30.12.07

ฌอง-ลุค โกดาร์ ฝากสวัสดีปีใหม่


Even The Great Jean-Luc Godard behaves nicely for once and says “ Happy New Year 2008 ” to all Film Fans.

ฌอง-ลุค โกดาร์ ฝากสวัสดีปีใหม่แก่คอหนังทุกท่าน

24.12.07

12 ปี ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส)

ผ่านวันคริสต์มาสอีฟนี้ไป ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ก็จะมีอายุ 12 ปี พอดี
ขอมีอารมณ์เฉลิมฉลองสถาบันสถาปนาเองสักหน่อย หวังว่าคงไม่มีใครมาแขวะหลัง

ฉลองกันแบบเออเองตูข้า ไม่กระโตกกระตากจัดงานอะไร แค่บอกตัวเองแบบเอ๋อเหรอว่า 12 ปีแล้วหรือเนี่ย แบกร่างหามโลงมาถึงนี่ได้ยังงงตัวเองเหมือนกัน หะแรกนึกว่าแค่ฉายหนังสัก 10 ปีนี่ก็น่าจะเดี้ยงแล้ว

ว่าไปมันก็เป็นงานที่น่าแปลกออกแนวลับ ๆ ล่อ ๆ สปอนเซอร์ก็แทบไม่เคยรู้จัก หนังสือชุด filmvirus ที่ทำขาย หรือ การฉายหนังที่ทำก็ไม่เคยเป็นรายได้ให้พึ่งพิง บริษัทแบ็คอัพก็ไม่มี แต่ยังอุตส่าห์โดนเหน็บแนมมากกว่าเสียงชม นี่หากก็อปหนังขายคงมีคนหวนหาอาลัย หรือรวยเละไปนานแล้ว

ตั้งแต่ฉายหนังมามากแห่ง ทั้งที่ห้างซีคอนแสควร์ (ในภาพประกอบ) มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร้านอาหารเฮมล็อค หอศิลป์เจ้าฟ้า ร้านหนังสือดวงกมลที่ RCA อุทยานการเรียนรู้ TK Park สถาบันเกอเธ่ สมาคมฝรั่งเศส และที่อื่น ๆ ปลีกย่อย จำไม่หมด อีกทั้งร่วมงานฉายหนังกับ อาจารย์ ทรงยศ แววหงษ์ จนกระทั่งแยกเดี่ยวแบบ แดน-บีม-ดีทูบี มีทั้งความประทับใจและหนาวลึกสลับหดหู่

กำลังใจจากคนดูหนังคุ้นหน้า และเพื่อนใกล้ชิดเพียงหยิบมือเท่านั้นที่ส่งให้เรายังฉายหนังมาได้ถึงทุกวันนี้ ขอโค้งคารวะให้ท่านทั้งหลายอย่างงาม ๆ (ขอบคุณอย่างสูงที่ทำให้งาน Fred Kelemen Masterclass ลุล่วงด้วยดี) ทั้งนี้ขาดไม่ได้ซึ่ง โมรีมาตย์ และ กัลปพฤกษ์ สองสนิทที่ช่วยต่ออายุไข อย่างไม่แยแสค่าจ้างค่าไถ่ และโดยเฉพาะ กัลปพฤกษ์ ที่เป็นหัวแรงแข็งขันในการสานต่อโปรแกรมภาพยนตร์ของ ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ หรือที่อื่น ๆ สืบไป

โอเย เจ้าขนำน้อยเอ๋ย มีใครรู้ไหม หนังเปิดโรง ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ที่ห้างซีคอนแสควร์ เมื่อ 12 ปีที่แล้วคือเรื่องอะไร และหนังเรื่องใดบ้างที่พวกท่านจดจำเป็นพิเศษ จากโปรแกรมหนังของ ฟิล์มไวรัส

บอกได้ทั้งเรื่องที่สุขสม (ถ้ามี) หรือแบบ บ่มิสม (น่าเบื่อโคตร)

ชุมนุมหนังไซไฟพันธุ์พิลึกจากยุโรป

ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ร่วมกับ สำนักหอสมุด ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เสนอ

!"$%^&*+ !"$%^&*+ !"$%^&*+ !"$%^&*+ !"$%^&*+ !"$%^&*+ !"$%^

THE WEIRD WORLD OF EUROPEAN SCI-FI
ชุมนุมหนังไซไฟพันธุ์พิลึกจากยุโรป

!"$%^&*+ !"$%^&*+ !"$%^&*+ !"$%^&*+ !"$%^&*+ !"$%^&*+ !"$%^

ทุกวันอาทิตย์ ตลอดเดือนมกราคม 2551
ณ ห้องเรวัต พุทธินันท์ ชั้นใต้ดิน U2 หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
โทร 0-2613-3529 หรือ 0-2613-3530
ชมฟรีทั้งรายการ (โปรดแจ้งเจ้าหน้าที่ห้องสมุดว่ามาชมภาพยนตร์ และกรุณาแต่งกายสุภาพ)

อาทิตย์ที่ 6 มกราคม 2551
12.30 น. On the Silver Globe (1987) กำกับโดย Andrzej Zulawski

อาทิตย์ที่ 13 มกราคม 2551
12.30 น. Kamikaze 1989 (1982) กำกับโดย Wolf Gremm
14.30 น. Realtime (1983) กำกับโดย Hellmuth Costard และ Jurgen Ebert

อาทิตย์ที่ 20 มกราคม 2551
12.30 น. Man from the First Century (1961) กำกับโดย Oldrich Lipsky
14.30 น. The End of August at the Hotel Ozone (1967) กำกับโดย Jan Schmidt

อาทิตย์ที่ 27 มกราคม 2551
12.30 น. Silver Heads (1998) กำกับโดย Yevgeny Yufit และ Vladimir Maslov
14.30 น. Killed by Lightning (2002) กำกับโดย Yevgeny Yufit


หมายเหตุ: โปรแกรมอาจมีการเปลี่ยนแปลงโดยไม่แจ้งล่วงหน้า

เรื่องย่อภาพยนตร์

On the Silver Globe (1987) / Andrzej Zulawski


เรื่องราวการเดินทางท่องอวกาศเพื่อแสวงหาเสรีภาพของนักบินอวกาศสี่ราย อันประกอบไปด้วย ผู้ชายสาม ผู้หญิงหนึ่ง เมื่อยานอวกาศตกลงบนดวงจันทร์ พวกเขาก็ได้สืบเผ่าพงศ์พันธุ์จนเกิดเป็นกลุ่มเชื้อชาติใหม่ที่มีวิถีชีวิตถอยหลังจากความศิวิไลซ์กลับไปสู่อนารยธรรมในโลกสมัยโบราณกันอีกครั้ง หนัง Sci-Fi ฟอร์มยักษ์สุดพิสดารจากโปแลนด์ที่ไม่สามารถถ่ายทำให้สำเร็จได้เนื่องจากถูกสั่งระงับจากรัฐบาลคอมมิวนิสต์ นับเป็นงาน Sci-Fi ที่ผสานจินตนาการทางวิทยาศาสตร์เข้ากับประเด็นทางศาสนาได้อย่างคมคายมากที่สุดเรื่องหนึ่ง หนังฉบับนี้เป็นฉบับรวบรวมฟุตเตจที่สมบูรณ์ที่สุดโดยผู้กำกับ Andrzej Zulawski เอง

Kamikaze 1989 (1982) / Wolf Gremm




หนังเยอรมันแดกดันแนว Sci-Fi ผลงานการแสดงเรื่องสุดท้ายของยอดผู้กำกับ Rainer Werner Fassbinder สารวัตร Jansen ตำรวจหนุ่มจากโลกอนาคต ได้รับมอบหมายให้สืบหาตัวการขู่วางระเบิดในเยอรมันนี ปริศนาเริ่มส่อเค้าเมื่อเกิดเหตุการณ์ฆาตกรรมภายในสำนักงานใหญ่ของศูนย์บัญชาการ หลังจากสารวัตร Jansen เข้ามารับหน้าที่ได้ไม่นาน แล้วเขาจะสามารถสืบหาผู้ก่อการร้ายภายในสี่วันตามที่ได้รับมอบหมายได้หรือไม่?



