23.2.09

หนังควบ 13 ปีฟิล์มไวรัส

หนังควบ 13 ปีฟิล์มไวรัส

สรรหาฉายหนังในหัวข้อต่าง ๆ ต่อเนื่องมาถึง 13 ปีแล้ว ในที่สุดคราวเคราะห์ก็รอดจากอก ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ไปลงที่การเรียนเชิญนักเขียน/นักวิจารณ์และคนทำหนัง มาเสนอแนะหัวข้อหนังควบ (ในจินตนาการ) ให้เราดูบ้าง โดยท้าทายให้แต่ละท่านจัดโปรแกรมหนังควบได้ทั้งคู่เหมือน คู่คล้าย และคู่ต่าง ไม่เกี่ยงว่าจะเป็นหนังใน / หรือนอกกระแส ได้ทั้งอาร์ต ตลาด หรือคั้ลต์เขี้ยว

ผลออกมาจึงมีความหลากหลาย ดังเช่นที่บางท่านได้เห็นไปบ้างแล้วบนกรอบภาพที่แขวนเรียงรายในงานฉลอง 13 ปี ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ ที่หอศิลป์จามจุรี ระหว่างวันที่ 9 มกราคม- 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา (ขยายวันแสดงงานจากกำหนดเดิม) แต่สำหรับท่านที่ไม่ว่างไปเยี่ยมชม เราจึงขอนำมาลงเผยแพร่ให้ได้ชมกันที่นี่

ขอขอบคุณนักเขียนทุกท่านที่ส่งผลงานมาร่วมสนุก หวังว่าทุกท่านคงเข็ดฟันกันตามสมควรกับกิจกรรมและตัวงานที่ผ่านไป ยินดีหนักหนาที่ได้พบคอหนังรุ่นเก่า ๆ ตั้งแต่สมัยฉายหนังที่ซีคอนสแควร์ และขอบคุณเพื่อน ๆ ชาวฟิล์มไวรัสทั้งหมด รวมถึงนิตยสารไบโอสโคป, กลุ่ม Third Class Cinema และความเอื้อเฟื้อของพนักงานหอศิลป์จามจุรีทุกท่าน ทั้งรวมอีกหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือขอขอบคุณ คุณ นับวัน นับคืน คอหนังหนึ่งเดียวจากทางบ้านที่ร่วมส่งผลงานจับคู่ที่น่าทึ่งมาให้ได้ยล

หมายเหตุ : ชมภาพจากงานฉลอง 13 ปี ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ :
http://ninamori.blogspot.com/2009/01/13-13th-anniversary-dkfilmhouse.html


อุทิศ เหมะมูล
นักเขียน / นักวิจารณ์ภาพยนตร์

โปรแกรมหนังควบ13 ปี ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ ชุด ใต้เงาแม่

Interiors ผลงานของวู้ดดี้ อัลเลน เมื่อปี 1978 เป็นหนังบูชาครูนามอิงมาร์ เบิร์กแมนอย่างเห็นได้ชัด แต่กระนั้นอัลเลนก็สามารถพอจะทำให้หนังเป็นแบบฉบับของตัวเอง ส่วน L’ ENFER (HELL) เป็นผลงานของเดนิส ทาโนวิก เมื่อปี 2005 นับได้ว่าเป็นหนังบูชาครูเหมือนกัน (ในความหมายที่ไม่เคร่งครัดนัก) เพราะตัวบทภาพยนตร์เป็นของคิชตอฟ คิสลอฟสกี้กับคิชตอฟ พีซีวิช และทาโนวิกเองก็สามารถมากพอจะทำให้หนังเป็นแบบฉบับของตน ด้วยจังหวะจะโคนการดำเนินเรื่องที่กระชับรุดกุม เร่งรุด และเร้าความสนใจ

หนังทั้งสองเรื่องมีเนื้อหาและแกนเรื่องคล้ายกันมาก อันว่าด้วยเรื่องนาวาชีวิตของสามสาวพี่น้อง ที่ห่างเหิน ไม่สนิทสนม และออกจะกินใจกันขั้นบาดหมางร้าวลึก โดยเฉพาะความรู้สึกนึกคิดภายในของแต่ละคนที่ปกคลุมไปด้วยการเอาชนะ ชิงดีชิงเด่น ความรู้สึกด้อย และรู้สึกว่าตนไม่ดีพอ อันกลายเป็นปมฝังใจให้สามพี่น้องต้องวางระยะห่างระหว่างกัน ยิ่งไปกว่านั้นความกระอักกระอ่วน น่าอึดอัดใจ ที่ผลักไสความสัมพันธ์ทางสายเลือดระหว่างกัน ล้วนเกิดขึ้นจากอิทธิพลของมารดา ซึ่งสร้างปมและบาดแผลไว้ให้ลูกสาวสามคนต้องร้อนไหม้ไปด้วยความเห็นแก่ตัวเป็นใหญ่และแรงอาฆาตส่วนตน

แม่ ในหนังทั้งสองเรื่องคือเงาดำสำคัญที่ทอดทาบลงในวิถีชีวิตและความรู้สึกนึกคิดของเหล่าลูกสาว แม่ทำให้ความสัมพันธ์ต้องแตกร้าว คอยบงการ คอยกดเหยียบ และเรียกร้องความสนใจดังว่า ชีวิตของลูกสาวทั้งสามเป็นรยางค์หนึ่งของตน หาได้มีชีวิตเป็นของตัวเองไม่ การคอยบงการ จู้จี้จัดระเบียบในชีวิตลูกสาวทั้งสามเริ่มขึ้นตั้งแต่พวกเธอยังเด็ก คอยตัดสินว่าใครดีกว่าใคร และควรจะรักใครมากกว่า ได้ฝังเชื้อแห่งการประชันขันแข่งลงในจิตใจของลูกทั้งสามคน กระทั่งเมื่อสามสาวเติบโตขึ้น มีชีวิตและครอบครัวเป็นของตัวเอง เงาดำของแม่นั้นก็ทอดทับลงในความสัมพันธ์ที่พวกเธอมีต่อบุคคลอื่น พวกเธอล้วนต่างรังเกียจพฤติกรรมของแม่ แต่ก็ ‘เป็น’ เสียเองโดยไม่รู้ตัว การเป็นเสียเองนั้นหลายครั้งฝังอยู่ในระดับจิตใต้สำนึก อันต่อมายังผลให้เกิดความหดหู่ซึมเศร้าและร้าวฉาน ซึ่งทางชีวิตของพวกเธอ – อาจตระหนักด้วยหวั่นไหวสะท้านใจว่า พวกเธอต่างเป็นสำเนาชีวิตของแม่

แม่ใน INTERIORS เป็นพวกเจ้ากี้เจ้าการ เห็นตัวเองเป็นใหญ่ คอยเรียกร้องความสนใจจากลูกๆ เห็นลูกมีความสุขก็นึกแต่ทุกข์ของตน คอยสุมความผิดบาปให้พวกเธอ แม้ในวาระสุดท้าย ความตายของแม่ ก็เป็นเพียงวิธีการโยนความผิดบาปให้ลูกๆ ความรักของเธอจึงมีกังวานของความพินาศสาปแช่ง เช่นเดียวกับแม่ใน L’ ENFER (HELL) เต็มด้วยความอาฆาตมาดร้าย การจองเวร และการไม่ให้อภัย เธอหล่อเลี้ยงชีวิตด้วยการกล่าวโทษและเห็นว่าผู้อื่นต้องชดใช้ต่อความทุพพลภาพของเธอเอง และไม่เคยสำนึกเสียใจที่ได้จองเวร
โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น บ่อนเซาะและกัดกินชีวิตของลูกสาวทั้งสาม จึงอยู่ที่การหาทางหลุดพ้นจากเงาบาปของแม่ เยียวยาปมฝังใจที่ถูกกรีดบาดไว้ ดึงชีวิตและชะตากรรมกลับมาอยู่ในมือของตัวเอง


ไกรวุฒิ จุลพงศธร
นักวิจารณ์ภาพยนตร์นิตยสาร Bioscope

โปรแกรมหนังควบ13 ปี ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ ชุด ชนแล้วหนี ชีช้ำแน่
The Headless Woman (2008)
Death of a Cyclist (1972)
I Know What You Did Last Summer (1997)

หนังเรื่องแรกเป็นของเจ๊ใหญ่อาร์เจนติน่า ลูเครเซีย มาร์เตล เรื่องที่สองเป็นของ ฆวน อันโตนีโอ บาร์เด็ม ที่หลานชายเป็นนักแสดงสเปนคนแรกที่ได้รางวัลออสการ์ ส่วนเรื่องหลังสุดเป็นหนังสยองขวัญวัยรุ่นที่ทำให้เจนนิเฟอร์ เลิฟ เฮวิตต์ แจ้งเกิดในวงกว้าง

ทั้งสามเรื่องมีโครงเรื่องล้อกันในแง่ของชนชั้นกลางที่ดันเผลอไผลไปขับรถชนชนชั้นล่าง แทนที่จะไปมอบตัวกับตำรวจ พวกนี้ก็กลับหนี แต่หนียังไงก็หนีไม่พ้น ต้องชดใช้กรรมกันไปในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง หนังสองเรื่องแรกวางท่าทีเรื่องชนชั้นกลางอย่างโจ่งแจ้ง ส่วนเรื่องหลังสุดถึงแม้พวกเขาจะเป็นวัยรุ่น แต่พวกเขาน่าจะเป็นชนชั้นกลางในยุคปัจจุบันที่คนไทยเชื่อมโยงได้ง่ายที่สุด เพราะพวกเขาก็เหมือนเด็กมัธยม กทม รวยๆ ที่ถ้าจำไม่ผิดก็ขับรถไปฉลองหลังปาร์ตี้หลังเรียนจบ ว่างั้นเถอะ แถมตัวเหยื่อที่ถูกชน ยังมาตามล้างแค้นในรูปแบบของชนชั้นล่าง (ชาวประมง) อีกด้วย

ถึงหนัง 3 เรื่องนี้จะมีประเด็นที่ไม่เหมือนกัน แต่จุดร่วมแบบกำปั้นทุบดินของทั้งสามก็คือการสั่งสอน ว่าถ้าขับรถชนใคร ก็อย่าหนีเลย สองเรื่องแรกไม่รู้ก่อผลกับคนดูของมันอย่างไร แต่เรื่องหลังสุด พอมานั่งคิดย้อนหลัง (ไปในสมัยตัวเองยังวัยรุ่นอยู่) ก็รู้สึกว่า มันเป็นหนังสยองขวัญที่แตกต่างจากหนังสยองขวัญเรื่องอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด ในแง่ว่ามันมีบทเรียนกันอย่างโต้งๆ ว่า ‘เมาไม่ขับ’

ที่สำคัญก็คือ ชื่อหนังยาวๆ ของมันใช้เป็นประโยคตัวอย่างในการเรียนภาษาอังกฤษสมัยมัธยมได้ดีทีเดียว

นอกจากนี้ โดยส่วนตัวแล้ว เวลานึกถึง I Know What You Did Last Summer ผมมักจะนึกว่ามันเป็นภาค 2 ของ Scream เสมอๆ คือถึงแม้ว่า Scream จะมี Trilogy ของมันเองก็เถอะ แต่ตามความรู้สึกส่วนตัว ผมมักจะเรียง Trilogy ของหนังสยองขวัญช่วงปลายยุค 90 ว่า 1. Scream (1996) 2. I Know What You Did Last Summer (1997) และ Urban Legend (1998)

Filmsick
นักวิจารณ์ภาพยนตร์ / บล็อกเกอร์
http://filmsick.exteen.com/

โปรแกรมหนังควบ13 ปี ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ ชุดที่ 1 - ตอน กะหรี่ถูกหวย
1. PRETTY WOMAN (GARY MARSHALL กำกับ / 1990)
2. FOX AND HIS FRIENDS (R.W. FASSBINDER กำกับ / 1975)

