6.10.07

Fred Kelemen Masterclass in Bangkok (ตอน 2)

Fred Kelemen Masterclass in Bangkok (ตอน 2)


ความเดิมจาก Fred Kelemen Masterclass in Bangkok ตอน 1:

http://dkfilmhouse.blogspot.com/2007/09/fred-kelemen-masterclass.html

(กรุณาอ่านบทสัมภาษณ์ของ Fred Kelemen โดย สนธยา ทรัพย์เย็น ได้จากหนังสือ “ฟิล์มไวรัส เล่ม 2” หรืออ่านบทความแนะนำตัว เฟรด เคเลเม็น จาก http://twilightvirus.blogspot.com/2007/10/fred-kelemen.html)


ราตรีวิเวกของ เฟรด เคเลเม็น
Fred Kelemen Master Class

จัดโดย ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส), สถาบันเกอเธ่ กรุงเทพฯ, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์, พระจันทร์เสี้ยวการละคร และ The World Film Festival of Bangkok ครั้งที่ 5



ขอเชิญร่วมงาน เฟรด เคเลเม็น มาสเตอร์คลาส ยอดผู้กำกับชาวเยอรมัน ซึ่งถือเป็นเจ้าของผลงานภาพยนตร์ศิลปะที่น่าจับตามองที่สุดในโลกภาพยนตร์ปัจจุบัน หนังหลายเรื่องของเขาได้รับความชื่นชมทั่วโลก หนังใหญ่เรื่องแรกของเขาคือเรื่อง Fate ได้รับเลือกเป็น 1 ใน 150 อันดับสุดยอดภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งทศวรรษ 90 (ลำดับที่ 59) ที่ไม่ได้รับการจัดจำหน่ายในอเมริกา จากการคัดเลือกของนิตยสาร Film Comment
(อ่านอันดับหนังต่างๆ ได้ที่ http://www.filmlinc.com/fcm/7-8-97/poll2.htm)

หลายประเทศได้เคยรวบรวมผลงานของเขาทั้งหมดจัดฉายแบบยกชุด ทั้งในยุโรป, นิวยอร์ค อเมริกา และ ลอนดอน ประเทศอังกฤษ อีกทั้งเขายังเป็นอาจารย์สอนภาพยนตร์ และละครเวทีที่ประเทศสเปน และแลตเวียอีกด้วย



นอกจากชมผลงานภาพยนตร์ที่หาดูได้ยาก รวมทั้งผลงานด้านการกำกับละครเวทีเรื่อง Fahrenheit 451 และ Desire Under the Elmes แล้ว ในงานครั้งนี้ เคเลเม็น จะร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนักศึกษาภาพยนตร์ นักการละครเวที และผู้ชมชาวไทยอย่างใกล้ชิด

ฟรีตลอดงาน วันที่ 5 - 6 พฤศจิกายน 2550 ที่ สถาบันเกอเธ่ กรุงเทพฯ และ วันที่ 7 - 8 พฤศจิกายน 2550 ที่ ห้องเรวัติ พุทธินันทน์ ชั้นใต้ดิน U2 หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ตั้งแต่เวลา 13.00 น.-18.00 น.

ส่วนผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่อง Krisana (Fallen) และงานถ่ายภาพใน The Man from London (กำกับโดย Bela Tarr) นั้นจัดฉายเป็นส่วนหนึ่งในงาน World Film Festival of Bangkok ระหว่างวันที่ 25 ตุลาคม – 4 พฤศจิกายน 2550 ที่โรงภาพยนตร์ Major Esplanade เช็คโปรแกรมได้ที่ http://www.worldfilmbkk.com/


ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับภาพยนตร์ ของ Fred Kelemen
(ดัดแปลงจากบทความแปลของ Madame MDS)

Fate เป็นหนังใหญ่เรื่องแรกของ Fred Kelemen ซึ่งได้รับการยกย่องมากจาก Susan Sontag กวี และนักเขียนชื่อดัง ในขณะที่ เอ็ด ฮอลเทอร์ นักวิจารณ์ของนิตยสารวิลเลจ วอยซ์ ของสหรัฐกล่าวว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้ภาพยนตร์แนว Dogme (ภาพยนตร์ที่ต่อต้านการปรุงแต่งในทุกๆ ด้านของผู้กำกับดัง Lars von Trier) ดูเหมือนเป็นภาพยนตร์กระแสหลักไปเลย ทั้งนี้ Fate มีเนื้อหาเกี่ยวกับกลุ่มผู้อพยพชาวรัสเซียที่อาศัยอยู่ในกรุงเบอร์ลินและเรื่องราวอันโหดร้ายที่เกิดขึ้นในชีวิตของพวกเขา โดยโครงสร้างของเรื่องมีลักษณะคล้ายสารคดีในขณะที่งานด้านภาพในเรื่องนี้มีลักษณะคล้ายกับตกอยู่ในความฝัน ซึ่งลักษณะที่ขัดแย้งกันนี้เหมาะสมอย่างมากในการนำเสนอตัวละครในเรื่องที่ดื่มเหล้าอยู่ตลอดเวลา


