ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ร่วมกับ สำนักหอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และ The Reading Room ขอเชิญชม
โปรแกรมภาพยนตร์ ‘ประพันธกรต้องตาย!’
“Death of the Authors” Film Program
ร่วม ชมภาพยนตร์สายพันธุ์เสพสังวาสกับฝั่งฟากวรรณกรรมที่ทั้งหวานชื่นและขื่นขม ด้วยรักและชัง การสู้รบปรบมือ ปรับแปลงพันธุกรรม เสพสมบ่มิสม ระหว่างภาพเคลื่อนไหวและตัวหนังสือ ทั้งที่ผู้ประพันธ์ลงมากำกับเองหรือถูกผู้อื่นนำไปตีความใหม่แบบไม่เหลือเค้า แน่นอนว่าประพันธกรต้องตายก่อน แต่ผู้อ่านและผู้ชมจะตายช้ากว่าหรือไม่ มีแต่ตัวบทแบบไหนที่จะดำรงคงอยู่ท่ามกลางสมรภูมิที่ไม่มีใครยอมใครนี้ Filmvirus ขออนุญาติมอบโปรแกรมนี้กำนัลล่วงหน้าก่อนการมาถึงของบรรดากลุ่ม “นักอ่านมรณา” ที่จะมา ‘อ่าน’ บรรดาหนังสือไทยเทศในอนาคตอันใกล้ ที่บล็อก ‘อ่านเอาตาย’ http://thedeadreader.com โปรดติดตามชม ดวยความระทึกในหทัยพลัน
โปรแกรมภาพยนตร์ชุดที่ 1- ฉายทุกวัน อาทิตย์ ระหว่างวันที่ 7 พฤศจิกายน – 28 พฤศจิกายน 2553
รอบแรกเวลา 12.30 น. และรอบสอง 14. 30 น. (โดยประมาณ) ณ ห้องเรวัติ พุทธินันทน์ ชั้นใต้ดิน U2 หอสมุด ปรีดี พนมยงค์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
โทรศัพท์ 0-2613-3529 หรือ 0-2613-3530
ชมฟรี!!! (โปรดแจ้งเจ้าหน้าที่ห้องสมุดว่ามาชมภาพยนตร์ และกรุณาแต่งกายสุภาพ)
* สำหรับโปรแกรมภาพยนตร์ชุดที่ 2 ฉายที่ The Reading Room สีลม ซอย 19 - เริ่มฉายวันเสาร์ที่ 27 พฤศจิกายน และชมฟรีเช่นกัน (โทร 02-635-3674) - โปรดตรวจสอบวันเวลาอีกครั้งที่เว็บไซต์ http://www.readingroombkk.org
7 พ.ย. 2553
The Dancing Girl of Izu
(Heinosuke Gosho กำกับ /1935/ ญี่ปุ่น)
จากเรื่องสั้นที่เคยแปลไทยเรื่อง “นักระบำเมืองอิซุ” คาโอรุ หญิงสาวในคณะละครรำญี่ปุ่นเดินทางเร่มาถึงเมืองอิซึ เกาะกลางน้ำ เธอหลงรักกับนักเรียนหนุ่มคนหนึ่งซึ่งเข้าร่วมคณะด้วย หนังถ่ายทอดภาพความอ่อนหวานของความรักหนุ่มสาว ท่ามกลางความยากลำบากของคณะละครเร่ ทั้งหมดยังไปเกี่ยวข้องกับตระกูลใหญ่ ที่เป็นเพื่อนรุ่นพี่ของนักเรียนหนุ่มอีกด้วย