ในทางอุปมา จูเลีย โรเบิร์ตส์ ซึ่งรับบทโสเภณีใน Pretty Woman คงรู้สึกเหมือนถูกหวยที่จู่ๆ ริชาร์ด เกียร์ นักธุรกิจใหญ่อารมณ์เปลี่ยวขี้เหงา เหมาซื้อบริการเธอรายสัปดาห์ ทั้งพาช้อปพากิน พาไปดูโอเปร่า พาไปพักโรงแรม 5 ดาวแล้วค่อยๆตกหลุมรักกันและกัน ครั้นจบบริการซินเดอเรลล่าแห่งยุค 90 ก็ร่วงหล่นลงปลักตมในโลกจริง แต่ก็ยังมิวายยังมีเจ้าชายขี่ม้าขาวยื่นหน้าจากซันรูฟมาขอจูบเธอตรงบันไดหนีไฟ

ช่างต่างกันราวฟ้ากับเหว กับโสเภณีขี้ครอกข้างถนนตัวจริงอย่างนาย ฟรานซ์ บีเบอร์คอฟ ใน Fox and His Friends คนที่ถูกหวยจริงๆ (แถมยังเอาเงินมาจากหนุ่มสังคมที่มาซื้อบริการเขาจากห้องน้ำสาธารณะ หลังจากรวยชั่วข้ามคืนชีวิตเขาก็ไหลเข้าไปในสังคมคนชั้นสูงเมื่อมีชายหนุ่มมากหน้ามาติดพัน เขาตกลงปลงใจกับไอ้หนุ่มหรูรวย รสนิยมดีมีสกุลรุนชาติซึ่งที่แท้เป็นปลิงยักษ์ที่เอาทั้งตระกูลมารุมสูบเลือด และคอยเหน็บแนมความต่ำชั้นข้างถนนของนายฟรานซ์ ผู้ซึ่งมีหัวใจไว้เฉพาะคนที่ตนรัก ซึ่งกลับหันมาทำร้ายคนที่รักตนอย่างเลือดเย็นและบ้าคลั่ง ทั้งหมดนำไปสู่จุจบสะพรึงขวัญสะท้านใจในโศกนาฏกรรมของกะหรี่ข้างถนนไร้นาม

หนังเมโลดราม่า 2 สัญชาตินี้อาจเล่าเรื่องโสเภณีเหมือนกัน (ต่างกันแค่โสเภณีหญิงและชาย) ทั้งสองเรื่องเล่าในลีลาฟูมฟายไม่ประหยัดการเร้าอารมณ์เช่นกัน แต่ผลลัพธ์ที่ได้ต่างกันลิบลับทั้งกับชีวิตของตัวละครและตัวหนัง เราอาจหัวเราะหัวใคร่เอาใจช่วยซินเดอเรลล่าภาคโสเภณี และยินดีปรีดาไปกับเธอในฐานะภาพฝัน หากกับโสเภณีเรียลลิสติกอย่าง นายฟรานซ์ พฤติการณ์เถื่อนถ้ำต่ำช้าของเขาคงยากจะเรียกความเห็นใจจากคนดู ผู้กำกับฟาสบินเดอร์ไม่ประหยัดในทุกอารมณ์ ส่งผลให้หนังหมุนเหวี่ยงสุดแรงเกิดในทุกๆ ฉาก ความเร้าอารมณ์ของฟาสบินเดอร์ เรียกพลังขึ้นจุดสูงสุดชนิดที่ จูเลีย โรเบิร์ตส ได้แต่มองตาปริบๆ และแน่นอนเมื่อ นายฟรานซ์ ร่วงต่ำเราก็ฉมจมลงในความโหดเหี้ยมของสันดานมนุษย์เช่นกัน

Filmsick
นักวิจารณ์ภาพยนตร์

โปรแกรมหนังควบ 13 ปี ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ ชุดที่ 2 - ตอน หลุมดำในมนุษย์

1. TEOREMA (Theorem / PIER PAOLO PASOLINI กำกับ / 1968)
2. CURE (KIYOSHI KUROSAWA กำกับ / 1997)

ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ฉากเปิดตัว ‘ชายหนุ่มลึกลับ’ ใน CURE เขาเดินเดียวดายออกมาจากหาดทรายสุดสายตาอันดูแห้งแล้งและเยียบเย็น เช่นเดียวกับใน TEOREMA ที่ฉากแรกของหนังคือทะเลทรายในสายหมอกที่เวิ้งว้างว่างเปล่า

ชายหนุ่มลึกลับใน TEOREMA เป็นแขกรับเชิญของครอบครัวคนชั้นกลางที่อาศัยในคฤหาสน์สุดหรู ความสมบูรณ์แบบของเขาล่อลวงสมาชิกครอบครัวตั้งแต่ลูกชาย ลูกสาว แม่ พ่อ กระทั่งคนรับใช้ ทำให้บางคนกลายเป็นนักบุญ และบางคนกลายเป็นบ้า ทั้งยังคลี่เผยสิ่งซ่อนเร้นในจิตวิญญาณของมนุษย์แต่ละคน หลุมดำและบ่อกักเก็บความปรารถนาในใจแต่ละคนออกมา ก่อนจะจากไปอย่างไร้ร่องรอยราวกับมาจากแดนสนธยา

และด้วยความลึกลับพอกัน ชายหนุ่มชื่อมามิยะ ในเรื่อง Cure เดินเท้าเข้าไปในชีวิตผู้คนหลากหลาย จ้องมองหลอกล่อให้เขาเล่าเรื่อง แล้วสะกดจิตให้ผู้คนมากหน้าลงมือฆ่าคนรัก คนสนิทชิดเชื้อโดยไม่รู้ตัวกระทำราวสรรพสิ่งอัตโนมัติซึ่งต้องทำ

ไม่ว่าคุโรซาว่าจะได้แรงบันดาลใจจาก พาโซลินี่ มามากน้อยแค่ไหน แต่ตัวละครชายลึกลับสองคนที่เดินเข้าไปในชีวิตผู้อื่นแล้วเปลี่ยนแปลงผู้คนจากภายใน ขุดลอกคูคลองหนองบึงลึกเร้นในจิตวิญญาณ แล้วดึงเอาด้านมืดลึกเร้น ความปรารถนาที่ซ่อนไว้ในใจ เปิดบ่อเก็บความเกลียด ความริษยา ความเคียดแค้นชิงชัง คลี่เผยกลิ่นเหม็นเน่าของมันออกมา

ในทางตรงกันข้าม มามิยะและแขกหนุ่มลึกลับอาจแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง คนหนึ่งคือภาพแทนความสมบูรณ์พร้อมที่ชนชั้นกลางหวนถึงคะนึงหา แต่ไม่อาจไขว่คว้าไว้ได้ ในขณะที่มามิยะคือหลุมว่างเปล่าที่ดึงเอาตัวตนของตนเองไปไว้ข้างนอก เป็นแก้วเปล่าที่ดึงความมืดมิดจากผู้อื่นออกมา แต่ไม่ว่าชายลึกลับคือความอิ่มเต็มหรือความกลวงเปล่า บรรดาเหยื่อในหนังกับคล้ายคลึงกันยิ่ง ในฐานะของคนที่มีต้นทุนทางสังคม เป็นคนปกติชนชั้นกลางกินดีมีสุข ที่ต่างมีบ่อเก็บความเกลียดอยู่ภายในตน!

คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง
(http://merveillesxx.bloggang.com/)
นักวิจารณ์ภาพยนตร์ / บล็อกเกอร์

โปรแกรมหนังควบ 13 ปี ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ ชุด JAPANESE POST-TRAUMATIC FILM : หลังบาดแผลของหนังญี่ปุ่น

หนังแนวหนึ่งที่มักจะได้ใจผมเสมอคือหนังประเภท Post-Traumatic Film หรือหนังที่ว่าด้วยชีวิตของผู้คนหลังจากเผชิญกับความสูญเสียอย่างร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติ, เหตุการณ์อันน่าสะเทือนใจ หรือการจากไปของคนสำคัญ ส่วนใหญ่แล้วตัวละครในหนังประเภทนี้มักมีอาการที่เรียกว่า PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) หรืออาการที่ทำใจรับไม่ได้กับสิ่งที่เกิดในระดับมากน้อยต่างกันไป

ญี่ปุ่นเป็นชาติที่ทำหนังแนว Post-Traumatic ได้น่าสนใจที่สุดประเทศหนึ่ง ลักษณะเด่นที่มักพบได้ก็คือ ตัวละครในหนังจะแสดงความรู้สึกเศร้าเสียใจแต่น้อย หรือเก็บกดความทุกข์ใจไว้อย่างแนบสนิท พวกเขาจะไม่ฟูมฟาย ร่ำไห้ ตีอกชกหัวอย่างบ้าคลั่ง (หรือถ้ามีก็จะเป็นฉากระเบิดอารมณ์ใหญ่ๆ เพียงหนึ่งฉาก) ทั้งนี้อาจสืบเนื่องจากรากเหง้าทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่นที่เน้นวิธีการแบบน้อยได้มาก ดูได้จากศิลปะการจัดดอกไม้ หรือกลอนไฮคุ

หนังญี่ปุ่นแนว Post-Traumatic 5 เรื่องที่ผมชื่นชอบเป็นพิเศษ

1. Eureka (2000, Shinji Aoyama)
ชีวิตของคน 3 คนหลังเหตุการณ์จี้รถเมล์ (หนังยาวเกือบ 4 ชั่วโมง)

2. Shara (2003, Naomi Kawase)
พี่ชายที่ต้องทนทุกข์กับการหายไปของน้องชายฝาแฝด

3. Maborosi (1995, Hirokazu Koreeda)
หญิงสาวที่สามีของเธอฆ่าตัวตายอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย

4. Distance (2001, Hirokazu Koreeda)
เหล่ากลุ่มคนที่คนรักของพวกเขาฆ่าตายตัวหมู่ในลัทธิประหลาด

5. Antenna (2004, Kazuyoshi Kumakiri)
ครอบครัวที่ลูกสาวหายไป พ่อฆ่าตัวตาย แม่เป็นบ้า และน้องชายก็ติดต่อกับเสาอากาศได้!

คำเตือน: ทุกเรื่องเป็นหนังนิ่งช้า และดูมากๆ อาจเป็นบ้าได้


นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์
นักทำหนัง / นักเขียน และบล็อกเกอร์
http://visuallyyours2.exteen.com/


โปรแกรมหนังควบ 13 ปี ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ ชุด ครอบครัว ตัว ฮ. ( ย่อมากจาก ฮา และ here )

My Neighbors , The Yamadas (Isao Takahata กำกับ / 1999)
The Simpsons Movie (David Silverman กำกับ / Matt Groening ต้นเรื่อง / 2007)

อันที่จริงหนังสองเรื่องนี้สามารถเป็นทั้งคู่เหมือนและคู่ต่างก็ได้ ช่างปฎิพากย์เสียจริง

ในกรณีคู่เหมือน
-หนังครอบครัวยามาดะและหนังครอบครัวซิมป์สันนั้นเป็นหนังที่จะต้องสร้างความชิบหายวายป่วงในช่วงต้นๆ และมักมีพฤติกรรมเลวร้าย(แต่ฮา) อย่างไรก็ตาม สุดท้ายหนังก็จะสามารถตลบกลับมาทางซึ้งถึงตายได้อย่างไม่น่าเชื่อ นับว่าให้ความบันเทิงแก่ผู้ชมได้ถึงสองทาง นั่นคือแบบ ‘ฮาๆ’ และ ‘ฮือๆ’

-คาแรคเตอร์แต่ละตัวจะมีนิสัยใจคอชัดเจน แต่จะต้องแอบ hereๆ เล็กน้อยพอน่ารัก แม้ว่าจะดีๆเลวๆบ้าๆบอๆ แต่สุดท้ายเราก็จะรักครอบครัวนี้ทั้งคู่ ในขณะเดียวกันก็ไม่ขอร่วมนามสกุลกับมัน แต่เป็นเพื่อนร่วมซอยน่ะเอา

- ควรชวนคนในครอบครัวมาดูด้วยกันทั้งสองเรื่องในเทศกาลงานรื่นเริงต่างๆ เป็นการส่งเสริมสถาบันครอบครัวตามนโยบายของ สสส.