Realtime (1983) / Hellmuth Costard และ Jurgen Ebert

หนัง Sci-Fi สุดประหลาดจากเยอรมันนีที่ว่าด้วยดาวเทียมทหารซึ่งสามารถส่งสัญญาณภาพพื้นผิวโลกมายังจอมอนิเตอร์ซึ่งผู้ควบคุมสามารถสั่งลบหรือเปลี่ยนแปลงพื้นที่ต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าได้ตามอำเภอใจ แต่ความจริงลวงของพื้นโลกจริง ๆ กับสิ่งที่ปรากฏบนหน้าจอกลับทำให้นักคอมพิวเตอร์เกิดความสับสนในมโนสำนึก เมื่อเขาเริ่มรู้ตัวว่าความรู้สึกนึกคิดของเขากำลังถูกแทนที่ด้วยการทำงานของชุดโปรแกรม หนัง Sci-Fi แนวทดลองที่ต้องดูด้วยตาของตัวเองเท่านั้นจึงจะรู้ว่ามันพิสดารขนาดไหน

Man from the First Century (1961) / Oldrich Lipsky



หนัง Sci-Fi ตลกเด๋อด๋าฮาแบบไม่ไร้สาระ จากเชคโกสโลวาเกีย ซึ่งเล่าถึงการจับพลัดจับผลูได้เดินทางท่องอวกาศของคนงานชายนายหนึ่ง กระทั่งได้พบกับมนุษย์ต่างดาวที่สามารถทำให้เขาหายตัวได้ แต่เมื่อเขากลับมายังโลกอีกครั้งในปี ค.ศ. 2447 เขาจึงพบว่าโลกได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมายเสียเหลือเกิน


นี่คืองานภาพยนตร์หาชมได้ยากอีกเรื่องของผู้กำกับ Oldrich Lipsky


The End of August at the Hotel Ozone (1967) / Jan Schmidt


หลังความวิบัติของสงครามนิวเคลียร์ล้างโลก กลุ่มสตรีผู้รอดชีวิตต้องออกปฏิบัติการตามล่าหา 'ผู้ชาย' สุดขอบโลกเพื่อการสืบเผ่าพันธุ์ ก่อนที่มนุษยชาติจะถึงกาลต้องสูญสิ้น


สร้างจากบทภาพยนตร์ของ Pavel Juracek

ฝีมือการกำกับของ Jan Schmidt ที่ให้บรรยากาศของความหายนะในโลกอนาคตได้อย่างน่าสะพรึงมากที่สุดเรื่องหนึ่ง



Silver Heads (1998) / Yevgeny Yufit และ Vladimir Maslov

หนัง Sci-Fi บรรยากาศหลอนสุดโลก ผลงานเด่นของผู้กำกับโซเวียต Yevgeny Yufit เจ้าของต้นตำรับหนังสกุล Necrorealism ที่ใช้ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์มาอธิบายปริศนาเร้นลับของชีวิตและความตาย


Silver Heads เล่าถึงการทดลองวิทยาศาสตร์ที่พยายามจะผสมเผ่าพันธุ์มนุษย์เข้ากับต้นไม้ด้วยเครื่องมือสุดพิสดาร จนเป็นเหตุให้ผู้ทดลองต้องออกตามล่าหาเหยื่อวิปริตจากความผิดพลาดในครั้งก่อนกลับคืนมา


ขอเตือนว่าหนังเรื่องนี้ไม่เหมาะสำหรับผู้ชมขวัญอ่อน!


Killed by Lightning (2002) / Yevgeny Yufit

จากเค้าโครงเรื่องสั้น The Murders in the Rue Morgue ของ Edgar Allan Poe ผู้กำกับ Yevgeny Yufit ได้นำมาตีความใหม่ในแบบฉบับร่วมสมัยด้วยการผสานเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์เข้ากับบรรยากาศหลอกหลอนแบบส่วนตัวได้อย่างประหลาดล้ำ ด้วยการพาเราเจาะลึกยังจิตใต้สำนึกของนักมานุษยวิทยาที่พยายามศึกษาวิวัฒนาการทางชีวภาพของมนุษย์ไปพร้อม ๆ กับการต่อสู้ความทรงจำอันเจ็บปวดจากเรื่องราวในอดีตของตัวเอง

12.12.07

เรื่องย่อหนังฝรั่งเศส ฉายกลางแปลง ณ หอศิลป์จามจุรี

รายละเอียดหนังฝรั่งเศส ฉายกลางแปลง
ที่ หอศิลป์ จามจุรี ระหว่างวันที่ 18-20 ธันวาคม 2550
จัดโดย ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส), หอศิลป์จามจุรี และ สถานทูตฝรั่งเศส (เอื้อเฟื้อเครื่องฉายและฟิล์มภาพยนตร์ 35 มม.)

รายละเอียดงานยามราตรี อ่านที่

http://dkfilmhouse.blogspot.com/2007/12/art-square-v-5.html

Kirikou and the Sorceress (1998) กำกับโดย Michel Ocelot
ภาพยนตร์อนิเมชั่นในบรรยากาศอาฟริกา เล่าเรื่องราวของ Kirikou เด็กชายวิเศษที่สามารถพูดและเดินได้ตั้งแต่ออกมาจากท้องแม่ เขาได้ทราบว่ามีนางแม่มดร้ายตนหนึ่งเข้ามาทำให้บ่อน้ำในหมู่บ้านเหือดแห้ง และได้จับผู้ชายกินไปเกือบหมด เหลือรอดชีวิตมาได้เพียงแค่รายเดียว Kirikou จึงตั้งใจจะร่วมเดินทางไปกับนักรบผู้นั้นเพื่อปราบนางแม่มดร้ายที่เคยมาราวีคนในหมู่บ้านแห่งนี้ให้ได้


La puritaine (1986) กำกับโดย Jacques Doillon
นำแสดงโดยดาราสาวเจ้าบทบาท ซองดรีน บอนแนร์ (Sandrine Bonnaire) ภาพยนตร์หาชมยากของ Jacques Doillon ผู้กำกับฝรั่งเศสที่มักจะถูกมองข้ามฝีมืออยู่เสมอ โดยหนังเรื่องนี้เกี่ยวกับ Pierre (Michel Piccoli) ผู้กำกับละครเวทีที่เฝ้ารอการกลับมาของ Manon (บอนแนร์) ลูกสาวที่ทิ้งบ้านไปนาน จนวันหนึ่งเธอก็ได้กลับมาจริง ๆ Ariane แฟนสาวของ Pierre ได้สร้างสถานการณ์การกลับมาของ Manon ในจินตนาการรูปแบบต่าง ๆ ผ่านบุคลิกหลายหลากของบรรดาสาวนักแสดงลูกคณะ แต่ดูเหมือนว่า Pierre กับ Manon อาจจะต้องก้าวข้ามกลละครของอาณาจักรนักแสดงหญิง และสานสร้างความสัมพันธ์แบบมนุษย์ระหว่างพ่อลูกขึ้นมาใหม่


