15.11.09

โปรแกรมหนัง DOC DAYS และงานแนะนำหนังสือ ‘วัยเยาว์อันสิ้นสูญ’

ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ร่วมกับสำนักพิมพ์ไลต์เฮาส์, สถาบันเกอเธ่ และสำนักหอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ขอเชิญชม และรับฟังเสวนา


DOC DAYS และงานแนะนำหนังสือ ‘วัยเยาว์อันสิ้นสูญ’

ทุกวันอาทิตย์ระหว่างวันที่ 22 พฤศจิกายน 2552 ถึง 17 มกราคม 2553 ตั้งแต่เวลา 12.30 น. เป็นต้นไป
ณ ห้องเรวัต พุทธินันท์ ชั้นใต้ดิน U2 หอสมุด ปรีดี พนมยงค์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
โทรศัพท์ 0-2613-3529 หรือ 0-2613-3530
ชมฟรี!!! (โปรดแจ้งเจ้าหน้าที่ห้องสมุดว่ามาชมภาพยนตร์ และกรุณาแต่งกายสุภาพ)

Admission Free
* * *Many Thanks to the Goethe Institute for providing films. * * *
*** ขอขอบคุณ คุณ สมพจน์ ชิตเกษรพงศ์ แห่งสถาบัน California Institute of the Arts (CalArts) ในการเอื้อเฟื้อภาพยนตร์ของ Johan van de Keuken***

วันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน 2552

12.30 น. The Society of the Spectacle (France, 88min, 1973) กำกับโดย Guy Debord
Guy Debord เป็น นักทฤษฎีมาร์กซิสม์และนักเขียนชาวฝรั่งเศสเจ้าของตำราวิชาการเล่มคลาสสิกอย่าง Society of the Spectacles Comments on the Society of the Spectacle เคยเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่ม Lettrist International และเป็นผู้นำกลุ่ม Situationist International ที่มีอิทธิพลต่อการนำประท้วงในปี 1968 นอกจากนั้นเขายังทำหนังหลายเรื่องที่มีลักษณะผสมระหว่างหนังสารคดีและแนวอวงการ์ดตามแนวทางของ Lettrist International หนังของ Guy E. Debord สร้างจากหนังสือของเขาเองในชื่อเดียวกันเกี่ยวกับกระบวนการบริโภคของสังคมทุนนิยมที่มีผลต่อชีวิตประจำวัน

14.15 น. Critique de la separation (France, 20min, 1961) กำกับโดย Guy Debord
Howlings in Favour of de Sade (France, 64min, 1952) กำกับโดย Guy Debord

15. 45 น. Why should I buy a bed when all that I want is sleep? (Germany, 53 min, 1999) กำกับโดย Nicholas Humbert / Werner Penzel +
Lax Readings (2006 / 13 นาที)

สารคดีเกี่ยวกับกวีชาวนิวยอร์ค Robert Lax ที่ระหกระเหินไปมาระหว่างยุโรปและอเมริกา เคยทั้งเขียนบทวิจารณ์และบทหนังในฮอลลีวู้ด โดยแนวทางของเขามีผลต่อนักเขียนและกวีกลุ่มบีทเจอเนอเรชั่น อย่าง Jack Kerouac และ Allen Ginsberg


****** โปรแกรมพิเศษ งานแนะนำหนังสือ Lord of the Flies (วัยเยาว์อันสิ้นสูญ) ******
จัดโดยไลต์เฮาส์พับลิชชิ่งและ ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส)

วันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน 2552
12.30 น. Lord of the Flies (1963) Peter Brook กำกับ 92 นาที (บรรยายอังกฤษ)
14.15 น. Lord of the Flies (1990) Harry Hook กำกับ 90 นาที (บรรยายไทย)