ในกรณีคู่ต่าง
- โฮเมอร์ ซิมป์สัน เลวกว่าคุณพ่อในเรื่อง Yamadas
- Simpsons ทำลายล้างสิ่งที่อยู่รอบๆบ้าน ส่วน Yamadas เน้นการทำลายล้างกันเองในครอบครัว
- Simpsons ทำลายล้างทางรูปธรรม (เช่น โฮเมอร์บีบคอบาร์ท) ส่วน Yamadas ทำลายล้างด้วยจิตวิทยา (เช่น ในฤดูหนาว ทุกคนในบ้านซุกเท้าอุ่นๆใต้ผ้าห่มอย่างเงียบสงบแต่หน้าเครียดเหมือนรออะไรบางอย่าง ทันทีพ่อลุกขึ้นจะไปเข้าห้องน้ำ ปรากฏว่าแต่ละคนลุกลี้ลุกลนฝากหยิบของกันเป็นแถบ ... อืม คงรอกันมานาน)

- สรุปแล้ว เป็นความต่างที่ไร้สาระดีจริงๆ

Nanoguy
นักวิจารณ์ภาพยนตร์ สตาร์พิคส์ / บล็อกเกอร์
http://nanoguy.exteen.com/

โปรแกรมหนังควบ13 ปี ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ ชุด “ไทยแลนด์ 2551”

God Save the Queen ของวง Sex Pistols
Curse of the Golden Flower (2006)
On Her Majesty’s Secret Service (1969)

เริ่มเปิดด้วย MV เพลง God Save the Queen ของวง Sex Pistols ก่อนเลย (ดูได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=oQO0yYrI41M&feature=related) เพื่อเพิ่มอะดรีนาลินให้กับผู้ชมให้ตื่นตัว ก่อนจะชมภาพยนตร์อีกสองเรื่องถัดจากนี้

เรื่องแรก เป็นหนังยุคหลังของจางอี้โหมว ที่เน้นอลังการงานสร้างอย่างบ้าคลั่งอย่าง Curse of the Golden Flower (2006) หรือในชื่อไทย “ศึกชิงบัลลังก์วัง*ทอง” นั่นเอง แม้จะไม่ได้ตีแสกหน้าสังคมเหมือนหนังยุคก่อน ทว่ามันกลับไหลลื่นแฝงเร้นไปกับสภาพสังคมไทย ณ ปัจจุบันนี้อย่างเหลือเชื่อ โดยเฉพาะความแตกแยกใน “ครอบครัวชั้นสูง” อันนำมาซึ่งการแย่งชิงบัลลังก์ให้กับลูกที่อยู่ฝ่ายของตัวเอง ในขณะที่ผู้พ่อก็กระหายในอำนาจเหนือบัลลังก์ แม้ความทองมลังเมลืองจะสุกสว่างประกายเจิดจ้าเต็มเรื่องแค่ไหน ก็ไม่อาจปิดกั้นความเน่าเฟะในจิตใจของผู้คนได้

และแม้จะเกิดการฆ่ากันตายจนศพกองเกลื่อนพื้นวัง สิ่งที่พวกเขาก็คือ เคลียร์ศพออก แล้วเอากระถางเบญจมาศเหลืองอร่ามมาวางไว้แทนที่ ประหนึ่งว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น!!!

ก่อนจะปิดท้ายให้คลายเครียดกับ On Her Majesty’s Secret Service (1969, ปีเตอร์ อาร์. ฮันต์) หนังสายลับเจมส์ บอนด์เพียงตอนเดียวที่นำแสดงโดยจอร์จ ลาเซนบี้ ที่มีโครงเรื่องคลับคล้ายกับ Casino Royale (2006, มาร์ติน แคมป์เบลล์) อย่างบังเอิญ ลามไปถึงประเด็นการสูญเสียคนรักก็คล้ายกันอีกซะงั้น

ที่เลือกเรื่องนี้มาไม่ใช่เพราะอะไรหรอกครับ

เพราะชื่อเรื่องมันช่างเข้ากับสถานการณ์สุดๆไปเลย น่ะสิ !!!

ธัญสก พันสิทธิวรกุล
ผู้กำกับภาพยนตร์ / นักวิจารณ์ภาพยนตร์
http://thaiindie.com/default.asp

โปรแกรมหนังควบ 13 ปี ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ ชุด “คุณค่าที่แตกต่างและคงอยู่ในหนังของ ยิม โฮ”

“Red Dust เปนเรื่องราวความรักระหวางนักเขียนหญิง เสิ่นเสาหัว(หลินชิงเสีย) กับผูที่ถูกตราหนาวาขายชาติ อยางจางเหนิงเสา(ฉินฮั่น) (อันเปนที่รูกันวาตัวละครพาดพิงถึง Eileen Chang/จางอายหลิง (1920-95) นักประพันธหญิงชาวจีนผู้โดงดังในยุค 70) โดยมีฉากหลังเปนเหตุการณทางการเมืองในประเทศจีน เริ่มตั้งแตปค.ศ.1938ชวงที่ทหารญี่ปุนบุกยึดประเทศจีนเพื่อเตรียมการในสงครามโลกครั้งที่สอง จนลามเลยมาจบลงในโศกนาฎกรรมที่เทียนอันเหมิน ปค.ศ.1989

หนังไมไดบอกเลาเหตุการณที่เทียนอันเหมิน แตบอกกลาวสิ่งที่เกิดขึ้นกอนหนา คงเปนเพราะวายิมไมตองการตอกย้ำความรูสึกของผูชมชาวจีนใหราวรานมากไปกวานี้ ยิมเพียงตั้งคำถามแลวใหคำถามนั้นเลื้อยลึกลงไปสะกิดหัวใจมากกวาจะซ้ำเติม สังเกตไดจากภาษาหนังที่เขาใชในเหตุการณสังหารหมูนักศึกษาที่เขาพวกกับพรรคคอมมิวนิสต ยิมเลือกที่จะสื่อสารออกมาโดยไมใหเห็นภาพสะเทือนขวัญแตรูสึกไดทันที

ในเหตุการณปค.ศ.1949เมื่อเสาหัวหามไมใหเยี่ยฟง(จางมานอี้)เพื่อนรัก ไปรวมประชุมพรรคคอมมินสต เยี่ยฟงหายลับไปทั้งที่ประตูปด เหตุการณเหมือนฝนไป ความฝนที่ไมมีใครอยากใหเกิดขึ้นเมื่อความจริงคือ เยี่ยฟงอยูในกลุมนักศึกษาที่ถูกสังหารหมู ยิมไมตองการใหมันสมจริงเกินไปนักจึงนำไปซอนกับเรื่องราวในหนังสือของเสาหัว ดวยภาพเลือดทวมนองหิมะขาวโพลน (ค.ศ.1925 เจียงไคเช็คแยงชิงอำนาจการเปนผูนำพรรคกกมินตั๋งรัฐบาลจีนในขณะนั้น

หลังการตายของดร.ซุนยัดเซ็น , ค.ศ.1927 กกมินตั๋งโดยการนำของเจียงไคเช็คปราบปรามสมาชิกพรรคคอมมิวนิสตและไดทำสงครามกลางเมืองกับคอมมิวนิสตเปนเวลานานถึงสิบป , ค.ศ.1937 ญี่ปุนกอสงครามรุกรานจีนทั่วดาน พรรคกกมินตั๋งกับพรรคคอมมิวนิสตจีนจึงรวมมือกันในการปราบปรามญี่ปุน , ค.ศ.1940-45 สงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุนพายสงคราม ถอนกำลังกลับประเทศ , ค.ศ.1946 เจียงไคเช็คมุงหมายทำลายพรรคคอมมิวนิสต และควบคุมประเทศจีนไวทั้งหมด , ค.ศ.1949 เศรษฐกิจจีนย่ำแยกลุมนักศึกษาไมพอใจการบริหารประเทศของรัฐบาล จึงเขาพวกกับพรรคคอมมิวนิสต โคนลมรัฐบาลกกมินตั๋งของเจียงไคเช็ค ทั้งที่ในชวงกอนหนานี้ ถือวาคอมมิวนิสตเปนผูกอการราย

หลังจากพรรคคอมมิวนิสตยึดอำนาจรัฐสำเร็จ เจียงไคเช็คและภริยาถูกเนรเทศไปไตหวัน ประชาชนหนีออกนอกประเทศเพราะไมมั่นใจในระบอบการปกครอง 40ปใหหลังนักศึกษาเรียกรองประชาธิปไตย จนเกิดโศกนาฎกรรมที่เทียนอันเหมิน เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ.1989) ตัวละครทุกตัวในหนังเรื่องนี้ เปนเสมือนภาพสะทอนของประชาชนผูถูกทำใหผันแปรไปตามกระแสการเมือง ในเวลาหนึ่ง คนที่เขาพวกกับญี่ปุนเปนคนเลว อีกเวลาหนึ่งพวกคอมมิวนิสตคือคนผิด ตอเมื่อผานเวลาไป คอมมิวนิสตคือผูชนะ ยิมตองการตั้งคำถามวาอะไรหรือฝายไหนกันแนที่ถูกตองหรือเหมาะสมที่สุด แตคำตอบของยิม ไมตองการรูวาใครถูกใครชนะ ยิมตองการใหรูเพียง ไมวาฝยไหนจะถูกหรือจะผิด แตผูที่ไดรับผลกระทบมากที่สุดคือประชาชน และสำหรับยิม ประชาชนคือคน คนที่มีความรัก มีความเจ็บปวด มีความหวังและใฝหาสันติ

ดังในตอนหนึ่งเมื่อ เยี่ยฟงถาม เสาหัว วาเหนิงเสาเปนใครกันแน (เปนคนขายชาติใชไหม) เสาหัวตอบกลับมาวา “เขาเปนคนรักของฉัน” คงเปนความจงใจอยางยิ่ง ที่ยิมเลือกนักแสดงนำอยางหลินชิงเสียและฉินฮั่นมาพบกัน เนื่องจากในชวงปค.ศ.1988 ทั้งสองมีขาวฉาวจากการที่ฉินฮั่นขอหยาภรรยาเพื่อจะแตงงานกับหลินชิงเสียในชวงนั้นมีขาวลือกันถึงการแตงงานของคนทั้งคูหลายตอหลายครั้ง แตในที่สุดหลินชิงเสียก็ปฏิเสธการแตงงาน และเลือกแตงกับเศรษฐีวงการแฟชั่นฮองกงผูหนึ่ง ในปค.ศ.1994 และมีลูกสาวดวยกันหนึ่งคน

ชีวิตจริงของทั้งคูก็กินเวลายาวนานไมตางไปจากหนัง และมีหลายตอหลายตอนที่หนังแสดงความสับสนระหวางความสัมพันธของคนทั้งคู ในสภาวะกลืนไมเขาคายไมออก ความสัมพันธผันแปรในชวงเวลาที่ยาวนาน สุดทายทั้งคูก็ไมไดอยูรวมกัน ทั้งในหนังและชีวิตจริง มันทำใหการแสดงของทั้งคู รับสงเหมือนเปนเรื่องจริง ทั้งที่หลายตอหลายฉาก ยิมทำมันออกมาเหมือนเปนเพียงเรื่องเลาในเทพนิยายหรือฉากละคร

