8.8.13

โปรแกรมหนังฟิล์มไวรัส โรคแห่งมาร์เกอริต ดูราส Malady of Marguerite


เพื่อต้อนรับการมาถึงของ BOOKVIRUS 10 "ศรีนวลจัดหนัก" (Destroy, She Said) รวมเรื่องสั้นสตรีเล่า หนังสือเล่มล่าสุดของ BOOKVIRUS เราขอร่วมสมโภชน์สตรีด้วยโปรแกรมพิเศษ รวมผลงานภาพยนตร์จากผู้กำกับหญิงที่เป็นเสมือนมารดาทูนหัวของเราชาว FILMVIRUS เจ้าของผลงานภาพยนตร์และวรรณกรรมที่งดงาม และทรงพลัง เสด็จแม่ มาร์เกอริต ดูราส (Marguerite Duras / โรคแห่งความตาย, เขื่อนกั้นแปซิฟิก, แรกรัก-คนรักจากโคลอง) ซึ่งถึงแม้เราจะไม่ได้บรรจุเรื่องสั้นของเธอลงในหนังสือเราก็ขอคารวะเธอผ่านโปรแกรมสุดพิศวงนี้ 




ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ร่วมกับสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เชิญชม โปรแกรมภาพยนตร์ MALADY OF MARGUERITE

ทุกวันอาทิตย์ระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2556 - 22 กันยายน 2556 ตั้งแต่เวลา 12:30 น. เป็นต้นไป

ณ ห้องเรวัต พุทธินันท์ ชั้นใต้ดิน U2 หอสมุด ปรีดี พนมยงค์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

โทรศัพท์ 0-2613-3529 หรือ 0-2613-3530

ชมฟรี!!! (โปรดแจ้งเจ้าหน้าที่ห้องสมุดว่ามาชมภาพยนตร์ และกรุณาแต่งกายสุภาพ)




1/9/13

12.30 DESTROY, SHE SAID (1969)
14.30 NATHALIE GRANGER (1972)




(ภาพจาก Nathalie Granger)


8/9/13
12.30 INDIA SONG (1975)
14.30 THE CULCUTTA DESERT(1976)

15/9/13
12.30 BAXTER VERA BAXTER (1977)
14.30 LE CAMION (1977)

22/9/13
12.30 LE NAVIRE NIGHT (1979)
14.30 AGATHA ET LES LECTURES ILLIMITEES (1981)



‘อาจจะ บางที เป็นไปได้ว่า แต่ก็อาจจะไม่’ คำเหล่านี้อาจจะเป็นคำที่เหมาะเจาะเมื่อคุณจำเป็นจะต้องอธิบาย สิ่งที่เกิดขึ้น และเจือจางไปต่อหน้าจอของคุณในภาพยนต์ของ Marguerite Duras ราวกับมีบ้านสักหลังที่คุณมองไม่เห็นบ้านทั้งหลัง หรือห้องที่คุณเห็นเพียงบางส่วน ต่อให้ใหญ่โตโอ่อ่าอย่างโรงแรม หรือวิลล่าสวยๆ คุณก็จะจินตนาการไม่ออกว่าสถานที่นั้นคือที่ใด ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ตัวละครที่คุณเห็นดูราวกับจะเป็นภูติผีมากกว่ามนุษย์ ภูติผีซึ่งล่องลอยอยู่บนจอท่ามกลางเสียงเล่าที่ไม่นำพาเราไปสู่สิ่งใด เมื่อใครทำอะไร เรามักจะไม่เห็นว่าเขาหรือเธอทำ เราอนุมานเอา และอย่างไม่อาจรับทราบถึงแรงจูงใจใดๆ พวกเขาอาจจะตายมาแล้วสองร้อยปี หรือไม่ได้มีอยู่ อาจจะทำหรือไม่ได้ทำ รักหรือไม่ได้รัก หรือบางทีอาจจะเป็นแค่ภาพเรืองแสงคล้ายมนุษย์เท่านั้นเอง 