ภาพยนตร์สองเวอร์ชั่นที่สร้างจากวรรณกรรมคลาสสิกของ William Golding ปัจจุบันแปลและตีพิมพ์ใหม่ในชื่อ “วัยเยาว์อันสิ้นสูญ” โดยสำนักพิมพ์ไลต์เฮ้าส์ เรื่องราวของกลุ่มเยาวชนที่ติดค้างบนเกาะร่วมกันกับเพื่อน ๆ วัยเดียวกัน หลังจากเหตุการณ์เครื่องบินตก ในบรรดาผู้ปกครองของพวกเขานั้นไม่มีผู้ใดรอดชีวิต เหลือเพียงความรับผิดชอบและการต่อสู้เพื่ออยู่รอดแบบดั้งเดิมดึกดำบรรพ์ ต้นกำเนิดของหนังญี่ปุ่นเรื่องดัง Battle Royale ที่หันไปมุ่งเน้นเฉพาะด้านความรุนแรง อาจจะได้รับแรงบันดาลใจจากวรรณกรรมเรื่องนี้บ้างบางส่วน

ฉบับหนังขาวดำปี 1963 ที่กำกับโดย Peter Brook ผู้กำกับละครเวทีชั้นนำชาวอังกฤษ ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลปาล์มทองหนังยอดเยี่ยมที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ ส่วนฉบับหนังสีปี 1990 ที่สร้างใหม่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Young Artists Award ในสาขานักแสดงเยาวชนประเภทดารานำเดี่ยวและหมู่คณะ

(ร่วมเสวนาโดย กมลทิพย์ สิทธิกรโอฬารกุล บรรณาธิการไลต์เฮาส์พับลิชชิ่ง และ
คุณสฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการ –นักเขียน และบรรณาธิการ onopen online


วันอาทิตย์ที่ 10 มกราคม 2552
12.30 น. I Love Dollars (Netherlands, 140min, 1986) กำกับโดย Johan van der Keuken

15.15 น. Lucebert, Time and Farewell (Netherlands, 52min, 1994) กำกับโดย Johan van der Keuken

Johan van der Keuken เป็นนักเขียน ช่างภาพและคนทำหนังสารคดีชาวดัทช์ ผู้มีผลงานกว่า 55 เรื่อง เคยชนะรางวัลในเทศกาลหนังยุโรปหลายต่อหลายครั้ง รวมทั้งเคยได้รับรางวัลเกียรติยศผลงานทั้งชีวิตที่ประเทศกรีซและอเมริกา เขาเสียชีวิตเมื่อปี 2001

วันอาทิตย์ที่ 17 มกราคม 2553
12.30 น. The Eye Above the Well (Netherlands, 94min, 1988) กำกับโดย Johan van der Keuken

14.30 น. A Moment’s Silence (Netherlands, 10min,1963) กำกับโดย Johan van der Keuken,
Beauty (Netherlands, 22min,1963) กำกับโดย Johan van der Keuken
+ The Unanswered Question, On Animal Locomotion (Netherlands, 16min,1994)
กำกับโดย Johan van der Keuken

7 comments:

Unknown said...

ทำไมหนังดีๆ ที่ไปฉายตามสถาบันส่วนใหญ่ถึงไปเฉพาะ ธรรมศาสตร์ หรือจุฬา เท่านั้นละคะ

ทำไมไม่เปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยอื่นๆ ได้สัมผัส
หรือดูหนังประเภทนี้บ้าง เช่น ม.รังสิต ม.กรุงเทพฯ
หรือแม้แต่ราชภัฎ

หรือว่าหนังแบ่งชนชั้น เลือกวรรณะผู้เสพงาน

ในเมื่อเด็กธรรมศาสตร์ เด็กจุฬา เค้ามีโอกาสมากกว่าในหลายๆ ด้านอยู่แล้ว

ทำไมถึงไม่กระจายโอกาสพวกนี้ไปให้เด็กนักศึกษา สถาบันอื่นๆ บ้างค่ะ

ไม่ยุติธรรมเลย

filmvirus said...

blogspot มีปัญหา ทำไมตอบคอมเมนท์ไม่ได้

filmvirus said...