The Umbrellas of Cherbourg (1964) กำกับโดย Jacques Demy
หนังเพลงอมตะสีสันสดใสจากฝรั่งเศสเล่าเรื่องราวรักร้างของสาวน้อย Genevieve วัย 17 (นำแสดงโดย Catherine Deveuve) และช่างเครื่องหนุ่ม Guy (นำแสดงโดย Nino Castelnouvo) ที่มาพบรักกันเพื่อจากลาเมื่อฝ่ายชายต้องไปเป็นทหารในสงครามแอลจีเรีย เมื่อฝ่ายหญิงเกิดตั้งท้องโดยที่ฝ่ายชายไม่อยู่ แม่ของเธอจึงต้องจัดการหาสามีฐานะที่จะยอมเลี้ยงดู Genevieve และลูกในท้องเพื่อเป็นการตัดปัญหา ก่อนที่ Guy จะกลับมาพบกับความจริงกันแสนเจ็บปวด ภาพยนตร์ระดับรางวัลปาล์มทองคำประจำปี 1964 ที่ใช้การร้องเพลงแทนบทสนทนาของตัวละครตลอดทั้งเรื่อง!



Orpheus (1950) กำกับโดย Jean Cocteau
กวีหนุ่มที่เกิดไปหลงใหลพระธิดาแห่งความตาย Eurydice ภรรยาของ Orpheus ถูกลูกน้องของพระธิดาทวงวิญญาณจน Orpheus ต้องตามเธอไปยังใต้พื้นโลก ความรักที่ Orpheus มีต่อ Eurydice นั้นจะสามารถช่วยชีวิตคนทั้งสองไว้ได้หรือไม่?


สำหรับผู้กำกับ-นักเขียน-ศิลปินหลากแขนงนาม Jean Cocteau นั้นย่อมไม่ยอมเล่าเรื่องราวตำนานของ Orpheus ในแบบธรรมดา เพราะนี่คือผลงานแฟนตาซีระดับก่อนกาลที่หยิบตำนาน Orpheus มาสร้างเป็นหนังซึ่งใช้ฉากร่วมสมัย เพิ่มฉากสาวชุดดำกับแก๊งมอเตอร์ไซค์จากยมโลกมาพรากภรรยาของ Orpheus ที่ก่อนหน้านั้นก็ไม่เคยใส่ใจเธอเลย เพราะมัวแต่นั่งจดบทกวีลึกลับที่ส่งผ่านคลื่นวิทยุ หลายปีต่อมามีการสร้างภาคสมทบในชื่อ Testament of Orpheus ซึ่งถือเป็นผลงานคลาสสิกของ Cocteau เช่นกัน


They Came Back (Les Revenants /2004) กำกับโดย Robin Campillo
ใครว่าฝรั่งเศสไม่มีหนังสยองขวัญ They Came Back หนังซอมบี้คืนชีพ จากแดนน้ำหอมเรื่องนี้คงเป็นเครื่องพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีว่าประเทศฝรั่งเศสมีหนังให้ดูทุกแนวเลยจริง ๆ They Came Back เป็นหนังที่แสดงภาพการกลับคืนสู่การมีชีวิตของซากศพที่ถูกฝังอยู่ในสุสาน พวกเขาต่างมุ่งหน้าไปยังตัวเมือง กลับไปทำงานแบบเดิมเหมือนเมื่อคราวมีชีวิตอยู่ พวกเขากลับมาทำไม เพื่ออะไร ? และญาติของพวกเขาควรจะดีใจหรือเสียใจกันแน่ ทั้งหมดนี้มันชวนให้ได้ตั้งคำถามว่า เราจะสามารถรับมือกับกองทัพผีดิบจำนวนมหาศาลเหล่านี้ได้อย่างไร หากพวกเขากลับมาดั่งที่ความโศกเศร้าของเราเรียกร้อง


Filles uniques (2003) กำกับโดย Pierre Jolivet
นี่คือหนังบันเทิงเบาสบายเกี่ยวกับ Tina หญิงจอมขโมยได้รับการปล่อยจากเรือนจำด้วยทัณฑ์บนจากความเมตตาของผู้พิพากษาหญิง Carole ฝ่าย Tina ได้ติดต่อกับ Carole เพื่อแสดงความขอบคุณ โดยทั้งสองได้สนิทสนมกันอย่างรวดเร็ว Carole ไม่ได้บอกให้ Tina รู้เลยว่า การที่เธอได้รับอิสรภาพนั้นเป็นเพราะความผิดพลาดทางงานทะเบียน!

นำแสดงโดย Sylvie Testud ในบท Tina และ Sandrine Kiberlain ในบท Carole

11.12.07

Fred's Adventures in Thailand


อ่านการผจญภัยของ Fred Kelemen ในเมืองสยาม โดยไม่ต้องหวั่นใครหมั่นไส้ได้ที่นี่

10.12.07

คู่หนังคริสต์มาส

ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ร่วมกับ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เชิญชม

# # # # # # # # # # # # # # # # # # # # # # # # # # # # # # # # # # # # #
CHRISTMAS SPECIAL SCREENING for KIDS and GROWN-UPS
ภาพยนตร์ฉลองเทศกาลคริสต์มาส สำหรับทุกเพศวัย
# # # # # # # # # # # # # # # # # # # # # # # # # # # # # # # # # # # # #

วันอาทิตย์ ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ตั้งแต่เวลา 12.30 น. เป็นต้นไป
ณ ห้องเรวัต พุทธินันท์ ชั้นใต้ดิน U2 หอสมุด ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
โทรศัพท์ 0-2613-3529 หรือ 0-2613-3530
ชมฟรี!!! (โปรดแจ้งเจ้าหน้าที่ห้องสมุดว่ามาชมภาพยนตร์ และกรุณาแต่งกายสุภาพ)

ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ขอเชิญทุกท่านมาร่วมหรรษาไปกับการจัดฉายภาพยนตร์โปรแกรมพิเศษเนื่องในโอกาสแห่งการเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาส ส่งท้ายปี ค.ศ. 2007 ด้วยผลงานระดับคุณภาพสองเรื่องที่เราภูมิใจนำเสนอ

12.30 น. A Christmas Story (1983) กำกับโดย Bob Clark


หัวเราะกันให้ลั่นกับภาพยนตร์คริสต์มาสสุดแสนจะน่ารักที่เล่าเรื่องราวของหนูน้อย Ralph Parker ผู้ปรารถนาอยากจะได้ปืนเด็กเล่นรุ่น Red Ryder BB เป็นของขวัญวันคริสต์มาสเสียเต็มประดา ในขณะที่ผู้ใหญ่ทั้งหลายกลับเห็นว่าไม่เข้าท่า เพราะ Ralph คงจะต้องเอามันมายิงเล่นจนกระเด็นเข้าลูกตาตัวเองสักวัน แต่มีหรือที่หนูน้อย Ralph จะยอมแพ้ การผจญภัยเพื่อให้ได้มาซึ่งความฝันอันยิ่งใหญ่ของหนูน้อยจึงได้เริ่มต้นขึ้นในหนังคริสต์มาสที่ทั้งสนุก ตลก ซึ้ง ชวนประทับใจ อีกทั้งยังแฝงคุณค่าความหมายชนิดที่พบเห็นได้ไม่บ่อยนัก