หนังดัดแปลงจาก เรื่องสั้นของ Yasunari Kawabata นักเขียนญี่ปุ่นเจ้าของรางวัลโนเบล เรื่องสั้นเรื่องนี้มีการสร้างเป็นภาพยนตร์หลายครั้ง แต่ฉบับที่มีชื่อมากที่สุดคือฉบับหนังเงียบนี้ซึ่งกำกับโดย Heinosuke Gosho ผู้กำกับที่หนังของเขามักจะสะท้อนภาพชีวิตประจำวันที่สมจริง ปรุงผสมด้วยอารมณ์ขันกรุ่นความเจ็บปวดระหว่างคนในครอบครัว ถ้าเทียบกับหนังของครูหนังคนอื่นๆ อย่าง Mikio Naruse หรือ Yasujiro Ozu หนังของเขามักจะมีตัวละครหลากหลายและถ่ายทำในโลเกชั่นมากแห่งกว่า ส่วนเรื่องการใช้กล้องที่บอกอารมณ์ตัวละครและกำกับนักแสดงหญิงนั้นเขาถือ เป็นยอดฝีมือคนหนึ่งเลยทีเดียว (ดัดแปลงข้อมูลจาก Bookvirus เล่ม 1)
Fate: Tales about Darkness
(Zeki Demirkubuz กำกับ /2001 / ตุรกี)
Musa หนุ่มพนักงานบัญชีในสำนักงานศุลกากรเป็นคนที่เชื่อในความว่างเปล่าและไร้สาระของชีวิต เขาไม่เคยต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความเปลี่ยนแปลงใดๆ เพียงปล่อยให้ตัวเองลอยละล่องอยู่กลางเหตุการณ์ต่างๆ เพราะเขาเชื่อว่าอย่างไรเสียสุดท้ายมันก็จะจบลงเหมือนๆกัน ความตายของแม่ไม่ได้มีผลอะไรกับชีวิตเขา แม้ว่าเขาจะรักเธอ จะว่าไป อันที่จริงความตายของแม่ทำให้เขารู้สึกเบิกบานด้วยซ้ำไป และเพื่อหลีกเลี่ยงการต้องตัดสินใจใดๆ เขาแต่งงานกับหญิงสาวที่เขาไม่ได้รักชอบ เพียงแค่เพราะเธอต้องการแต่งกับเขาเท่านั้น ท่ามกลางในโลกจริงๆ ผู้คนล้วนต่างต้องเผชิญหน้ากับชะตากรรมด้วยเจตจำนงและ อำนาจที่เขามี Musa กลับเลือกวางเฉย ต่อมาเขาถูกจับจากอาชญากรรมที่เขาไม่ได้เป็นคนก่อ แต่เขาว่าเขาก็ไม่ได้สนใจมันเหมือนกัน
ดัดแปลงจากเค้าโครงนิยายเรื่อง “คนนอก” (L’ Etranger) ของ Albert Camus นักเขียนฝรั่งเศสเจ้าของรางวัลโนเบลปี 1957 (สำนักพิมพ์สามัญชน) หนังกำกับโดย Zeki Demirkubuz ผู้กำกับชาวตุรกีคนสำคัญที่ยังตกสำรวจ ผู้ซึ่งต้องหาทุนทำหนังเอง และไม่ค่อยเป็นที่รู้จักนอกตุรกี ด้วยรูปแบบการทำหนังแบบ ‘น้อยแต่มาก’ และเล่าเรื่องที่มุ่งหมายตรวจสอบชะตากรรมอันหดหู่ของมนุษย์
14 พ.ย. 2553
The Crucible
(Raymond Rouleau กำกับ /1957/ ฝรั่งเศส)
ย้อน ไปในปี 1692 ในเมือง SALEM ประเทศฝรั่งเศส ช่วงขวบปีแห่งการล่าแม่มดของจริง ช่วงเวลาของเรื่องเล่า ข่าวลือ การใส่ร้ายป้ายสี และอาการฮิสทีเรียหมู่ John Proctor หนุ่มชาวนา เผลอไผลไปมีความสัมพันธ์กับกับAbigail เด็กหญิงอายุ 17 เนื่องจาก Elizabeth ภรรยาผู้เคร่งศาสนาปฏิเสธการมีสัมพันธ์กับเขา เมื่อหล่อนรู้เรื่อง หล่อนก็ขับไล่Abigail ออกจากบ้านด้วยความเห็นชอบของสามี และนั่นทำให้Abigail สาบานว่าเธอจะล้างแค้น โอกาสมาถึงเมื่อ เมื่อเธอประกาศว่าElizabeth เป็นแม่มด และเกลี้ยกล่อมบรรดาสตรีในหมู่บ้านให้คล้อยตามเธอ ไม่เพียงแต่ Elizabeth เท่านั้น แม้แต่ John ก็ถูกกล่าวหาด้วย Abigail เสนอทางเลือกให้กับเขาเพื่อให้รอดพ้นจากการถูกแขวนคอ นั่นคือการใส่ร้ายภรรยาตนเอง