Red Dust ไมเพียงแสดงทัศนคติทางการเมืองของยิมโฮเทานั้น หากยังเปนงานทดลองที่ใชภาษาหนังแบบใหมที่ไดผลเฉียบขาดลงตัว หนังของเขาไมเคยหยุดนิ่ง เคลื่อนไหวและคืบหนาอยูเสมอ แมอีกสี่ปตอมาเขาจะกลับมาดวยงานเรียบงายอยาง The Day the Sun Turned Cold(1994) ที่ดัดแปลงจากเหตุการณจริงเกี่ยวกับนายทหารผูรองขอตอทางการใหชวยตรวจสอบคดีความ อันเนื่องจากเขาปกใจเชื่อวาแมเปนคนวางยาพิษฆาพอเมื่อสิบปกอน ในตอนทาย เมื่อแมถูกตัดสินประหารชีวิต เขาไปเยี่ยมแมในคุก ไมมีคำใดเอยออกมาจากปากแม จนเมื่อเขาลากลับ แมสงเสื้อไหมพรมที่นั่งถักทั้งวันคืนในคุก เธอถักเปนรูปมา แลวกลาวเพียงวา “เพราะลูกเกิดปมา” เหมือนยิมกำลังจะบอกกับชาวจีนทั้งหลายวา ไมวาอดีตทางการเมืองที่ผานมาจะเลวรายขมขื่นสักเพียงใด ไมวาความจริงคืออะไรก็ตาม หากไมทำเปนลืมไปเสียบาง หรือไมทิ้งใหอดีตเปนเพียงอดีต มัวขุดคุยพะวงหลัง แลวจะวิ่งทะยานไปขางหนาไดอยางไร”

(เรียบเรียงย่อจาก “Kitchen ความแตกต่างกับคุณค่าที่ยังคงอยู่ในบรรดาหนังของ Yim Ho” จากบทความเดิมใน “วารสารหนัง: ไทย ปีที่ 2 ฉบับที่ 7”)

อาดาดล อิงคะวณิช
อาจารย์และนักวิชาการภาพยนตร์ที่ลอนดอน / นักเขียนวารสาร “อ่าน”

โปรแกรมหนังควบ 13 ปี ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ ชุด “ตายทั้งเป็น”

Senso (ลุคิโน วิสคอนติ, 1954) ควบ Wonderful Town (อาทิตย์ อัสสรัตน์, 2007)

เรื่องหนึ่งเกิดขึ้นในโรงแรมชั้นสองที่ตะกั่วป่าหลังเกิดสึนามิ แสงเงามืดทึมของตึก เป็นพยาน “รัก” นิ่งๆ ของคู่พระคู่นางที่มีท่วงท่าเหินห่างจากโลกจนไม่น่าจะผูกสัมพันธ์กับใครได้ อีกเรื่องใช้สีตัดกันฉูดฉาด จำลองโลกอันฟุ่มเฟือย อารมณ์ของผู้ดีเวนิสช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ในปีที่อาณาจักรออสเตรีย กำลังจะสูญเสีย แคว้นเวนิสไป

ทั้ง Senso กับ Wonderful Town ผูกพล็อตเข้าโครง “รักทรมาน” ทั้งคู่ นา เป็นลูกจีนเจ้าของโรงแรมที่รับภาระสืบต่อกิจการครอบครัวอันผ่าน พ้นยุคสมัยของมันไปแล้ว ต้นเป็นสถาปนิคชาวกรุงที่ไร้จุดหมายและดูเหมือน จะพลอยไร้จุดยืนทางความคิดไปด้วย ทั้งสองรักกันได้แค่ยามดึกบนดาดฟ้าโรงแรมเก่าโทรมของเธอเท่านั้น ต้นโดนน้องชายของนาฆ่าลอยศพทิ้งน้ำ โดยนาดูเหมือนจะรู้อยู่เงียบๆ ในสิ่งที่ต้นไม่สามารถจับต้องได้ว่าเขาเสี่ยงอันตรายที่คบกับเธอ

เคาน์เตสลิเวียแห่งตระกูลขุนนางเก่าแก่ แอบคบชู้กับฟรานซ์​ นายร้อยหนุ่มแห่งกองทัพออสเตรีย ทั้งๆ ที่เคยมีใจให้ ความช่วยเหลือกับขบวนการชาตินิยมปลดปล่อยเวนิส ลิเวียโขมยเงินในกองทุน นักปฏิวัติรวมชาติอิตาเลี่ยนมาให้ชู้รักนำไปติดสินบนหนีทหาร แต่แล้วก็พบว่า ถูกฟรานซ์ทรยศโดยมีชู้คนใหม่ เธอลงโทษเขาด้วยการนำเรื่องไปฟ้อง จนฟรานซ์ต้องโทษประหารชีวิต

หากความคล้ายคลึงระหว่าง Wonderful Town กับ Senso จบลงเพียงแค่ ธีมโหลๆ จำพวกรักเป็นทุกข์ โปรแกรมหนังควบนี้ก็คงขยายกลายพันธุ์เป็นหนังรวบหมู่มาราธอนต่อไปได้ ลักษณะร่วมกันที่น่าตกใจกว่า ที่อยากจะพยายามชี้อย่างรวบรัดในที่นี้ คือภาวะที่อาจเรียกได้ว่า “ตายทั้งเป็น” (decadence) ของตัวละครทั้งสี่ นั่นคือ แต่ละคนเป็นผลผลิตของประวัติศาสตร์อันสูญสิ้นพลวัตรไปแล้ว หรือกำลังอ่อนแรงลง แต่ละคนไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับโลกใหม่ได้ หรือไม่ยอมที่จะทำอย่างนั้น พวกเขาจึงพร้อมใจ หรือจำใจ ที่จะค่อยๆ จมหายไปกับโลกเก่าที่สร้างเขาขึ้นมา การไขว่คว้าหารักอย่างคน (หรือผี?) ที่รู้ตัวดีว่าตนไร้อนาคต คือการย่างก้าวเข้าหาจุดจบของชีวิต หาใช่จุดเริ่มต้นของชีวิตใหม่ไม่

ในที่สุดลิเวียก็ไม่สามารถสลัดทิ้งโลกเก่าอันเกี่ยวกระหวัดชนชั้นขุนนางแห่งเวนิสเข้ากับตัวแทนเจ้าอาณาจักรออสเตรีย ส่วน นา ตรึงตัวเองไว้ กับกิจการครอบครัวที่ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาในยุคของทุนชาวจีนท้องถิ่น ซึ่งกำลังห่อลีบตายไปในยุครีสอร์ททุนใหญ่ ฟรานซ์ เป็นซี่ล้อเล็กๆ ของอาณานิคมที่กำลังจะพังครืน เขาไม่เชื่อในอุดมการณ์อุ้มชูอาณาจักรออสเตรีย แต่ก็ไม่สามารถใช้ชีวิตนอกกรอบกฏหมู่ของกองทัพได้ ต้นเคยกบฏต่อแบบแผน ชีวิตชนชั้นกลางยุคเศรษฐกิจบูมที่พ่อปูทางไว้ให้ โดยหันไปเป็นนักดนตรีไนท์คลับ แต่แล้วต่อมาก็กลับเนื้อกลับตัวเป็นสถาปนิกเฉื่อยๆ รับจ๊อบสร้างรีสอร์ทดาดๆ ขึ้นมาทดแทนสิ่งที่พังไปกับสึนามิ เขาเบื่อกรุงเทพ แต่กลับปล่อยตัวให้เป็นส่วนหนึ่งของแรงขับเคลื่อนจากระบบตลาดบ่อนเซาะทำลายเมืองเล็ก ที่เจ้าตัวชมอย่างตื้นๆ ง่ายๆ ว่าสงบเงียบดี

ปฐมพงศ์ มานะกิจสมบูรณ์
โปรแกรมเมอร์ World Film Festival of Bangkok

โปรแกรมหนังควบ13 ปี ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ ชุด นาซีหลอน สยองโลก

ภาพยนตร์ที่พูดถึงความหวาดกลัวในยุคนาซีเรืองรองอำนาจ ลองนั่งตรึกตรองดูคงมากมายเกินกว่าจะนับกันหวาดไหว เอาแค่อเมริกาประเทศเดียวก็สร้างกันมากมายกันทุกปี แต่อเมริกันชนที่เป็นเพียงแค่คนนอก หรือจะเข้าใจความรู้ทรงจำอันโหดร้ายที่บาดลึกอยู่ในจิตใจอันแท้จริงได้เท่ากับชนชาติผู้ประสบกับมันได้ รัสเซีย และ เชโกสโลวาเกีย เป็น 2 ชาติที่ได้ผ่านช่วงเวลาแห่งความเลวร้าย ที่มีภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดความรู้สึกหวาดกลัวและความโหดร้ายในยุคนั้นออกมาได้อย่างถึงแก่น เรื่องแรกเป็น The Cremator งานปี1969 ของ Juraj Herz หนึ่งในผู้กำกับกลุ่มเชกฯนิวเวฟอันโด่งดังในยุค 60 ส่วนเรื่องที่สองคือ Come and See ของ Elem Klimov ที่พูดถึงความโหดร้ายของสงคราม ที่ทำลายชีวิตแม้แต่เด็กตัวน้อยไร้เดียงสา สร้างในปี 1985

The Cremator นั้นพาย้อนกลับไปสู่ปี 1930 ลัทธิเยอรมันนาซีเริ่มสยายปีกเข้าครอบงำเชคโกสโลวเกีย ทุกหัวระแหงตกอยู่ภายใต้เงาทมึนทึมแห่งความหวาดระแวง Karl Kopfrkingl นั้นเป็นเจ้าของสถานฌาปนกิจผู้เป็นคนเจ้าระเบียบและบ้างานเป็นที่สุด วันหนึ่งๆของเขาหมดไปกับการเดินสำรวจสถานฌาปนกิจที่เขารัก ว่างจากนั้นก็หมกมุ่นอยู่กับการศึกษาคัมภีร์มรณศาสตร์แห่งธิเบต (The Tibetan book of the dead) Karl นั้นลุ่มหลงในเสน่ห์ของความตายอย่างเหลือแสน ถึงขนาดที่เชื่อว่ามันเป็นสิ่งเดียวจะช่วยบำบัดทุกข์โศกของมวลมนุษย์ให้หมดไป วันหนึ่งเมื่อ Karl ได้พบกับ Reinke ที่เคยเข้าร่วมรบให้กับออสเตรียในสงครามโลกครั้งที่ 1 Reinke พูดชักจูงให้เขาเข้ารีตลัทธินาซี และภรรยาเลือดยิวของเขานั้น ได้โขมยของขวัญล้ำค่าที่พระเจ้าได้มอบให้แก่เขาไปเสียแล้ว

ส่วนเรื่อง Come and See ดูผิวเผินอาจทึกทักเอาได้ว่า เป็นเพียงหนังสงครามที่โยนความผิดให้กับกองทัพนาซีเยอรมันเป็นมารร้ายแต่เพียงผู้เดียว เหมือนกับหนังจำพวกนี้ที่สร้างออกมากันดาษดื่นโดยเฉพาะอเมริกา แต่หากมองเข้าไปข้างในแก่นของเนื้อหาแล้ว Come and See เป็นหนังที่พูดถึงความโหดร้ายของสงครามได้อย่างมีมิติมากเรื่องหนึ่งของโลกภาพยนตร์เลยทีเดียว ก่อนอื่นต้องขออภัยเป็นอย่างสูง ที่จำเนื้อเรื่องได้ไม่ชัดเจนนัก

