25.5.08

Filmvirus' WORLD CINEMA MATINEE

ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ร่วมกับ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เสนอ

OOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOO
WORLD CINEMA MATINEE
โปรแกรมควบหนังคู่ผู้กำกับนานาชาติ
International Filmmakers Double-Bill
OOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOO
ณ ห้องเรวัต พุทธินันท์ ชั้นใต้ดิน U2 หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
โทร 0-2613-3529 หรือ 0-2613-3530

ชมฟรีทั้งรายการ (โปรดแจ้งเจ้าหน้าที่ห้องสมุดว่ามาชมภาพยนตร์ และกรุณาแต่งกายสุภาพ)

ต้องขอบคุณกระแสแห่งโลกโลกาภิวัฒน์ซึ่งนิวัติมาจนถึงยุคสมัยโพสตะมอเดิร์น ที่ทำให้ชื่อของคนทำหนังระดับนานาชาติอย่าง Zhang Yimou, Wong Kar-Wai, Pedro Almodovar, Michael Haneke, Abbas Kiarostami, Aki Kaurismaki, Emir Kusturica หรือแม้แต่ Luc & Jean-Pierre Dardenne มิใช่อะไรที่แปลกใหม่สำหรับคอหนังชาวไทยอีกต่อไปแล้ว หากแต่โลกภาพยนตร์นี้ยังคงกว้างขวางยิ่งนัก และยังมีคนทำหนังตัวจ้อยอีกหลาย ๆ ราย ซึ่งถึงแม้สไตล์เฉพาะตัวอาจจะไม่ได้โดดเด่นจี๊ดจ๊าดเหมือนผู้กำกับระดับแถวหน้ารายอื่น ๆ แต่ด้วยฝีไม้ลายมือในการทำหนังระดับไม่ธรรมดาก็ทำให้ผลงานของพวกเขายังเป็นอะไรที่ 'น่าจับตา' และไม่สามารถข้ามผ่านไปได้ง่าย ๆ

ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) จึงขอเชิญชวนคอหนังทุก ๆ ท่านได้ร่วมพิสูจน์ผลงานประกบคู่ของผู้กำกับนานาชาตินามชั้นรองฝีมือชั้นแรงเหล่านี้กันสัก 12 รายจาก 12 ประเทศ ไล่ตามพิกัดเส้นรุ้งจากเอเชียตะวันออกไปจนจบทะเลแคริบเบียน แถมท้ายด้วยหนังคู่สุด SURPRISE ชวนตกกะใจ จัดเป็นโปรแกรมพิเศษแถมไว้ให้ได้คาดเดา . . .

หมายเหตุ: โปรแกรมอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่แจ้งล่วงหน้า


โปรแกรมภาพยนตร์อาทิตย์ที่ 8 มิถุนายน 2551
KIYOSHI KUROSAWA (ญี่ปุ่น)


ผู้กำกับเลือดใหม่จากแดนอาทิตย์อุทัยที่ผันตัวจากคนหนัง Pink Film ใต้ดินกลายมาเป็นผู้กำกับหนังแนวเขย่าขวัญที่น่าจับตามากที่สุดในเกาะญี่ปุ่น ผู้กำกับรายนี้คอหนังชาวไทยคงพอรู้จักเขาดีกับผลงานเด่นในยุคหลัง ๆ อย่าง Charisma (1999), Kairo (2001), Bright Future (2003) และ Retribution (2006) สำหรับโปรแกรมนี้ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ขอเสนอผลงานหนังคู่หาชมยากที่ถ่ายทำในปีเดียวกัน ใช้นักแสดงนำคนเดียวกัน แถมยังเล่าเรื่องราวในประเด็นเดียวกันอีกด้วย

12.30 น. Serpent's Path (1998)

งานเขย่าขวัญมาดสุขุมแต่บาดลึก เล่าเรื่องราวความปวดร้าวของผู้เป็นพ่อที่ต้องออกตามล่าหาตัวคนที่ลักพาตัวและสังหารลูกสาวของเขาเพื่อลงมือล้างแค้นอย่างหฤโหด

14.30 น. Eyes of the Spider (1998)

หนังคู่แฝดคนละฝากับ Serpent's Path ที่ Kiyoshi Kurosawa ทดลองนำเนื้อหาเดิมมาเล่าเป็นหนังเรื่องใหม่ที่ไม่มีอะไรเหมือนเดิมนอกจากการใช้ตัวละครนำรายเดียวกัน! แปลกประหลาดแค่ไหนนั้น คงต้องติดตาม

อาทิตย์ที่ 15 มิถุนายน 2551

LINO BROCKA (ฟิลิปปินส์)