ขอบคุณและดีใจมากครับสำหรับข้อเสนอแนะของคุณ Poom

ทาง ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ไม่มีเจตนาจะจำกัดวรรณะทั้งตัวหนัง คนดูหรือสถานที่แต่อย่างใดเลยครับ แต่เนื่องด้วยกิจกรรมการฉายหนังทำนองนี้เป็นกิจกรรมที่ไม่สร้างรายได้ ลำพังเพียงความสนุกสนานในการเผยแพร่หนังย่อมไม่เพียงพอที่จะขยายขอบเขตได้มากพอ ทั้งนี้นั้นต้องขอแจ้งให้คุณ Poom ทราบด้วยว่ากิจกรรมแทบทั้งหมดของเรากว่า 14 ปีนั้นเกิดจากการควักกระเป๋าจ่ายสตางค์ส่วนตัวมากกว่าได้รับสินจ้าง อีกทั้งการจัดพิมพ์หนังสือ ฟิล์มไวรัส และ บุ๊คไวรัส ก็ไม่สามารถสร้างรายได้แม้แต่จะคุ้มทุน หากคุณ Poom สังเกตดู คงจะเข้าใจได้ไม่ยากว่า ทำไมหนังสือของเรานานครั้งจึงออกที และนับวันก็มีแต่พิมพ์จำนวนน้อยลงเรื่อย ๆ จากสองพันเล่ม เหลือเพียงหนึ่งร้อยเล่ม ยิ่งหนังสือ ฟิล์มไวรัส นั้นต้องยุติการพิมพ์แทบสิ้นเชิง (ยกเว้นเล่มสุดท้าย “ปฏิบัติการหนังทุนข้ามชาติ” ที่กองอยู่นานกว่า 3 เดือนแล้วที่สนพ . openbooks)

filmvirus said...

ที่สำคัญต้องไม่ลืมนะครับ ว่าหนังแทบทั้งหมดที่เราจัดฉายไม่มีคำบรรยายภาษาไทย จึงต้องใช้การฟังหรืออ่านภาษาอังกฤษล้วน ๆ ในจุดนี้ย่อมจำกัดกลุ่มคนดูโดยปริยาย ทางเราย่อมไม่พร้อมที่จะแปลหรือทำคำบรรยายด้วยสภาพจำกัดดังที่กล่าวไปแล้ว อีกทั้งหนังพวกนี้ก็ยังเรียกร้องความเข้าใจที่มากกว่าหนังอาร์ตระดับเบาที่ฉายกันตามโรงหนังลิโด้หรือเฮ้าส์ เพราะฟิล์มไวรัสไม่ได้ฉายแค่หนังดี หนังคลาสสิก แต่เราเน้นการฉายหนังที่ด้อยโอกาส (ซึ่งอาจจะไม่ใช่หนังมีคุณค่าในสายตาของคนทั่วไป) และจากการประสบการณ์การฉายหนังพวกนี้ ตามที่ต่าง ๆ เช่น TK Park. ร้านอาหารเฮมล็อค, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หรือกระทั่งจากการฉายสองครั้งมหาวิทยาลัยสวนสุนันทา สมาธิและความคุ้นเคยของนักศึกษา (หรือกระทั่งอาจารย์) พิสูจน์แล้วครับว่ายังต้องใช้ความปรับตัวอีกมาก กว่าที่พวกเขาจะคุ้นเคยกับหนังเนิบนาบ ไม่ฉูดฉาด

filmvirus said...

สำหรับเรื่องมหาวิทยาลัยรังสิต กรุงเทพ หรือราชภัฏ อาจจะมีอาจารย์คนขยันคนใดสักคนที่จัดฉายหนังให้นักศึกษาดูเป็นการภายในก็เป็นได้ครับ ทางคนใกล้ตัวของฟิล์มไวรัสเอง อย่าง คุณ ไกรวุฒิ จากนิตยสารไบโอสโคป ก็สอนในหนึ่งนั้น และสรรหาหนังคุณภาพไปสอนอยู่เสมอ อันที่จริงหากมีความต้องการเรียกร้องให้ขยับขยายเป็นกิจกรรมสาธารณะ ทางคณะของมหาวิทยาลัยเหล่านั้นอาจเห็นพ้องด้วยก็เป็นได้ครับ (ผมเข้าใจว่าที่ธรรมศาสตร์รังสิตก็มีกิจกรรมฉายหนังอยู่แล้ว)

filmvirus said...

