25.5.08

Filmvirus' WORLD CINEMA MATINEE

ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ร่วมกับ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เสนอ

OOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOO
WORLD CINEMA MATINEE
โปรแกรมควบหนังคู่ผู้กำกับนานาชาติ
International Filmmakers Double-Bill
OOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOOO
ณ ห้องเรวัต พุทธินันท์ ชั้นใต้ดิน U2 หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
โทร 0-2613-3529 หรือ 0-2613-3530

ชมฟรีทั้งรายการ (โปรดแจ้งเจ้าหน้าที่ห้องสมุดว่ามาชมภาพยนตร์ และกรุณาแต่งกายสุภาพ)

ต้องขอบคุณกระแสแห่งโลกโลกาภิวัฒน์ซึ่งนิวัติมาจนถึงยุคสมัยโพสตะมอเดิร์น ที่ทำให้ชื่อของคนทำหนังระดับนานาชาติอย่าง Zhang Yimou, Wong Kar-Wai, Pedro Almodovar, Michael Haneke, Abbas Kiarostami, Aki Kaurismaki, Emir Kusturica หรือแม้แต่ Luc & Jean-Pierre Dardenne มิใช่อะไรที่แปลกใหม่สำหรับคอหนังชาวไทยอีกต่อไปแล้ว หากแต่โลกภาพยนตร์นี้ยังคงกว้างขวางยิ่งนัก และยังมีคนทำหนังตัวจ้อยอีกหลาย ๆ ราย ซึ่งถึงแม้สไตล์เฉพาะตัวอาจจะไม่ได้โดดเด่นจี๊ดจ๊าดเหมือนผู้กำกับระดับแถวหน้ารายอื่น ๆ แต่ด้วยฝีไม้ลายมือในการทำหนังระดับไม่ธรรมดาก็ทำให้ผลงานของพวกเขายังเป็นอะไรที่ 'น่าจับตา' และไม่สามารถข้ามผ่านไปได้ง่าย ๆ

ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) จึงขอเชิญชวนคอหนังทุก ๆ ท่านได้ร่วมพิสูจน์ผลงานประกบคู่ของผู้กำกับนานาชาตินามชั้นรองฝีมือชั้นแรงเหล่านี้กันสัก 12 รายจาก 12 ประเทศ ไล่ตามพิกัดเส้นรุ้งจากเอเชียตะวันออกไปจนจบทะเลแคริบเบียน แถมท้ายด้วยหนังคู่สุด SURPRISE ชวนตกกะใจ จัดเป็นโปรแกรมพิเศษแถมไว้ให้ได้คาดเดา . . .

หมายเหตุ: โปรแกรมอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่แจ้งล่วงหน้า


โปรแกรมภาพยนตร์อาทิตย์ที่ 8 มิถุนายน 2551
KIYOSHI KUROSAWA (ญี่ปุ่น)


ผู้กำกับเลือดใหม่จากแดนอาทิตย์อุทัยที่ผันตัวจากคนหนัง Pink Film ใต้ดินกลายมาเป็นผู้กำกับหนังแนวเขย่าขวัญที่น่าจับตามากที่สุดในเกาะญี่ปุ่น ผู้กำกับรายนี้คอหนังชาวไทยคงพอรู้จักเขาดีกับผลงานเด่นในยุคหลัง ๆ อย่าง Charisma (1999), Kairo (2001), Bright Future (2003) และ Retribution (2006) สำหรับโปรแกรมนี้ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ขอเสนอผลงานหนังคู่หาชมยากที่ถ่ายทำในปีเดียวกัน ใช้นักแสดงนำคนเดียวกัน แถมยังเล่าเรื่องราวในประเด็นเดียวกันอีกด้วย

12.30 น. Serpent's Path (1998)

งานเขย่าขวัญมาดสุขุมแต่บาดลึก เล่าเรื่องราวความปวดร้าวของผู้เป็นพ่อที่ต้องออกตามล่าหาตัวคนที่ลักพาตัวและสังหารลูกสาวของเขาเพื่อลงมือล้างแค้นอย่างหฤโหด

