12.12.09

FILMVIRUS On Tour มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ จามจุรีแกลเลอรี่

FILMVIRUS SHORTS : PROTOTYPE @ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ร่วมกับคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ชวนคุณชมหนังสั้นหลากสายพันธุ์ (พิสดาร) จากทั่วมุมโลก เปิดหูเปิดตาต้อนรับฤดูหนาวให้ชวนระทึก!
ฉายแน่ที่เทศกาลภาพยนตร์ฤดูหนังฤดูหนาว ไม่วันที่ 13 ก็ 14 ตุลาคมนี้ ที่ ลานพระพิฆเณศ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตั้งแต่ สี่ทุ่ม (22.00น.) เป้นต้นไป

Sherlock Jr. (Buster Keaton/1924/US) 45 mins
หนังเล่าเรื่องคนฉายหนังที่อยากเป็นนักสืบ ยามว่างจากการเปลี่ยนม้วนฟิล์ม เขาจะนั่งอ่านหนังสือคู่มือการเป็นนักสืบ พ่อหนุ่มตกหลุมรักสาวสวยผู้หนึ่ง และพยายามหาเงินซื้อของไปฝากเธอ โดยมีศัตรูหัวใจเป็นเจ้าหนวดนายหนึ่ง ที่แอบขโมยนาฬิกาพกของพ่อสาวเจ้า ไปซื้อของขวัญสวยกว่า เก๋กว่ามากำนัล แล้วไส่ไฟคีตันว่าเป็นขโมย งานนี้หนังสือนักสืบก็ช่วยอะไรไม่ได้ ตามมาด้วยเรื่องชุลมุนชุลเกที่แทนที่คราวนี้จะเกิดขึ้นจริงๆกลับไปเกิดในหนังแทน(ที่จริงเกิดขึ้นในหนังที่อยู่ในฝันอีกที)
นี่คือหนังสั้นเรื่องสำคัญ ของนักแสดงตลกที่มีคนรักมากที่สุดในโลกอย่าง Buster Keaton ที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงมากที่สุดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะในแง่มุมการเล่นกับสื่อภาพยนตร์ มองภาพยนตร์เป็นสื่อชนิดหนึ่งมากกว่าเป็นเรื่องเล่าที่เป็นจริง (ซึ่งจาก ปัจจุบัน มันอาจเป็นมุมมองเก่า แต่หนังเรื่องนี้สร้างในปี 1924 ซึ่งเป็นยุคต้นๆของภาพยนตร์เลยทีเดียว)

Artavazd Peleshyan's shorts
ชื่ออาจอ่านยากไม่คุ้นหู แต่ Artavazd Peleshyan คือผู้กำกับภาพยนตร์คนสำคัญชาวอาร์เมเนีย แม้ชื่อของเขาจะตกสำรวจในโลกภาพยนตร์ หาก Sergei Paradjanov ผู้กำกับคนสำคัญ(ที่ไม่ตกสำรวจ)กลับบอกว่านี่คือคนไม่กี่คนที่เป็นอัจฉริยะของโลกภาพยนตร์ งานของ Peleshyan แทบไร้บทสนทนา โดยมากเป็นเพียงการจ้องมองมนุษย์ สัตว์ หรือสิ่งต่างๆ โดยประสมทั้งภาพที่มีคนถ่ายไว้ กับภาพที่เขาถ่ายไว้เอง งานของเขามักไม่ยาว และไม่มีบทสนทนา เป็นการจ้องมองที่จู่จับลงไปในภาพและสร้างความรู้สึกพิเศษ อันน่าทึ่ง และนี่คืองานบางส่วนของเขา

Life (Artavazd Peleshyan/1993/Armenia) 7 mins
ภาพการจับจ้องความปวดร้าวระยะประชิดของหญิงสาวผู้หนึ่ง กล้องจดจ่ออยู่กับใบหน้าอันทุรนทุรายของหล่อนเพื่อที่จะให้คำตอบอันงดงามเหลือเชื่อ