Frost เป็นภาพยนตร์โทนหดหู่ที่พูดถึงประเด็นเรื่องการดำรงอยู่ของตัวตน โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับมารีแอนน์ ผู้หญิงที่หลบหนีสามีผู้โหดร้ายและขี้เมาในช่วงคริสต์มาส เธอพาลูกชายเดินทางไปทางทิศตะวันออกผ่านหมู่บ้านที่ทรุดโทรมและภูมิประเทศที่เวิ้งว้างในช่วงฤดูหนาวเพื่อกลับไปยังบ้านเกิดของตัวเอง และในระหว่างทางทั้งสองก็ถูกผู้คนรอบข้างเอารัดเอาเปรียบด้วยวิธีการต่างๆ แต่ในที่สุดมารีแอนน์ก็ได้พบกับความอบอุ่นทางใจในช่วงสั้นๆ ในโรงแรมราคาถูก


Nightfall(Abendland) เปิดเรื่องด้วยการผสมผสานฉากลองเทค (ภาพที่ถ่ายด้วยระยะไกล) ที่ถ่ายด้วยฟิล์ม 35 มม. เข้ากับฉากโคลสอัพที่ถ่ายด้วยกล้องวีดีโอ และมีจุดร่วมเหมือนกับ Frost และ Fate ตรงที่ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอโลกที่หดหู่และซึมเศร้าและมนุษย์ที่ตกอยู่ในห้วงแห่งความทุกข์ทรมานเหมือนกัน

เอ็ด ฮอลเทอร์ตั้งข้อสังเกตว่าภาพยนตร์ทั้ง 3 เรื่องของเคเลเม็นมีจุดเด่นที่การใช้ดนตรีโฟล์คและป็อปมาช่วยสร้างอารมณ์กดดันให้กับเรื่อง โดยใน Fate นั้นเคเลเม็นใช้ดนตรียิปซีที่เล่นด้วยแอคคอร์เดียนของรัสเซีย ส่วนใน Frost นั้น เคเลเม็น ใช้ดนตรีแทงโก, คันทรี และเพลง Mandy ของแบร์รี แมนิโลว์ มาช่วยสร้างอารมณ์อันโศกเศร้า ในขณะที่ Nightfall ใช้ดนตรีฟาโดของโปรตุเกส


เคเลเมนกล่าวว่าภาพยนตร์ของเขายึดหลักการของ “ความไม่บริสุทธิ์” (impurity) ทั้งในทางสุนทรียศาสตร์และทางการเมือง และกล่าวเสริมว่า “ความบริสุทธิ์เป็นมายาคติที่สร้างความเจ็บปวดให้กับโลกนี้มามากแล้ว” ดังจะเห็นได้จากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากความเชื่อเรื่องการสร้างชาติพันธุ์ที่บริสุทธิ์, ประเทศชาติที่บริสุทธิ์ หรือความเชื่อทางศาสนาที่บริสุทธิ์ นอกจากนี้ คำพูดของเขายังพาดพิงไปถึงความเชื่อเรื่องสไตล์การสร้างภาพยนตร์แบบตายตัว ซึ่งความเชื่อนี้เองที่เป็นอุปสรรค์ขัดขวางไม่ให้ศิลปะภาพยนตร์ได้รับการพัฒนา

เอ็ด ฮอลเทอร์ยังให้ความเห็นอีกด้วยว่าถึงแม้ภาพยนตร์ของเคเลเม็นจะนำเสนอความว่างเปล่าทางจิตใจ แต่กลับเป็นภาพยนตร์ที่สะท้อนความเป็นมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้งมาก

2 comments:

Anonymous said...

ผมว่าบล็อก dkfilmhouse มีประโยชน์และน่าสนใจมาก ภาพก็สวย ผมไม่มีพื้นด้านนี้เลย แต่ก็พยายามเรียนรู้ครับ เป็นกำลังใจให้นะครับ

พีท

filmvirus said...

ขอบคุณครับพีท ตกลงมีคนอ่าน 1 คนแล้ว แต่การทำ blog นี่ใช้เวลาและน่าเบื่อกว่าที่คิด แต่ขอบคุณครับที่ส่งกำลังใจมา

อย่าลืมว่าอ่านบทความหรือบทวิจารณ์ต้องไปที่ นิมิตวิกาล (Twilight Virus) นะครับ

Blog Archive

คนลักหลับ

My photo
Filmvirus เป็นนามปากกาเดิมของสนธยา ทรัพย์เย็น จากคอลัมน์ “นิมิตวิกาล” ที่ใช้ในนิตยสาร Filmview ปี 2537 ต่อมาในปี 2538 สนธยาได้ก่อตั้ง “ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์” หรือ DK.Filmhouse (Filmvirus) จัดฉายหนังด้อยโอกาสให้ผู้สนใจชมฟรี พร้อมจัดพิมพ์หนังสือด้านหนัง และวรรณกรรม ชุด Filmvirus / Bookvirus (ส่วนหนังสือ “คนของหนัง” ปี 2533 นั้นเป็นผลงานก่อนตั้งฟิล์มไวรัส) ส่วนผลงานอื่นๆ ปี 2548 เป็นกรรมการเทศกาลหนัง World Film Festival of Bangkok , ปี 2552 กรรมการ Sydney Underground Film Festival, งาน Thai Short Film and Video Festival ของมูลนิธิหนังไทยครั้งที่ 1 และปี 2548-2549 เป็นเจ้าภาพร่วมจัดเทศกาลประกวดหนังนานาชาติ 15/15 Film Festival, Australia