14.30 น. Eyes of the Spider (1998)

หนังคู่แฝดคนละฝากับ Serpent's Path ที่ Kiyoshi Kurosawa ทดลองนำเนื้อหาเดิมมาเล่าเป็นหนังเรื่องใหม่ที่ไม่มีอะไรเหมือนเดิมนอกจากการใช้ตัวละครนำรายเดียวกัน! แปลกประหลาดแค่ไหนนั้น คงต้องติดตาม

อาทิตย์ที่ 15 มิถุนายน 2551

LINO BROCKA (ฟิลิปปินส์)


ก่อนหน้าที่ Brillante Mendoza จะมีผลงานเข้าร่วมประกวดในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ในปีนี้ ฟิลิปปินส์เคยมีหนังเข้าร่วมประกวดในคานส์มาก่อนแล้วถึงสองครั้ง และหนังทั้งสองเรื่องนี้ก็คือผลงานของผู้กำกับ Lino Brocka ผู้ล่วงลับ Lino Brocka เริ่มต้นทำหนังในช่วงต้นยุค 1970's แต่เริ่มมีชื่อเสียงในระดับนานาชาติจากผลงานเรื่อง Insiang (1976) ในปี 1980 Lino Brocka ก็ได้รับตำแหน่งเป็นผู้กำกับชาวฟิลิปปินส์รายแรกที่มีผลงานเข้าร่วมชิงรางวัลปาล์มทองคำจากเรื่อง Jaguar และได้กลายเป็นคนทำหนังที่สำคัญมากที่สุดรายหนึ่งในฟิลิปปินส์

12.30 น. Bayan Ko: My Own Country (1985)

หนังสะท้อนสังคมที่ตีแผ่ชีวิตบัดซบของครอบครัวคนงานโรงพิมพ์ผู้ยากจนในกรุงมะนิลา ผลงานเข้าชิงปาล์มทองคำเรื่องนี้ทำให้ Lino Brocka ต้องเผชิญปัญหาจากทางรัฐบาล ถึงขั้นต้องยื่นฟ้องศาลสูงเพื่อให้หนังสามารถฉายในบ้านเกิดได้โดยไม่มีการตัดทอน!

14.30 น. Fight for Us (1989)

หนังการเมืองสุดเข้มข้นเล่าเรื่องราวชีวิตของ Jimmy อดีตพระที่หันมาเป็นนักปฏิวัติ กับการต่อสู้ผจญภัยทั้งจากอริศัตรูและจากผลของการกระทำในอดีตของเขาเอง

อาทิตย์ที่ 22 มิถุนายน 2551

ZEKI DEMIRKUBUZ (ตุรกี)


คงเป็นเรื่องน่าเสียดายหากคอหนังชาวไทยจะมีโอกาสได้ชมหนังตุรกีจากผลงานของผู้กำกับ Nuri Bilge Ceylon เพียงคนเดียว เพราะประวัติศาสตร์หนังของประเทศนี้ยังมีผู้กำกับฝีมือดีที่ควรรู้จักอีกมากมายหลายท่าน ไม่ว่าจะเป็น Yilmaz Guney, Serif Goren, Omer Kavur, Yavuz Turgul, Ferzan Ozpetek, Zulfu Livaneli หรือ Ebru Yapici สำหรับในโปรแกรมนี้ ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ ขอทำตัวร่วมสมัยแนะนำผลงานของผู้กำกับรุ่นใหม่ไฟแรงที่เพิ่งจะถูก Nuri Bilge Ceylon แซงหน้าไปเสียไกล ทั้งที่ผลงานของเขาก็มีอะไรน่าสนใจแม้จะไม่ได้ 'อลัง ฯ' เท่าก็ตาม

12.30 น. Fate (2001)

ดัดแปลงจากบทประพันธ์ชื่อดัง L'etranger ของ Albert Camus เล่าถึงปฏิกิริยาท้าจารีตของชายหนุ่มหลังจากที่มารดาบังเกิดเกล้าของเขาเสียชีวิตลง