14.30 น. A Christmas Carol (1951) กำกับโดย Brian Desmond-Hurst


ภาพยนตร์วันคริสต์มาสสุดซึ้งระดับอมตะซึ่งสร้างจากบทประพันธ์ชื่อเดียวกันของ Charles Dickens ที่จะพาเราไปร่วมเดินทางข้ามเวลาเพื่อทบทวนการกระทำในอดีต ความสุขในปัจจุบัน และความเป็นไปในอนาคตของ Ebenezer Scrooge นักธุรกิจหน้าเลือดซึ่งเป็นที่จงชังของผู้คนทั้งลอนดอน ผ่านการมาเยือนของภูติคริสต์มาสแห่งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต รวมสามตน ที่จะทำให้มุมมองชีวิตของเขาไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ภาพยนตร์แนวแฟนตาซีที่เปี่ยมล้นทั้งในด้านความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ และพลังแห่งการตระหนักถึงความสุขที่แท้ของชีวิต

3.12.07

งาน Art Square V งานจัตุรัสศิลป์ครั้งที่ 5


ที่หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ใกล้ศูนย์การค้ามาบุญครอง)
ชมตลาดนัดไอเดียศิลปะแฮนด์เมด ของที่ระลึก ของฝาก การแสดงโชว์ชุดมนุษย์ทองคำ การแสดงดนตรี ร่วมเล่นเกมส์ชิงรางวัล ทานอาหารและเครื่องดื่ม พร้อมชมหนังฝรั่งเศสฉายกลางแปลงด้วยฟิล์มหนัง 35 มม. ภายในบรรยากาศเป็นกันเองใต้ร่มไม้ และโคมไฟยามค่ำคืน ในระหว่างวันที่ 18-20 ธันวาคม 2550 ระหว่างเวลา 16.00 น.-20.00 น.
ร่วมจัดโดยหอศิลป์จามจุรี ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) และสถานทูตฝรั่งเศส (เอื้อเฟื้อฟิล์มและเครื่องฉายภาพยนตร์ 35 มม.)

ชวนดูหนังฝรั่งเศสของฟิล์มไวรัส ที่จามจุรี

โปรแกรมภาพยนตร์ ตั้งแต่ 18-20 ธันวาคม ตั้งแต่ เวลาประมาณ 18.00 น. เป็นต้นไป
หนังกางแปลง ฉายด้วยฟิล์ม 35 มม. ฟรีตลอดงาน

18 ธันวาคม Kirikou and the Sorceress (Michel Ocelot) +
La Puritaine (Jacques Doillon)

19 ธันวาคม Umbrellas of Cherbourg (Jacques Demy) +
Orphee (Jean Cocteau)

20 ธันวาคม Les Revenants (They Came Back / Robin Campillo) +
Filles Uniques (Only Girls / Pierre Jolivet)

Fresh Video Art and Short Films


Fresh: A Festival of International Video Art and Short Film
6-8 ธันวาคม 2007
ชมงานวีดีโออาร์ตเกากลีและวีดีโออาร์ตจากนานาชาติ พร้อมการแสดงดนตรีและเดินแบบ
ที่ Bangkok Code ถนนสาทรใต้ (ใกล้สถานีรถไฟฟ้าสุรศักดิ์)

จัดโดย ภาควิชาสถาปัตยกรรมและการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และBangkok Code
ข้อมูลเพิ่มเติมที่: http://www.arch.kamutt.ac.th/freshfestival หรือติดต่อ events@redekthai.com

13.11.07

อมตะหนังฮินดูของ 4 ผู้กำกับอินเดีย

ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ร่วมกับ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เสนอ . . .
โปรแกรมภาพยนตร์ ชุด
INDIAN MELODIE: THE BEST OF HINDI CINEMA
อมตะหนังฮินดูของสี่ผู้กำกับอินเดีย


ภูมิใจนำเสนอโดย “กัลปพฤกษ์”

ทุกวันอาทิตย์ ตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน - 16 ธันวาคม พ.ศ. 2550
ณ ห้องเรวัต พุทธินันท์ ชั้นใต้ดิน U2 หอสมุด ปรีดี พนมยงค์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ชมฟรี! (โปรดแจ้งเจ้าหน้าที่ห้องสมุดว่ามาชมภาพยนตร์)

อาทิตย์ที่ 18 พฤศจิกายน 2550
12.30 น. The Vagabond (1951) กำกับโดย Raj Kapoor

อาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน 2550
12.30 น. Two Acres of Land (1953) กำกับโดย Bimal Roy
15.00 น. Sujata (1959) กำกับโดย Bimal Roy

อาทิตย์ที่ 2 ธันวาคม 2550
12.30 น. Thirst (1957) กำกับโดย Guru Dutt
15.00 น. Paper Flowers (1959) กำกับโดย Guru Dutt

อาทิตย์ที่ 9 ธันวาคม 2550
12.30 น. The Seedling (1974) กำกับโดย Shyam Benegal
15.00 น. Night's End (1975) กำกับโดย Shyam Benegal

อาทิตย์ที่ 16 ธันวาคม 2550
12.30 น. Bhumika: the Role (1977) กำกับโดย Shyam Benegal
15.00 น. The Obsession (1975) กำกับโดย Shyam Benegal

หมายเหตุ 1) ภาพยนตร์ทุกเรื่องฉายด้วยเสียงต้นฉบับพร้อมคำบรรยายภาษาอังกฤษ
2) โปรแกรมอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่แจ้งล่วงหน้า

เรื่องย่อภาพยนตร์

The Vagabond (1951) / Raj Kapoor

อมตะหนังอินเดียครบรสชาติผลงานของ Raj Kapoor นักแสดงชื่อดังที่ภายหลังผันมาเป็นผู้กำกับ ในเรื่องนี้เขารับบทนำเป็น Raj ชายหนุ่มที่โดนโชคชะตาเล่นตลกเมื่อพ่อซึ่งเป็นผู้พิพากษาไล่เขาออกจากบ้าน ตามหลังแม่ของเขาซึ่งถูกเฉดหัวออกไปก่อนหน้านี้ฐานที่แอบไปมีสัมพันธ์นอกสมรส ขณะที่ Raj ใช้ชีวิตอยู่ข้างถนนเขาก็ได้รู้จักกับ Jagga ผู้เป็นต้นเหตุให้แม่ของเขาถูกไล่ตะเพิดไปก่อนหน้านี้ ด้วยความแค้น Raj จึงประกอบอาชญากรรมกับ Jagga จนสุดท้ายเขาต้องกลายเป็นจำเลยภายใต้การพิพากษาของพ่อของเขาเอง งานอภิมหาดราม่า ที่ถึงพร้อมด้วยเรื่องราวเข้มข้น ลีลาโรแมนติก ขบขัน สะเทือนอารมณ์ ผสมผสานด้วยความแฟนตาซี!

Two Acres of Land (1953) / Bimal Roy

ผลงานแนวสัจจนิยมใหม่ (Neo-Realism) แบบอินเดียที่อาจจะทรงพลังเสียยิ่งกว่าหนังต้นฉบับอย่าง Shoeshine หรือ The Bicycle Thief ของ Vittorio de Sica เสียด้วยซ้ำ เรื่องราวเรียบง่ายแต่กินใจของครอบครัวชาวนายากจนที่ต้องเดินทางจากท้องทุ่งไปหาเงินในตัวเมืองเพื่อไถ่หนี้สินจากการจำนองที่ดินทำกินจำนวนสองเอเคอร์ซึ่งกำลังจะถูกยึดจากผู้มีอำนาจในหมู่บ้าน เรี่ยวแรงจากลำแข้งและสองมือของพวกเขาจะสามารถรักษาผืนดินอันเป็นมรดกตกทอดของตระกูลนี้ได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่จะต้องติดตามจาก Two Acres of Land ภาพยนตร์แนว melodrama ซึ่งเรียกน้ำตาจากผู้ชมได้อย่างมีรสนิยม!