ก่อนหน้าที่ Brillante Mendoza จะมีผลงานเข้าร่วมประกวดในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ในปีนี้ ฟิลิปปินส์เคยมีหนังเข้าร่วมประกวดในคานส์มาก่อนแล้วถึงสองครั้ง และหนังทั้งสองเรื่องนี้ก็คือผลงานของผู้กำกับ Lino Brocka ผู้ล่วงลับ Lino Brocka เริ่มต้นทำหนังในช่วงต้นยุค 1970's แต่เริ่มมีชื่อเสียงในระดับนานาชาติจากผลงานเรื่อง Insiang (1976) ในปี 1980 Lino Brocka ก็ได้รับตำแหน่งเป็นผู้กำกับชาวฟิลิปปินส์รายแรกที่มีผลงานเข้าร่วมชิงรางวัลปาล์มทองคำจากเรื่อง Jaguar และได้กลายเป็นคนทำหนังที่สำคัญมากที่สุดรายหนึ่งในฟิลิปปินส์

12.30 น. Bayan Ko: My Own Country (1985)

หนังสะท้อนสังคมที่ตีแผ่ชีวิตบัดซบของครอบครัวคนงานโรงพิมพ์ผู้ยากจนในกรุงมะนิลา ผลงานเข้าชิงปาล์มทองคำเรื่องนี้ทำให้ Lino Brocka ต้องเผชิญปัญหาจากทางรัฐบาล ถึงขั้นต้องยื่นฟ้องศาลสูงเพื่อให้หนังสามารถฉายในบ้านเกิดได้โดยไม่มีการตัดทอน!

14.30 น. Fight for Us (1989)

หนังการเมืองสุดเข้มข้นเล่าเรื่องราวชีวิตของ Jimmy อดีตพระที่หันมาเป็นนักปฏิวัติ กับการต่อสู้ผจญภัยทั้งจากอริศัตรูและจากผลของการกระทำในอดีตของเขาเอง

อาทิตย์ที่ 22 มิถุนายน 2551

ZEKI DEMIRKUBUZ (ตุรกี)


คงเป็นเรื่องน่าเสียดายหากคอหนังชาวไทยจะมีโอกาสได้ชมหนังตุรกีจากผลงานของผู้กำกับ Nuri Bilge Ceylon เพียงคนเดียว เพราะประวัติศาสตร์หนังของประเทศนี้ยังมีผู้กำกับฝีมือดีที่ควรรู้จักอีกมากมายหลายท่าน ไม่ว่าจะเป็น Yilmaz Guney, Serif Goren, Omer Kavur, Yavuz Turgul, Ferzan Ozpetek, Zulfu Livaneli หรือ Ebru Yapici สำหรับในโปรแกรมนี้ ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ ขอทำตัวร่วมสมัยแนะนำผลงานของผู้กำกับรุ่นใหม่ไฟแรงที่เพิ่งจะถูก Nuri Bilge Ceylon แซงหน้าไปเสียไกล ทั้งที่ผลงานของเขาก็มีอะไรน่าสนใจแม้จะไม่ได้ 'อลัง ฯ' เท่าก็ตาม

12.30 น. Fate (2001)

ดัดแปลงจากบทประพันธ์ชื่อดัง L'etranger ของ Albert Camus เล่าถึงปฏิกิริยาท้าจารีตของชายหนุ่มหลังจากที่มารดาบังเกิดเกล้าของเขาเสียชีวิตลง

14.30 น. Confession (2002)

Harun วิศวกรหนุ่มแอบทราบมาว่าภรรยาของเขากำลังมีชู้กับชายอื่น เขากุมความลับนี้ไว้แล้วปฏิบัติตัวเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น กระทั่งคืนหนึ่งเมื่อเขาเริ่มอดรนทนไม่ไหว Harun จึงเอ่ยปากซักไซ้ภรรยา เรื่องราวระหองระแหงฉันคู่สามีภรรยาจึงเริ่มขึ้นอย่างน่าสะท้อนใจโดยไม่จำเป็นต้องมี 'น้องพลอย'

อาทิตย์ที่ 29 มิถุนายน 2551

AMOS GITAI (อิสราเอล)

ผู้กำกับระดับโลกที่กลุ่มฟิล์มไวรัสเคยประกบแก้มซ้ายขวาเสนอหน้าถ่ายรูปด้วยกันมาแล้วหลังการให้สัมภาษณ์ Amos Gitai เคยมาเยือนเมืองไทยในงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติแห่งกรุงเทพ ครั้งที่ 5 เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2550 หลังจากที่เคยได้พูดคุยถึงงานของเขากันไปพอสมควร คราวนี้ได้ทีมีโอกาสฉายหนังหาดูยากของเขาสองเรื่อง อ้าว! ก่อนจะดูก็อย่าลืมไปอ่านบทสัมภาษณ์ของเขาในเว็บ OPEN ONLINE กันได้ที่ link นี้ http://www.onopen.com/2007/editor-spaces/2180