14.30 น. Confession (2002)

Harun วิศวกรหนุ่มแอบทราบมาว่าภรรยาของเขากำลังมีชู้กับชายอื่น เขากุมความลับนี้ไว้แล้วปฏิบัติตัวเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น กระทั่งคืนหนึ่งเมื่อเขาเริ่มอดรนทนไม่ไหว Harun จึงเอ่ยปากซักไซ้ภรรยา เรื่องราวระหองระแหงฉันคู่สามีภรรยาจึงเริ่มขึ้นอย่างน่าสะท้อนใจโดยไม่จำเป็นต้องมี 'น้องพลอย'

อาทิตย์ที่ 29 มิถุนายน 2551

AMOS GITAI (อิสราเอล)

ผู้กำกับระดับโลกที่กลุ่มฟิล์มไวรัสเคยประกบแก้มซ้ายขวาเสนอหน้าถ่ายรูปด้วยกันมาแล้วหลังการให้สัมภาษณ์ Amos Gitai เคยมาเยือนเมืองไทยในงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติแห่งกรุงเทพ ครั้งที่ 5 เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2550 หลังจากที่เคยได้พูดคุยถึงงานของเขากันไปพอสมควร คราวนี้ได้ทีมีโอกาสฉายหนังหาดูยากของเขาสองเรื่อง อ้าว! ก่อนจะดูก็อย่าลืมไปอ่านบทสัมภาษณ์ของเขาในเว็บ OPEN ONLINE กันได้ที่ link นี้ http://www.onopen.com/2007/editor-spaces/2180

12.30 น. Field Diary (1982)

สารคดีหัวเห็ดของ Amos Gitai ที่สร้างปัญหาจนทำให้เขาไม่สามารถทำงานให้กับสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นอีกต่อไปได้ ผู้กำกับ Amos Gitai และทีมงานได้แบกกล้องฝ่าด่านทหารไปถ่ายสภาพวิถีชีวิตของผู้คนบริเวณฉนวนกาซ่าเมื่อปี ค.ศ. 1982 ก่อนที่อิสราเอลจะรุกรานเลบานอน

14.30 น. Promised Land (2004)

หนังสมจริงนิยมที่จะเราไปติดตามการค้าโสเภณีจากเอสโตเนียข้ามแดนผ่านอียิปต์มายังอิสราเอล กับการเปิดโปงธุรกิจเถื่อนในโลกมืดที่ชวนให้ได้ลุ้นระทึกกันตั้งแต่ต้นจนจบ

อาทิตย์ที่ 6 กรกฎาคม 2551

PAVEL LOUNGUINE (รัสเซีย)


ผู้กำกับรัสเซียที่ทำหนังออกมาไม่ค่อยจะเป็นรัสเซียสักเท่าไหร่ กับลีลาเอะอะโวยวายพร้อมการเล่นกล้องแบบสวิงสวายต่างขั้วจากความสุขุมเนิบเย็นในแบบฉบับของ Andrei Tarkovsky, Andrei Zvyagintsev หรือ Alexander Sokourov โดยสิ้นเชิง Pavel Lounguine สร้างชื่อเสียงได้ในทันทีจากผลงานเพียงเรื่องแรกคือ Taxi Blues ซึ่งสามารถคว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเวทีคานส์เมื่อปี 1990 เอาชนะคู่แข่งหิน ๆ อย่าง Jean-Luc Godard, Ken Loach, Zhang Yimou, Alan Parker และ Bertrand Tavernier ได้สำเร็จ ปัจจุบันเขายังคงทำหนังอยู่แม้ชื่อเสียงอาจจะเริ่มซาลงไปบ้าง

12.30 น. Taxi Blues (1990)

