$ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $
PRECIOUS BUT CHEAP: The Hidden Gems of American Independent Cinema
ปฏิบัติการถูกแต่ดี . . . หนังอเมริกันอินดี้ทุนสมอง
$ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $
ณ ห้องเรวัต พุทธินันท์ ชั้นใต้ดิน U2 หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
โทร 0-2613-3529 หรือ 0-2613-3530
ชมฟรีทั้งรายการ (โปรดแจ้งเจ้าหน้าที่ห้องสมุดว่ามาชมภาพยนตร์ และกรุณาแต่งกายสุภาพ)
HOLLYWOOD ไม่ใช่อเมริกา และ อเมริกาก็ไม่ใช่ HOLLYWOOD!
ถึงแม้ว่าหนังจาก HOLLYWOOD จะน่าเบื่อขนาดไหน แต่ก็ใช่ว่าหนังอเมริกันจะต้องตื้นเขินฉาบฉวยไปด้วยเสียทั้งหมด โปรแกรมหนังอเมริกันอินดี้ชุดนี้คงพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีว่า แม้นจะไม่มี Studio หนุนหลัง ไม่มีดาราดัง ๆ หรือผู้กำกับจะยังไม่เป็นที่รู้จักกันสักเท่าไหร่ แต่ก็มีหนังอเมริกันอีกหลายเรื่องที่สามารถสร้างความ 'พิเศษ' ในตัวเองออกมาได้จากทุนสมองของคนทำโดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยน้ำเงิน!
อาทิตย์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2551 อินดี้ไร้สี
12.30 น. Little Fugitive (1953) กำกับโดย Ray Ashley, Morris Engel และ Ruth Orkin
14.30 น. Judy Berlin (1999) กำกับโดย Eric Mendelssohn
อาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2551 อินดี้สตรี
12.30 น. Wanda (1970) กำกับโดย Barbara Loden
14.30 น. Sleepwalk (1986) กำกับโดย Sara Driver
อาทิตย์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2551 อินดี้บุรุษ
12.30 น. Two-Lane Blacktop (1971) กำกับโดย Monte Hellman
14.30 น. Your Three Minutes Are Up (1973) กำกับโดย Douglas Schwartz
อาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2551 อินดี้หลุดโลก
12.30 น. Glen and Randa (1971) กำกับโดย Jim McBride
14.30 น. Normal Love (1963) กำกับโดย Jack Smith
Little Fugitive (1953) / Ray Ashley, Morris Engel และ Ruth Orkin
Joey เด็กน้อยที่ทั้งอ่อนวัยและไร้เดียงสา เข้าใจว่าเขาได้ฆ่าพี่ชายแท้ ๆ ของตัวเองตายไปเสียแล้วจากการเล่นซุกซน ด้วยความเศร้าโศกเสียใจ Joey จึงต้องแอบหนีไปเที่ยวสวนสนุก Coney Island ตามลำพังเสียเลย การผจญภัยผ่านวันและคืนท่ามกลางผู้คนมากมายกับการหารายได้จากการเก็บขวดเปล่าเอาค่ามัดจำของเด็กน้อย Joey จึงเริ่มต้นขึ้นอย่างน่าประทับใจ ภาพยนตร์ American Independent Cinema ยุคแรก ๆ ท่ามกลางกระแสหนังจากสตูดิโอใหญ่ยักษ์ของ Hollywood ในทศวรรษ 1950's ที่เหมือนจะถูกหลงลืมไปตามกาลเวลาอย่างน่าเสียดาย หนังชนะ รางวัลสิงโตเงินจากการประกวดในเทศกาลภาพยนตร์เมืองเวนิสปี 1953