Sujata (1959) / Bimal Roy

Sujata หรือ "เธอคือจัณฑาล" [The Untouchable Girl] ผลงานเด่นอีกหนึ่งเรื่องของยอดผู้กำกับ Bimal Roy เล่าเรื่องราวชีวิตสุดระทมของ Sujata เด็กหญิงกำพร้าไร้วรรณะที่ได้รับการอุปถัมภ์จากคู่สามีภรรยาใจประเสริฐคู่หนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อ Adhir หนุ่มวรรณะพราห์ม เกิดมาตกหลุมรักเธอจนถึงขั้นอยากขอแต่งงาน ความดีงามของ Sujata จะสามารถเอาชนะวรรณะอันต่ำต้อยของเธอได้หรือไม่ . . . สุดยอดภาพยนตร์แนวมนุษยนิยมแสนสะเทือนอารมณ์ที่อุดมไปด้วยฝีมือ หนึ่งในหนังที่ได้เข้าร่วมชิงรางวัลปาล์มทองคำในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ประจำปี 1959

Thirst (1957) / Guru Dutt


ผลงานเด่นของผู้กำกับฮินดูผู้นิยมทำหนังแหวกตลาด Guru Dutt และมักจะควบตำแหน่งนักแสดงนำอีกด้วย Thirst เป็นงานที่ถ่ายทอดชีวประวัติของ Vijay กวีไส้แห้ง ที่ไม่คิดจะทำงานการอื่นใด นอกจากจะพยายามหาหนทางให้บทกวีที่สะท้อนสังคมของเขานั้นได้รับการตีพิมพ์ เมื่อไม่มีวี่แววว่าจะประสบความสำเร็จ Vijay จึงต้องกลายเป็นชายขี้เมา ใช้ชีวิตหยำเปอยู่กับร้านเหล้าและซ่องโสเภณี กระทั่งเมื่อเขาได้รู้จัก Gulabo หญิงคณิกาใจงามที่ชื่นชมในผลงานบทกวีของ Vijay ความหวังที่จะได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่จึงเริ่มจุดประกายขึ้นอีกครั้ง ภาพยนตร์ที่เสียดเย้ยการมาถึงของชื่อเสียงอันผิดเวล่ำเวลาได้อย่างน่าอดสูนัก

Paper Flowers (1959) / Guru Dutt

ภาพยนตร์ที่เยาะเย้ยโลกแห่งความจริงและความฝันของผู้ที่ยึดอาชีพเป็นผู้กำกับหนังที่เจ็บแสบมากที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ Guru Dutt รับบทบาทใกล้เคียงตนเองเป็น Suresh Sinha ผู้กำกับหนังที่เคยประสบความสำเร็จระดับร้อยล้าน ซึ่งกำลังถูกวัฏจักรแห่งวงการมายาเล่นงานเอาอย่างหนักหน่วง เมื่อนักแสดงสาวที่เขาปั้นมากับมือเลือกที่จะหันหลังให้กับวงการ นี่คือผลงานที่สะท้อนความน่าขบขันของอุดมการณ์ทางศิลปะอย่างแสนจะขมขื่น คนทำหนังรุ่นใหญ่หรือรุ่นใหม่ทั้งหลายไม่ควรพลาดโอกาสชม!

The Seedling (1974) / Shyam Benegal


Surya บุตรชายเจ้าของที่ดินผู้มั่งคั่งเดินทางกลับบ้านเกิดหลังสำเร็จการศึกษาจากตัวเมือง เขาได้รับหน้าที่สืบทอดกิจการของครอบครัว และได้รู้จักกับ Laxmi หญิงอาภัพที่แต่งงานอยู่กินกับชายปั้นหม้อที่ทั้งหูหนวกและเป็นใบ้ เมื่อสามีของเธอหลบหนีคดีไป Laxmi จึงต้องใช้ชีวิตโดยลำพัง จน Surya รู้สึกสงสารและรับเธอมาเป็นภรรยาน้อยจนเธอตั้งครรภ์ เมื่อครอบครัวของ Surya ทราบเรื่อง Laxmi จึงต้องถูกขับไล่ออกจากบ้านหลังนั้น สุดท้ายเธอจึงต้องฝ่าฟันกับชะตาชีวิตทั้งหลายด้วยตัวของเธอเอง งานภาพยนตร์สร้างชื่อของ Shyam Benegal ที่ได้เข้า ร่วมประกวดในเทศกาลภาพยนตร์เมือง Berlin เมื่อปี 1974

Night's End (1975) / Shyam Benegal


สร้างจากเรื่องราวจริงของครูใหญ่ที่เพิ่งย้ายเข้ามาในหมู่บ้านห่างไกลแห่งหนึ่งพร้อมด้วย Sushilla ภรรยาสาวและลูกชาย หลังจากที่พวกเขาใช้ชีวิตอย่างปรกติได้ไม่ทันไร หนึ่งหนุ่มในตระกูล Zamindar ผู้ยิ่งใหญ่ก็เกิดติดใจในความงามของภรรยาสาว Sushilla คนนี้อย่างถอนตัวไม่ขึ้น ด้วยอำนาจมืดที่ปกคลุมไปทุกศอกคืบของมู่บ้าน พี่น้องอันธพาลแห่งตระกูล Zamindar จึงลงมือลักพาตัว Sushilla ไปอย่างอุกอาจ ท่ามกลางความนิ่งดายของเพื่อนบ้านที่ยืนดูเหตุการณ์อยู่อย่างทองไม่รู้ร้อน ครูใหญ่จะช่วยภรรยาได้อย่างไรในเมื่อตำรวจที่เขาคิดว่าจะหวังพึ่งได้ กลับกลายเป็นสมุนของตระกูล Zamindar กันยกกอง! ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมประกวดในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ปี 1975

Bhumika: the Role (1977) / Shyam Benegal


เรื่องราวชีวิตที่ยิ่งกว่าละครของ Urvashi เด็กหญิงยากจนที่ไต่เต้าเข้าสู่วงการจนได้เป็นนักร้องนักแสดงชื่อดังแห่งวงการบันเทิง ด้วยความดื้อรั้นเธอจึงตัดสินใจแต่งงานกับ Keshav ชายผู้ชักนำเธอสู่วังวนแห่งมายาจนมีลูกสาวด้วยกันหนึ่งคน แต่ชีวิตสมรสของเธอต้องประสบความล้มเหลว ภายหลังเธอจึงตัดสินใจไปอยู่กินกับ Vinayak ชายผู้มั่งคั่งโดยไม่รู้ว่าเขามีภรรยาอยู่แล้ว สุดท้ายเธอจึงได้รับรู้ว่า 'นรก' เป็นเช่นไร เมื่อได้เข้าไปเป็นสะใภ้ของเศรษฐีหนุ่มรายนั้น ผลงานในเด่นในยุคที่ Parallel Cinema เฟื่องฟูในอินเดียของ Shyam Benegal

The Obsession (1978) / Shyam Benegal




หนังอิงประวัติศาสตร์ที่ย้อนยุคไปเมื่อปี 1857-1858 เมื่อทหารของ East India Company เกิดแข็งข้อ และต้องการเรียกร้องดินแดนคืนจากประเทศอังกฤษ โดยเล่าเรื่องราวผ่าน Javed Khan (นำแสดงโดย Shashi Kapoor) ผู้นำการต่อสู้ในครั้งนั้น ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ที่พิสูจน์ทั้งฝีไม้ลายมือในการทำหนังได้ทั้งงานแนวตลาดและแนวศิลปะของผู้กำกับ Shyam Benegal อันควรค่าแก่การศึกษา

6.11.07

Fred Kelemen: The Prince of Darkness

The Nocturnal World of Fred Kelemen

Overrated or underrated, you need only your eyes and your ears to prove it.