เธอเป็นทั้งนักเขียนนิยาย บทละคร ผู้กำกับหนัง และเป็นนักคิดคนสำคัญที่ไม่เคยเข้าพวกกลุ่มใด งานวรรณกรรมของเธอนั้นเป็นที่รู้จักกันอย่างดี ทั้งในแง่ของความงดงามทางภาษา และเสียงเล่าที่ทรงพลัง ไม่ปะติดปะต่อ ผุดพรายประหนึ่งก้วงความทรงจำที่เลือนเอาทั้งเหตุการณ์ สถานที่ และ เวลาเข้าหากัน 


หากในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ ชื่อของ Marguerite Duras มักถูกจดจำในฐานะคนทำหนังที่เต็มไปด้วยการทดลองอันหาญกล้า หนังของ Duras พร่าเลือนเสียยิ่งกว่าวรรณกรรมของเธอ คนดูครึ่งหนึ่งชื่นชมบูชาเธอในฐานะคนทำหนังที่ก้าวไปสู่ขอบเขตใหม่ๆของภาพยนตร์อย่างไม่ปะนีประนอม ในขณะที่อีกครึ่งหนึ่งสาปส่งหนังของเธอ ว่ามันช่างน่าเบื่อ ไม่มีใครทำอะไรในหนัง ไม่มีอะไรเกิดขึ้น มีแต่คนนั่งอ่านหนังสือ โธ่เอ๋ย!











ตัวละครหลักที่เป็นสตรี เสียงเล่าที่ซับ
ซ้อน แตกกระสานซ่านเซ็นออกจากตัวภาพในระดับที่ไม่อาจประสานกันได้แต่ก็ไม่อาจดำรงคงอยู่เพื่อให้มีความหมายอย่างสมบูรณ์ในตัวมันเองได้เช่นกัน หรือเรื่องเล่าของความรักที่ไม่อาจครอบครองซึ่งเป็นประหนึ่งภาพสะท้อนสองระดับ ทั้งต่อตัวละครที่กัดกินลึกซึ้งลงในความรู้สึกสะเทือนไหว ไร้ความจีรังยังยืน ราวกับเมื่อเริ่มตกหลุมรักความรักก็กำลังตายลง และในอีกทางหนึ่งความรักที่ไม่อาจเติมเต็มนี้็สะท้อนความเจ็บปวดต่อโลกในอีกระดับด้วยเช่นกัน 




1/9/13
12.30 DESTROY, SHE SAID (1969) 
14.30 NATHALIE GRANGER (1972)

8/9/13
12.30 INDIA SONG (1975)
14.30 THE CULCUTTA DESERT(1976)





15/9/13
12.30 BAXTER VERA BAXTER (1977) 
14.30 LE CAMION(1977)




22/9/13
12.30 LE NAVIRE NIGHT (1979) 
14.30 AGATHA ET LES LECTURES ILLIMITEES (1981) 


DESTROY, SHE SAID (1969) 





พวกเขาอยู่โรงแรมแห่งหนึ่ง Max Thor เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เขาพบกับ Stien คนยิวเยอรมันที่อยู่ในโรงแรม นั่งคุยกันใต้ร่มไม้ Max รอเมียที่เดินทางไปเยี่ยมพ่อแม่เป็นเวลาสิบวัน และจะมาสมทบที่โรงแรม Stein มารอพบคนรักเก่า ท่ามกลางคนรักมากมายของเขา เขาพบเธอครั้งเดียวแล้วจากกันตลอดกาล พบกันที่นี่ เขาเลยมารอเธอที่นี่ ยังมีผู้หญิงอีกคน ที่นอนหลับอาบแดดอยู่ในสวนเกือบจะตลอดเวลา เธออ่านหนังสือเล่มหนึ่งเกือบจะตลอดเวลา แต่ก็ไม่เคยอ่านจบเลยสักทีตลอดเวลา Alisa ภรรยาของ Max ตามมาสมทบ เธอเป็นคนรักเก่าของ Stein ด้วย พวกเขาพูดคุยกันในสวนของโรงแรม เล่นไพ่กัน นอนบนโถงห้อง หากพวกเขาทั้งสามต่างสนใจ Elizabeth เธอเพิ่งฟิ้นไข้จากการแท้งลูก อาจจะไม่ได้รักลูกสาวของตัว และสามีของเธอก็เอาจจะเป็นพวกจอมเจ้าชู้อะไรแบบนั้น เรื่องในโรงแรมเดินไปอย่างสะเปะสะจับต้นชนปลายไม่ได้ พวกเขากลัวป่าที่ห้อมล้อมโรงแรม ส่วนตัวโรงแรมนั้นบอกว่ามีวิวสวยที่หาเท่าไรก็ไม่พบ มีแต่สวน ห้องว่างๆที่หน้าต่างเปิดโล่ง และมีเสียงการตีเทนนิสที่ไม่เคยเห็นผู้เล่น ราวกับตัวละครเรื่องเรืองขึ้นจากความมืด ไม่หรอก พวกเขาไม่ได้จมอยู่ในแสงที่เล็กน้อย หรือควานหากันในความมืดอะไรแบบนั้น พวกเขาแค่เรื่อเรือง สลัวลาง ตัวตนของพวกเขาแผ่วจางเหมือนภูติผี 