Judy Berlin (1999) / Eric Mendelssohn
เชื่อหรือไม่ว่า สุริยุปราคา สามารถดลใจให้มนุษย์แสดงพฤติกรรมที่ซ่อนอยู่ในหลืบลึกที่สุดของหัวใจออกมาได้ ภาพยนตร์แสนพิสุทธิ์สุดวิเศษของผู้กำกับ Eric Mendelssohn จะพาไปค้นหาคำตอบกับเรื่องราวความเป็นไปของชาวเมือง New Jersey กลุ่มเล็ก ๆ อันประกอบไปด้วยครูสาวที่แอบมีความสัมพันธ์กับครูใหญ่ที่แต่งงานมีภรรยาแล้ว และนักแสดงสาวกับผู้กำกับหนุ่มที่กำลังไล่ล่าหาความฝันของตัวเอง และเพื่อนบ้านคนอื่น ๆ ในวันที่ดวงจันทร์จะเคลื่อนไปบังดวงอาทิตย์ กับหนังขาวดำร่วมสมัยที่ถ่ายทอดภาพชีวิตของชาวอเมริกันในเมืองเล็ก ๆ โดยเฉพาะในช่วงเวลาแห่งความมืดมิดของสุริยุปราคาได้อย่างน่าตะลึงพรึงเพริด
Wanda (1970) / Barbara Loden
ผู้กำกับ Barbara Loden รับบทนำเป็น Wanda หญิงอเมริกันที่ชีวิตได้จมดิ่งลงสู่ขีดสุด เธอไม่มีงานประจำและยินดีทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เงินมาซื้อบุหรี่และเหล้า ด้วยความไม่เอาไหนขนาดสามีและลูก ๆ ก็ยังทอดทิ้งไม่ยอมดูแล จนวันหนึ่งเธอก็ได้พบกับ Dennis บุรุษลึกลับซึ่งชักชวนเธอให้ประกอบอาชญากรรมครั้งสำคัญ Wanda จะตัดสินกับชีวิตของเธออย่างไร? หนังอินดี้อเมริกันที่เข้มข้นไปด้วยความสมจริงของการถ่ายทำและการแสดงที่น่าเชื่อถือย่างเป็นธรรมชาติ
Wanda เป็นงานกำกับเรื่องเดียวในชีวิตของ บาบาร่า โลเด้น ภรรยาของ ผู้กำกับ อีเลีย คาซาน (On the Waterfront) เรย์ คาร์นี่ย์ อาจารย์สอนวิชาภาพยนตร์ปากจัดแห่งมหาวิทยาลัยบอสตั้น ยกย่อง Wanda ให้เข้าขั้น 1 ในสุดยอดภาพยนตร์ตัวอย่างของโลกที่นักวิจารณ์หนังส่วนใหญ่มองข้าม
Sleepwalk (1986) / Sara Driver
หนังพล็อตประหลาดเกี่ยวกับ Nicole หญิงสาวชาวนิวยอร์คที่ต้องถอดความเทพนิยายจากอักขระจีนโบราณมาเป็นภาษาอังกฤษ ระหว่างที่เธอกำลังแปลอยู่นั้นเหตุการณ์ต่าง ๆ ในเทพนิยายก็เริ่มปรากฏขึ้นรอบ ๆ ตัวเธออย่างน่าประหลาด สิ่งที่เห็นจะเป็นเรื่องจริงหรือเป็นเพียงจินตนาการ และเธอจะรับมือกับปาฏิหาริย์กันเหลือเชื่อเหล่านั้นกันอย่างไร หาคำตอบได้จากหนังแฟนตาซีอเมริกันชวนฝันขวัญผวาเรื่องนี้
นี่คือหนังของ ซาร่า ไดรเวอร์ ผู้เคยสร้างชื่อจากการกำกับหนังขนาดสั้น You are Not I และเป็นผู้อำนวยการสร้างหนังอินดี้เรื่องดัง Stranger than Paradise ให้ จิม จาร์มุช (ผู้กำกับ Broken Flowers) สามีของเธอ