หนังเชิงสัญลักษณ์สุดเฉียบฉลาดที่เล่าถึงวิถีรัสเซียเก่าใหม่ผ่านตัวละครชายสองราย โดยรายหนึ่งเป็นคนขับแท็กซี่ส่วนอีกรายเป็นนักแซกโซโฟน โดยทั้งสองต้องกลายเป็นคู่หูระหองระแหงเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งเกิดไปมีชื่อเสียงโด่งดังในอเมริกา

15.00 น. The Wedding (2000)

หนังตลกชวนหัวเล่าเรื่องราววายวุ่นของ Tanya นางแบบสาวบ้านนอกคืนถิ่นที่ตัดสินใจกลับมาแต่งงานกับ Mishka กิ๊กเก่าที่ปัจจุบันได้กลายเป็นคนงานเหมืองผู้ยากจน แต่จะแต่งงานทั้งทีจะไม่มีพิธีใหญ่โตให้ได้ร่วมยินดีได้อย่างไร หนังรัสเซียที่อาบเจือไปด้วยกลิ่นอายของความเป็น Emir Kusturica อยู่ไม่น้อย

อาทิตย์ที่ 13 กรกฎาคม 2551

OLIVER SCHMITZ (แอฟริกาใต้)

ดูเหมือนช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมากระแสหนังจากแอฟริกาใต้จะได้ความนิยมอยู่พักหนึ่งกับผลงานดังอย่าง The Wooden Camera (2003), Yesterday (2004) Tsotsi (2005) และ U-Carmen e-Khayelitsha (2005) ซึ่งหลายเรื่องก็ได้ลงโรงฉายในบ้านเรา ไม่รู้ว่าโชคร้ายหรือโชคดีที่กลุ่มฟิล์มไวรัสมักจะเป็นคอหนังประเภทขี้เกียจก้าวไม่ทันความเปลี่ยนแปลงของโลก แถมยังชอบทำตัวตกกระแสและดูแต่หนัง out out ไม่ in-trend อยู่ตลอดเวลา หนังที่หามาฉายเลยอาจจะเป็นผลงานของผู้กำกับที่ไม่ค่อยใครรู้จักหรือเคยได้ยินชื่อสักเท่าไหร่ อ้าว! ยังไงก็ขอเชิญมาพิสูจน์ด้วยตัวเองกับผลงานของผู้กำกับแอฟริกาใต้เชื้อสายเยอรมันผู้ถนัดทำหนังแนวอาชญากรรมตีแผ่สังคมอันฟอนเฟะในประเทศบ้านเกิดตัวเอง พร้อมการจิกกัดพลังอำนาจของ 'สื่อ' ได้ทั้งเจ็บและแรงน้อง ๆ หนังของ Michael Haneke กันเลย!

12.30 น. Mapantsula (1988)

เรื่องราวการต่อสู้กับความรุนแรงจากรัฐบาลที่กระทำต่อกลุ่ม 'คนชายขอบ' (ขออนุญาตแอบใช้คำกิ๊บเก๋ ยูเรก้า แลดูมีการศึกษา) ในประเทศสุดขอบซีกโลกใต้ของทวีปแอฟริกา ด้วยมาตรการเซ็นเซอร์ที่เข้มงวด ผู้กำกับ Oliver Schmitz จึงต้องเขียนบทหนังเรื่องนี้ให้เป็นหนัง gangster และเขาจะถ่ายแต่ฉากยิงปืนทุกครั้งที่มีเจ้าหน้าที่มาตรวจกองถ่าย และเมื่อพวกเขากลับไป Oliver Schmitz ก็จะเปลี่ยนมาถ่ายเนื้อหาส่วนที่ด่ารัฐบาลแทน ไม่น่าแปลกใจที่หนังเรื่องนี้โดน 'แบน' ในประเทศบ้านเกิดของตัวเอง

14.30 น. Hijack Stories (2000)