End (Artavazd Peleshyan/1994/Armenia) 10 mins
ภาพการจับจ้องหลากหลายชีวิตที่ล่องไปบนขบวนรถไฟ ภาพใบหน้าอันสวยงามและเศร้าสร้อยของหลากหลายผู้คนตั้งแต่คนแก่เฒ่า หนุ่มสาว ไปจนถึงเด็กน้อย พวกเขาคือบรรดาผู้อพยพจากแดนสงครามที่เดินทางเข้าไปสู่ความมืดมิด

Bread and Alley (Abbas Kiarostami/1970/Iran) 10 mins
หนังสั้น debut ของAbbas Kiarostrami หัวหอกผู้กำกับ Iran New Wave ที่ตอนนี้กลายเป็นผู้กำกับระดับปรมาจารย์ไปเรียบร้อยแล้ว หนังของ Kiarostrami มักเล่าเรื่องโดยใช้เด็กๆเป็นตัวเดินเรื่อง เล่าอย่างเรียบง่ายด้วยรูปแบบคล้ายสารคดี หากมีท่าทีคมคายต่อการวิพากษืประเด็นปัญหาในอิหร่าน จนทำให้งานของเขาเป็นที่ชื่นชมจากคนดูทุกมุมโลก แม้ในระยะหลังงานของ Kiarostrami จะดิ่งลึกสู่การสร้าสุนทรียะส่วนบุคคลที่ต้องอาศัยการตีความอย่างละเอียดลึกซึ้งมากขึ้น แต่งานยุคแรกๆของเขาก็ดูง่าย งดงามและไม่เพ้อเจ้อเลยแม่แต่น้อย
หนังเรื่องนี้ว่าด้วยเด็กชายคนหนึ่งที่ต้องผเชิญปัญหาหนักอกระหว่างทางกลับบ้าน นั่นคือเจ้าหมาน่ากลัวที่คอยเห่าไล่ จนเขาต้องหยุดรอให้หมาไปแต่รอจนง่วงเหงาหาวนอนหมาก็ยังไม่ไป เจ้าเด็กน้อยจึงต้องหาวิธีใหม่ๆในการกลับบ้าน

April (Otar Ioseliani/1962/Georgia) 45 mins
หนังเรื่องแรกของ OTAR IOSELIANI ผู้กำกับคนสำคัญแห่งจอร์เจีย (หนึ่งในสหภาพโซเวียต) หนังเงียบขาวดำของเขาเรื่องนี้เปิดตัวด้วยภาพของผู้คนที่พากันแบกข้าวของ เครื่องใช้ไปมาเข้าออกห้องหับต่างๆ ในอาคารต่างๆ หนุ่มสาวคู่หนึ่งแอบหยอกล้อเล่นตามตรอกซอกซอยเล็กแคบ เข้าบ้านนั้นออกบ้านนี้ ก่อนจะมาลงเอยกันในห้องโล่งที่ไม่มีเฟอร์นิเจอร์สักชิ้น ตอนนั้นเธอและเขามีความสุขนั่งซบหลังไหล่กันบนพื้น มองดูชีวิตคนอื่นๆจากช่อง หน้าต่าง จนกระทั่งชายที่ชั้นล่างคนหนึ่งยกเก้าอี้ตัวหนึ่งให้คนทั้งคู่ พวกเขาก็เริ่มต้นสร้างครอบครัว สาละวนอยู่กับการซื้อหาเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหม่ และทำความสะอาดเครื่องเรือนเก่าที่วางกองเต็มบ้านจนไม่มีที่แม้แต่จะยืน มิพักต้องมาคิดเรื่องกอดกัน ข้างบรรดาเพื่อนบ้านที่ตึกฝั่งตรงข้ามที่มีทั้งครูบัลลเล่ต์กับลูกศิษย์ วงดนตรีเครื่องเป่า และหนุ่มนักกล้าม ก็วุ่นวายอยู่ทั้งกับภาระส่วนตัวและเสียงอึงอลจากการเข้าออกไม่รู้จบของ บรรดาเครื่องเรือน ต้นไม้ในฝันที่หนุ่มสาวเคยพบกันก็ถูกโค่นลงแล้ว
หนังเล่าเรื่องเหนือจริงได้อย่างชวนฝัน รื่นรมย์ เต็มไปด้วยอารมณ์ขัน ขณะเดียวกันก็ร้าวรานอย่างยิ่ง