12.30 น. Field Diary (1982)

สารคดีหัวเห็ดของ Amos Gitai ที่สร้างปัญหาจนทำให้เขาไม่สามารถทำงานให้กับสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นอีกต่อไปได้ ผู้กำกับ Amos Gitai และทีมงานได้แบกกล้องฝ่าด่านทหารไปถ่ายสภาพวิถีชีวิตของผู้คนบริเวณฉนวนกาซ่าเมื่อปี ค.ศ. 1982 ก่อนที่อิสราเอลจะรุกรานเลบานอน

14.30 น. Promised Land (2004)

หนังสมจริงนิยมที่จะเราไปติดตามการค้าโสเภณีจากเอสโตเนียข้ามแดนผ่านอียิปต์มายังอิสราเอล กับการเปิดโปงธุรกิจเถื่อนในโลกมืดที่ชวนให้ได้ลุ้นระทึกกันตั้งแต่ต้นจนจบ

อาทิตย์ที่ 6 กรกฎาคม 2551

PAVEL LOUNGUINE (รัสเซีย)


ผู้กำกับรัสเซียที่ทำหนังออกมาไม่ค่อยจะเป็นรัสเซียสักเท่าไหร่ กับลีลาเอะอะโวยวายพร้อมการเล่นกล้องแบบสวิงสวายต่างขั้วจากความสุขุมเนิบเย็นในแบบฉบับของ Andrei Tarkovsky, Andrei Zvyagintsev หรือ Alexander Sokourov โดยสิ้นเชิง Pavel Lounguine สร้างชื่อเสียงได้ในทันทีจากผลงานเพียงเรื่องแรกคือ Taxi Blues ซึ่งสามารถคว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเวทีคานส์เมื่อปี 1990 เอาชนะคู่แข่งหิน ๆ อย่าง Jean-Luc Godard, Ken Loach, Zhang Yimou, Alan Parker และ Bertrand Tavernier ได้สำเร็จ ปัจจุบันเขายังคงทำหนังอยู่แม้ชื่อเสียงอาจจะเริ่มซาลงไปบ้าง

12.30 น. Taxi Blues (1990)

หนังเชิงสัญลักษณ์สุดเฉียบฉลาดที่เล่าถึงวิถีรัสเซียเก่าใหม่ผ่านตัวละครชายสองราย โดยรายหนึ่งเป็นคนขับแท็กซี่ส่วนอีกรายเป็นนักแซกโซโฟน โดยทั้งสองต้องกลายเป็นคู่หูระหองระแหงเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งเกิดไปมีชื่อเสียงโด่งดังในอเมริกา

15.00 น. The Wedding (2000)

หนังตลกชวนหัวเล่าเรื่องราววายวุ่นของ Tanya นางแบบสาวบ้านนอกคืนถิ่นที่ตัดสินใจกลับมาแต่งงานกับ Mishka กิ๊กเก่าที่ปัจจุบันได้กลายเป็นคนงานเหมืองผู้ยากจน แต่จะแต่งงานทั้งทีจะไม่มีพิธีใหญ่โตให้ได้ร่วมยินดีได้อย่างไร หนังรัสเซียที่อาบเจือไปด้วยกลิ่นอายของความเป็น Emir Kusturica อยู่ไม่น้อย

อาทิตย์ที่ 13 กรกฎาคม 2551

OLIVER SCHMITZ (แอฟริกาใต้)

ดูเหมือนช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมากระแสหนังจากแอฟริกาใต้จะได้ความนิยมอยู่พักหนึ่งกับผลงานดังอย่าง The Wooden Camera (2003), Yesterday (2004) Tsotsi (2005) และ U-Carmen e-Khayelitsha (2005) ซึ่งหลายเรื่องก็ได้ลงโรงฉายในบ้านเรา ไม่รู้ว่าโชคร้ายหรือโชคดีที่กลุ่มฟิล์มไวรัสมักจะเป็นคอหนังประเภทขี้เกียจก้าวไม่ทันความเปลี่ยนแปลงของโลก แถมยังชอบทำตัวตกกระแสและดูแต่หนัง out out ไม่ in-trend อยู่ตลอดเวลา หนังที่หามาฉายเลยอาจจะเป็นผลงานของผู้กำกับที่ไม่ค่อยใครรู้จักหรือเคยได้ยินชื่อสักเท่าไหร่ อ้าว! ยังไงก็ขอเชิญมาพิสูจน์ด้วยตัวเองกับผลงานของผู้กำกับแอฟริกาใต้เชื้อสายเยอรมันผู้ถนัดทำหนังแนวอาชญากรรมตีแผ่สังคมอันฟอนเฟะในประเทศบ้านเกิดตัวเอง พร้อมการจิกกัดพลังอำนาจของ 'สื่อ' ได้ทั้งเจ็บและแรงน้อง ๆ หนังของ Michael Haneke กันเลย!