หนังอาชญากรรมที่จิกกัดวงการหนังด้วยกันเองได้อย่างสร้างสรรค์จนไม่น่าเชื่อ เมื่อนักแสดงหนุ่มรายหนึ่งอยากจะรับบทอาชญากรชื่อดังในหนังโทรทัศน์เรื่องหนึ่งมาก เขาจึงต้องหันไปคบค้าศึกษาวิถีชีวิตในจากเหล่าอาชญากรจริง ๆ ด้วยการเข้าร่วมแก๊งค์ไปเสียเลย เพื่อให้ผู้กำกับเชื่อว่าเขาสามารถเข้าถึงตัวละครนี้ได้ดีกว่าคนอื่น ๆ หนังที่จิกกัดขนบการแสดงแบบ method ได้อย่างแสนเจ็บปวด

อาทิตย์ที่ 20 กรกฎาคม 2551

KAROLY MAKK (ฮังการี)

ผู้กำกับรุ่นเก๋าจากฮังการีที่ทำหนังระดับคุณภาพมาแล้ว 30 กว่าเรื่อง แต่ก็ไม่เคยมีโอกาสได้โด่งดังเปรี้ยงปร้างเป็นที่รู้จักกันในวงกว้างเลยสักที Karoly Makk นับเป็นคนทำหนังคนสำคัญของฮังการี ที่แม้ความจัดจ้านในการทำหนังของเขาจะยังไม่สามารถเทียบชั้นกับผู้กำกับระดับครูร่วมชาติอย่าง Miklos Jancso ได้ แต่ความลึกซึ้ง คมคาย เอาใจใส่มิติภายในของตัวละครของ Karoly Makk นั้น กลับมีเสน่ห์เสียยิ่งกว่าความน่าตื่นตาตื่นใจในการกำกับภาพอันสวิงสวายของ Miklos Jancso เป็นไหน ๆ

12.30 น. Love

เมื่อแม่ผัวไม่สบายต้องนอนซังกะตายอยู่บนเตียง Luca จึงไม่อาจบอกให้เธอทราบได้ว่าลูกชายของเธอถูกจับในข้อหาทางการเมือง Luca จึงต้องแอบเขียนจดหมายปลอมเป็นสามีเพื่ออุปโลกน์เรื่องราวหลอกมารดาว่าเขากำลังเป็นผู้กำกับหนังชื่อดังอยู่ในอเมริกา หนัง plot คุ้นที่อาจเป็นต้นแบบของ Since Otar Left (2003) และ Dear Frankie (2004)


14.30 น. Another Way

เรื่องราวความรักแบบ 'หญิงรักหญิง' ระหว่างสองนักข่าวสาวที่เป็นเพื่อนร่วมงานกันในสำนักหนังสือพิมพ์แห่งหนึ่ง เมื่อฝ่ายหญิงมั่นอย่าง Eva พยายามทำให้ Livia ผู้เลอโฉมเข้าใจว่า ความรักแบบนี้นั้นมันเป็นเพียงอีก 'ทางเลือกหนึ่ง' ของความสุข!

อาทิตย์ที่ 27 กรกฎาคม 2551

IDRISSA OUEDRAOGO (บูร์กินาฟาโซ)


ผู้กำกับจากทวีปแอฟริกาที่จบการศึกษาทางด้านภาพยนตร์โดยตรงจาก African Institute for Cinema Studies เขานับเป็นผู้กำกับชาวแอฟริกันเพียงไม่กี่คนที่สามารถนำเสนอวิถีแห่งความเป็นแอฟริกันผ่านแผ่นฟิล์มได้อย่างลึกซึ้งถึงจิตวิญญาณ แม้ว่าหนังของ Idrissa Ouedraogo จะวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นต่าง ๆ ในสังคมแอฟริกันอยู่ตลอดวเลา แต่ความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับดินแดนมาตุภูมิของเขาก็ยังคงปรากฏได้อย่างเด่นชัดจนไม่อาจปฏิเสธได้

12.30 น. Yaaba (1989)

เด็กชายวัยสิบขวบสนิทสนมกับหญิงชราที่ชาวบ้านต่างเรียกขานว่า 'นางแม่มด!' แต่ด้วยความไม่รู้ประสาอะไรใด ๆ เจ้าเด็กชายจึงเรียกขานหญิงแก่คนนั้นอย่างพาซื่อว่า 'คุณยาย'!