Two-Lane Blacktop (1971) / Monte Hellman
หนังคัลท์สุดมันจากยุค 70's ผลงานการกำกับของ Monte Hellman เจ้าของหนังคาวบอยแนวพิลึกอย่าง Ride in the Whirlwind (1965) และ The Shooting (1967) สำหรับ Two-Lane Blacktop นี้ผู้กำกับ Hellman ก็ขอเปลี่ยนจากการขี่ม้ามาเป็นการแข่งรถซิ่งข้ามรัฐระหว่าง The Driver และ The Mechanic สองสิงห์ตีนผีด้วยรถ 1955 Chevy ที่มียานพาหนะของอีกฝ่ายหนึ่งเป็นเดิมพัน หนังตระกูลแข่งความเร็วเรื่องสำคัญที่ไม่ได้วัดกันเพียงแค่องศาของเข็มบนหน้าปัดมิเตอร์
Your Three Minutes Are Up (1974) / Douglas Schwartz
หนัง Road Movie ค้นหาตัวตนของสองสุภาพบุรุษ รายหนึ่งเป็นพนักงาน office ต๊อกต๋อย อีกรายหนึ่งเป็นหนุ่มรักอิสระที่วางตัวเหนือกฎเกณฑ์ทั้งมวล เมื่อสหายทั้งสองได้เดินทางไกลร่วมกัน การเริ่มเรียนรู้ชีวิตซึ่งกันและกันจึงเริ่มต้นขึ้น จากเรื่องราวการแสวงหาความหมายของชีวิตของผู้คนในยุค 70's ที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไรใหม่ แต่ผู้กำกับ Douglas Schwartz ก็ยังอุตส่าห์หาวิธีทำให้หนังเรื่องนี้ยังมีความแตกต่างจนได้ ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ชื่อว่าเป็นต้นแบบของ Sideways (2004) โดย Alexander Payne
Glen and Randa (1971) / Jim McBride
Glen และ Randa สองหนุ่มสาววัยรุ่นผู้รอดชีวิตจากสงครามนิวเคลียร์ล้างโลก ได้เห็นสภาพเมืองใหญ่ในอดีตจากหนังสือการ์ตูนเล่มหนึ่ง พวกเขาจึงเริ่มต้นออกเดินทางหาเมืองอันสุดแสนจะศิวิไลซ์แห่งนั้น แล้วพวกเขาจะหาเจอกันไหมเนี่ย? หนัง Sci-Fi ทุนต่ำของผู้กำกับ Jim McBride เจ้าของงานสารคดีตอแหล David Holzman's Diary (1967) ที่หลาย ๆ คนชื่นชอบ
หนังเรื่องนี้ได้รับคำชื่นชมเป็นพิเศษทั้งจาก โรเบิร์ต เร้ดฟอร์ด (River Runs Through It, Lions for Lamb) และ Time Magazine ว่ามันคือ 1 ในหนังที่เยี่ยมยอดและสร้างสรรค์สูงสุดแห่งปี
(อ่านเกี่ยวกับ จิม แม็คไบร์ด ได้ใน ฟิล์มไวรัส 5; ปฏิบัติการหนังทุนน้อย)
Normal Love (1963) / Jack Smith
เทพนิยายไร้เรื่องราวสุดเปรี้ยวของผู้กำกับ Jack Smith เจ้าของผลงานหนังใต้ดินสุดอื้อฉาว Flaming Creatures (1963) ที่จะนำพาเราไปสัมผัสกับจินตนาการพิสดารของตัวละครพันธุ์พิลึก ไม่ว่าจะเป็น เงือกสาวไฮโซ มนุษย์แมงมุมพุงโต นางพญางูเห่าจ้าวอสรพิษ และเหล่าผองเพื่อนที่จะมาเฮฮาปาร์ตี้ล้างบางกันบนเวทีกลางทุ่งกันอย่างสันตะโร ด้วยลีลาการกำกับศิลป์แบบ Queer Art แสนจะวิลิศมาหราโดยเฉพาะเสื้อผ้าอาภรณ์ที่ช่างดีไซน์ออกมาได้เลิศสุดฤทธิ์
No comments:
Post a Comment