The Fred Kelemen Masterclass in Bangkok, November 2007 continues.

ของจริงหรือของปลอม ขอเชิญติดตามพิสูจน์ผลงานของเจ้าชายแห่งรัตติกาลอันตราย : เฟรด เคเลเม็น ต่อไปได้ในงาน

ราตรีวิเวกของ เฟรด เคเลเม็น
Fred Kelemen Master Class

5-8 November 2007, 1-6 pm
จัดโดย ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส), สถาบันเกอเธ่ กรุงเทพฯ, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์, พระจันทร์เสี้ยวการละคร และ The World Film Festival of Bangkok ครั้งที่ 5
พบและพูดคุยกับตัวจริงของ เฟรด เคเลเม็น ผู้กำกับหนังเรื่อง Fallen, Kalyi, Fate, Frost และ Nightfall (Abendland) อีกทั้งยังเป็นผู้กำกับภาพ The Man from London (งานกำกับของ เบล่า ทาร์) โอกาสสุดท้ายที่จะชมหนังที่หาดูยากที่สุดในโลก (หลายเรื่องไม่เคยได้ฉายตามโรงภาพยนตร์ทั่วไปในอเมริกาและยุโรป) มีจนถึงวันที่ 8 พฤศจิกายนเท่านั้น รายละเอียดอ่านเพิ่มเติมใน blog นี้หรือที่ นิมิตวิกาลhttp://www.twilghtvirus.blogspot.com/

31.10.07

จำหน่ายหนังสือ "สัตว์วิกาล" ของ เจ้ย - - - อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ในงานฉายหนัง แสงศตวรรษ

Unknown Forces: The Illuminated Art of Apichatpong Weerasethakul

the book will be available on 16, 17 November 2007 at the screening of Syndromes and a Century, Alliance Francaise, Bangkok

หนังสือ สัตว์วิกาล : ภาพเรืองแสงของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

จัดพิมพ์โดยทีมงาน Filmvirus และ openbooks

15.10.07

The Mother and The Whore

The Mother and The Whore

นี่ก็ผู้กำกับที่ World Film น่าจะพิจารณาคัดมาจัดเป็น Retrospective ในปีหน้า
หนังของผู้กำกับ Jean Eustache ซึ่งเป็นอีก 1 ในผู้กำกับคนสำคัญของฝรั่งเศสที่ชีวิตสั้นนัก และสาเหตุหลักที่เขาไม่มีชื่อเสียงเท่าที่ควร น่าจะเป็นเพราะเขาสนใจ ทำหนังเกี่ยวกับชีวิตคน มากกว่าทำหนังอารมณ์เท่

ผลงานของเขาที่เราสมควรทำความรู้จักก็ได้แก่ Les Mauvaises fréquentations (1963), Le Père Noël a les yeux bleus (1966), La Maman et la putain (1973), Mes petites amoureuses (1974), Une sale histoire (1977) และ Les Photos d'Alix (1980)

ระหว่างรอการพิจารณาของท่านกรรมการก็ดูเรื่อง La Maman et la putain (The Mother and The Whore /1973) ของโปรแกรมภาพยนตร์ ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ไปพลาง ๆ ก่อน หนังหาดูได้ยากมากเรื่องนี้เข้าใจว่าเมืองนอกยังไม่มีออกแผ่นดีวีดีบรรยายอังกฤษ ฉายให้ชม วันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม 2550 เวลา 12.30 น. ที่ห้องเรวัติ พุทธินันทน์ สำนักหอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ (ชมฟรี เช่นเคย)

เรื่องนี้ใครที่เคยประทับใจ Jean-Pierre Leaud จากหนังหลายเรื่องของ ฟรองซัวส์ ทรุฟโฟต์อย่าง The 400 Blows, Stolen Kisses อยากให้ลองมาชม เพราะเป็นผลงานการแสดงที่จริงที่สุดตั้งแต่เขาแสดงหนังมา

La Maman et la putain (The Mother and The Whore) ได้รับรางวัล Grand Prix และ International Critics’ Prize ที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ และได้รับการยกย่องมากจากคนทำหนังระดับหัวแถวของโลก
*** อ่านแนะนำหนังเพิ่มเติมได้จากบทความของ ธเนศน์ นุ่นมัน ในหนังสือ Filmvirus ตอน 151 Cinema (สนพ. Openbooks)

10.10.07

อิทธิฤทธิ์ของ Fred Kelemen ที่งาน World Film BKK 2007

อิทธิฤทธิ์ของ Fred Kelemen ที่งาน World Film Bangkok 2007

All About Fred Kelemen in World Film Festival of Bangkok 2007

สืบเนื่องจากรายการ Fred Kelemen Masterclass ตอน 2
http://dkfilmhouse.blogspot.com/2007/10/fred-kelemen-masterclass-2.html

และบทความ ราตรีวิเวกกับ Fred Kelemen ใน “นิมิตวิกาล”
http://twilightvirus.blogspot.com/2007/10/fred-kelemen.html

โปรแกรมภาพยนตร์ของ Fred Kelemen ที่ Esplanade Cineplex
Fallen (Krisana) ฉายวันที่ 26 ตุลาคม 2550 เวลา 17. 40 น. และรอบสองวันที่ 2 พฤศจิกายน 2550 เวลา 20.20 น. (เฉพาะรอบสองมีพูดคุยกับผู้กำกับ Fred Kelemen)

หนังของ Bela Tarr ที่ Fred Kelemen เป็นผู้กำกับภาพ คือเรื่อง The Man from London ฉายวันที่ 3 พฤศจิกายน 2550 เวลา 20.10 น. และวันที่ 4 พฤศจิกายน 2550 เวลา 15.30 น.