14.30 น. The Law (1990)

เมื่อชายหนุ่มได้เดินทางกลับมายังหมู่บ้านหลังจากที่หายหน้าหายตาไปนาน เขาก็พบว่าพ่อของเขาได้ช่วงชิงคู่หมั้นไปเป็นภรรยาของตัวเองเสียแล้ว เมื่อหญิงที่ตั้งใจจะเป็นได้เป็น 'เมีย' กลับกลายมาเป็น 'แม่' เรื่องราวรวดร้าวใจภายในครอบครัวจึงเริ่มต้นขึ้น ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัล Grand Jury Prize จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์

อาทิตย์ที่ 3 สิงหาคม 2551

MANOEL DE OLIVEIRA (โปรตุเกส)


ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ขอร่วมฉลองวาระครบรอบ 100 ปีของผู้กำกับรุ่นคุณทวด Manoel de Oliveira เป็นการล่วงหน้า ผู้จะมีอายุครบรอบศตวรรษในวันที่ 12 เดือนธันวาคมปีนี้แล้ว ตลอดระยะเวลา 76 ปีที่ผ่านมา Manoel de Oliveira ได้ทำหนังชั้นดีออกมาให้คอหนังได้ติดตามชมกันอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย แถมเขายังรักษาระดับฝีมือที่ยังเข้าฝักอยู่ได้แม้อายุอานามจะล่วงเลยวัยเกษียณไปเป็นทศวรรษ

ในโอกาสนี้ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์จึงขอถือโอกาสฉายหนังในวัยหลังเกษียณของเขาจำนวนสองเรื่อง และขอให้คุณทวด Manoel de Oliveira จงมีสุขภาพกายและใจที่ดีและมีหนังเฉียบ ๆ คม ๆ ออกมาให้พวกเราได้ดูกันไปอีกนาน ๆ

12.30 น. Voyage to the Beginning of the World (1997)

ผลงานการแสดงเรื่องสุดท้ายของ Marcello Mastroianni ในหนังสุดพิลาศพิไลที่จะพาเราไปล่องเส้นทางสายอดีตคืนสู่รากเหง้าของนักแสดงชาวฝรั่งเศสที่มีโอกาสได้ไปเยือนโปรตุเกสอันเป็นแผ่นดินแม่ของบุพการีของเขาอีกครั้ง กับหนังที่พิสูจน์แล้วว่าเรื่องไม่เป็นเรื่องบางเรื่องก็สามารถเล่าเป็นหนังอย่างมีเสน่ห์ได้หากคนทำละเอียดอ่อนพอ

14.30 น. Valley of Abraham (1993)

สร้างจากบทประพันธ์ของ Agustina Bessa-Luis เล่าเรื่องราวการถูกจับคลุมถุงชนของ Ema สาวน้อยพราวเสน่ห์กับหมอหนุ่มผู้มั่งคั่งทั้งที่เธอไม่ได้รักเขาเลย Ema จะยึดยื้อดื้อดึงไปได้ถึงเพียงไหนเมื่อเธอตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะไม่ยอมตกเป็น 'ภรรยา' ของหมอหนุ่มรายนั้น

อาทิตย์ที่ 10 สิงหาคม 2551

FERNANDO EZEQUIEL SOLANAS (อาร์เจนตินา)


ผู้กำกับเจ้าของผลงานหนังสารคดีการเมืองเลื่องชื่ออย่าง The Hours of the Furnaces (1968) ผู้ประกาศแถลงการณ์ "Towards the Third Cinema" ร่วมกับ Octavio Genito เพื่อด่าหนังจาก Hollywood และหนัง auteur เอาแต่ใจตัวเองไม่รับผิดชอบสังคมจากฝั่งยุโรป นอกจากจะทำหนังเชิงสัญลักษณ์แดกดันการเมืองทั้งในอาร์เจนตินาและอเมริกาใต้แล้ว Fernando Ezequiel Solanas ยังมีส่วนร่วมกับกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อต่อต้านประธานาธิบดี Carlos Menem กระทั่งเคยถูกลอบยิงมาแล้ว สุดท้ายเขาก็หันมาเล่นการเมืองในอาร์เจนตินาแบบเต็มตัว