แต่สิ่งหนึ่งใน Come and See ที่ยังติดตรึงในความทรงจำไม่ลืมเลือน คือบรรยากาศของหนังที่คละคลุ้งไปด้วยกลิ่นอายบรรยากาศของความหวาดกลัว ฉากหนึ่งที่ติดตรึงในความทรงจำอย่างแม่นยำ และยังคงหลอกหลอนประสาทมาจนถึงทุกวันนี้ คือตอนที่เด็กสองคนซึ่งเป็นตัวละครหลักของเรื่อง วิ่งหนีด้วยความหวาดกลัวอย่างที่สุดในทุ่งกว้างอันเวิ้งว้างอย่างไร้จุดหมาย กล้องที่สั่นไหวซึ่งติดตามเด็กทั้งสองถูกโหมกระหน่ำด้วยดนตรีประกอบอันเวิ้งว้าง ได้สร้างความรู้สึกถึงบรรยากาศอันหลอกหลอนอย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน ถึงขนาดที่ว่าเป็นหนังสงครามที่สร้างความรู้สึกหวาดกลัวมากที่สุดเท่าที่เคยรับชมมาก็ว่าได้

ภาพยนตร์ 2 เรื่องนี้ เป็นตัวอย่างชั้นเลิศ ที่แสดงให้เห็นถึงชั้นเชิงในการถ่ายทอดเรื่องราวความโหดร้าย ที่สร้างความขนพองสยองเกล้าแก่ผู้ชม โดยไม่แทบต้องมีฉากทารุณกรรมความรู้สึกคนดูแม้แต่น้อย ใน The Cremator นั้นโดยแก่นของเรื่องแล้วเป็นงานแบล็ค คอมมาดี้ ที่พูดถึงพลังของ Propaganda ซึ่งฉุดรั้งจิตใจมนุษย์ลงสู่ด้านมืด จนท้ายที่สุดเกิดเป็นโศกนาฎกรรม ผู้กำกับ Juraj Herz ใช้เพียงแค่ การแสดงของตัวละคร Karl (Rudolf Hrusinsky) เป็นจุดสูญกลางของเรื่อง สร้างคาแรคเตอร์อันลึกลับแปลกประหลาด และฉากเปิดเรื่องที่เป็นลักษณะการเสียดสีพฤติกรรมของตัวละคร เพียงเท่านี้ก็สามารถนำพาตัวหนังไปได้ไกลสู่ความมืดมนได้แล้ว ส่วนใน Come and See ของ Elem Klimov นั้น ดนตรีประกอบและมุมกล้องมีส่วนอย่างสูงต่อการสร้างบรรยากาศขมุกขมัวหลอกหลอนประสาท นำพาความรู้สึกชวนขนพองสยองเกล้า แม้ไม่มีภาพอันโหดร้ายทารุณมาเร้าจิตใจแม้แต่น้อย

‘กัลปพฤกษ์’
kalapapruek@hotmail.com
นักวิจารณ์ภาพยนตร์นิตยสาร Filmax (ผลงานเช่นหนังสือ Asia 4, Filmvirus เล่ม 4 ฉบับสางสำแดง-หนังคั้ลท์และสยองขวัญ และหนังสือ Queer Cinema)

โปรแกรมหนังควบ 13 ปี ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ ชุด หนังญี่ปุ่นคู่ผวน
MOJU (1969) กำกับโดย Yasuzo Masumura
ควบ
MUJO (1970) กำกับโดย Akio Jissoji

สำหรับผู้ที่ไม่มีความรู้ภาษาญี่ปุ่นแล้ว ชื่อหนังและผู้กำกับสัญชาติญี่ปุ่นนับเป็นอะไรที่จดจำได้ยากเย็น จะมีใครสักกี่คนที่สามารถจดจำชื่อผู้กำกับอย่าง Teinosuke Kinugasa, Hiroshi Teshigahara, Mitsuo Yanagimachi, Kozaburo Yoshimura, Tatsumi Kumashiro, Heinosuke Gosho, Toshio Matsumoto, Yoshihiko Matsui, Yoichiro Takahashi, Hiroshi Shimizu หรือกระทั่ง Masahiro Kobayashi ตั้งแต่แรกเห็นได้โดยปราศจากอาการมึนงง?


การประสมสระและพยัญชนะด้วยระบบเสมือนอิสระอย่างมีลักษณะเฉพาะของชาวญี่ปุ่นนี้เองที่มีส่วนทำให้ชื่อของผู้กำกับเหล่านี้อาจฟังดูสับสนจนกลายเป็นอะไรที่ติดหูได้ยากสำหรับคอหนังกันเกินไปสักนิดไม่ว่าผลงานของพวกเขาจะโดดเด่นน่าจดจำขนาดไหนก็ตาม และเพื่อเป็นการสะท้อนถึงความลำบากยากเย็นในการจดจำชื่อเสียงเรียงนามในแบบญี่ปุ่น ๆ ‘กัลปพฤกษ์’ จึงขอนำเสนอภาพยนตร์สองเรื่องที่ออกฉายในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน โดยมีจุดเด่นที่สำคัญคือชื่อภาษาญี่ปุ่นของภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องนี้นั้นสามารถสลับสับเปลี่ยนกันได้ด้วยการอ่านแบบผวนสระ ชนิดที่ถ้ามีใครเกิดพลั้งเผลอเรียกขานชื่อหนังผิดไปก็อาจจะได้ดูหนังอีกเรื่องหนึ่งกันเลย


หนังทั้งสองเรื่องที่ว่านี้ก็คือ MOJU และ MUJO ซึ่งออกฉายในญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ. 1969 และ 1970 ตามลำดับ และถึงแม้ว่าที่มาที่ไปของหนังสองเรื่องนี้จะมิได้มีอะไรเกี่ยวข้องกัน แต่ทั้งคู่ก็ยังเล่าเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับศิลปะแขนงเดียวกัน นั่นก็คืองานประติมากรรม!

MOJU เป็นผลงานการกำกับของ Yasuzo Masumura นำแสดงโดย Eiji Funakoshi, Mako Midori และ Noriko Sengoku หนังเรื่องนี้ได้ดัดแปลงมาจากเรื่องสั้นของ Edogawa Rampo ถ่ายทอดเรื่องราวความลุ่มหลงในความงามของเรือนร่างอิสตรีของนักประติมากรรมตาบอดจิตป่วยที่ต้องลักพาตัวหญิงสาวมาเป็นนางแบบให้กับผลงานแห่งความงามอันสมบูรณ์พร้อมของเขาเองภายในห้องโกดังที่ประดับประดาไปด้วยชิ้นส่วนของร่างกายมนุษย์อันชวนขนลุก!

ส่วน MUJO ก็เป็นผลงานการกำกับของ Akio Jissoji นำแสดงโดย Ryo Tamura, Michiko Tsukasa และ Kozo Yamamura หนังเล่าเรื่องราวความวุ่นวายอันเกิดจากความสัมพันธ์ต้องห้ามระหว่างสองพี่น้องชายหญิงคู่หนึ่งในเมืองเล็ก ๆ ริมทะเลสาบ โดยฝ่ายพี่ชายนั้นเป็นศิลปินผู้หลงใหลในศิลปะการประติมากรรมพระพุทธรูป ในขณะฝ่ายน้องสาวก็ปฏิเสธที่จะมอบหัวใจให้ใครนอกจากพี่ชายของเธอคนเดียว หนังใช้เรื่องราวหมิ่นเหม่ศีลธรรมมาถ่ายทอดสัจธรรมแห่งความ ‘อนิจจัง’ ไม่เที่ยงแท้ของมนุษย์ตามปรัชญาพุทธผ่านงานการกำกับภาพสุดขรึมขลังอลังการไม่แพ้งานของผู้กำกับระดับบรมครูอย่าง Carl Theodor Dreyer, Andrei Tarkovsky หรือแม้แต่ Miklos Jancso กันทีเดียว!

หมายเหตุ ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องนี้จัดฉายไปแล้วในโปรแกรมของดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ช่วงเดือน พฤศจิกายน – ธันวาคม 2551

ทีฆะเดช วัชรธานินท์
ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง Ordinary Romance (รางวัลวิจิตรมาตรา จากการประกวดหนังสั้นของมูลนิธิหนังไทย ครั้งที่ 9) / ผู้กำกับ Malady Diary สารคดีเบื้องหลัง “สัตว์ประหลาด” ของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล)

โปรแกรมทองหนังควบ13 ปี ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ ชุด “ชิงทองคำ” ไทย – จีน – ฝรั่ง

หนังเรื่องแรก Duel for Gold (ชื่อไทย ร้อยเหี้ยม) หนังสัญชาติ ฮ่องกง ปี 1971
กำกับโดย ฉู่หยวน
แสดง : หลิงปอ หวังผิง จินฮั่น จงหัว หลอลี่

หนังว่าด้วยจอมโจรเฉิงฉีหยิง กับ เหวินหลี่เซียน รู้ว่าคลังสมบัติฟู่ไล่เก็บทองคำไว้กว่าล้านชั่ง จึงชวนสองศรีพี่น้องที่เป็นนักกายกรรม ปาหี่ ยู่หยินและหยู่หยิง คู่ผัวเมีย เมิ่งหลุงและหัวเทียนเล่อ เข้ามาร่วมแผนการ เมื่อแผนการสำเร็จ ความโลภทำให้ทั้งหมดทั้งมวลหักหลัง ทรยศ กันเพื่อครอบครองทองคำ ผลสุดท้ายลงเอยตามเรื่องกฎแห่งกรรม

หนังเรื่องที่สอง Trespass หนังสัญชาติ อเมริกา ปี 1992
กำกับโดย Walter Hill
แสดง : วิลเลี่ยม แซนเดอร์ บิล แพ็กซ์ตัน ไอซ์ คิวบ์ ไอซ์ที

เพื่อนสองคนทำงานในหน่วยดับเพลิง พบข่าวจากหนังสือพิมพ์ มีคนตายที่ตึกเก่าๆ ทั้งคู่มีข้อมูลเก่าเกี่ยวกับตึกนี้มีสมบัติซ่อนอยู่ ทั้งคู่เดินทางข้ามเมืองไปที่ตึกหลังนั้นเพื่อหาสมบัติ และพบว่าไม่ได้มีแค่ตัวเองที่มาที่ตึกนี้ แก็งค์ค้ายาผิวสี สองกลุ่มมาซื้อขาย หักหลังกัน มาเจอกับทั้งคู่ การชิงเล่ห์หักเหลี่ยม ก็เกิดขึ้นเพื่อเอาชีวิตรอดและทองคำที่ซุกซ่อนอยู่ในตึกเก่าหลังนี้

หนังเรื่องที่สาม ทอง หนังสัญชาติ ไทย ปี 2516
กำกับโดย ฉลอง ภักดีวิจิตร
แสดง : สมบัติ เมทะนี กรุง ศรีวิไล เกร็ก มอรริส ดามภ์ ดัสกร กฤษณะ อำนวยพร

จารชนกลุ่มหนึ่ง ประกอบไปด้วย อดีตทหาร อาชญากร นางนกต่อ นักแข่งรถ ถูกสายลับชาวผิวสี รวบรวมมาเพื่อเข้าไปเอาทองที่บรรทุกเครื่องบินบินไปตกที่ฝั่งลาว ทั้งหมดต้องฝ่าฟันกองกำลังทหารฝ่ายตรงข้าม เพื่อไปยังที่มั่นเอาทองกลับมา ระหว่างทางนอกจากศัครูภายนอกที่รายล้อมแล้ว ยังต้องต่อสู้กับความไม่ไว้ใจระหว่างกันอีกด้วย หลังจากต้องเสียพลพรรคไปเรื่อยๆ จนได้ทองกลับมา ความโลภที่เข้าครอบงำจิตใจก็ทำให้ต้อง คนกลุ่มเดียวกันต้องฆ่ากันเพื่อมันอีกครั้ง