นี่คือภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของ Duras ที่สร้างขึ้นจากนิยายของเธอ 




NATHALIE GRANGER (1972)




ในบ้านหลังหนึ่ง นี้คือช่วงเวลายามบ่าย วันที่อากาศหนาวอยู่สักเล็กน้อย สรรพสิ่งสงบอ้อยสร้อยอยู่ในโมงยามที่ราวกับหยุดนิ่ง เสียงวิทยุแผ่วข่าวที่ผู้ฟังเพียงเปิดทิ้งอย่างใจลอย หวนให้ได้ยินเพียงเสียงเปียโน โน๊ตสำหรับเด็กๆหัดเล่นของลูกสาวที่เหมือนตกค้างในอากาศแล้วเพิ่งปรากฏกาย หญิงสาวนั่งนิ่งจ้องมองผ่านหน้าต่างไปยังสวน หญิงสาวเดินเชื่องช้าในสวนนั้น หญิงสาวรีดผ้าช้าเชื่องและหยุดเสียกลางคัน หญิงสาวและหญิงสาวผิงไฟจากเศษกิ่งไม้เกลื่อนสวนที่เธอมากองรวมกันและจุดไฟเผา จังหวะเนิบช้าและเงียบเชียบแมวหง่าวสีดำที่ง่วงหาวตรงกรอบหน้าต่าง ยามบ่ายสมบูรณ์แบบเหมือนภาพเขียนสักภาพ หากคือยามบ่ายอันอวลกระอายของกลิ่นแห่งความพิพักพิพ่วน ความอ่อนไหวที่ปริ่มจะระเบิดออกในยามบ่ายอันสงบ จนกระทั่งเซลล์แมนขายเครื่องซักผ้านายหนึ่งโผล่เข้ามาในฉากของหญิงสาวกับหญิงสาว พกพาความกระอักกระอ่วนผิดที่ผิดทาง ทะลึ่งพรวดสู่ฉากภาพอันสมบูรณ์ ก่อนจะล่าถอยไป กลางความเงียบอันอ่อนไหว หญิงสาวและหญิงสาว ยามบ่ายอันลึกลับ อันอ่อนไหว อันสงบเงียบ อันสะเทือนไหว ยามบ่าย นี้เป็นเพียงช่วงเวลายามบ่า


INDIA SONG (1975)





นี้คือชีวิตอันว่างเปล่าของผู้คนในสถานกงสุลในอินเดีย ชีวิตของผู้คนหรืออาจจะภูติผีซึ่งไม่ปริปาก เพียงเดิน ยืน นอน มอง เต้นรำ ในดินแดนประหลาดปลายขอบโลก ตลอดทั้งเรื่องบรรดาตัวละครในสถานทูตทำเพียงแค่เดินไปเดินมา เต้นรำ สูบบุหรี่ นอนบนพื้น ในขณะที่ตลอดเวลาจะมีเสียงบรรยาย บ้างเป็นบทสนทนา บ้างเล่าถึงอนาคตของบางตัวละคร บ้างประชดเสียดสีตัวละคร บ้างเล่าเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง บ้างเป็นเสียงของผู้ที่ไม่อยู่ในฉาก และ แทรกสอดด้วยเสียงคร่ำครวญของหญิงสาวชาวลาวที่ร้องเพลงและร้องขอข้าวกิน ไม่ว่าเสียงใดที่เราได้ยินไม่ได้ออกจากปากตัวละครโดยตรงเลยสักคน พวกเขาหุบปากสนิทโดยตลอดทั้งเรื่อง มีแต่เสียงเท่านั้นที่ล่องลอยฟุ้งกระจาย




