีการสมคบคิดกันระหว่างฝ่ายอำนาจต่างๆ อันแสนซับซ้อนที่ไม่ใช่แค่ “ใครฆ่า” แต่เป็นเพราะ “ฆ่าทำไม-ได้ประโยชน์อะไร” ยิ่งสาวไส้ใกล้ตัวผู้บงการมากเท่าไหร่ อันตรายก็ยิ่งใกล้ตัวอัยการหนุ่มใหญ่รายนี้มากเท่านั้น 

อ่านเพิ่มเติมที่ http://twilightvirus.blogspot.com/2009/12/i-comme-icare-i-for-icarus-dvd-apex.html

Graceland (2012) / Director: Ron Morales / 84 min.
หนังชั้นดีจากฟิลิปปินส์ ที่ตีแผ่ความมืดหม่นในสังคมความซับซ้อนของมนุษย์ที่ยากแท้หยั่งถึง เมื่อพลขับรถประจำบ้านเศรษฐีถูกโจรลักพาตัวจี้รถระหว่างทาง และฆ่าลูกสาวเศรษฐีไปต่อน้อยพร้อมกับจับตัวลูกสาวเขาไป ทางแก้เดียวคือเขาต้องหาเงินแสนมาไถ่ตัวลูกสาวคืนมา ถ้าฟังแค่เรื่องย่ออาจรู้สึกว่ามันช่างจำแจเหลือเกิน หากนี่คือหนังที่เดินเรื่องด้วยสถานการณ์ลักพาตัวที่สมจริงที่สุด ไม่มีแอคชั่นชวนตื่นเต้น ไม่มีตัวละครดีสุดขีดเลวสุดขั้ว ทุกคนล้วนมีทั้งสองด้านเสมอ ซ้อนทับด้วยปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ชนชั้น บีบคั้นตัวละครจนไม่มีทางออกอื่น หนังยังพาเราไปสู่จุดอับสุดในสังคมอินโดนีเซียที่สะท้านสะเทือนมาถึงสังคมไทยอย่างแยบคาย



5 มกราคม 2557

Friday Foster (1975) / Director: Arthur Marks / 89 min.
หนังของคนผิวสีในอดีตที่เรียกรวมๆ กันว่ากลุ่มหนัง Blaxploitation มักพูดถึงประเด็นสังคม-การเมืองแรงๆ อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิพลเมืองขั้นพื้นฐาน การเหยียดผิว แต่ใน Friday Foster กลับมุ่งไปยังประเด็นเครือข่ายอำนาจภายในกลุ่มคนผิวสีเองที่แบ่งฝักฝ่าย รวมทั้งการ ‘ฮั้ว’ กับกลุ่มคนผิวขาวเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง นำมาสู่การฆ่าตัดตอนผู้นำทางการเมือง-สังคมคนสำคัญของฝั่งคนผิวสี เพื่อสกัดกั้นมิให้อำนาจของฝ่ายประชาชนลุกขึ้นต้านอำนาจมืดที่ชักใยอยู่หลังฉากการเมืองได้ จะมีก็เพียงนักข่าวสาวหัวเห็ดกับนักสืบหนุ่มสองคนนี้เท่านั้น ที่จะพาเราไปไขเงื่อนงำอันซับซ้อนดังกล่าว โดยพวกเขาต้องเผชิญทั้งนักฆ่าปริศนา, เหล่าผู้มีอำนาจคอยขัดขา จนถึงภัยมืดที่เป็นกลุ่มองค์กรใต้ดินนามว่า “Black Widow” ที่จ้องตามเก็บคนทั้งคู่อย่างไม่ลดละ


No One Killed Jessica (2011) / Director: Rajkumar Gupta / 136 min.
นางแบบสาวสวยถูกยิงตายคางานปาร์ตี้ส่วนตัวของลูกชายนักการเมืองโฉดอย่างโหดเหี้ยม แต่แขกเหรื่อกว่า 300 คนที่เป็นพยานในที่เกิดเหตุนั้นกลับไม่มีใครยอมให้การเลย เมื่ออีกฝ่ายใช้ทั้งอำนาจทางการเมืองและเงินมหาศาลพยายามยุติคดีนี้โดยเร็ว กลับมีผู้หญิงสองคนคือ พี่สาวของนางแบบ และนักข่าวสาว ร่วมมือกันตะลุยหาความจริงในคดีนี้ ท่ามกลางอันตรายจากอิทธิพลมืดที่พร้อมจัดการพวกเธอทุกขณะ เพราะสิ่งที่พวกเธอค้นพบไม่ใช่แค่ความจริงในคดีฆาตกรรมแต่ยังโยงใยไปถึงการคอรัปชั่น เส้นสายอำนาจทางการเมือง และเงินสกปรกที่หมุนเวียนอยู่เบื้องหลังฉาก “คนดี” ในสังคมทั้งหลาย

คนลักหลับ

My photo
Filmvirus เป็นนามปากกาเดิมของสนธยา ทรัพย์เย็น จากคอลัมน์ “นิมิตวิกาล” ที่ใช้ในนิตยสาร Filmview ปี 2537 ต่อมาในปี 2538 สนธยาได้ก่อตั้ง “ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์” หรือ DK.Filmhouse (Filmvirus) จัดฉายหนังด้อยโอกาสให้ผู้สนใจชมฟรี พร้อมจัดพิมพ์หนังสือด้านหนัง และวรรณกรรม ชุด Filmvirus / Bookvirus (ส่วนหนังสือ “คนของหนัง” ปี 2533 นั้นเป็นผลงานก่อนตั้งฟิล์มไวรัส) ส่วนผลงานอื่นๆ ปี 2548 เป็นกรรมการเทศกาลหนัง World Film Festival of Bangkok , ปี 2552 กรรมการ Sydney Underground Film Festival, งาน Thai Short Film and Video Festival ของมูลนิธิหนังไทยครั้งที่ 1 และปี 2548-2549 เป็นเจ้าภาพร่วมจัดเทศกาลประกวดหนังนานาชาติ 15/15 Film Festival, Australia