8.10.07

Smoking / No Smoking หนังรางวัลหมีเงินที่เบอร์ลิน


Smoking / No Smoking - สูบไม่สูบ

ทำไมผู้กำกับ Alain Resnais (เจ้าของหนังดังอย่าง Hiroshima Mon Amour, Last Year at Marienbad, Muriel, Fear in Public Places) จึงชอบจับคู่กับนักแสดงเจ้าประจำอย่าง Sabine Azéma และ Pierre Arditi (และบ่อยครั้งรวมถึง André Dussollier) พบคำตอบได้ในหนัง 298 นาที ในหนัง 2 ตอนประกบกันเรื่อง Smoking และ No Smoking ซึ่งแสดงถึงเส้นชีวิต 2 เส้นทางที่จะผันแปรไปอย่างหน้ามือและหลังมือ เพียงเพราะตัวละครเลือกที่จะสูบ หรือ ไม่สูบบุหรี่ ดัดแปลงจากบทละครอังกฤษเรื่อง Intimate Exchange ของ Alan Ayckbourn

หนังเรื่องนี้ทำให้ผู้กำกับ Alain Resnais ได้รับรางวัลหมีเงินจากเทศกาลหนังเบอร์ลิน รวมทั้งหลายรางวัล Caesar จากฝรั่งเศส
กำหนดฉายในโปรแกรม ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) วันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม 2550 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ตามโปรแกรมข้างล่างนี้:

6.10.07

Fred Kelemen Masterclass in Bangkok (ตอน 2)

Fred Kelemen Masterclass in Bangkok (ตอน 2)


ความเดิมจาก Fred Kelemen Masterclass in Bangkok ตอน 1:

http://dkfilmhouse.blogspot.com/2007/09/fred-kelemen-masterclass.html

(กรุณาอ่านบทสัมภาษณ์ของ Fred Kelemen โดย สนธยา ทรัพย์เย็น ได้จากหนังสือ “ฟิล์มไวรัส เล่ม 2” หรืออ่านบทความแนะนำตัว เฟรด เคเลเม็น จาก http://twilightvirus.blogspot.com/2007/10/fred-kelemen.html)


ราตรีวิเวกของ เฟรด เคเลเม็น
Fred Kelemen Master Class

จัดโดย ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส), สถาบันเกอเธ่ กรุงเทพฯ, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์, พระจันทร์เสี้ยวการละคร และ The World Film Festival of Bangkok ครั้งที่ 5



ขอเชิญร่วมงาน เฟรด เคเลเม็น มาสเตอร์คลาส ยอดผู้กำกับชาวเยอรมัน ซึ่งถือเป็นเจ้าของผลงานภาพยนตร์ศิลปะที่น่าจับตามองที่สุดในโลกภาพยนตร์ปัจจุบัน หนังหลายเรื่องของเขาได้รับความชื่นชมทั่วโลก หนังใหญ่เรื่องแรกของเขาคือเรื่อง Fate ได้รับเลือกเป็น 1 ใน 150 อันดับสุดยอดภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งทศวรรษ 90 (ลำดับที่ 59) ที่ไม่ได้รับการจัดจำหน่ายในอเมริกา จากการคัดเลือกของนิตยสาร Film Comment
(อ่านอันดับหนังต่างๆ ได้ที่ http://www.filmlinc.com/fcm/7-8-97/poll2.htm)

หลายประเทศได้เคยรวบรวมผลงานของเขาทั้งหมดจัดฉายแบบยกชุด ทั้งในยุโรป, นิวยอร์ค อเมริกา และ ลอนดอน ประเทศอังกฤษ อีกทั้งเขายังเป็นอาจารย์สอนภาพยนตร์ และละครเวทีที่ประเทศสเปน และแลตเวียอีกด้วย



นอกจากชมผลงานภาพยนตร์ที่หาดูได้ยาก รวมทั้งผลงานด้านการกำกับละครเวทีเรื่อง Fahrenheit 451 และ Desire Under the Elmes แล้ว ในงานครั้งนี้ เคเลเม็น จะร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนักศึกษาภาพยนตร์ นักการละครเวที และผู้ชมชาวไทยอย่างใกล้ชิด

ฟรีตลอดงาน วันที่ 5 - 6 พฤศจิกายน 2550 ที่ สถาบันเกอเธ่ กรุงเทพฯ และ วันที่ 7 - 8 พฤศจิกายน 2550 ที่ ห้องเรวัติ พุทธินันทน์ ชั้นใต้ดิน U2 หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ตั้งแต่เวลา 13.00 น.-18.00 น.

ส่วนผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่อง Krisana (Fallen) และงานถ่ายภาพใน The Man from London (กำกับโดย Bela Tarr) นั้นจัดฉายเป็นส่วนหนึ่งในงาน World Film Festival of Bangkok ระหว่างวันที่ 25 ตุลาคม – 4 พฤศจิกายน 2550 ที่โรงภาพยนตร์ Major Esplanade เช็คโปรแกรมได้ที่ http://www.worldfilmbkk.com/


ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับภาพยนตร์ ของ Fred Kelemen
(ดัดแปลงจากบทความแปลของ Madame MDS)

Fate เป็นหนังใหญ่เรื่องแรกของ Fred Kelemen ซึ่งได้รับการยกย่องมากจาก Susan Sontag กวี และนักเขียนชื่อดัง ในขณะที่ เอ็ด ฮอลเทอร์ นักวิจารณ์ของนิตยสารวิลเลจ วอยซ์ ของสหรัฐกล่าวว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้ภาพยนตร์แนว Dogme (ภาพยนตร์ที่ต่อต้านการปรุงแต่งในทุกๆ ด้านของผู้กำกับดัง Lars von Trier) ดูเหมือนเป็นภาพยนตร์กระแสหลักไปเลย ทั้งนี้ Fate มีเนื้อหาเกี่ยวกับกลุ่มผู้อพยพชาวรัสเซียที่อาศัยอยู่ในกรุงเบอร์ลินและเรื่องราวอันโหดร้ายที่เกิดขึ้นในชีวิตของพวกเขา โดยโครงสร้างของเรื่องมีลักษณะคล้ายสารคดีในขณะที่งานด้านภาพในเรื่องนี้มีลักษณะคล้ายกับตกอยู่ในความฝัน ซึ่งลักษณะที่ขัดแย้งกันนี้เหมาะสมอย่างมากในการนำเสนอตัวละครในเรื่องที่ดื่มเหล้าอยู่ตลอดเวลา


Frost เป็นภาพยนตร์โทนหดหู่ที่พูดถึงประเด็นเรื่องการดำรงอยู่ของตัวตน โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับมารีแอนน์ ผู้หญิงที่หลบหนีสามีผู้โหดร้ายและขี้เมาในช่วงคริสต์มาส เธอพาลูกชายเดินทางไปทางทิศตะวันออกผ่านหมู่บ้านที่ทรุดโทรมและภูมิประเทศที่เวิ้งว้างในช่วงฤดูหนาวเพื่อกลับไปยังบ้านเกิดของตัวเอง และในระหว่างทางทั้งสองก็ถูกผู้คนรอบข้างเอารัดเอาเปรียบด้วยวิธีการต่างๆ แต่ในที่สุดมารีแอนน์ก็ได้พบกับความอบอุ่นทางใจในช่วงสั้นๆ ในโรงแรมราคาถูก


Nightfall(Abendland) เปิดเรื่องด้วยการผสมผสานฉากลองเทค (ภาพที่ถ่ายด้วยระยะไกล) ที่ถ่ายด้วยฟิล์ม 35 มม. เข้ากับฉากโคลสอัพที่ถ่ายด้วยกล้องวีดีโอ และมีจุดร่วมเหมือนกับ Frost และ Fate ตรงที่ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอโลกที่หดหู่และซึมเศร้าและมนุษย์ที่ตกอยู่ในห้วงแห่งความทุกข์ทรมานเหมือนกัน

เอ็ด ฮอลเทอร์ตั้งข้อสังเกตว่าภาพยนตร์ทั้ง 3 เรื่องของเคเลเม็นมีจุดเด่นที่การใช้ดนตรีโฟล์คและป็อปมาช่วยสร้างอารมณ์กดดันให้กับเรื่อง โดยใน Fate นั้นเคเลเม็นใช้ดนตรียิปซีที่เล่นด้วยแอคคอร์เดียนของรัสเซีย ส่วนใน Frost นั้น เคเลเม็น ใช้ดนตรีแทงโก, คันทรี และเพลง Mandy ของแบร์รี แมนิโลว์ มาช่วยสร้างอารมณ์อันโศกเศร้า ในขณะที่ Nightfall ใช้ดนตรีฟาโดของโปรตุเกส