12.30 น. Mapantsula (1988)

เรื่องราวการต่อสู้กับความรุนแรงจากรัฐบาลที่กระทำต่อกลุ่ม 'คนชายขอบ' (ขออนุญาตแอบใช้คำกิ๊บเก๋ ยูเรก้า แลดูมีการศึกษา) ในประเทศสุดขอบซีกโลกใต้ของทวีปแอฟริกา ด้วยมาตรการเซ็นเซอร์ที่เข้มงวด ผู้กำกับ Oliver Schmitz จึงต้องเขียนบทหนังเรื่องนี้ให้เป็นหนัง gangster และเขาจะถ่ายแต่ฉากยิงปืนทุกครั้งที่มีเจ้าหน้าที่มาตรวจกองถ่าย และเมื่อพวกเขากลับไป Oliver Schmitz ก็จะเปลี่ยนมาถ่ายเนื้อหาส่วนที่ด่ารัฐบาลแทน ไม่น่าแปลกใจที่หนังเรื่องนี้โดน 'แบน' ในประเทศบ้านเกิดของตัวเอง

14.30 น. Hijack Stories (2000)

หนังอาชญากรรมที่จิกกัดวงการหนังด้วยกันเองได้อย่างสร้างสรรค์จนไม่น่าเชื่อ เมื่อนักแสดงหนุ่มรายหนึ่งอยากจะรับบทอาชญากรชื่อดังในหนังโทรทัศน์เรื่องหนึ่งมาก เขาจึงต้องหันไปคบค้าศึกษาวิถีชีวิตในจากเหล่าอาชญากรจริง ๆ ด้วยการเข้าร่วมแก๊งค์ไปเสียเลย เพื่อให้ผู้กำกับเชื่อว่าเขาสามารถเข้าถึงตัวละครนี้ได้ดีกว่าคนอื่น ๆ หนังที่จิกกัดขนบการแสดงแบบ method ได้อย่างแสนเจ็บปวด

อาทิตย์ที่ 20 กรกฎาคม 2551

KAROLY MAKK (ฮังการี)

ผู้กำกับรุ่นเก๋าจากฮังการีที่ทำหนังระดับคุณภาพมาแล้ว 30 กว่าเรื่อง แต่ก็ไม่เคยมีโอกาสได้โด่งดังเปรี้ยงปร้างเป็นที่รู้จักกันในวงกว้างเลยสักที Karoly Makk นับเป็นคนทำหนังคนสำคัญของฮังการี ที่แม้ความจัดจ้านในการทำหนังของเขาจะยังไม่สามารถเทียบชั้นกับผู้กำกับระดับครูร่วมชาติอย่าง Miklos Jancso ได้ แต่ความลึกซึ้ง คมคาย เอาใจใส่มิติภายในของตัวละครของ Karoly Makk นั้น กลับมีเสน่ห์เสียยิ่งกว่าความน่าตื่นตาตื่นใจในการกำกับภาพอันสวิงสวายของ Miklos Jancso เป็นไหน ๆ

12.30 น. Love

เมื่อแม่ผัวไม่สบายต้องนอนซังกะตายอยู่บนเตียง Luca จึงไม่อาจบอกให้เธอทราบได้ว่าลูกชายของเธอถูกจับในข้อหาทางการเมือง Luca จึงต้องแอบเขียนจดหมายปลอมเป็นสามีเพื่ออุปโลกน์เรื่องราวหลอกมารดาว่าเขากำลังเป็นผู้กำกับหนังชื่อดังอยู่ในอเมริกา หนัง plot คุ้นที่อาจเป็นต้นแบบของ Since Otar Left (2003) และ Dear Frankie (2004)


14.30 น. Another Way

เรื่องราวความรักแบบ 'หญิงรักหญิง' ระหว่างสองนักข่าวสาวที่เป็นเพื่อนร่วมงานกันในสำนักหนังสือพิมพ์แห่งหนึ่ง เมื่อฝ่ายหญิงมั่นอย่าง Eva พยายามทำให้ Livia ผู้เลอโฉมเข้าใจว่า ความรักแบบนี้นั้นมันเป็นเพียงอีก 'ทางเลือกหนึ่ง' ของความสุข!