ท่ามกลางความสับสนอลหม่านของภาพ และเสียง อันไม่สัมพันธ์ หนังกลับตอกตรึงสายตาผู้ดูด้วยภาพอันทรงพลัง อาคารเก่าแก่ปิดตาย สนามที่ปูนแตกกร่อน สนามเทนนิสว่างเปล่า แนวต้นไม้ทอดยาวไม่รู้จบ กล้องทอดสายตาไปในสวนอันค่อยๆมืดมน โถงทางเดินอันยืดยาว


THE CULCUTTA DESERT(1976)





หนังที่เป็นเสมือคู่แฝดของ India Song ในหนังเรื่องนี้ Duras ยกเอาเสียงทั้งหมดของIndia Song มาวางประกบคู่กับภาพที่เป็นเพียงการถ่ายอาคารร้าง อาคารที่อาจจะใช้เป็นอาคารสถานทูตในIndia Song กล้องกวาดจับ พื้น ผนัง เพดาน สวนเศษอิฐปูนกล่นเกลื่อน วัชพืชงอกงามที่นั่นที่นี่ ถึงที่สุด กระทั่งบรรดาตัวละครก็ระเหิดหายไป เหลือเพียงอาคารว่างเปล่าและเสียงของผู้คนที่ล่องลอยราวกับว่าถึงที่สุดพวกเขาก็ได้ตายลง หรือหายตัวไปด้วย พวกเขากลายเป็นเช่นหญิงขอาน และท่านกงสุล กลายเป็เนเพียงเสียงคร่ำครวญของดวงวิญญาณที่ยังวนเวียนในอาคารเก่าคร่ำคร่า มาถึงจุดนี้ เสียงไม่เพียงแต่สั่งการนักแสดงเท่านั้น หากกำหนดจินตนาการของผู้ชม มันต่างไปจากการเป็นเสียงเล่า เพราะในตัวมันเองมีความย้อนแย้งกันอยู่ มีทั้งอากัปของการสนทนาหรือการเล่าที่ย้อนแย้งกับสิ่งที่เล่าไปแล้ว ด้วยลักษณาการนี้ Son nom de Venise จึงมีลักษณะของการเป็นการหลงติดในบ้านผีสิงมากกว่าสารคดีนำเที่ยวสถานทูต 


BAXTER VERA BAXTER (1977) 





ที่โรงแรมตีนเขา ผู้ชายที่เคาน์เตอร์กับนักข่าวที่เพิ่งเดินเข้ามาเล่าเรื่องนาง Vera baxter หญิงลึกลับที่มาพักที่ปราสาทหรูหราทุกปี เธอมีสามีรวยๆที่ไม่ได้เอาใจใส่เธอมากนักให้ผู้หญิงคนหนึ่งฟัง ผู้หญิงอีกคนโผล่มาแล้วบอกว่ามีคนเช่าบ้านนั้นแล้ว นายหน้าผู้ให้เช่าตามหาหญิงสาวไม่พบ โทรไปก็ไม่มีคนรับ ไม่มีใครติดต่อได้เธออยู่ในบ้านไม่ยอมออกมา ต่อมาหญิงสาวที่มาใหมได้พบกับ Vera Baxter ในบ้านของเธอ ภาพทะเล สวน ต้นไม้ กรอบหน้าต่าง ถูกแทรกเข้ามาในบทสนทนาของผู้หญิงสองคนคนหนึ่งเป็นเมียเอก และอีกคนเป็นเมียเก็บ สามีของเวรามีเมียเก็บมากมาย หญิงสาวเป็นหนึ่งในนั้น เธอสองคนพูดเรื่องของJean สามีร่ำรวยของVera พวกเธอต่างบอกกันว่าต่างโกหกเรื่องต่างๆ ที่แน่ๆ Vera ก็คบชู้กับใครสักคนและพาเขามาที่นี่ด้วย คำลวงของความทรมาน รักของเธอสองคนดำเนินไปเช่นนั้น