Darkness/ Light / Darkness (Jan Svankmajer / 1990/ Czech) 8 mins
JAN SVANKMAJER เป็นศิลปินที่ทำงานแบบเหนือจริง โดยอาศัยสื่อหลากหลายรูปแบบ งานของเขาส่งอิทธิพลต่อผู้กำกับมากมายไม่ว่าจะเป็น TIM BURTON , TERRY GILLIAM หรือพี่น้องตระกูล QUAYS (สองคนหลังนี้ เป็นลูกศิษย์ของเขาเอง และ เคยทำอนิเมชั่น THE CABINET OF JAN SVANKMAJER เพื่ออุทิศให้กับเขาด้วย) เขาได้รับยกย่องในฐานะของคนทำงาน stop motion อันมีเอกลักษณ์ เฉพาะในการสร้างภาพเหนือจริง ฝันสยองซ่อนอารมณ์ขบขันตามสไตลบ์ยุโรปตะวันออกซึ่งเจืออารมณ์ขื่นสยองแบบคาฟกาเต็มที่ จนถึงตอนนี้เขายังคงทำหนังอยู่ในปราก หนังของ Svankmajer มักเต็มไปด้วย การมีชีวิตของข้าวของเหลือใช้ เฟอร์นิเจอร์พังๆ ตะปูขึ้นสนิม หรือซากสัตว์ แต่สิ่งที่พบเห็นเป็นตัวละคร (และเป็นสื่อ) ของเขาคืออาหาร ที่เขาหยิบจับมันมาเล่นอย่าสนุกสนาน และชวนกระอักกระอ่วนได้ในหลายต่อหลายคราว ข้าวของถูกทำให้มีชีวิตโดยใช้เทคนิค STOP MOTION (ถ่ายทีละชอต แล้ว ขยับทีละนิดจนบังเกิดความเคลื่อนไหว ) หนังของ Svankmajer ทุกเรื่องถูกแบนในประเทศบ้านเกิด แต่นอกบ้านเขาคือ ปรมาจารย์คนสำคัญของโลก
Darkness /Light / Darkness เป็นอนิเมชั่นดินปั้นที่เล่นกับอวัยวะชิ้นส่วนของมนุษย์ในห้องเพดานต่ำ เล่ามากกว่านี้ไม่ได้ ต้องดูเองเหวอเอง!

Inextinguishable fire (Harun Farocki /1969/German) 21 mins
HARUN FAROCKI เป็นผู้กำกับลูกครึ่งเยอรมัน อินเดีย ที่ทำหนังแบบไม่เล่าเรื่อง มาตั้งแต่ปี 1960 หนังของเขามักเต็มไปด้วยประเด็นทางสังคมและการเมือง สะท้อนภาพความสนใจในลัทธิ มาร์กซ และพุ่งเป้าไปยังการพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ , ระบบอุตสาหกรรม , คุก , การใช้ระเบิดนาปาล์ม , ห้างสรรพสินค้า , การปฏิวัติ และอื่นๆ เขาใช้วัตถุดิบหลากหลายในการสร้างสรรค์หนังของเขา ตั้งแต่ภาพข่าว สารคดีรูปถ่าย หนังข่าวและมักมี คำบรรยาย หรือมีผู้เล่านั่งเล่าเรื่องไปพร้อมกับภาพ นักวิจารณ์หลายคนเรียกหนังของเขาว่า essay film บางคนเรียกเขาว่า the best known-unknown director เพราะแม้เขาจะดังมากในทั่วโลก (CAHIERS du CINEMA เคยเขียนบทความถึงเขาโดยใช้ชื่อว่า who is Farocki ? ) อต่เขากลับไม่เป็นที่รู้จักนักในเยอรมัน
Inextinguishable fire เป็นหนังต่อต้านสงครามเวียดนามพันธุ์พิเศษ ที่ประกอบขึ้นจากภาพการอ่านแถลงการณ์แบบอ่านจริงเจ็บจริงประสมกับภาพฟุตเตจข่าวเก่าๆ โดยทั้งหมดถูกเอามารื้อสร้างใหม่ให้กลายเป็นหนัง essay film ที่แสบกัยถึงทรวงถึงใส้!