ภาพยนตร์ดัดแปลงจากบทละครของ Arthur Miller ที่เขียนบทละครเรื่องนี้ขึ้นเพื่อระบายความอึดอัดคับข้องในสมัยที่อเมริกา ‘ล่าแม่มด’ ในรูปของลัทธิคอมมิวนิสต์ที่นำโดยท่านวุฒิสมาชิก โจเซฟ แมคคาร์ธี ซึ่งฉบับนี้ดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์โดยนักเขียนและนักปรัชญาคนสำคัญของฝรั่งเศส Jean-Paul Sartre (บทละครเรื่องนี้มีแปลเป็นไทยในชื่อ “หมอผีครองเมือง”)
The Joke
(Jaromil Jires กำกับ /1969/ เช็ก)
ใน ช่วงทศวรรษที่ 1950 Ludvik Jahn โดนขับไล่ออกจากพรรคคอมมิวนิสต์โดยฝีมือลูกศิษย์ของเขาเอง โดยมีเหตุเนื่องจากโน้ตเล็กๆ แผ่นเดียวที่เขาส่งให้แฟนสาว สิบห้าปีต่อมา Ludvik จะกลับมาทวงแค้นโดยการเป็นฝ่ายยั่วยวน Helena ภรรยาของลูกศิษย์คนหนึ่งของเขาเอง
ภาพยนตร์ขำขื่นคมคาย แสบทรวงเรื่องนี้ กำกับโดย Jaromil Jires ผู้กำกับหนังเหวอวาบหวามอย่าง Valeries and Her Weeks of Wonder และเขียนบทภาพยนตร์โดย Milan Kundera (ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต, อมตะ) นักเขียนนามอุโฆษ ว่ากันว่านี่เป็นครั้งเดียวที่เขาเข้าไปเกี่ยวข้องกับงานภาพยนตร์และเขาไม่ ค่อยพอใจมันนัก แม้ว่าตัวหนังจะได้รับคำชมไม่น้อย ก็ตาม
21 พ.ย. 2553
A Very old man With Enormous Wings
(Fernando Birri / 1988 / คิวบา + อิตาลี + สเปน)
จากหนังสือแปลในชื่อเดียวกัน ชาย แก่ที่มีปีกขนนกยักษ์ตกมาจากท้องฟ้าลงมาในเล้าไก่ของผัวเมียชาวบ้านคู่ หนึ่ง เจ้าตัวประหลาดนี้กลายเป็นของโชว์ในงานคาร์นิวัลที่มีผู้เข้ามาแห่ชมอย่างล้นหลาม งานสร้างจากเรื่องสั้นชื่อเดียวกันของ การ์เบรียล การ์เซีย มาร์เกซ นักเขียนรางวัลโนเบลชาวโคลัมเบีย ซึ่งร่วมเขียนบทเองด้วย (ดัดแปลงข้อมูลจาก Bookvirus เล่ม 1)
(Kon Ichikawa กำกับ /1959/ ญี่ปุ่น) 107 นาที
เคนโมชิ พยายามกู้อารมณ์ทางเพศที่เสื่อมถอยในวัยชราด้วยกลวิธีสารพัด เริ่มจากไดอารี่ลับของเขาและภรรยา ถ่ายภาพเปลือยของเธอ รวมทั้งเปิดโอกาสให้เธอมีความสัมพันธ์กับหมอหนุ่มแฟนของลูกสาว ฝ่ายภรรยาของเขาที่มักมากในกามก็ได้ที วางแผนคบชู้กับว่าที่ลูกเขยโดยตั้งใจจะปรนเปรอ เคนโมชิ ให้ตายในกามกิจ
ฉบับหนังดัดแปลงแตกต่างพอสมควรจาก “The Key” ฉบับนิยายของ Junichiro Tanizaki (ฉบับแปลไทยโดย สุจินดา ขันตยาลงกต / สำนักพิมพ์บ้านหนังสือ) ดูเหมือนว่าจะไม่มีที่ว่างให้ความดีงามของคนเหลืออยู่เลย Kon Ichikawa ผู้กำกับหนังคลาสสิกรุ่นลายครามของญี่ปุ่นกล่าวว่าตัวละครเหล่านี้ไม่มีวิญญาณของมนุษย์จึงไม่นับเป็นผู้เป็นคน พวกเขาสมควรตาย (ดัดแปลงข้อมูลจาก Bookvirus เล่ม 1)