หญิงสาวแปลกหน้าจากโรงแรมตีนเขาเดินทางมาหา Veraที่บ้าน เธอเป็นตัวแทนของชายหนุ่มที่บาร์ที่เรารู้แล้วว่าเป็นชู้รัก Veraเล่าเรื่องของชู้รัก เล่าเรื่องของสามีที่เงินมากแต่ไม่ได้ร่ำรวยเลยสักนิด ชายคนที่Veraแต่งงานด้วยเป็นเพียงนายทึ่มมากรักผู้น่าเบื่อหน่าย ชู้รักของเธออาจหล่อเหลาแต่ก็เป็นแค่แมงดาเกาะผู้หญิงกิน พวกเธอผลัดกันเล่าเรื่องเฉพาะของVeraเอง หญิงแปลกหน้าบอกจะพาเธอไปหานายหน้าเรื่องเช่าบ้าน ไปพบชู้รักที่บาร์ แต่ผู้หญิงสองคนก็พูดคุยกันท่ามกลางภาพของทะเล กรอบหน้าต่าง สวน ปราสาทโบราณ ภาพที่ถูกสอดแทรกเข้ามาท่ามแสงซึ่งโพล้เพล้ลงไปเรื่อยๆ


LE CAMION (1977)







หญิงคนหนึ่ง โบกรถบรรทุกคันหนึ่ง รถบรรทุกสีฟ้า แล่นเอื่อยไปตามถนน บนรถมีชายคนขับ คนขับอีกคนนอนหลับที่เบาะหลัง เขาจะนอนหลับไปตลอดเรื่อง หญิงผู้นั้นนั่งรถไปกับชายคนขับ อยู่ในสถานที่เดียวกัน เวลาเดียวกัน จ้องมองภูมิทัศน์เดียวกัน แต่พวกเขาไม่ได้มีความสัมพันธ์อะไรมากไปกว่านั้น เธอพูด เธอร้องเพลง เธอนิ่งเงียบ เธออาจจะร้องให้ด้วย เขาขับรถ เขาฟัง ถามบ้าง ร้องเพลงบ้าง รถแล่นเอื่อยเฉื่อย ถนนเลียบทะเล สายหมอกเทาเศร้าโอบล้อม เรื่องมันก็เพียงเท่านั้นมีเพียงเท่านั้นเอง ไม่ได้รู้อะไร ไม่มีความหมาย





ดูราส์ กับเดอปาดิเออนั่งอยู่ในห้อง อยู่สถานที่เดียวกัน ในเวลาเดียวกัน จ้องมองภูมิทัศน์เดียวกัน ภูมิทัศน์บนแผ่นกระดาษ ทั้งคู่กำลังนั่งอ่านบทหนังเรื่องหนึ่ง หนังเล็กๆถ่ายรวบรัด ง่ายดาย ถ่ายอย่างธรรมชาติ อย่างธรรมชาติในความหมายของทุนต่ำๆ ว่าด้วยหญิงคนหนึ่งโบกรถบรรทุกคันหนึ่ง ในวันหนึ่งๆ เวลาหนึ่งๆ

และหนังทั้งรื่องก็เป็นเช่นนั้น ดูราส์กับเดอปาดิเออ อ่านบท สนทนา นิ่งเงียบ ตัดสลับภาพของสองข้างทางท้องถนน จากหน้าต่างรถซึ่งแล่นเอื่อยเฉื่อยในสายหมอก ในยามสนธยากาลสีน้ำเงินเข้ม วันสีเทา ต้นไม้เฉาแห้ง ตึกสูง ที่ไกลๆ ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น ภาพนิ่งยาวของคนสนทนาและภาพเคลื่อนไหวจากหน้าต่างรถ ไร้ทิศทาง ไร้ความหมาย ไม่มีเหตุผล เป็นเพียงเรื่องเล่าบางชนิด



LE NAVIRE NIGHT (1979) 






ภาพยนตร์ซึ่งเป็นเพียงเรื่องรักของผู้คนที่ไม่เคยได้พบพานกัน เรื่องราวล่องลอยอยู่ในบทสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างคนแปลกหน้าสองคน ดำเนินไปโดยนักแสดงสามคนที่เราแทบไม่ได้เห็นหน้า และแทบไม่ ‘แสดง’ สิ่งใด หากนี่คือภาพยนตร์ที่ถ่ายทอกความนุ่มนวลอ่อนหวานเศร้าสร้อยของบางสิ่งเช่น ความปราถนา