12.30 น. The Cloud (1998)

หนังหลายชีวิตที่เล่าถึงปัญหาต่าง ๆ ที่นักแสดงละครกลุ่มหนึ่งต้องเผชิญเพื่อรักษาโรงละครของพวกเขาไว้มิให้ถูกรื้อทำลายจนกลายเป็นห้างสรรพสินค้า!

14.30 น. The Voyage (1992)

ชายหนุ่มจากหมู่บ้านเล็ก ๆ ทางตอนใต้ของทวีป ตัดสินใจออกเดินทางเพื่อตามหาพ่อแท้ ๆ ของเขาด้วยการโบกรถ ในหนังมหากาพย์แห่งการสำรวจจิตวิญญาณอเมริกาใต้ด้วยสัญลักษณ์เหนือจริงแบบท่วมท้นคมคาย ผลงานที่จะทำให้ The Motorcycle Diaries ของ Walter Salles กลายเป็นตำนาน เช กูวาร่า ฉบับแอ๊บแบ๊ว! (อ่านใน 151 Cinema)

อาทิตย์ที่ 17 สิงหาคม 2551

VICTOR GAVIRIA (โคลัมเบีย)


ผู้กำกับจากโคลัมเบียผู้ยึดคติว่า 'ความจริงเท่านั้นที่หนังควรจะนำเสนอ' ผลงานหนังของ Victor Gaviria จึงเป็นงานที่ตีแผ่ชีวิตผู้คนโดยเฉพาะเยาวชนในสังคมอันสุดฟอนเฟะย่านถนน Medellin ถิ่นเกิดของเขา ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นนครแห่งยาเสพติดและอาชญากรรมเกือบทุกประเภท ด้วยลีลาหนังแบบ Cinema Verite ที่ปฏิเสธการปรุงแต่งใด ๆ กลายเป็นงานที่สะท้อนมุมมืดของสังคมในโคลัมเบียได้อย่างจริงจังจนน่าใจหาย!

12.30 น. Rodrigo D: No Future (1989)

Rodrigo เด็กหนุ่มที่หัวใจกำลังอัดแน่นไปด้วยความรู้สึกดิบกร้าว เขาจึงต้องหาทางออกเพื่อหลีกหนีจากสังคมรอบตัวสุดเส็งเคร็งด้วยการฟอร์มวงดนตรี Punk เพื่อระบายอารมณ์อัดอั้นผ่านการแผดตะโกนออกมาเป็นตัวโน้ต หนังที่ต้องปิดฉากลงด้วยความรู้สึกสุดแสนสะเทือนใจ

14.30 น. The Rose Seller (1998)

จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อ Victor Gaviria นำเอานิทานเรื่องเด็กหญิงกับไม้ขีดไฟของ Hans Christian Andersen มาดัดแปลงเป็นชีวิตของเด็กหญิงขายดอกกุหลาบในเมือง Madellin! เมื่อความฝันและความหวังของหญิงวัยแรกสาวต่อเผชิญหน้ากับความระยำเกินจะทำใจในสังคมอันเสื่อมทราม


อาทิตย์ที่ 24 สิงหาคม 2551

TOMAS GUTIERREZ ALEA (คิวบา)


