17.6.08

เทศกาลศิลปะเมดเล่ย์ ดอน กิโฆเต้ แห่งลามันช่า

หลังจากที่ ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ได้เคยนำเสนอ ภาพยนตร์ ดอน กีโฆเต้ ไปชุดหนึ่งเมื่อเดือน มิถุนายน 2550 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ http://library.tu.ac.th/staff/user4/movies/Don%20Quixote.html

ในคราวนี้เพื่อสานต่อการ "สู่ฝันอันยิ่งใหญ่" ฟิล์มไวรัส จึงขอเพิ่มเติมหนัง Don Quixote และศิลปะแขนงอื่น ๆ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากอมตะวรรณคดีเรื่องดัง

ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ร่วมกับ สำนักพิมพ์ผีเสื้อ และ สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เสนอ . . .

เทศกาลศิลปะเมดเล่ย์ ดอน กิโฆเต้ แห่งลามันช่า
รวมมิตรภาพยนตร์ ดนตรีและนาฏลีลา แห่งแรงบันดาลใจ
จากบทประพันธ์เรื่องสำคัญของ มิเกล เด เซร์บันเตส

วันเสาร์ที่ 5 และ 12 กรกฎาคม 2551
ณ ห้องเรวัต พุทธินันท์ ชั้นใต้ดิน U2 หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
โทร 0-2613-3529 หรือ 0-2613-3530
ชมฟรีตลอดรายการ!!!

(โปรดแจ้งเจ้าหน้าที่ห้องสมุดว่ามาร่วมชมเทศกาล และกรุณาแต่งกายสุภาพ)

ร่วมชมผลงานภาพยนตร์ ดอน กิโฆเต้ ฉบับที่ยังไม่เคยจัดฉายมาก่อน พร้อมด้วยการแสดงนาฏลีลาและการบรรเลงดนตรีที่ได้รับแรงบันดาลใจจากบทประพันธ์อมตะชิ้นนี้ และร่วมเสวนากับวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี เจ้าของนามปากกา 'สิงห์ สนามหลวง' กับคุณมกุฏ อรฤดี บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ในหัวข้อ "โลกศิลปะของดอน กิโฆเต้ แห่งลามันชา" ดำเนินรายการโดย 'กัลปพฤกษ์'

5 กรกฎาคม 2551

13.00 – 14.00 น.
ฉายภาพยนตร์เรื่อง Adventures of Don Quixote (1933) กำกับโดย G.W. Pabst
14.00 – 15.45 น.
ฉายภาพยนตร์เรื่อง Don Kikhot (1957) ฉบับรัสเซีย กำกับโดย Grigory Kozintsev
16.00 – 18.00 น.
ร่วมเสวนาในหัวข้อ “โลกศิลปะของดอน กิโฆเต้ แห่งลามันชา” กับคุณ สุชาติ สวัสดิ์ศรี หรือ ‘สิงห์ สนามหลวง’ บรรณาธิการนิตยสารช่อการะเกด และคุณ มกุฏ อรฤดี บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ดำเนินรายการโดย ‘กัลปพฤกษ์’

12 กรกฎาคม 2551

12.30 – 14.45 น.
ฉายการแสดงบัลเลต์เรื่อง Don Quixote กำกับโดย Rudolf Nureyev
15.00 – 16.45 น.
ฉายภาพยนตร์สเปนเรื่อง Honor de Cavalleria (2006) กำกับโดย Albert Serra
17.00 – 17.45 น.
ฉายการบรรเลงบทคีตนิพนธ์ Don Quixote ประพันธ์โดย Richard Strauss อำนวยวงโดย Herbert von Karajan