Yevgeny Yufit's shorts


Spring (Yevgeny Yufit /1987 /USSR) 10 mins +
Fortitude (Yevgeny Yufit/1988/USSR) 3 mins
กลุ่มหนังสั้นของ Mazhalala Film ในช่วงทศวรรษ 1980's นี้เอง ที่เป็นจุดกำเนิดของหนังตระกูล Necrorealism ซึ่ง Yevgeny Yufit ตั้งใจจะเย้ยหยันศิลปะแนว Socialist Realism ที่รัฐบาลคอมมิวนิสต์โซเวียตพยายามสนับสนุนและส่งเสริมเพื่อสร้างภาพลักษณ์ อันดีงามของระบอบการปกครองแบบสังคมนิยม
ผลงานเด่นของ Mazhalala Film ในช่วงนี้ มักจะถ่ายทำกันด้วยฟิล์มขาวดำหมดอายุ ให้ภาพที่แลดูดิบหยาบราวกับเป็นหนังที่สร้างกันมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1910's แล้วเพิ่งจะมีการค้นพบ โดยภาพที่ปรากฏในหนังมักจะเป็นการสะท้อนถึงการ 'ถูกกระทำ' ทางจิตวิญญาณของผู้คนในรัสเซียอันเป็นผลมาจากระบอบการปกครอง ซึ่งรังแต่จะลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้คนลงจนแทบจะไม่เหลือความเป็นคน อีกต่อไป หนังสั้นในยุคนี้จึงอุดมไปด้วยภาพการถูกสังหารและทารุณกรรมด้วยวิธีการต่าง ๆ นานาจากคนในเครื่องแบบที่เป็นตัวแทนของฝั่งรัฐบาลไม่ว่าจะเป็น ทหาร หรือ บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งถึงแม้ว่าการกระทำในหลาย ๆ ฉากจะชวนให้หวาดเสียว แต่ Yevgeny Yufit ก็ดูจะระมัดระวังในการคุมโทนออกมาไม่ให้แลดูน่ากลัวจนประเจิดประเจ้อแบบที่ เห็นกันบ่อยครั้งในหนังสยองขวัญ เพื่อให้ฉากต่าง ๆ เหล่านี้ยังมีน้ำหนักในฐานะภาพเปรียบเปรยถึงสิ่งที่รัฐบาลกระทำต่อประชาชน ของเขามากกว่าจะเป็นการสร้างความน่ากลัวกันอย่างไร้เหตุผล

Superbia (Ulrike Ottinger/1986/German)16 min

หนังสุดเหวอของคุณป้ามหาภัย Ulrike Ottinger ผู้กำกับหญิงห่ามเพี้ยนจากเยอรมันที่ทำหนังอย่างไม่ประนีประนอม หนังของ Ottinger มักฉูดฉาดทั้งเสื้อผ้าหน้าผม เต็มไปด้วยตัวละครหญิงเปรี้ยวแรงชนิดสุดลิ่มทิ่มประตู คุณป้า Ottinger ไม่เคยรีรอจะวิพากษ์วิจารณืด้วยน้ำเสียงเฟมินิสต์ หาก เจือความพิลึกพิลั่นราวกับตัวละครมาจากจักรวาลอื่น ขณะเดียวกันก็ยังคงความอ่อนไหวแบบผู้กำกับหญิงผู้ละเมียดละไมด้วย
Superbia เป็นหนังสั้นพักยกของคุณป้า ที่เล่าเรื่องชบวนพาเหรดประหลาดโลกที่มีทั้งราชินี ส่ำสัตว์ คนแคระ ขบวนทหารทุกคนแต่งตัวพิลึกพิลั่น กระทำกิริยานอกคอก ในขณะเดียวกันก็ซ้อนเข้ากับภาพขวบนทหารนาซี วิพากษ์สงครามได้เจ็บแสบบาดลึกยิ่ง!