อาทิตย์ที่ 27 กรกฎาคม 2551

IDRISSA OUEDRAOGO (บูร์กินาฟาโซ)


ผู้กำกับจากทวีปแอฟริกาที่จบการศึกษาทางด้านภาพยนตร์โดยตรงจาก African Institute for Cinema Studies เขานับเป็นผู้กำกับชาวแอฟริกันเพียงไม่กี่คนที่สามารถนำเสนอวิถีแห่งความเป็นแอฟริกันผ่านแผ่นฟิล์มได้อย่างลึกซึ้งถึงจิตวิญญาณ แม้ว่าหนังของ Idrissa Ouedraogo จะวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นต่าง ๆ ในสังคมแอฟริกันอยู่ตลอดวเลา แต่ความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับดินแดนมาตุภูมิของเขาก็ยังคงปรากฏได้อย่างเด่นชัดจนไม่อาจปฏิเสธได้

12.30 น. Yaaba (1989)

เด็กชายวัยสิบขวบสนิทสนมกับหญิงชราที่ชาวบ้านต่างเรียกขานว่า 'นางแม่มด!' แต่ด้วยความไม่รู้ประสาอะไรใด ๆ เจ้าเด็กชายจึงเรียกขานหญิงแก่คนนั้นอย่างพาซื่อว่า 'คุณยาย'!

14.30 น. The Law (1990)

เมื่อชายหนุ่มได้เดินทางกลับมายังหมู่บ้านหลังจากที่หายหน้าหายตาไปนาน เขาก็พบว่าพ่อของเขาได้ช่วงชิงคู่หมั้นไปเป็นภรรยาของตัวเองเสียแล้ว เมื่อหญิงที่ตั้งใจจะเป็นได้เป็น 'เมีย' กลับกลายมาเป็น 'แม่' เรื่องราวรวดร้าวใจภายในครอบครัวจึงเริ่มต้นขึ้น ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัล Grand Jury Prize จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์

อาทิตย์ที่ 3 สิงหาคม 2551

MANOEL DE OLIVEIRA (โปรตุเกส)


ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ขอร่วมฉลองวาระครบรอบ 100 ปีของผู้กำกับรุ่นคุณทวด Manoel de Oliveira เป็นการล่วงหน้า ผู้จะมีอายุครบรอบศตวรรษในวันที่ 12 เดือนธันวาคมปีนี้แล้ว ตลอดระยะเวลา 76 ปีที่ผ่านมา Manoel de Oliveira ได้ทำหนังชั้นดีออกมาให้คอหนังได้ติดตามชมกันอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย แถมเขายังรักษาระดับฝีมือที่ยังเข้าฝักอยู่ได้แม้อายุอานามจะล่วงเลยวัยเกษียณไปเป็นทศวรรษ

ในโอกาสนี้ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์จึงขอถือโอกาสฉายหนังในวัยหลังเกษียณของเขาจำนวนสองเรื่อง และขอให้คุณทวด Manoel de Oliveira จงมีสุขภาพกายและใจที่ดีและมีหนังเฉียบ ๆ คม ๆ ออกมาให้พวกเราได้ดูกันไปอีกนาน ๆ

12.30 น. Voyage to the Beginning of the World (1997)

ผลงานการแสดงเรื่องสุดท้ายของ Marcello Mastroianni ในหนังสุดพิลาศพิไลที่จะพาเราไปล่องเส้นทางสายอดีตคืนสู่รากเหง้าของนักแสดงชาวฝรั่งเศสที่มีโอกาสได้ไปเยือนโปรตุเกสอันเป็นแผ่นดินแม่ของบุพการีของเขาอีกครั้ง กับหนังที่พิสูจน์แล้วว่าเรื่องไม่เป็นเรื่องบางเรื่องก็สามารถเล่าเป็นหนังอย่างมีเสน่ห์ได้หากคนทำละเอียดอ่อนพอ

14.30 น. Valley of Abraham (1993)

สร้างจากบทประพันธ์ของ Agustina Bessa-Luis เล่าเรื่องราวการถูกจับคลุมถุงชนของ Ema สาวน้อยพราวเสน่ห์กับหมอหนุ่มผู้มั่งคั่งทั้งที่เธอไม่ได้รักเขาเลย Ema จะยึดยื้อดื้อดึงไปได้ถึงเพียงไหนเมื่อเธอตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะไม่ยอมตกเป็น 'ภรรยา' ของหมอหนุ่มรายนั้น

อาทิตย์ที่ 10 สิงหาคม 2551

FERNANDO EZEQUIEL SOLANAS (อาร์เจนตินา)