เรื่องย่อของบทประพันธ์ ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน

เรื่องราวใน "ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน" ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นวรรณกรรมรูปแบบ 'นวนิยาย' เรื่องแรกของโลกนั้น จะเป็นการล้อเลียนขนบงานวรรณคดีวีรคติที่มุ่งเชิดชูอุดมคติและความมุ่งมั่นในการพิชิตหมู่มารอภิบาลคนดีของเหล่าอัศวินวีรบุรุษผู้กล้า โดยจะเล่าเรื่องราวผ่านตัวละคร อล็อนโซ กิฆาน่า ชายวัยเกษียณอายุที่มีอาการคลั่งไคล้วรรณคดีแนวอัศวินเหล่านี้อย่างถอนตัวไม่ขึ้น เขาไม่ลังเลเลยที่จะตัดสินใจขายที่ดินเพื่อนำเงินมาซื้องานวรรณกรรมที่เขาหลงรักแล้วก้มหน้าก้มตาตะบี้ตะบันอ่านมันอย่างหิวกระหายโดยไม่สนใจเดือนตะวัน จนเป็นที่หวั่นใจของหลานสาวและแม่บ้านซึ่งอาศัยร่วมชายคาเดียวกับเขา ถึงขั้นต้องพยายามหาวิธีปรามความคลุ้มคลั่งในโลกจินตนาการของชายผู้เป็นเจ้าของบ้านก่อนที่เขาจะเสียจริต

แต่ดูเหมือนทุกอย่างจะสายเกินไป เมื่อ อล็อนโซ กิฆาน่า เกิดแรงบันดาลใจจากการอ่านวรรณกรรมเหล่านี้อย่างจริงจัง จนต้องอุปโลกน์ตนเองเป็นขุนนางผู้กล้านามว่า ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า (Don Quixote de La Mancha) ควบม้าคู่ใจออกจากบ้านพร้อม ซันโช่ ปันซ่า ชายชาวบ้านผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไร เพื่อไปปฏิบัติภารกิจอันยิ่งใหญ่ของเหล่าอัศวินผู้ผดุงความยุติธรรม โดยมี ดุลซิน่า หญิงงามในจินตนาการซึ่ง ดอนกิโฆเต้ สร้างตัวตนขึ้นมาเพื่อเป็นแรงใจให้เขาสามารถฟันฝ่าอุปสรรคทั้งหลายได้ตลอดการเดินทาง

Adventures of Don Quixote (1933) กำกับโดย G. W. Pabst

ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ชุดที่ กีออร์ก วิลเฮล์ม พาบส์ (Georg Wilhelm Pabst) ได้ถ่ายทำพร้อม ๆ กันถึงสามภาษา คือ ฝรั่งเศส อังกฤษ และเยอรมัน และออกฉายเมื่อปี ค.ศ. 1933 กีออร์ก วิลเฮล์ม พาบส์ เคยมีผลงานภาพยนตร์เรื่องดังอย่าง Pandora's Box (1929) ซึ่งดัดแปลงจากบทละครของ ฟรังค์ เวเดคินด์ (Frank Wedekind) สำหรับ Adventures of Don Quixote ชุดสามภาษานี้ ก็ได้นักร้องนักแสดงชื่อดังชาวรัสเซียผู้เรืองนาม เฟโอดอร์ ชาลีอาปิน (Feodor Chaliapin) มาสวมบทบาทเป็นดอนกิโฆเต้ โดยผู้กำกับ กีออร์ก วิลเฮล์ม พาบส์ ได้ใช้บทภาพยนตร์ และฉากหลังเดียวกันถ่ายทำไปทีละภาษาแถมยังสามารถทำออกมาได้เสร็จพร้อมกันในปีเดียวเป็นหนังความยาวเรื่องละ 1 ชั่วโมง

ฉบับแรกที่สำเร็จออกมาคือฉบับภาษาฝรั่งเศสซึ่งดูจะเป็นฉบับที่สมบูรณ์พร้อมมากที่สุดทั้งทางด้านรายละเอียดเหตุการณ์และการแสดง จากนั้นจึงมีฉบับภาษาอังกฤษและเยอรมันตามมา ซึ่งปัจจุบันนี้ก็หาชมกันได้เพียงฉบับฝรั่งเศสและอังกฤษเท่านั้นเนื่องจากต้นฉบับหนังฉบับเยอรมันนั้นได้สูญหายไปเสียแล้ว สำหรับ Adventures of Don Quixote ฉบับที่จะฉายในงานนี้จะเป็นฉบับภาษาฝรั่งเศสพร้อมคำบรรยายภาษาอังกฤษ