Rocky VI ( Aki Kaurismaki /1986/Finland) 9 min
หนังสั้นยุคต้นของผู้กำกับหน้าตายใจงามชาวฟินแลนด์ Aki Kaurismaki ผู้กำกับที่มักทำหนังเล่าเรื่องคนเล็กคนน้อย ไร้อารมณืที่ต้องผเชิญชะตากรรมหน่วงหนักหากก็ก้มหน้าฝ่าฟันกับมันไป ในจักรวาลที่ทุดอย่างเป็นสีทึมหม่นโทนเดียว เหมือนหลุดมาจากยุคหนังโบราณที่กาลเวลาแชข่แข็งเอาไว้
Rocky 6 สร้างก่อน Rocky 4 (ของจริง) หมายความว่ามันเป็นหนังที่มีเป้าประสงค์จะล้อเลียนหนังฮอลลีวู้ดเรื่องนั้ โดยเปลี่ยนให้เป็นเรื่อง ของนักมวยขี้เหล้าชาวฟินแลนด์ แลร้อยแปดวิธีการซ้อมแบบหัวราน้ำ ก่อนจะต้องขึ้นชกกับนักชกขาใหญ่ ใครจะรู้ ว่าถึงที่สุด Rocky ต้นฉบับ มันจะกระดึ๊บมาถึงภาค6 จริงๆ แต่เชื่อเถอะความันส์ มันต่างกันเยอะ!

Psy - Show (Marina de Van/1999/FR) 22 min

หลายคนรู้จัก Marina de Van ในฐานะมือเขียนบทคู่บุญของ Francios Ozon ผู้กำกับชาวฝรั่งเศส ซึ่งในระยะหนึ่งทั้งคู่เคยร่วมกันทำหนังเพี้ยนพิลึกจนเกือบวิปริต แต่สนุกสนานและคมคายไว้หลายเรื่อง ตัว Marina de Van เองเพิ่งกำกับหนังใหญ่ไปสองเรื่อง เรื่องแรก In My Skin ว่าด้วย ผู้หญิงที่กินเนื้อตัวเอง ส่วนเรื่องหลังว่าด้วยหญิงงามสองคนที่คนหนึ่ง เอ่อ ค่อยๆกลายเป็นอีกคน!
เฟมินิสต์จ๋า ส่อเค้าหญิงบ้ามาแต่ไกล เราจะพาคุณไปพบกับหนังสั้นยุคต้นของเธอที่ฉายแววความเฮี้ยนมาตั้งแต่ต้นแม้จะยังไม่เฟมินิสต์ เท่ายุคหลังก็ตาม Psy Show ว่าด้วยเรื่องของชายที่กำลังเข้าสู่วิกฤติวัยกลางคน ที่กำลังปรึกษาจิตแพทย์ซึ่งเป็นเจ้าของเก้าอี้บินได้! และไอ้เก้าอี้พิลึกนี้ยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ของหมอกับคนไข้พิลึกพิลั่นเกินจะรับ!