เคเลเมนกล่าวว่าภาพยนตร์ของเขายึดหลักการของ “ความไม่บริสุทธิ์” (impurity) ทั้งในทางสุนทรียศาสตร์และทางการเมือง และกล่าวเสริมว่า “ความบริสุทธิ์เป็นมายาคติที่สร้างความเจ็บปวดให้กับโลกนี้มามากแล้ว” ดังจะเห็นได้จากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากความเชื่อเรื่องการสร้างชาติพันธุ์ที่บริสุทธิ์, ประเทศชาติที่บริสุทธิ์ หรือความเชื่อทางศาสนาที่บริสุทธิ์ นอกจากนี้ คำพูดของเขายังพาดพิงไปถึงความเชื่อเรื่องสไตล์การสร้างภาพยนตร์แบบตายตัว ซึ่งความเชื่อนี้เองที่เป็นอุปสรรค์ขัดขวางไม่ให้ศิลปะภาพยนตร์ได้รับการพัฒนา

เอ็ด ฮอลเทอร์ยังให้ความเห็นอีกด้วยว่าถึงแม้ภาพยนตร์ของเคเลเม็นจะนำเสนอความว่างเปล่าทางจิตใจ แต่กลับเป็นภาพยนตร์ที่สะท้อนความเป็นมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้งมาก

1.10.07

Nina Menkes in Bangkok


Nina Menkes in Bangkok
Her new film “Phantom Love” at the 5th World Film Festival of Bangkok 2007

อีกกี่ชาติที่เราจะได้ดูหนังของ นินา เม็นเคส เจ้าแม่หนังอาร์ตอินดี้จากอเมริกา

แต่นี่เราจะได้ดูผลงานหนังขาวดำสุดแจ่ม (เรื่องใหม่ล่าสุด) ของ Nina Menkes เรื่อง Phantom Love บนจอภาพยนตร์โรงหนัง Major Esplanade

อ่านบทความ “เสียงกรีดกร้าวจากรังไข่ของนางมาร” ของ filmvirus ได้ที่
http://twilightvirus.blogspot.com/2007/10/phantom-love.html

วงกตแห่งเนื้อนางของ Alain Robbe-Grillet

วงกตแห่งเนื้อนางของ Alain Robbe-Grillet

ขอเชิญติดตามแกะรอยจิ๊กซอว์ภาพยนตร์ ของ อแลง รอบบ์-กรีเยต์ ได้ที่:
http://twilightvirus.blogspot.com/2007/10/alain-robbe-grillet.html

หรือ อ่านบทความขนาดยาวเกี่ยวกับ Alain Robbe-Grillet ได้จาก ฟิล์มไวรัส เล่ม 1


ชมฟรี-โปรแกรมภาพยนตร์ของ อแลง รอบบ์-กรีเยต์
วันอาทิตย์ ที่ 7 ตุลาคม 2550 ที่สำนักหอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
จัดโดย ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส)
เวลา 12.30 น. Trans Europ-Express
เวลา 14.30 น. La Belle Captive

27.9.07

อีกหนึ่งในกลุ่ม French New Wave ที่ถูกละลืม - Jacques Rivette

ฌ้ากส์ รีแวตต์ กับหนัง 2 เรื่องที่หาดูยากที่สุด


เรื่องแรกทำจากนิยาย La religieuse ของ Denis Diderot (เจ้าของนิยาย Jacques le Fataliste ที่มีอิทธิพลต่อแนวทางงานเขียนของ Milan Kundera มากที่สุด จน มิลาน คุนเดอร่า ต้องแต่งบทละคร Jacques and His Master เพื่อมาคารวะ (และย้อนศร)


อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Denis Diderot (เดอนีส์ ดีเดโรต์) ได้จาก “บุ๊คไวรัส เล่ม 1” (Bookvirus 01) ของ สนธยา ทรัพย์เย็น สำนักพิมพ์ ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส)

เรื่องที่ 2 Haut Bas Fragile (Up Down Fragile) หนังเพลงสไตล์พิรี้พิไรเฉไฉไก่กาตามแบรนด์ ฌ้ากส์ รีแวตต์ โดยเฉพาะ ฟังเพลงน่ารัก ท่าเต้นกุ๊กไก่ ได้ในวันและเวลาตามนี้ (หรือย้อนอ่านเรื่องย่อได้ในหน้าก่อน ๆ)

อาทิตย์ที่ 30 กันยายน 2550

12.30 น. La religieuse [The Nun] (1966) กำกับโดย Jacques Rivette

14.30 น. Up, Down, Fragile (1995) กำกับโดย Jacques Rivette

(อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้กำกับ Jacques Rivette ได้ใน The 8 Mastersฟิล์มไวรัส / openbooks)

14.9.07

เรื่องสั้นของ Michelangelo Antonioni

เรื่องสั้นของ Michelangelo Antonioni

โฆษณาเองก็ได้ง่ายวุ้ย


เรื่องสั้น 2 เรื่องของ ผู้กำกับ Michelangelo Antonioni ที่เพิ่งล่วงลับไปไม่นาน

เรื่องสั้น “โทรเลขสองฉบับ” (Two Telegrams) ที่มีแปลใน Bookvirus เล่ม 2

และ เรื่องสั้น “ขอบฟ้าเหตุการณ์” (The Event Horizon) ที่แปลลง Filmvirus เล่ม 1


เขียนดีถึงอยากให้อ่าน

มีใครแถวนี้เคยอ่านบ้างไหมเนี่ย

ดูหนังสือ Filmvirus ได้ที่นี่:

Filmvirus 01

http://dkfilmhouse.blogspot.com/2007/08/filmvirus-collection-part-1.html

Bookvirus 02

http://dkfilmhouse.blogspot.com/2007/08/filmvirus-collection-part-2.html

และอ่านบทวิจารณ์ La Notte ของผู้กำกับ อันโตนีโอนี่ ได้ที่ บล้อก นิมิตวิกาล (ภาษาไทย)

http://twilightvirus.blogspot.com/2007/09/1-la-notte-night-michelangelo-antonioni.html

Blog Archive

คนลักหลับ

My photo
Filmvirus เป็นนามปากกาเดิมของสนธยา ทรัพย์เย็น จากคอลัมน์ “นิมิตวิกาล” ที่ใช้ในนิตยสาร Filmview ปี 2537 ต่อมาในปี 2538 สนธยาได้ก่อตั้ง “ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์” หรือ DK.Filmhouse (Filmvirus) จัดฉายหนังด้อยโอกาสให้ผู้สนใจชมฟรี พร้อมจัดพิมพ์หนังสือด้านหนัง และวรรณกรรม ชุด Filmvirus / Bookvirus (ส่วนหนังสือ “คนของหนัง” ปี 2533 นั้นเป็นผลงานก่อนตั้งฟิล์มไวรัส) ส่วนผลงานอื่นๆ ปี 2548 เป็นกรรมการเทศกาลหนัง World Film Festival of Bangkok , ปี 2552 กรรมการ Sydney Underground Film Festival, งาน Thai Short Film and Video Festival ของมูลนิธิหนังไทยครั้งที่ 1 และปี 2548-2549 เป็นเจ้าภาพร่วมจัดเทศกาลประกวดหนังนานาชาติ 15/15 Film Festival, Australia