Don Kikhot (1957) กำกับโดย Grigori Kozintsev

ผลงานภาพยนตร์ดอนกิโฆเต้ฉบับรัสเซียฝีมือการกำกับโดย กริกอรี โคซินท์เซฟ (Grigori Kozintsev) ผู้กำกับชาวรัสเซียที่ถนัดถนี่ในการดัดแปลงวรรณกรรมอมตะลงสู่แผ่นฟิล์ม ผลงานเด่นเรื่องอื่น ๆ ของเขาก็ประกอบด้วย Shinel (1926) จากบทประพันธ์เรื่อง The Overcoat ของนิโคไล โกโกล (Nikolai Gogol) The Young Fritz (1943) จากบทกวีของ ซามูอิล มาร์ชัค (Samuil Marshak) และ Gamlet (1964) กับ Korol Lir (1971) ซึ่งดัดแปลงจากบทละครเรื่อง Hamlet และ King Lear ของวิลเลียม เชคสเปียร์ (William Shakespeare)

สิ่งที่น่าสนใจในภาพยนตร์ดอนกิโฆเต้ฉบับนี้ก็คือความแปลกใหม่ของการให้น้ำหนักของตัวละครรอบข้างมากกว่าตัวละครเอกอย่างดอนกิโฆเต้อย่างเห็นได้ชัด ด้วยจุดประสงค์หลักของตัวภาพยนตร์เองที่ต้องการชูประเด็นการเย้ยหยันอุดมคติแห่งคุณค่าดีงามว่าเป็นเพียงความเพ้อเจ้อใหลหลงของผู้โง่เขลาเบาปัญญาซึ่งควรจะตกเป็นเหยื่อแห่งความสำราญของผู้ที่เฉลียวฉลาดกว่า Don Kikhot ฉบับของผู้กำกับ กริกอรี โคซินท์เซฟ จึงให้ความสำคัญต่อทรรศนะที่ตัวละครรายล้อมมีต่อดอนกิโฆเต้เสียมากกว่าการพัฒนาแง่มุมเชิงลึกของตัวละครหลัก

Don Quixote (1973) กำกับโดย Rudolf Nureyev

บัลเลต์ชุดนี้ ประพันธ์ดนตรีโดยคีตกวี เลอ็อง มิงคุส (Leon Minkus) และออกแบบท่าเต้นโดยนักบัลเลต์ชื่อดังชาวรัสเซีย รูดอล์ฟ นูเรเยฟ (Rudolf Nureyev) โดยอ้างอิงจากท่าเต้นฉบับดั้งเดิมของ มาริอุส เปติปา (Marius Petipa) การแสดงบัลเลต์ฉบับนี้ รูดอล์ฟ นูเรเยฟ ได้บันทึกเป็นภาพยนตร์เอาไว้เมื่อปี ค.ศ.1972 และมีโอกาสออกฉายตามโรงภาพยนตร์ทั้งในออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกา

โดยเนื้อหานั้นมีการดัดแปลงเรื่องราวด้วยการสลับบทบาทให้ตัวละครรองอย่าง บาซิลิโอ (นำแสดงโดยรูดอล์ฟ นูเรเยฟเอง) คนรักหนุ่มของ คิทรี สาวชาวบ้านที่ดอนกิโฆเต้สำคัญผิดคิดว่าเป็นแม่หญิงดุลซิเนียมาเล่นเป็นตัวเอก ในขณะที่ตัวละครดอนกิโฆเต้ กลับทำหน้าที่เป็นเสมือนตัวร้ายคอยสร้างความวุ่นวายก่อกวนความสงบของชาวบ้านและรวมทั้งระรานความสัมพันธ์ของพระเอกและนางเอก

Honor de cavalleria (2006) กำกับโดย Albert Serra

ภาพยนตร์ร่วมสมัยจากสเปนที่ได้นำเอาตัวละครดอนกิโฆเต้ และ ซันโช ปันซา มาตีความใหม่ได้อย่างแปลกประหลาดพิสดาร เมื่อผู้กำกับ Albert Serra นำเสนอบุคลิกภาพของตัวละครทั้งสองอย่างสมจริงโดยการตัดเอาลีลาตลกโปกฮาทั้งหมดทั้งมวลออกไป คงเหลือไว้แต่เนื้อแท้ทางอารมณ์ของตัวละครที่อุดมไปด้วยความเป็นปุถุชน! กลายงานภาพยนตร์ Don Quixote ฉบับ minimalist ที่ทำออกมาได้ไม่เหมือนใคร และคงไม่มีใครจะหาญกล้าทำได้เสมอเหมือน ภาพยนตร์เรื่องนี้ติดอันดับหนึ่งในสิบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี 2007 โดยนิตยสารหนังชื่อดัง Cahiers du Cinema