ผู้กำกับเจ้าของผลงานหนังสารคดีการเมืองเลื่องชื่ออย่าง The Hours of the Furnaces (1968) ผู้ประกาศแถลงการณ์ "Towards the Third Cinema" ร่วมกับ Octavio Genito เพื่อด่าหนังจาก Hollywood และหนัง auteur เอาแต่ใจตัวเองไม่รับผิดชอบสังคมจากฝั่งยุโรป นอกจากจะทำหนังเชิงสัญลักษณ์แดกดันการเมืองทั้งในอาร์เจนตินาและอเมริกาใต้แล้ว Fernando Ezequiel Solanas ยังมีส่วนร่วมกับกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อต่อต้านประธานาธิบดี Carlos Menem กระทั่งเคยถูกลอบยิงมาแล้ว สุดท้ายเขาก็หันมาเล่นการเมืองในอาร์เจนตินาแบบเต็มตัว

12.30 น. The Cloud (1998)

หนังหลายชีวิตที่เล่าถึงปัญหาต่าง ๆ ที่นักแสดงละครกลุ่มหนึ่งต้องเผชิญเพื่อรักษาโรงละครของพวกเขาไว้มิให้ถูกรื้อทำลายจนกลายเป็นห้างสรรพสินค้า!

14.30 น. The Voyage (1992)

ชายหนุ่มจากหมู่บ้านเล็ก ๆ ทางตอนใต้ของทวีป ตัดสินใจออกเดินทางเพื่อตามหาพ่อแท้ ๆ ของเขาด้วยการโบกรถ ในหนังมหากาพย์แห่งการสำรวจจิตวิญญาณอเมริกาใต้ด้วยสัญลักษณ์เหนือจริงแบบท่วมท้นคมคาย ผลงานที่จะทำให้ The Motorcycle Diaries ของ Walter Salles กลายเป็นตำนาน เช กูวาร่า ฉบับแอ๊บแบ๊ว! (อ่านใน 151 Cinema)

อาทิตย์ที่ 17 สิงหาคม 2551

VICTOR GAVIRIA (โคลัมเบีย)


ผู้กำกับจากโคลัมเบียผู้ยึดคติว่า 'ความจริงเท่านั้นที่หนังควรจะนำเสนอ' ผลงานหนังของ Victor Gaviria จึงเป็นงานที่ตีแผ่ชีวิตผู้คนโดยเฉพาะเยาวชนในสังคมอันสุดฟอนเฟะย่านถนน Medellin ถิ่นเกิดของเขา ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นนครแห่งยาเสพติดและอาชญากรรมเกือบทุกประเภท ด้วยลีลาหนังแบบ Cinema Verite ที่ปฏิเสธการปรุงแต่งใด ๆ กลายเป็นงานที่สะท้อนมุมมืดของสังคมในโคลัมเบียได้อย่างจริงจังจนน่าใจหาย!

12.30 น. Rodrigo D: No Future (1989)

Rodrigo เด็กหนุ่มที่หัวใจกำลังอัดแน่นไปด้วยความรู้สึกดิบกร้าว เขาจึงต้องหาทางออกเพื่อหลีกหนีจากสังคมรอบตัวสุดเส็งเคร็งด้วยการฟอร์มวงดนตรี Punk เพื่อระบายอารมณ์อัดอั้นผ่านการแผดตะโกนออกมาเป็นตัวโน้ต หนังที่ต้องปิดฉากลงด้วยความรู้สึกสุดแสนสะเทือนใจ

14.30 น. The Rose Seller (1998)

จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อ Victor Gaviria นำเอานิทานเรื่องเด็กหญิงกับไม้ขีดไฟของ Hans Christian Andersen มาดัดแปลงเป็นชีวิตของเด็กหญิงขายดอกกุหลาบในเมือง Madellin! เมื่อความฝันและความหวังของหญิงวัยแรกสาวต่อเผชิญหน้ากับความระยำเกินจะทำใจในสังคมอันเสื่อมทราม


อาทิตย์ที่ 24 สิงหาคม 2551

TOMAS GUTIERREZ ALEA (คิวบา)


ก่อนที่เขาจะเปลี่ยนแนวหันมาทำหนังเอาใจตลาดอย่าง Strawberry and Chocolate (1994) และ Guantanamera (1995) Tomas Gutierrez Alea ก็เคยทำหนังในแนวหนักแน่นจริงจังและแหลมคมมาก่อน ผลงานเด่นที่เป็นที่จดจำมากที่สุดของเขาจะเป็นผลงานยุคกลาง ๆ ช่วงปี 1960-1980 โดยเฉพาะ Memories of Underdevelopment (1968) ซึ่งถือเป็นผลงานชิ้นเอกตลอดชีวิตการทำงานของเขาเลยทีเดียว เมื่อยังหาหนังเรื่องนี้มาดูไม่ได้ ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ก็ขอนำเสนอผลงานเด่นเรื่องอื่น ๆ ของเขามาจัดฉายพอขัดดอกไปก่อน Tomas Gutierrez Alea เสียชีวิตลงแล้วเมื่อเดือนเมษายน ปี1996