ก่อนที่เขาจะเปลี่ยนแนวหันมาทำหนังเอาใจตลาดอย่าง Strawberry and Chocolate (1994) และ Guantanamera (1995) Tomas Gutierrez Alea ก็เคยทำหนังในแนวหนักแน่นจริงจังและแหลมคมมาก่อน ผลงานเด่นที่เป็นที่จดจำมากที่สุดของเขาจะเป็นผลงานยุคกลาง ๆ ช่วงปี 1960-1980 โดยเฉพาะ Memories of Underdevelopment (1968) ซึ่งถือเป็นผลงานชิ้นเอกตลอดชีวิตการทำงานของเขาเลยทีเดียว เมื่อยังหาหนังเรื่องนี้มาดูไม่ได้ ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ก็ขอนำเสนอผลงานเด่นเรื่องอื่น ๆ ของเขามาจัดฉายพอขัดดอกไปก่อน Tomas Gutierrez Alea เสียชีวิตลงแล้วเมื่อเดือนเมษายน ปี1996

12.30 น.: Death of a Bureaucrat (1966)

หนังตลกเสียดสีเรื่องเยี่ยมแดกดันการทำงานของหน่วยราชการ เมื่อคนงานรายหนึ่งเกิดประสบอุบัติเหตุจนเสียชีวิต ร่างของเขาดันถูกฝังไปพร้อม ๆ กับบัตรประจำตัวแรงงาน ทำให้ภรรยาของเขาไม่มีเอกสารไปร้องขอสวัสดิการใด ๆ ได้ หลานชายของคนงานผู้เคราะห์ร้ายรายนั้นจึงต้องเดินทางไปยังสำนักราชการเพื่อขออนุญาตขุดศพคุณลุงของเขาขึ้นมาใหม่!

14.30 น. The Last Supper (1976)

หนังตลกเสียดเย้ยคริสต์ศาสนา เมื่อเจ้าของไร่อ้อยผู้มั่งคั่งนึกสนุกอยากจัดงานเลี้ยง 13 ที่แบบเดียวกับตำนาน The Last Supper ของพระเยซู โดยมีตัวเขาสวมบทบาทเป็นองค์ศาสดาแล้วให้บรรดาทาสจำนวน 12 รายมารับบทเป็นเหล่าสาวก มหกรรมล้อเลียนเบื้องสูงนี้จะจบลงเช่นไรติดตามได้จากภาพยนตร์เสียดแสบเสียดคันเรื่องนี้

อาทิตย์ที่ 31 สิงหาคม 2551

SURPRISE FILM DOUBLE-BILL!! (แนะนำชมเป็นพิเศษ)

12.30 น. SURPRISE # 1

ใบ้ด้วยเรื่องย่อเรื่องราวความรักที่ไม่น่าเป็นไปได้ของนักเปียโนหนุ่มใหญ่กับสาวเสิร์ฟวัยกลางคน กับผลงานชวนฝันที่ทำออกมาได้โรแมนติกอย่างเหลือเชื่อ!

15.00 น. SURPRISE # 2

ใบ้ให้ด้วยภาพปกหนัง

No comments:

Blog Archive

คนลักหลับ

My photo
Filmvirus เป็นนามปากกาเดิมของสนธยา ทรัพย์เย็น จากคอลัมน์ “นิมิตวิกาล” ที่ใช้ในนิตยสาร Filmview ปี 2537 ต่อมาในปี 2538 สนธยาได้ก่อตั้ง “ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์” หรือ DK.Filmhouse (Filmvirus) จัดฉายหนังด้อยโอกาสให้ผู้สนใจชมฟรี พร้อมจัดพิมพ์หนังสือด้านหนัง และวรรณกรรม ชุด Filmvirus / Bookvirus (ส่วนหนังสือ “คนของหนัง” ปี 2533 นั้นเป็นผลงานก่อนตั้งฟิล์มไวรัส) ส่วนผลงานอื่นๆ ปี 2548 เป็นกรรมการเทศกาลหนัง World Film Festival of Bangkok , ปี 2552 กรรมการ Sydney Underground Film Festival, งาน Thai Short Film and Video Festival ของมูลนิธิหนังไทยครั้งที่ 1 และปี 2548-2549 เป็นเจ้าภาพร่วมจัดเทศกาลประกวดหนังนานาชาติ 15/15 Film Festival, Australia