The Skywalk is gone (Tsai Ming Liang/2002/Taiwan ) 25 min

หนังสั้นที่เป็นเสมือนข้อต่อของหนังยาวสองเรื่อง( What Time Is It There? และ The Wayward Cloud) ของไฉ่มิ่งเหลียงผู้กำกับชาวไต้หวันที่สนุกสนานกับการเล่าหนังอันเต็มไปด้วยภาวะขันขื่น ของบรรดาตัวละครหน้าตายในฉากนิ่งเนิบที่ยิ่งยิ่งยิ่งฮา และแน่นอนยิ่งฮายิ่งเจ็บ หนังของไฉ้มักมีองค์ประกอบแปลกพิลึกพิลั่น ตัวละครครึ่งคนครึ่งใบ้ที่ผเชิญสถาณการณืกลืนไม่เข้าคายไม่ออก (บ่อยครั้งมันออกจะเหวอมากกว่าสมจริง)
แต่ไม่ว่าจะเคยดูหนังทั้งสองเรื่องนั้นหรือไม่ เราก็ดูหนังเรื่องนี้ได้อย่างสนุกสนาน เพราะนี่คือหนังทีเล่าเรื่องของ อาอี๊ที่บัตรประชาชนหาย ผู้หญิงที่ตามหาสะพานลอย และชายขายนาฬิกาที่กำลังไปแคสท์บทหระเอกหนังป๊!



FILMVIRUS SHORTS : WILDYPE @ หอศิลป์จามจุรี ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ชวนชม WILD TYPE : FILMVIRUS SHORTS! โปรแกรมหนังสั้นคัดสรรประจำปี 2552 ฉบับ ชุดเล็ก! ภาพยนตร์ฉายกลางแจ้งหน้าหอศิลป์ในงาน Art Square จตุรัสศิลป์ ครั้งที่ 7 ที่หอศิลป์จามจุรี ถัดจากมาบุญครอง (ฝั่งตรงข้ามอุเทนถวาย) ดูแผนที่ได้ที่นี่:
http://jamjureeartgallery.blogspot.com/

ชมฟรี ในงานวันที่ 17 ธันวาคม ฉายเวลาประมาณ 18.00 น. เป็นต้นไป
หมายเหตุ : ในงานเดียวกันนี้ ยังฒีโปรแกรมฉายหนังคัลท์ ขั้นเมพ ในวันที่ 15 และ 16 เวลาเดียวกันนี้ ดูโปรแกรมทั้งสามวันได้ที่ http://twilightvirus.blogspot.com/2009/11/art-square-2009.html

3 comments:

mike said...

พี่ ๆ ลืมฉายหนังที่ มธ. ป่าวคับ ไม่มีหนังจะดูแล้ว - 55

filmvirus said...

อ้าว โชคดีที่ไมค์เตือน ลืมไปแล้วเน้อ แล้วจะจัดทันไหมเนี่ย

filmvirus said...

เตือนซะตกใจ โชคดีโปรแกรมยังไม่หมด โปรแกรมยังมีถึง 17 มกรา ไม่ใช่ 17 ธันวา แต่เดี๋ยวจะรีบบอกโปรแกรมเมอร์บิ๊ก ๆ และโปรแกรมเมอร์ป่วย ๆให้นะว่ามีคนดูกำลังจะลงแดง

คนลักหลับ

My photo
Filmvirus เป็นนามปากกาเดิมของสนธยา ทรัพย์เย็น จากคอลัมน์ “นิมิตวิกาล” ที่ใช้ในนิตยสาร Filmview ปี 2537 ต่อมาในปี 2538 สนธยาได้ก่อตั้ง “ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์” หรือ DK.Filmhouse (Filmvirus) จัดฉายหนังด้อยโอกาสให้ผู้สนใจชมฟรี พร้อมจัดพิมพ์หนังสือด้านหนัง และวรรณกรรม ชุด Filmvirus / Bookvirus (ส่วนหนังสือ “คนของหนัง” ปี 2533 นั้นเป็นผลงานก่อนตั้งฟิล์มไวรัส) ส่วนผลงานอื่นๆ ปี 2548 เป็นกรรมการเทศกาลหนัง World Film Festival of Bangkok , ปี 2552 กรรมการ Sydney Underground Film Festival, งาน Thai Short Film and Video Festival ของมูลนิธิหนังไทยครั้งที่ 1 และปี 2548-2549 เป็นเจ้าภาพร่วมจัดเทศกาลประกวดหนังนานาชาติ 15/15 Film Festival, Australia