12.30 น.: Death of a Bureaucrat (1966)

หนังตลกเสียดสีเรื่องเยี่ยมแดกดันการทำงานของหน่วยราชการ เมื่อคนงานรายหนึ่งเกิดประสบอุบัติเหตุจนเสียชีวิต ร่างของเขาดันถูกฝังไปพร้อม ๆ กับบัตรประจำตัวแรงงาน ทำให้ภรรยาของเขาไม่มีเอกสารไปร้องขอสวัสดิการใด ๆ ได้ หลานชายของคนงานผู้เคราะห์ร้ายรายนั้นจึงต้องเดินทางไปยังสำนักราชการเพื่อขออนุญาตขุดศพคุณลุงของเขาขึ้นมาใหม่!

14.30 น. The Last Supper (1976)

หนังตลกเสียดเย้ยคริสต์ศาสนา เมื่อเจ้าของไร่อ้อยผู้มั่งคั่งนึกสนุกอยากจัดงานเลี้ยง 13 ที่แบบเดียวกับตำนาน The Last Supper ของพระเยซู โดยมีตัวเขาสวมบทบาทเป็นองค์ศาสดาแล้วให้บรรดาทาสจำนวน 12 รายมารับบทเป็นเหล่าสาวก มหกรรมล้อเลียนเบื้องสูงนี้จะจบลงเช่นไรติดตามได้จากภาพยนตร์เสียดแสบเสียดคันเรื่องนี้

อาทิตย์ที่ 31 สิงหาคม 2551

SURPRISE FILM DOUBLE-BILL!! (แนะนำชมเป็นพิเศษ)

12.30 น. SURPRISE # 1

ใบ้ด้วยเรื่องย่อเรื่องราวความรักที่ไม่น่าเป็นไปได้ของนักเปียโนหนุ่มใหญ่กับสาวเสิร์ฟวัยกลางคน กับผลงานชวนฝันที่ทำออกมาได้โรแมนติกอย่างเหลือเชื่อ!

15.00 น. SURPRISE # 2

ใบ้ให้ด้วยภาพปกหนัง

18.5.08

อุ้ม สิริยากร และ ดร. ประสาน ต่างใจ ในโปรแกรมของ FILMVIRUS

อุ้ม สิริยากร และ ดร. ประสาน ต่างใจ ในโปรแกรมของ FILMVIRUS

FILMVIRUS Special Program
โปรแกรมพิเศษของ ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

อุ้ม สิริยากร พุกกะเวส คุยเรื่อง “หญิงสาวกับต่างหูมุก” (Girl With A Pearl Earring) และจิตรกรรมของ Vermeer ก่อนฉายหนัง All The Vermeers in New York

และ ดร. ประสาน ต่างใจ คุยก่อนฉายหนัง Stalker ของ Andrey Tarkovsky

17.5.08

อภิชาติพงศ์, ไพสิฐ และ Victor ที่ ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ซีคอนสแควร์)

อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล. ไพสิฐ พันธุ์ พฤกษชาติ (2 คนที่ยืน) และ เกรียงศักดิ์ ศิลากอง (Victor) ที่ ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ ซีคอนสแควร์

เกรียงศักดิ์ ช่วยแปลภาษาฝรั่งเศสหนังสารคดีเกี่ยวกับ Abbas Kiarostami


15.5.08

โรงภาพยนตร์อลังการ – รำลึกถึง Art House แห่งแรกของไทย

โรงภาพยนตร์อลังการ
หอภาพยนตร์แห่งชาติ บริเวณ หอศิลป์เจ้าฟ้า เชิงสะพานปิ่นเกล้า
โรงหนังอลังการ เป็นโรงภาพยนตร์ Art House แห่งแรกของไทยแบบจัดชมฟรี (ไม่รวมหอศิลป์พีระศรีหรือสถานที่ชั่วคราวอื่น ๆ) ปัจจุบันโรงนี้ถูกทุบทิ้งและกลายเป็นห้องประชุมของหอศิลป์เจ้าฟ้า ซึ่งต่อมาในปี 2005 ดวงกมลฟิล์มเฮาส์ (ฟิล์มไวรัส) เคยใช้เป็นสถานที่จัดงานเทศกาลหนัง 15/15 Film Festival

วันที่ถ่ายภาพคือวันที่ 26 ตุลาคม 2533 ฉาย Kings of the Road (Im Lauf Der Zeit) ของ Wim Wenders ในหัวข้อ “หนังซ้อนหนัง” โปรแกรมพิเศษของรายการภาพยนตร์สโมสรจัดโดย สนธยา ทรัพย์เย็น