28 พ.ย. 2553
I, Pierre, Rivere (Rene Allio กำกับ / 1976/ ฝรั่งเศส) - 124 นาที
Pierre Rivière ฆาตกรรม มารดา พี่สาว และพี่ชายของเขา เพื่อปลดปล่อยให้พ่อของเขาเป็นอิสระจากชีวิตอันน่าเบื่อหน่าย โดยหนังแสดงภาพการฆาตกรรมนี้จากหลากหลายมุมมอง รวมถึงพยานหลักฐานที่ชวนให้ประหลาดใจทั้งจากบันทึกที่ตัว Pierreเองเขียนขึ้นในคุก จากเรื่องเล่าเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมทางประวัติศาสตร์ในขณะเกิดเหตุ รวมไปถึงความเข้าใจของเราที่มีต่อ ‘ความจริง’
นี่คือหนังที่ น่าตื่นตาตื่นใจ Rene Allio ผู้กำกับหนังเลือกใช้นักแสดงหน้าใหม่ที่เป็นชาวบ้านซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุจริงๆ ทำให้หนังเต็มไปด้วยความน่าเชื่อถือ และความเป็นธรรมชาติแบบที่หาไม่ได้นักแสดงอาชีพ หนังสร้างจากหนังสือของMichel Foucault นักปรัชญาคนสำคัญของฝรั่งเศส เจ้าของความคิดเกี่ยวกับ ‘วาทกรรม’ และผู้ศึกษารูปแบบของอำนาจในสังคมร่วมสมัย
Charulata
(Satyajit Ray กำกับ /1964/ อินเดีย) 117 นาที
หนึ่งในภาพยนตร์ชั้นยอดของ Satyajit Ray เล่าชีวิตของภรรยาสาวที่ถูกสามีบ้างานการเมืองทอดทิ้งอยู่กับชีวิตที่สะดวกสบายน่าเบื่อหน่าย เมื่อเธอมีโอกาสคบหากับ อามาล นักศึกษาหนุ่มผู้เปี่ยมความกระตือรือร้นช่างคิดช่างฝันและมีความสนใจใกล้ เคียงกัน ทั้งความโรแมนติค ศิลปะ วรรณกรรม มิตรภาพซึ่งเบ่งบานระหว่างทั้งสองจึงนำไปสู่การค้นพบตัวเองที่เธอไม่คิดฝันมาก่อน
ในฐานะเป็นคนใกล้ชิด ระพินทรนารถ ฐากูร มาตั้งแต่เด็ก Ray จึงเป็นคนที่มีสมบัติครบในการทำหนังจากบทประพันธ์ของ ระพินทรนารถ ฐากูร อย่างยิ่ง (ดัดแปลงข้อมูลจาก Bookvirus เล่ม 1)
****************************************************************************
โปรแกรมภาพยนตร์ชุด 2- ฉายเฉพาะที่ The Reading Room สีลม ซอย 19 (โทร 02-635-3674)
A Page of Madness
(Teinosuke Kinugasa กำกับ/ 1926 / ญี่ปุ่น) 60 นาที