ระหว่างนี้คงต้องเชิญชวนให้คุณ Poom ลองไปสัมผัสกับการฉายหนังของฟิล์มไวรัส เท่าที่เป็นอยู่ก่อนครับ ทั้งที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ หรือ The Reading Room ถนนเจริญกรุง หรือ หอศิลป์จามจุรี (ใกล้มาบุญครอง) ถ้าไปสักครั้งจะเห็นได้ว่ากลุ่มคนดูที่ตั้งใจมาดูนั้นมีน้อยมาก เฉพาะที่ธรรมศาสตร์นั้น แทบเรียกได้ว่าไม่มีนิสิตนักศึกษาของที่นั่นเข้าชมเลย อันที่จริงเจ้าของสถานที่แต่ละแห่งน่าจะน้อยใจกว่า ฟิล์มไวรัส อีกครับ ที่สละพื้นที่จัดฉายหนังแล้วยังไม่ได้รับความสนใจ วันหนึ่งกิจกรรมพวกนี้ก็ต้องถึงวันอำลา เพราะทุกคนล้วนไม่อยากเดินทางไกลบ้าน ลำพังตัวคนจัดเองอยู่ถิ่นบางบัวทองก็ไม่อยากแบกสังขารไปไกลถึงเจริญกรุง หรือ บางกอกโค้ด ถนนสาทร บ่อย ๆ หรอกครับ เรื่องปัญหาการเดินทางเราเข้าใจดี อันที่จริงเมื่อไม่นานมานี้ ทางเราก็เคยติดต่อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อจัดฉายหนัง โดยติดต่อขอฟิล์มและเครื่องฉายภาพยนตร์ 35 มม. ผ่านหลายขั้นตอนอย่างซับซ้อน แต่แล้วก็เผชิญปัญหาทางการประสานงานต่าง ๆ จึงต้องล้มเลิกโครงการไป และต้องยอมรับในที่สุดว่าการจัดฉายหนังโดยความประสงค์จากตัวมหาวิทยาลัยเองนั้นเป็นการดีที่สุด (ไม่ใช่เราไปเสนอยัดเยียดให้) และที่สำคัญการจัดฉายด้วยดีวีดีนั้นง่ายและแน่นอนกว่า

filmvirus said...

หากคุณ Poom เป็นตัวแทนของนักศึกษาหรืออาจารย์ตามสถานศึกษาเหล่านั้น ลองติดต่อสถานทูตฝรั่งเศส หรือสถาบันเกอเธ่ หรือมูลนิธิญี่ปุ่นดูนะครับ ว่าเขายังมีการส่งเสริมกิจกรรมฉายหนังออนทัวร์อยู่อีกหรือไม่ครับ ส่วนทางเราเอง หากมีผู้ใดเชิญชวนไป วันวานแห่งความบ้าอาจหวนคืนมาอีกครั้งก็เป็นได้ครับ

หวังว่าจะได้ยินคำแนะนำเสนอแนะอีกนะครับ โลกมักจะหาความยุติธรรมได้ยากเสมอ เราคงได้แต่ช่วยกันคนละไม้คนละมือ ขอขอบคุณอย่างยิ่งยวดครับ

ฟิล์มไวรัส

คนลักหลับ

My photo
Filmvirus เป็นนามปากกาเดิมของสนธยา ทรัพย์เย็น จากคอลัมน์ “นิมิตวิกาล” ที่ใช้ในนิตยสาร Filmview ปี 2537 ต่อมาในปี 2538 สนธยาได้ก่อตั้ง “ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์” หรือ DK.Filmhouse (Filmvirus) จัดฉายหนังด้อยโอกาสให้ผู้สนใจชมฟรี พร้อมจัดพิมพ์หนังสือด้านหนัง และวรรณกรรม ชุด Filmvirus / Bookvirus (ส่วนหนังสือ “คนของหนัง” ปี 2533 นั้นเป็นผลงานก่อนตั้งฟิล์มไวรัส) ส่วนผลงานอื่นๆ ปี 2548 เป็นกรรมการเทศกาลหนัง World Film Festival of Bangkok , ปี 2552 กรรมการ Sydney Underground Film Festival, งาน Thai Short Film and Video Festival ของมูลนิธิหนังไทยครั้งที่ 1 และปี 2548-2549 เป็นเจ้าภาพร่วมจัดเทศกาลประกวดหนังนานาชาติ 15/15 Film Festival, Australia