เรื่องอื่น ๆ ในโปรแกรม “หนังซ้อนหนัง” ฉายทุกวันศุกร์ตลอดเดือนตุลาคม 2533 นี้ได้แก่ A Star is Born ของ William A. Wellman , Trans-Europ-Express ของ Alain Robbe-Grillet, Jeu de Massacre (Comic Strip Hero) ของ Alain Jessua, Private Projection (“เอาตัวเป็นหนัง” หนังของ François Leterrier' นำแสดงโดย Bulle Ogier, Jane Birkin และ Jean-Luc Bideau)


พิธีกรในภาพคือคุณ สมชาติ บางแจ้ง ผู้ริเริ่มโครงการภาพยนตร์สโมสรของหอภาพยนตร์แห่งชาติ ร่วมกับคุณ โดม สุขวงศ์

Malady Diary อาละวาด!

Malady Diary อาละวาด!

วันฉายหนัง Malady Diary ของ ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) วันที่ 18 กรกฏาคม 2547 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คุยกับ ทีฆะเดช วัชรธานินท์ ผู้กำกับหนัง Malady Diary สารคดีเบื้องหลังกองถ่าย “สัตว์ประหลาด” (Tropical Malady) และนักแสดงในเรื่อง – บัลลภ ล้อมน้อย นำคุยโดย กัลปพฤกษ์

10.5.08

Filmvirus สู่หลังสมัยใหม่


Filmvirus สู่หลังสมัยใหม่

ครั้งแรกและครั้งเดียว ฟิล์มไวรัส บนหน้าปก วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร ปีที่ 24 ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2547

ไม่แน่ใจว่าหนังสือ Filmvirus เกี่ยวตรงไหนกับ post modernism แต่ก็ภูมิใจที่ได้เกียรติยืนเคียงคู่กับหนังสือ Brief History of Time ของ Stephen Hawking, Lord of the Rings, Philosophy and Film, Pink Floyd และ Marcel Duchamp

4.5.08

THIRD CLASS CITIZEN - Video Top


THIRD CLASS CITIZEN
(เจ้าของเดียวกับผู้จัดโปรเจคท์ 2008 , OFF RECORD / PAISIT PANPRUKSACHAT : RETROSPECTIVE และ SUN/SCREEN / ADITYA ASSARAT : RETROSPECTIVE ) เสนอ
THIRD CLASS CINEMA : PROGRAMME 004 VIDEOTOP
พบกับ12 มิวสิควิดีโอลูกทุ่งไทยเจิดจรัสเหนือจินตนาการ บ้าระห่ำ ดิบ แรงเปรี้ยว และ คัลท์ด้วยภูมิปัญญาไทยแบบที่ไม่มีชาติไหนทำได้(และควรมาดูเพราะแต่ละอันหาดูยากมาก)คัดสรรและเสาะหาโดย ชาคร ไชยปรีชา (คอลัมนิสต์นิตยสาร DDT , HAMBURGER และ FILMAX )ฉายวันที่ 16 พ.ค. 2551 + 19.00 น.ณ ไบโอสโคปเธียเตอร์ ( MRT รัชดาภิเษก)
ชมฟรีเด้อคั่บ อัพเดทข้อมูลเพิ่มเติมเรื่อยๆ+แผนที่ทางไปที่ http://thirdclasscitizen.exteen.com/สอบถามโดยตรงที่ http://us.f544.mail.yahoo.com/ym/Compose?To=thirdclasscitizen@hotmail.comสนับสนุนโดย นิตยสารไบโอสโคป

Blog Archive

คนลักหลับ

My photo
Filmvirus เป็นนามปากกาเดิมของสนธยา ทรัพย์เย็น จากคอลัมน์ “นิมิตวิกาล” ที่ใช้ในนิตยสาร Filmview ปี 2537 ต่อมาในปี 2538 สนธยาได้ก่อตั้ง “ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์” หรือ DK.Filmhouse (Filmvirus) จัดฉายหนังด้อยโอกาสให้ผู้สนใจชมฟรี พร้อมจัดพิมพ์หนังสือด้านหนัง และวรรณกรรม ชุด Filmvirus / Bookvirus (ส่วนหนังสือ “คนของหนัง” ปี 2533 นั้นเป็นผลงานก่อนตั้งฟิล์มไวรัส) ส่วนผลงานอื่นๆ ปี 2548 เป็นกรรมการเทศกาลหนัง World Film Festival of Bangkok , ปี 2552 กรรมการ Sydney Underground Film Festival, งาน Thai Short Film and Video Festival ของมูลนิธิหนังไทยครั้งที่ 1 และปี 2548-2549 เป็นเจ้าภาพร่วมจัดเทศกาลประกวดหนังนานาชาติ 15/15 Film Festival, Australia