หนัง เงียบระดับตำนานที่ได้ชื่อว่าเป็น The Man With a Movie Camera หรือ The Cabinet of Dr. Caligari ของวงการหนังญี่ปุ่น ผลงานการกำกับของ Teinosuke Kinugasa จากบทภาพยนตร์ดั้งเดิมของ Yasunari Kawabata นักเขียนรางวัลโนเบลปี 1968 เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชายชาวประมงที่พยายามสมัครเข้าทำงานเป็นภารโรงประจำโรงพยาบาลประสาทแห่งหนึ่ง เพียงเพื่อลักลอบนำตัวภรรยาของเขาซึ่งเป็นหนึ่งในคนไข้ออกมา ผู้กำกับ Teinosuke Kinugasa นำเสนอเรื่องราวด้วยเทคนิคการถ่ายภาพขาวดำอันหนักแน่นหวือหวาผนวกกับการตัด สลับเหตุการณ์ไปมาด้วยลีลาใกล้เคียงงาน Expressionist ของเยอรมนี สร้างภาพหลอนของผู้มีอาการป่วยทางจิตออกมาได้อย่างน่าตื่นตะลึง จนตัวหนังถึงกับเคยถูกนำไปใช้เป็นกรณีศึกษาของบรรดาจิตแพทย์และนักจิตวิทยากันมาแล้ว! หนังเรื่องนี้เคยหายสาบสูญไปเกือบ 50 ปี ก่อนที่ผู้กำกับจะค้นพบฟิล์มหนังอีกครั้งในปี 1971
Orlando
(Sally Porter กำกับ /1992 / สหราชอาณาจักรอังกฤษ / รัสเซีย) 93 min
นวนิยาย ปี 1928 ของ Virginia Woolf นักประพันธ์หญิงแนวกระแสสำนึกคนแรก ๆ ของวงการ ตัวหนังนั้นกลายเป็นภาพยนตร์ที่คนทั่วโลกชื่นชม เรื่องราวของออร์ลันโด้ หนุ่มขุนนางคนโปรดในราชสำนักของพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 1 ที่ได้รับพระราชทานคฤหาสน์โอฬารระหว่างสงครามครั้งใหญ่กับสุลต่านที่คอนแสตนติโนเปิล เขาหลงรักและเลิกราจากเจ้าหญิงรัสเซีย เป็นกวีและราชทูตในแถบเอเชียกลาง ก่อนจะตื่นนอนและพบตัวเองกลายร่างเป็นหญิง ได้อย่างปาฏิหาริย์ เธออยู่ร่วมประวัติศาสตร์อังกฤษกว่า 400 ปี ผ่านสงครามกลางเมือง ยุคล่าอาณานิคมสมัยวิคตอเรียน ในศตวรรษที่ 18 เธอจำเป็นต้องเลือกที่จะแต่งงานมีบุตรสืบสกุล มิเช่นนั้นจะพลาดโอกาสสูญเสียทรัพย์สินทุกอย่าง จนมาถึงศตวรรษที่ 20 ซึ่งเธอกลายเป็นแม่ของเด็กหญิงคนหนึ่ง Woolf แต่งเรื่องนี้โดยอิงถึงเรื่องการรับมรดกของเพื่อนหญิงคนหนึ่ง ที่เธอผูกสัมพันธ์รักใคร่มากเกินเพื่อน ในชีวิตจริงหญิงคนนั้นสูญเสียคฤกหาสน์ที่เธอควรได้รับจากพระราชินีอลิซาเบธ เพระเธอเกิดเป็นผู้หญิง
หนังกำกับโดย Sally Potter ผู้กำกับหญิงชาวอังกฤษเจ้าของหนังอย่าง Yes ที่เข้าฉายในบ้านเราสามสี่ปีที่แล้วที่ใช้เวลาทำหนังเรื่องนี้ถึง 3 ปีครึ่ง (ดัดแปลงข้อมูลจาก Bookvirus เล่ม 1)
The Chinese Botanist’s Daughters
(Sijie Dai กำกับ /2006/ สาธารณรัฐประชาชนจีน / ฝรั่งเศส)
Li Ming ลูกครึ่งพ่อจีนแม่รัสเซียโตขึ้นในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า เธอศึกษาด้านพฤกษศาสตร์และกำลังเข้าฝึกงานกับศาสตราจารย์ Chen นักพฤกษศาสตร์ ที่พาเธอไปอยุ่ยังเกาะห่างไกล ที่ที่เขาอศัยอยู่กับ Ann ผู้เป็นลูกสาว