โอปอล์ ประภาวดี
นักเขียน “แล่เนื้อเถือหนัง”/ นักทำหนังสารคดี

โปรแกรมหนังควบ 13 ปี ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ ชุด เป็นวัยรุ่นมันเหนื่อย

1.Final Score
2.Persepolis

Final Score หนังสัญชาติไทยที่พยายามบอกเล่าถึงความเหนื่อยของวัยรุ่น (ผู้ชาย) ชั้นกลางของไทยที่กำลังอยู่ในวัยมัธยมปลายและต้องเผชิญกับภาวะที่หนักหน่วงของการเตรียมสอบ ความกดดันจากความคาดหวังของพ่อแม่ผู้ปกครอง และชีวิตที่ก้ำกึ่งระหว่างการที่ต้องจริงจังกับความหวังความฝันกับการสนุกสนานไปกับภาวะเปลี่ยนผ่านของช่วงวัย หนังถ่ายทอดให้เห็นถึงภาวะเหล่านั้นผ่านการตามติดชีวิตของเด็กผู้ชายกลุ่มหนึ่ง ที่ประสบกับความกดดันแตกต่างกันไป

Persepolis หนังสัญชาติอิหร่าน นำเสนอเป็นการ์ตูน เล่าเรื่องจริงจากชีวิตของวัยรุ่นหญิงชาวอิหร่านที่ชื่อมาร์จี้ ซึ่งเคยอาศัยอยู่ในเมือง Persepolis เติบโตมาท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งทางสังคม การเมือง และที่สำคัญยิ่งคือความสับสนทางวัฒนธรรม มาร์จี้บันทึกทุกช่วงวัยของชีวิตตัวเองผ่านการ์ตูน ถ่ายทอดให้เห็นทุกแง่มุมของชีวิตที่ดำรงอยู่ในดินแดนที่รัฐก้าวก่าย สอดส่องชีวิตความเป็นอยู่ของพลเมืองทุกรูปแบบ โดยเฉพาะพลเมืองหญิงอย่างเธอ ยิ่งไปกว่านั้นเธอยังวิพากษ์สังคม การเมือง รวมถึงตั้งคำถาม ต่อสิทธิ เสรีภาพ ตลอดจน สงคราม อย่างแหลมคม

ทั้ง Final Score และ Persepolis พยายามจะบอกว่าการอยู่ในภาวะก้ำกึ่งของวัย การจะล่วงผ่านความเป็นเด็กไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่นั้น สร้างความเหน็ดเหนื่อยให้กับชีวิต เพราะต้องเรียนรู้ที่จะจริงจังกับความฝันและกฎเกณฑ์ทางสังคม

แม้ทั้งสองเรื่องจะฉายให้เห็นถึงความกดดันของการอยู่ในภาวะเปลี่ยนผ่านของช่วงวัยเหมือนกัน แต่ในขณะที่วัยรุ่นหญิงอิหร่านอย่างมาร์จี้ใน Persepolis กำลังเหนื่อยกับการพยายามบอกให้ชาวโลกรับรู้ชะตากรรมของตัวเองและเพื่อนร่วมชาติ บอกเล่าถึงความเหน็ดเหนื่อยของชีวิตที่ถูกรัฐควบคุม

วัยรุ่นชายไทยใน Final Score ก็กำลังเหนื่อยกับการพยายามรักษาสถานภาพอันได้เปรียบทางสังคมของตน เหนื่อยจากความหวาดกลัวว่าจะไม่สามารถ “ทำคะแนนสุดท้าย” ในการการสอบเข้ามหาวิทยาลัย เพื่อประคองรักษาสถานะทางชนชั้นเอาไว้ได้ เพราะการสอบเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ในเมืองไทยได้ไม่ได้หมายถึงการได้รับการศึกษาที่ดีเท่านั้น แต่มันจะเป็นเสมือนพาสปอร์ตที่จะนำพาชีวิตพวกเขาไปสู่สถานะทางสังคม รายได้ เศรษฐกิจ ที่ดีตามมา

เป็นวัยรุ่นมันเหนื่อย แต่จะเลือกเหนื่อยเพื่อเปล่งเสียงแทนคนทั้งสังคม หรือจะเหนื่อยเพื่อรักษาโอกาสทางชนชั้นของตนเอง
ขึ้นอยู่กับรอยหยักในสมองและวิธีหล่อหลอมที่สังคมนั้นๆ สร้างวัยรุ่นขึ้นมาละมัง ›

นับวัน นับคืน
คอหนัง / นักเขียนอิสระ

โปรแกรมหนังควบ13 ปี ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ ชุดที่ 1 - ตอน อาจเหนือกว่าสิ่งใดในทั้งมวล
1 – Be with You (Ima Ai Ni Yukimasu) / By Nobuhiro Doi / Japan / 2004
2 – Heavenly Forest (Tada, Kimi Wo Aishiteru) / By Takehiko Shinjo / Japan / 2006
3 – Say Hello for Me (Sono Toki Wa Kare Ni Yoroshiku) / By Hirakawa Yuichiro / Japan / 2007

หนังทั้ง 3 เรื่องนี้ เป็นหนังญี่ปุ่นที่สร้างจากนิยายรักที่มียอดขายติดอันดับสูงสุดในแต่ละปีที่ออกจำหน่าย ซึ่งทั้ง 3 เรื่องนี้เขียนโดยนักเขียนคนเดียวกันคือ Ichikawa Takuji – นักเขียนนิยายที่มีแนวงานการเขียนโดดเด่นเป็นรูปลักษณ์เฉพาะตัวคือ เป็นนิยายรักกรุ่นอารมณ์ละเมียดละไมที่อยู่บนความลี้ลับหรือความมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นเพื่อความรักนั้น
เขาเชื่อว่า ชีวิตคือการเกิดมาเพื่อให้ได้รักใครสักคน ก่อนที่จะลาจากโลกนี้ไป

Be with You --
เมื่อเธอเสียชีวิตลาจากเขาและลูกชายไป พวกเขาเชื่อว่า เธอเดินทางไปสู่ดาวอาร์ไคฟ์และมีชีวิตอยู่ที่ดาวดวงนั้นตราบเท่าที่พวกเขายังคิดถึงเธออยู่ เธอบอกว่า – เธอจะกลับมาหาพวกเขาอีกครั้งในวันแรกของฤดูฝน

เธอกลับมาจริงอย่างที่บอกไว้ เพียงแต่ธอจำอะไรไม่ได้เลย

เธอมีชีวิตอยู่กับพวกเขา ค่อยๆ เรียนรู้เรื่องราวความรัก ความผูกพันเกี่ยวกับตัวเธอและพวกเขา และพบความลี้ลับ ย้อนกลับไปในวันที่เขาจำต้องบอกเลิกกับเธอนั้น เธอเห็นเขาเดินอยู่บนทางเท้าฝั่งตรงกันข้าม เธอวิ่งข้ามถนนเพื่อไปตามเขาในทันที แต่เธอกลับถูกรถชนจนนอนหลับไม่ได้สติที่โรงพยาบาลหลายวัน

หลายวันที่เธอนอนหลับไม่ได้สตินั้น เธอได้ก้าวข้ามเวลาไปเจอเขาและลูกชายของเธอในอนาคต – มันเป็นวันที่ฝนแรกของปีนั้นมาเยือน ซึ่งก็คือวันที่เธอบอกว่า จะกลับมาหาพวกเขาอีกครั้งจากดาวอาร์ไคฟ์

เมื่อหมดฝน ก็ถึงเวลาที่เธอจะต้องจากไปตลอด เขาอยู่กับเธอจนตัวเธอหายลับไป

เธอลืมตาตื่นจากการนอนหลับไม่ได้สติ เธอออกเดินทางตามหาเขาที่เมืองที่เธอได้ข้ามเวลาไปอยู่กับพวกเขา

คล้ายได้ยินเสียงเรียก เขาหันหลังกลับมา เห็นภาพเธอค่อยๆ เดินเข้ามาใกล้ ใกล้ขึ้น และโผเข้ากอดเขา

การได้รักกันอย่างสุดหัวใจ เป็นมหัศจรรย์แล้วของชีวิตนี้

Heavenly Forest --
ผ่านวันคืนแห่งความผูกพันของเขาและเธอ – ที่ร่างกายยังคงเป็นเด็ก จนเรียนจบจากมหาวิทยาลัย เธอก็ทิ้งจดหมายลาจากเขาเพื่อไปเรียนถ่ายรูปต่อที่ฝรั่งเศส

2 ปีต่อมา เขาได้รับจดหมายจากเธอ เป็นคำขอครั้งเดียวให้เขามาร่วมงานแสดงภาพถ่ายของเธอที่นิวยอร์ค เขาไปตามนั้น และพบความจริงว่าเธอได้จากโลกนี้ไปแล้ว ด้วยโรคกรรมพันธุ์ประหลาด ที่ร่างกายจะยังคงเป็นเด็กไปนาน แล้วจะเติบโตขึ้นเป็นสาวเมื่อมีความรัก และจะจากโลกนี้ไปในอีกไม่กี่ปีหลังจากนั้น

รักแรกที่เธอมีให้กับเขา ทำให้เธอค่อยๆ โตขึ้นเป็นสาว พริบตาเดียวอีก 6 ปี เธอก็จากไปโดยไม่มีโอกาสได้รู้จักช่วงเวลาอื่นของชีวิตเลย เธอไม่เคยคิดว่ามันเป็นโรค เธอจบชีวิตของตัวเองเมื่อได้รักตามแบบวิถีชีวิตของพวกเธอ

เธอยอมเอาวันเวลาอีกห้าสิบปีมาแลกกับการได้รักใครอย่างสุดหัวใจ

เขาเดินเข้าไปในห้องแสดงภาพถ่ายของเธอ ไล่ตามไปทีละรูปจนถึงรูปสุดท้าย เป็นภาพถ่ายจูบแรกของเธอกับเขาในป่าใต้ต้นโรแวน จูบครั้งแรกของเขา ที่เป็นจูบครั้งสุดท้ายของเธอ ใต้ภาพนั้นเขียนว่า –
It was the only kiss, the love I have ever known

คล้ายเสียงของเธอดังขึ้น – เธอรู้ไหม .. ว่าเธอกำความสุขทั้งชีวิตของคนหนึ่งคนเอาไว้

Say Hello for Me –
ความสุขในชีวิตวัยเด็กของเธออยู่ที่มีเขาอยู่เคียงข้าง วันที่เขาขึ้นรถไฟเพื่อย้ายจากไป เธอวิ่งตามรถไฟจนสุดชานชาลา เธอทิ้งตัวลงนั่งกับพื้นมองจนรถไฟลับหายไป – ชีวิตของเธอนับต่อแต่นี้ คงก้าวไปได้ก็ด้วยกำลังใจจากความทรงจำที่ดีนั้น เธออาจไม่มีวันได้พบกับเขาอีกเลย
กับหิมะแรกของคืนหนึ่ง เธอนั่งอยู่ที่หน้าร้านขายพืชน้ำ เมื่อเขาลงจากรถและกำลังจะเปิดประตูเข้าร้าน เขาหันมาเห็นเธอกำลังยืนมองมาที่เขา – เธอตามหาเขาจนพบ