AGATHA ET LES LECTURES ILLIMITEES (1981) 





ในหนังเรื่องนี้ภาพนั้นมีเพียง โรงแรมที่เหมือนจะร้าง โถงทางเดิน ห้องล๊อบบี้ ทุกที่ว่างเปล่า นอกบานหน้าต่าง ทุกอย่าดูเหงาเศร้าในวันที่แทบไม่มีแสงแดด ทะเลสงบราบเรียบ ราวกับว่ามันจะเป็นวันที่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น และมันก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเสียจริงด้วย Agatha เดินทางมาที่โรงแรมริมทะเลแห่งนี้เพื่อพบกับคนรักก่าของเธอ กล่าวให้ถูกต้อง ‘พี่ชายของเธอเอง’ ทั้งคู่นัดพบกันอีกครั้งที่นี่ หลบสามีและภรรยาของตัวเองมาพบกัน แต่ที่พวกเขาทำคือการยืนมองเหม่อไปทางทะเล นอนหลับอยู่บนโซฟา เสียงที่เราได้ยินก็คือเสียงของคนทั้งคู่ แต่เราก็ไม่รู้ว่ามันเป็นเสียงจากอดีต หรือปัจจุบัน เป็นเสียงของการสนทนา หรือเสียงเล่าจากที่อื่น ไม่ปะติดปะต่อ ไม่ย้อนเล่าความหลัง ทั้งหมดเป็นเพียงความเศร้าสีจาง ของตัวละครภูติผีที่ไม่ปริปากอีกครั้ง เสียงเล่าบอกบางอย่าง และไม่บอกอีกอย่าง 




เอาเข้าจริงเสียงเล่าใน Agatha อาจจะคลุมเครือกว่าเสียงใดๆที่เคยได้ยินมาในหนังของเธอ มันเป็นราวกับการแอบฟังคนที่เราไม่รู้จักคุยกัน พวกเขาสนทนาในเรื่องที่เราไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ และแน่นอนเขาไม่ปรารถนาให้เรามีส่วนร่วม สรรพสิ่งสลัวในครึ่งแสงของทะเลสงบราบเรียบ ความเศร้าในรักที่เป็นไปไม่ได้ถูกถ่ายทอดถึงความตายของมันอย่างช้าๆในหนังเรื่องนี




Further Reading 

Marguerite Durasเสียงในความทรงจำ http://filmsick.wordpress.com/2013/08/11/marguerite-duras/



NEW NOVEL, NEW WAVE, NEW POLITICS: FICTION AND THE REPRESENTATION OF HISTORY IN POSTWAR FRANCE (1998), written by Lynn A. Higgins แปลโดย จิตร โพธิ์แก้ว https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10201930608810200&set=a.2900190747215.2155569.1333811571&type=1&theater





Le Camion โดย filmsick
http://filmsick.wordpress.com/2013/04/13/lecamiondura/

No comments:

คนลักหลับ

My photo
Filmvirus เป็นนามปากกาเดิมของสนธยา ทรัพย์เย็น จากคอลัมน์ “นิมิตวิกาล” ที่ใช้ในนิตยสาร Filmview ปี 2537 ต่อมาในปี 2538 สนธยาได้ก่อตั้ง “ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์” หรือ DK.Filmhouse (Filmvirus) จัดฉายหนังด้อยโอกาสให้ผู้สนใจชมฟรี พร้อมจัดพิมพ์หนังสือด้านหนัง และวรรณกรรม ชุด Filmvirus / Bookvirus (ส่วนหนังสือ “คนของหนัง” ปี 2533 นั้นเป็นผลงานก่อนตั้งฟิล์มไวรัส) ส่วนผลงานอื่นๆ ปี 2548 เป็นกรรมการเทศกาลหนัง World Film Festival of Bangkok , ปี 2552 กรรมการ Sydney Underground Film Festival, งาน Thai Short Film and Video Festival ของมูลนิธิหนังไทยครั้งที่ 1 และปี 2548-2549 เป็นเจ้าภาพร่วมจัดเทศกาลประกวดหนังนานาชาติ 15/15 Film Festival, Australia