โดยสตรีทั้งสองนางทำหน้าที่เก็บสมุนไพร และดูแลสวนพฤษศาสตร์ของศาสตราจารย์ พวกเธอใกล้ชิดกันและกันท่ามกลางบรรยากาศเขียวขจีอันสวยสดงดงาม และเริ่มตกหลุมรักกันโดยที่ศาสตราจารย์ไม่รู้เรื่องอะไรเลย จนกระทั่งศาสตราจารย์ แนะนำให้ Li Ming แต่งงานกับ Dan พี่ชายของAn และนั่นอาจจะเป็นหนทางเดียวที่พวกเธอจะได้อยู่ด้วยกัน ยิ่งเมื่อ Dan ไปอยู่กองทหารมากกว่าอยู่บ้าน ดูเหมือนทุกอย่างจะเหมาะเจาะสำหรับคู่รัก หากมันก็ยังคงเดินหน้าไปสู่โศกนาฏกรรมอยู่ดี
นี่คือภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของ Dai Sije นักเขียนและผู้กำกับชาวจีน ที่บ้านเรารู้จักกันดีจากนิยาย(และหนัง) ‘บัลซัคกับสาวน้อยช่างเย็บผ้าชาวจีน’ Dai Sije เกิดในปี 1954 ในครอบครัวชนชั้นกลาง ช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม เขาเคยถูกรัฐบาลของเหมาเจ๋อตุงส่งไปใช้แรงงานใน Sichuan หลังจากกลับจากการใช้แรงงานเขาเรียนจนจบมหาวิทยาลัยในสาขา ประวัติศาสตร์ศิลป์ ปี 1984 เขาได้รับทุนการศึกษาและออกจากจีนไปยังฝรั่งเศส จากนั้นเขาก็เริ่มสนใจทำหนัง ก่อนจะขยับมาเขียนหนังสือ ปัจจุบันยังคงอาศัยอยู่ในปารีส
Successive Slidings of Pleasure
(Alain Robbe-Grillet กำกับ /1974/ ฝรั่งเศส)
หนังเล่าเรื่องของคอนแวนต์ที่มีสภาพคล้ายคุกซึ่งกลุ่มเด็กสาวถูกควบคุมโดยแม่ชี หญิงสาวคนหนึ่งถูกตำรวจและผู้พิพากษาสอบสวน เธอโดนกล่าวหาว่าเป็นแม่มดฆ่าเพื่อนแล้วดื่มกินเลือด เธอท้าทายอำนาจสถาบันและยั่วยวนผู้บริหารหญิงชาย แม้แต่คณะชีก็ไม่มีเว้น
หนัง ของ Alain Robbe –Grillet นักเขียนและผู้กำกับฝรั่งเศสคนสำคัญ เจ้ากระแสงานเขียนทศวรรษที่ 50-60 ที่เรียกกันว่า Nouveau Roman ที่ที่รูปแบบภาษาและบรรยากาศ ถูกให้ความสำคัญมากกว่าเนื้อเรื่องหรือปมจิตของตัวละคร Robbe –Grillet ชอบผสมผสานพล็อตเรื่องของนิยายตลาดราคาถูก (โดยเฉพาะแนวเรื่องนักสืบ) และเรื่องอาชญากรรมอีโรติกเข้ากับวัฒนธรรมศิลปะมีระดับทำให้เกิดงานที่วิพากษ์กรอบหนังแนวนั้นๆ ส่องขยายสัมพันธ์ซ้อนเหลื่อมระหว่างจริตจริงลวงของตัวสื่อหนังเอง อีกทั้งยังปูดโปนความหมกมุ่นทรมานทางเพศที่เน้นเลือดโชกชุ่ม การข่มขืนหมู่ การเสพผงกระชากวิญญาณ ความพิศวงต่อวัฒนธรรมแปลกตาของชนตะวันออก ความหลงใหลในเศษกระจก เงาภาพสะท้อนละคนคู่เหมือน อันทั้งหมดเป็นเอกลักษณ์ในงานเขียนและในภาพยนตร์ของเขา (ดัดแปลงข้อมูลจาก Bookvirus เล่ม 1)
เกี่ยวกับ “วงกตแห่งเนื้อนาง” - Alain Robbe –Grillet: http://twilightvirus.blogspot.com/2007/10/alain-robbe-grillet.html
No comments:
Post a Comment