เขาผู้เป็นรักแรกของเธอในวัยเด็ก และคงเป็นรักเดียวของเธอจนถึงวัยนี้

วันที่เธอเดินเข้าร้านหนังสือ หยิบนิตยสารเล่มนั้นมาพลิกอ่าน และพบบทสัมภาษณ์ของเขากับร้านขายพืชน้ำโดยบังเอิญ เธอเชื่อว่านี่คือสิ่งที่พระเจ้าให้โอกาสครั้งสุดท้ายกับเธอ ให้เธอได้กลับมาเจอและมาอยู่ข้างเขา เพราะเธออยู่ในระยะสุดท้ายของโรคที่จะเข้าสู่ภาวะหลับลึกแล้วจะไม่ตื่นขึ้นมาอีกเลย

แล้วเธอก็หลับไม่ตื่น – ชีวิตของเขานับต่อแต่นี้ คงก้าวไปได้ก็ด้วยกำลังใจจากความทรงจำที่ดีนั้น เขาเฝ้ารอวันที่เธออาจจะตื่นขึ้นมาพบเขาอีกครั้ง เพราะเขารู้แล้วว่า เธอนั้นเป็นรักเดียวของเขาตลอดมา

หิมะแรกของอีก 5 ปีต่อมา พ่อของเขาเสียชีวิตลง

กับหิมะแรกของคืนเดียวกันนั้น เมื่อเขาลงจากรถและกำลังจะเปิดประตูเข้าร้าน เขาหันมาเห็นเธอกำลังยืนมองมาที่เขา – เธอตื่นและกลับมาพบเขา

เธอพบพ่อของเขาในภวังค์ฝัน บอกทางให้เธอกลับมา ก่อนที่เธอจะก้าวพ้นปลายทาง พ่อของเขาบอกว่า “ เขารอเธออยู่ เมื่อได้พบเขา ฝากทักทายเขาแทนฉันด้วย “ –
เป็นรักที่นำทาง ผ่านวันคืนที่อ้างว้าง หนทางที่มืดมน

ถ้าเป็นไปได้ อยากแนะนำให้อ่านหนังสือทั้ง 3 เรื่องนี้ก่อน แล้วจะรู้ว่าหนังที่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวได้ตรงและคงอารมณ์เรียกน้ำตาเหมือนที่รู้สึกจากการอ่านหนังสือนั้น เป็นความสามารถพิเศษของทีมงานผู้ทำหนัง

เมื่อดูหนังจบ แล้วคิดหวัง อยากให้มี อยากให้เจอ คนที่รักเราสุดหัวใจแบบนี้
เมื่อดูหนังจบ แล้ววาดฝัน อยากให้มี อยากให้เจอ เรื่องราวสุดวิเศษแบบนี้
หวังคงมี ฝันคงเจอ ถ้ารู้ที่จะรักใครเสียก่อน – เพราะความรักมีพลังอยู่เหนือความเป็นไปได้ทั้งมวล

นับวัน นับคืน
คอหนัง / นักเขียนอิสระ

โปรแกรมหนังควบ 13 ปี ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ ชุดที่ 2 - ตอน บางอย่างสูญหาย, หลายอย่างอาจกลับคืน

1 – One Day In Summer (Un Jour D’ete) / By Franck Geurin / France / 2005
2 – After Him (Apres Lui) / By Gael Morel / France / 2007

หนัง 2 เรื่องนี้ มีความคล้ายคลึงกันมากในประเด็นหลักของเรื่อง ที่พูดถึงผลกระทบของเด็กหนุ่มที่จากไปอย่างกะทันหัน เป็นเรื่องราวความทุกข์ที่ต้องก้าวผ่านของแม่ที่สูญเสียลูกชาย และเรื่องราวความเหงาเศร้าที่วนเวียนทิ้งอยู่กับเพื่อนรักเพียงคนเดียวของเขา
หนังต่างเริ่มด้วยเรื่องเดียวกัน แต่รายละเอียดบอกเล่าหนทางที่ต้องก้าวผ่านของหนังแต่ละเรื่องนั้นต่างกัน และนำไปสู่ตอนจบกันคนละเรื่อง – คนละรอย แต่คุมโทนอารมณ์ของประเด็นหลักของหนังแต่ละเรื่องนั้นได้อย่างลึกซึ้ง

One Day In Summer --

ในการแข่งขันฟุตบอล เขาถูกกรรมการไล่ออกจากสนามแข่งขันและกลับเข้าไปนั่งสงบสติอารมณ์ในห้องพักนักกีฬา เขาเดินออกมาที่สนามอีกครั้งเมื่อได้ยินเสียงดังวุ่นวายข้างนอก เขาเดินแหวกผู้คนและเห็นภาพเพื่อนรักของเขาที่เป็นผู้รักษาประตู นอนจมกองเลือดเพราะเสาประตูล้มลงมาฟาดที่ศีรษะ – เพื่อนรักของเขาจากไปในภาพนั้น

เขาเสียใจที่ไม่ได้อยู่ในสนามแข่งขันกับเพื่อนรัก เขานั่งเหงาในทุ่งหญ้าว้างที่เขากับเพื่อนชอบมานั่งด้วยกัน จมอยู่กับความเศร้าอย่างไม่รู้วันจะคลาย

ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวของเพื่อนรักที่จากไปนั้นอ้างว้าง แม่ของเพื่อนจมอยู่กับทุกข์ อยู่กับความเสียดายกับวันเวลาที่ผ่านเลยบนความสัมพันธ์ที่เฉยชาระหว่างแม่กับลูก เธอถามเขาว่า – ลูกที่เสียพ่อแม่ไป เรียกว่าลูกกำพร้า แล้วแม่ที่เสียลูกไป จะเรียกว่าอะไร

เธอคงรู้ ถึงอาจเรียกคล้ายกัน แต่ความทุกข์นั้นอาจไม่คล้ายกันเลย

เธอต้อนรับเขาเข้ามาในครอบครัว คล้ายมาแทนลูกชายของเธอ ปล่อยให้เขามีชีวิตเป็นอยู่ด้วยตัวของเขาเอง ให้เวลาเป็นตัวเยียวยาความเศร้า ทั้งของเธอและของเขา

เวลาผ่านไป ในงานรื่นเริงของหมู่บ้าน เขาเต้นรำด้วยรอยยิ้มแรกกับหญิงสาว

เธอเห็นภาพนั้นแล้วยิ้มตาม – เธอหลับตา คล้ายเห็นลูกชายของเธอกำลังยิ้มตอบ

After Him --

ในห้องนอน เขากับเพื่อนรักของเขากระโดดโลดเต้นอย่างสนุกสนาน แล้วแต่งตัวเพื่อออกไปเที่ยวข้างนอก เขาขับรถออกไปกับเพื่อน เขาเสียหลักขับรถพุ่งเข้าชนต้นไม้ใหญ่ข้างทางอย่างแรง – เพื่อนรักของเขาจากไปในภาพนั้น

เขาเสียใจที่อยู่ในรถคันนั้นกับเพื่อนรัก ที่ตัวเขารอดชีวิตแต่เพื่อนต้องจากไป เขายืนเหงาเอามือลูบต้นไม้ข้างทางต้นนั้น จมอยู่กับความเศร้าอย่างไม่รู้วันจะคลาย

ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวของเพื่อนรักที่จากไปนั้นอบอุ่น แม่ของเพื่อนจมอยู่กับความทุกข์ อยู่กับการโหยหาวันเวลาที่ผ่านมาบนความสัมพันธ์ที่มีชีวิตชีวาระหว่างแม่กับลูก เธอถามเขาว่า – ลูกของเธอพูดอะไรก่อนจะที่รถจะเสียหลักพุ่งชนต้นไม้ เขาจะทันได้คิดถึงเธอก่อนหรือปล่าว เธอเคยคิดจะขับรถพุ่งเข้าชนต้นไม้ต้นนั้น

เธอคงรู้ ถึงเธอจะจากไปเหมือนลูกชายของเธอ แต่ความทุกข์นั้นอาจไม่จากไปได้เลย

เธอต้อนรับเขาเข้ามาในครอบครัว คล้ายมาแทนลูกชายของเธอ ตามติดเพื่อให้เขามีชีวิตอยู่ในสายตาของเธอ ให้เวลาเป็นตัวเยียวยาความเศร้า ทั้งของเธอและของเขา

เวลาผ่านไป เขาทิ้งทุกคน หนีไปอยู่กับความเศร้าที่ไม่อาจหลุดพ้นตามลำพังที่เมืองไกล เธอตามไปจนพบ

เธอนั่งอยู่ข้างเขาที่กำลังนอนหลับ – เธอเอามือลูบแก้มของเขา หวังให้เขาฝันดี

จังหวะของภาพและเรื่องราวปลีกย่อยในช่วงแรกของหนังทั้งสองเรื่อง จะเป็นเรื่องราวของความทุกข์ที่ต้องทนพบ อยู่เจอ ของคนรอบข้างที่ยังมีชีวิตอยู่ เหมือนว่าเรากำลังขับรถอย่างโดดเดี่ยวบนถนนสายยาว หนังเรื่อง One Day In Summer คงพบทางแยกข้างหน้าที่เลี้ยวปิดประเด็นให้เห็นความสว่าง ส่วนเรื่อง After Him คงยังต้องขับรถคันนั้นอย่างเดียวดายต่อไป ด้วยถนนยังทอดตัวอีกยาวไกลสู่ความหมองหม่นอย่างไม่รู้ปลายทางที่สิ้นสุด

จริงแล้ว เวลาไม่อาจเยียวยาได้ทุกสิ่ง –
คงมีบางอย่างสูญหาย และก็มีหลายอย่างกลับคืน

นับวัน นับคืน
คอหนัง / นักเขียนอิสระ

โปรแกรมหนังควบ 13 ปี ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ ชุดที่ 3 - ตอน เวลาที่ไม่ใช่ของใครเลย

1 – 6:30 / By Rinaldy Puspoyo / Indonesia / 2006
2 – 4:30 / By Royston Tan / Singapore / 2005
3 – 2:37 / By Murali K Thalluri / Australia / 2006

หนังทั้ง 3 เรื่องนี้ มีชื่อเรื่องด้วยตัวเลขของ “เวลา” เหมือนกัน เพื่อบ่งบอกว่าประเด็นหลักสำคัญของเรื่องเกิดขึ้น ณ เวลาตามชื่อเรื่องนั้น แต่เรื่องราวที่เกิดขึ้นและเป็นไปในหนังแต่ละเรื่องนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

คงเป็นความจริง ที่ ณ ขณะหนึ่งของเวลาเดียวกัน ก็เป็น ณ ขณะหนึ่งของชีวิตที่แตกต่างกันของแต่ละคน

6:30 --
วันนี้เป็นวันสุดท้ายของเขาที่ซานฟรานซิสโก ก่อนจะย้ายกลับบ้านที่อินโดนีเซียเพื่อไปอยู่เป็นเพื่อนแม่ หลังจากที่เขาจากมาเพื่อทำตามฝันเป็นศิลปินวาดรูป เมื่อ 5 ปีที่แล้วย้ายกลับบ้านที่อินโดนีเซียเพื่อไปอยู่เป็นเพื่อนแม่

เขาใช้เวลาที่เหลืออยู่ร่ำลากับเพื่อนรักสองคน ร่วมกันเผารถเวสป้าคู่ใจของเขา – เพียงพอแล้วกับการเดินทาง เขาคิดถึงภาพดวงตาของแม่ที่มองดูเขาอย่างอ่อนโยนเมื่อวันที่เขาเดินทางจากบ้านมา – เขาจะได้กลับไปอยู่บ้าน

บ่ายวันนั้น เขาได้รับข่าวแจ้งว่า แม่ของเขาเสียชีวิตจากเหตุเครื่องบินตก
ผ่านค่ำคืนอันยาวนาน รุ่งเช้า เขาเก็บของขึ้นรถบรรทุกเพื่อย้ายไปอยู่นิวยอร์ค เขาไม่กลับบ้านเพราะถึงกลับไปเขาก็ไม่ได้อยู่กับแม่ เขาคิดว่า วิธีนี้แม่จะอยู่กับเขา อย่างที่แม่อยู่เป็นกำลังใจให้เขาทำตามความฝันมาโดยตลอด