คีตนิพนธ์ Don Quixote โดย Richard Strauss

บทคีตนิพนธ์ชิ้นนี้ ริคคาร์ด สเตร้าส์ ได้ประพันธ์ขึ้นในแบบฉบับของ Tone Poem หรือดนตรีออเคสตร้าเล่าเรื่องราว โดยใช้โครงสร้างการประพันธ์ที่ผสานระหว่างรูปแบบอิสระอย่างงานแนว Fantasy กับการแปลงทำนองแบบ Theme and Variations เข้าด้วยกัน ริคคาร์ด สเตร้าส์กำหนดให้เครื่องดนตรีเชลโลเป็นเครื่องดนตรีเอก แทนน้ำเสียงอันหนักแน่นจริงจังของตัวละครดอนกิโฆเต้ ประชันกับเครื่องดนตรีวิโอลา ทูบา และคลาริเน็ต ซึ่งจะมาแทนน้ำเสียงชวนขบขันของ ซันโช่ ปันซ่า

ดนตรีจะเสนอแนวทำนองหลักด้วยการแนะนำตัวละครสำคัญ หลังจากรุกเร้ากันด้วยจังหวะมาร์ชอันฮึกเหิมแล้ว ริคคาร์ด สเตร้าส์ก็เริ่มนำผู้ฟังเข้าสู่ภวังค์ของดอนกิโฆเต้ขณะกำลังอ่านนิยายวีรกรรมอัศวินด้วยท่วงทำนองอันเชื่องช้าสง่างามกันในทันที ก่อนที่จะเปิดโอกาสให้เครื่องดนตรีโอโบขับขานท่วงทำนองอันอ่อนหวานของ ดุลซิเนีย แม่หญิงในจินตนาการของดอนกิโฆเต้ ปิดท้ายของเสียงทูบาในจังหวะลีลาน่าขบขัน ซึ่งก็มิใช่ใครที่ไหนกัน เพราะเขาคือพ่อ ซันโช่ ปันซ่า ผู้ตะกละตะกรามนั่นเอง

หมายเหตุ: เรื่องย่อของบทประพันธ์ดอนกิโฆเต้และข้อมูลเกี่ยวกับงานศิลปะต่าง ๆ ในโปรแกรมนี้ ดัดแปลงจากบางส่วนของบทความฉบับเต็มชื่อ "บันทึกรอยเท้า ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ในอาณาศิลปะ" โดย 'กัลปพฤกษ์' ซึ่งจะตีพิมพ์ในนิตยสารช่อการะเกด ฉบับที่ 45 กรกฎาคม - กันยายน 2551

จบจากละครเพลง สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ (Man of La Mancha) ของ คณะละคร 28 และรัชดาลัยเธียเตอร์ แล้วก็อย่าลืมมาดูหนังชุด ดอนกีโฆเต้ ต่อกันได้เลย

No comments:

Blog Archive

คนลักหลับ

My photo
Filmvirus เป็นนามปากกาเดิมของสนธยา ทรัพย์เย็น จากคอลัมน์ “นิมิตวิกาล” ที่ใช้ในนิตยสาร Filmview ปี 2537 ต่อมาในปี 2538 สนธยาได้ก่อตั้ง “ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์” หรือ DK.Filmhouse (Filmvirus) จัดฉายหนังด้อยโอกาสให้ผู้สนใจชมฟรี พร้อมจัดพิมพ์หนังสือด้านหนัง และวรรณกรรม ชุด Filmvirus / Bookvirus (ส่วนหนังสือ “คนของหนัง” ปี 2533 นั้นเป็นผลงานก่อนตั้งฟิล์มไวรัส) ส่วนผลงานอื่นๆ ปี 2548 เป็นกรรมการเทศกาลหนัง World Film Festival of Bangkok , ปี 2552 กรรมการ Sydney Underground Film Festival, งาน Thai Short Film and Video Festival ของมูลนิธิหนังไทยครั้งที่ 1 และปี 2548-2549 เป็นเจ้าภาพร่วมจัดเทศกาลประกวดหนังนานาชาติ 15/15 Film Festival, Australia