เราอาจต้องสูญเสีย เพื่อเรียนรู้ว่าถึงเวลาที่จะต้องก้าวต่อไป เพราะไม่ใช่ทุกสิ่งจะวิ่งเข้ามาหาเรา

6:30 เขาสตาร์ทรถ – เวลาของเขากำลังเริ่มต้น

4:30 --

เด็กชายอยู่ตามลำพังอย่างเงียบเหงากับพี่ชายคนละพ่อที่แฟลตในสิงคโปร์ แม่ของพวกเขาไปทำงานอยู่ต่างประเทศ พ่อของพี่ชายเป็นคนเกาหลี ส่วนพ่อของเขาหายตัวไป พวกเขาพูดกันคนละภาษา เวลาชีวิตของพวกเขาสวนกันคนละทาง กลางวันเขาไปโรงเรียน กลับมาพี่ชายก็ออกจากบ้านไปแล้ว และจะกลับมาในตอนเช้ามืดเวลา 4:30

เขาไม่เคยได้เจอหน้า พูดคุย กับพี่ชายเลย สิ่งที่สัมผัสได้ก็เป็นแค่ร่องรอยความมีตัวตนของพี่ชาย – ผ่านเสื้อผ้าที่ใช้แล้ว กระดาษที่ถูกขยำทิ้ง ก้นบุหรี่ เก้าอี้ ฝาผนังห้อง ที่พี่ชายของเขาคงได้จับต้องมาก่อนแล้ว

ทุกเช้ามืด เมื่อพี่ชายกลับและเข้าห้องนอนแล้ว เขาก็ได้แต่ออกมายืนเอามือแตะที่หน้าประตูห้องของพี่ชาย

4:30 พี่ชายไม่กลับมาแล้ว –
เขานอนบนที่นอนของพี่ชาย ล่องลอยไปกับวังวนเวลาของความเงียบเหงาที่ไม่ยอมหยุดเดิน

2:37 --
หนึ่งวันของเพื่อนนักเรียน 7 คน ที่ต่างแบกความทุกข์เดินสวนผ่านกันไปมาที่โรงเรียน บางคนทักทายกัน บางคนพูดคุยกัน บางคนกลับมีเรื่องทะเลาะกัน บางคนไม่สังเกตเห็นกัน

พวกเขาต่างพยายามก้าวผ่านความทุกข์ที่แบกไว้ให้รอดพ้นไปวันต่อวันตามลำพัง พวกเขาต่างเดินหนี ไม่มีเวลาจะมานั่งรับทุกข์ของใคร ไม่แม้แต่จะมองเห็นร่องรอยความทุกข์ของเพื่อนคนอื่น

กระไรหนอ การรอดชีวิตเป็นผู้ใหญ่นั้นช่างยากเย็นเสียเหลือเกิน

2:37 บ่ายวันนั้น – เธอคนหนึ่งฆ่าตัวตาย
บางคนรู้จักเธอ บางคนไม่รู้จักเธอ บางคนเพิ่งได้คุยกับเธอก่อนหน้านี้ บางคนคิดว่าเธอโชคดี
และในอีกหลายวันต่อไป หลายคนก็ลืมเธอ

เมื่อชีวิตถูกมัดเงื่อนปมอยู่กับเวลา หนังเรื่อง 6:30 คงเป็นปมเก่าที่ถูกคลายและเริ่มต้นขมวดปมเวลาใหม่ เรื่อง 4:30 อาจเป็นปมเวลาที่ยังไม่อาจแก้หลุด ส่วนปมเวลานั้นได้ขาดห้วงไปแล้วกับเรื่อง 2:37

เวลายังคงเดิน –
คงเป็นแค่ใครจะได้หยุด เพื่อหลุดพ้น “เวลา” ก่อนกัน


นับวัน นับคืน
คอหนัง / นักเขียนอิสระ

โปรแกรมหนังควบ 13 ปี ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ ชุดที่ 4 - ตอน พริบหนึ่งที่มองหา, อาจเห็นรักที่เร้นรอ

1 -- Cashback / By Sean Ellis / UK / 2006
2 -- Hana and Alice (Hana to Arisu) / By Shunji Iwai / Japan / 2004
3 -- Gotta Have Heart (Ba’Al Ba’Al Ley) / By Eytan Fox / Israel / 1997

การทำหนังสั้นชั้นดีให้จบสมบูรณ์ภายในเวลาสั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และการเติมต่อหนังสั้นที่ได้จบในตัวเองไปแล้ว ให้กลายเป็นหนังยาวที่ยังคงความดีนั้นอยู่ ยิ่งเป็นเรื่องยากกว่า แต่หลายอย่างล้วนมีข้อยกเว้น

Cashback เคยเป็นหนังสั้นที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์มาก่อน การเดินทางบนความสำเร็จมาได้ไกลถึงขั้นนั้นคงเป็นแรงผลักดันให้ Sean Ellis – ผู้กำกับ เติมต่อหนังสั้นเรื่องเดียวกันนี้ให้เป็นหนังยาว โดยยังคงโครงเรื่องของความรักบนโลกจินตนาการที่เขาสามารถออกแบบทุกหัวใจได้

ทุกค่ำคืน ผู้คนคล้ายเลือนหายไปกับความมืดภายนอก แต่ภายในซุปเปอร์มาเก็ตแห่งนั้นกลับสว่างไสวด้วยแสงไฟที่สะกดทุกสิ่งให้หยุดนิ่ง – คล้ายโลกสุกสว่างนั้นหยุดหมุน เป็นโลกในฝันของเขานานเท่าที่เขาจะบันดาล แสงสว่างทำให้เขาเห็นในสิ่งอื่น มองเห็นสิ่งเร้นลึกในหัวใจแต่ละคนที่หยุดเต้น แต่แสงสว่างก็อาจทำให้ตาพร่ามองไม่เห็นในตัวเอง ไม่เห็นในหัวใจที่ยังเต้นร้องไห้อยู่กับความเงียบเหงา

เมื่อเขาหลับตาแล้วลืมตาอีกครั้งหนึ่ง โลกก็คืนคลายสู่ความจริง
พริบหนึ่งเมื่อหลับตา – หัวใจคล้ายหยุดนิ่ง พริบหนึ่งนั้นอาจนานพอให้เขามองเห็นสิ่งเร้นลึกในหัวใจของตัวเอง
และนานพอให้หัวใจใครอีกดวงมาคอยรอให้เขาเห็น – เมื่อลืมตา

Hana and Alice เคยเป็นหนังสั้นทางอินเตอร์เนตที่สร้างให้กับบริษัทเนสท์เล่ ในโอกาสฉลองครบรอบ 30 ปีของการจำหน่ายช็อกโกแล็ต KitKat ของประเทศญี่ปุ่น แต่ด้วยจำนวนผู้เข้าชมมากกว่า 3 ล้านคน จึงเป็นแรงกระตุ้นให้ Sunji Iwai – ผู้กำกับ ตัดสินใจถ่ายทำขยายต่อเติมให้กลายเป็นหนังยาว

การเดินทางของรักแรกของเด็กสาวผ่านการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล เริ่มจากแอบมองเด็กหนุ่มคนที่ชอบในปลายหนาว เป็นคนรักแบบไม่คาดฝันเมื่อเริ่มใบไม้ผลิ แล้วเรรวนเมื่อเพื่อนหญิงที่สนิทของเธอกับเขาคล้ายมีใจให้กันในวันที่คลื่นทะเลแรงของปลายดอกไม้ผลิ และจบด้วยความอบอุ่นระหว่างเธอกับเพื่อนที่มองเห็นคุณค่าของมิตรภาพอันงดงาม ที่จะเลือกเดินไปข้างหน้าเพื่อต้อนรับฟ้าจ้าลมร้อนที่มาเยือนด้วยกัน
อาจมีความรักที่ยังไม่มองเห็นของพวกเธอนั้นรออยู่ กับลมใบไม้ร่วงที่ยังมาไม่ถึง –

Gotta Have Heart เป็นหนังสั้นของผู้กำกับ Eytan Fox ที่ถ่ายทอดความงดงามของการมองเห็นความรัก ผ่านภาพจังหวะการเต้นรำและเสียงเพลงอย่างนุ่มนวล เราอาจวาดภาพฝันในสิ่งหนึ่ง แล้วใครคนหนึ่งมองเห็นในฝันนั้น ใครคนหนึ่งนั้นคงมีหัวใจที่จะมองเห็นความรักที่เรียกเขาอยู่ในหัวใจของเรา

วันพรุ่งนี้อาจต้องลากันไป วันข้างหน้าคงกลับมาเป็นคู่ชีวิตกัน เพราะเราต่างมี ต่างให้ ต่างได้ หัวใจกันและกัน
หนังสั้นเรื่องนี้จบในตัวเองกับความยาว 35 นาที และไม่ได้ถูกต่อเติมเป็นหนังยาว

หนังทั้ง 3 เรื่องล้วนแล้วแต่เป็นหนังสั้นที่จบสมบูรณ์ที่น่าประทับใจ การพัฒนาต่อเติมให้กลายเป็นหนังยาวของเรื่อง Cashback และ Hana and Alice นั้นมีวิถีทางเดียวกัน คือยังคงภาพจากหนังสั้นไว้ทุกบททุกตอน แล้วถ่ายทำเฉพาะบทขยายเพื่อแทรกเพิ่มเติมให้เป็นหนังยาวเท่านั้น

ถ้าดูหนังสั้นก่อน แล้วตามด้วยหนังยาวในเรื่องเดียวกัน เมื่อดูจบจะยังคงรู้สึกว่าทั้งสองคือหนังเรื่องเดียวกัน – จังหวะการสอดแทรกต่อเติมอย่างแนบเนียนลงตัวนั้นเป็นความสามารถที่อยากให้ลอกเลียนแบบ

ถ้าใครรู้สึกว่ามีไฟ ก็อยากให้สิ่งดีๆ นั้นเกิดกับหนังสั้นอีกเรื่องที่น่าลอง – Gotta Have Heart

แล้วจะเก็บหัวใจไว้ตามดู

2 comments:

Anonymous said...

กว่าจะอ่านจบ ไม่รู้จะตอบอะไรเลยแฮะ

filmvirus said...

ค่อย ๆ อ่านจ๊ะ ของดีบริโภคช้า ๆ ไม่ใช่บะหมี่สำเร้จรูปนะจ๊ะ

คนลักหลับ

My photo
Filmvirus เป็นนามปากกาเดิมของสนธยา ทรัพย์เย็น จากคอลัมน์ “นิมิตวิกาล” ที่ใช้ในนิตยสาร Filmview ปี 2537 ต่อมาในปี 2538 สนธยาได้ก่อตั้ง “ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์” หรือ DK.Filmhouse (Filmvirus) จัดฉายหนังด้อยโอกาสให้ผู้สนใจชมฟรี พร้อมจัดพิมพ์หนังสือด้านหนัง และวรรณกรรม ชุด Filmvirus / Bookvirus (ส่วนหนังสือ “คนของหนัง” ปี 2533 นั้นเป็นผลงานก่อนตั้งฟิล์มไวรัส) ส่วนผลงานอื่นๆ ปี 2548 เป็นกรรมการเทศกาลหนัง World Film Festival of Bangkok , ปี 2552 กรรมการ Sydney Underground Film Festival, งาน Thai Short Film and Video Festival ของมูลนิธิหนังไทยครั้งที่ 1 และปี 2548-2549 เป็นเจ้าภาพร่วมจัดเทศกาลประกวดหนังนานาชาติ 15/15 Film Festival, Australia